อดีตนักเรียนนักเลง และขบถสังคม ผู้เปลี่ยนแปลงตัวเองสู่ บัณฑิตมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สถาบันการศึกษาระดับโลก ด้วยความพยายามอย่างถึงขีดสุด...

ท่ามกลางกระแสข่าว “นักเรียนนักเลง” หวนกลับมากลายเป็น “ประเด็นร้อน” สำหรับการถกเถียงของผู้คนในสังคม จนกระทั่งอาจทำให้บางคนอาจเกิดคำถามขึ้นในใจที่ว่า...“เราควรหมดหวังกับเหล่านักเรียนนักเลงพวกนี้แล้วใช่หรือไม่?”  

วันนี้ “เรา” จึงไม่อยากทำให้ “คุณ” รู้สึกหมดหวังเช่นนั้น เพราะในโลกแห่งความจริง มีชายผู้หนึ่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกตราหน้าจากสังคมญี่ปุ่นว่าเป็นพวก “แยงกี้” (Yankii) หรือคำสแลงสำหรับใช้เรียกกลุ่มคนที่ทำตัวเป็น “ขบถต่อบรรทัดฐานทางสังคมอันเข้มงวดของชาวญี่ปุ่น” แต่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่...จุดที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้เป็นผลสำเร็จมาแล้ว  

ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki)
ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki) "บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง" (Political Economy) ของ "มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์" (University of California Berkeley)

...

ส่วนหากถามว่า “ผู้ชาย” คนที่ “เรา” กำลังจะนำมาเล่านี้ มีความน่าสนใจหรือสามารถนำไปเปรียบเทียบกับกรณี “นักเรียนนักเลงไทย” ที่ พวกเรากำลังรู้สึก “ปวดหัว” มากน้อยแค่ไหนนั้น เอาเป็นแบบนี้แล้วกัน...

“ชายผู้นี้” เป็นเด็กที่มีปัญหาในครอบครัว เคยถูกตำรวจจับกุมตัวครั้งแรกตั้งแต่อายุเพียงแค่ 13 ปี หลังจากนั้นก็ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาทมีเรื่องมีราวกับคนอยู่เป็นประจำ ขณะที่ด้านการศึกษา ก็จบการศึกษาในระดับมัธยมปลายซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญสำหรับอนาคตการงาน ตามมาตรฐานของสังคมญี่ปุ่น จากโรงเรียนที่มีอันดับทางการศึกษา “ต่ำที่สุด” แห่งหนึ่งของประเทศ จนทำให้อ่าน “ตัวอักษรคันจิ” แทบไม่ได้ และไม่เข้าใจแม้กระทั่ง “เศษส่วนคืออะไร?”

"มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์" (University of California Berkeley) มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ลำดับที่ 8 ประจำปี 2023

แต่แล้วเขากลับสามารถฝ่าฟัน “คำดูแคลน” ต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็น "บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง" (Political Economy) ของ "มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์" (University of California Berkeley) มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ลำดับที่ 8 ประจำปี 2023 จากการจัดอันดับของ Time Higher Education ได้สำเร็จ!

เกริ่นมายืดยาวเสียหลายบรรทัดขนาดนี้ “คุณ” คงอยากรู้แล้วใช่ไหม? ว่า “เรา” มีเรื่องดีๆ อะไรจากประเทศญี่ปุ่น มานำเสนอต่อสายตาของ “คุณ” ในวันนี้ เช่นนั้นแล้ว กรุณาช่วยค่อยๆ เลื่อนสายตาลงมาอ่าน “เรื่องราวอันเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและพยายามอย่างถึงขีดสุด” นี้ด้วยกัน 

ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki) สมัยยังเป็นแยงกี้
ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki) สมัยยังเป็นแยงกี้

...

บรรทัดฐานชาวแยงกี้ในทัศนคติชาวญี่ปุ่น : 

ดังที่กล่าวในบรรทัดก่อนหน้านี้ “ชาวแยงกี้” คือ กลุ่มคนที่ทำตัวขบถต่อสังคม (ซึ่งโดยมากมักพบในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย) โดยสิ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัดของคนกลุ่มนี้ คือ มักย้อมสีผมของตัวเองด้วยสีสันอันโดดเด่น แต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ออกแบบเอง และโดยมากมักจะออกแนวนักเลง ก่อเหตุทะเลาะวิวาทใช้กำลังชกต่อยกับกลุ่มคู่อริอยู่เป็นประจำ ทำให้โดยมาก “กลุ่มแยงกี้” จึงมักถูกไล่ออกจากโรงเรียนมัธยมปลายกลางคันหรือไม่ก็จบการศึกษาตามเกณฑ์ที่ “ต่ำที่สุด” จนสุดท้ายปลายทาง...มักต้องไปประกอบอาชีพเป็นผู้ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ “เรา” คงแทบไม่ต้องบอกแล้วสินะว่า...เมื่อมองผ่านเลนส์ของชาวญี่ปุ่นโดยทั่วไปแล้วแล้ว พวกเขามอง “กลุ่มแยงกี้” ด้วยทัศนคติในระดับใด? (ซึ่งบางที...อาจจะกำลังเหมือนสายตาที่ผู้คนกำลังมองไปที่กลุ่มนักเรียนนักเลงในเวลานี้ก็เป็นได้)

ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki) : 

“แม้แต่แยงกี้ที่โง่เขลา ก็สามารถเข้าแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกได้ หากเขาเต็มใจที่จะตาย” คือชื่อหนังสือที่ “ทาคุยะ ซูซูกิ” ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันอายุ 37 ปี เขียนขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในสังคมว่า “หากมีความตั้งใจจริง มนุษย์ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ตลอดเวลา”

...

ทาคุยะ ซูซูกิ คือใคร? : 

“ทาคุยะ ซูซูกิ” เกิดปี 1986 ที่เมืองคาวาซากิ จังหวัดคานากาวา เป็นบุตรชายคนเล็กของ “โทชิฮิโระ ซูซูกิ” และ “ฮิโรโกะ ซูซูกิ” และมีพี่สาวหนึ่งคน ซึ่งอายุมากกว่าเขา 3 ปี โดยในช่วงเรียนมัธยมต้นเนื่องจากเกิดปัญหาภายในครอบครัว อันเป็นผลมาจากการที่คุณพ่อซึ่งทำงานให้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง เอาแต่ทำงานในต่างประเทศ จนกระทั่งไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เขาจึงเริ่มไปร่วมแก๊งกับบรรดาเพื่อนๆ เหล่าแยงกี้ ทำตัวเป็นขบถต่อสังคม รวมถึงแสดงออกถึงความเกลียดชัง “พ่อของตัวเองตลอดเวลาเสียด้วย” 

โดย “ทาคุยะ ซูซูกิ” ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุแค่เพียง 13 ปีเท่านั้น! ส่วนหากถามว่า เพราะเหตุใดจึงถูกจับกุมตัวนั้น บัณฑิตมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้เคยให้คำตอบกับสื่อญี่ปุ่นเอาไว้ว่า...

“มีคนนำรถจักรยานที่ถูกขโมยมาไปทิ้งไว้ ขณะที่ผมและเพื่อนกำลังขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ 2 คัน โดยไม่สวมหมวกกันน็อกอยู่บริเวณนั้นพอดี เมื่อตำรวจเห็นก็ออกไล่ล่าและจับกุมตัวผมและเพื่อนทันที หลังถูกจับตัว ผมมักคิดได้เพียงว่า ตัวเองเป็นคนเลว และผมเริ่มมองโลกในแง่ร้ายขึ้นกว่าเดิม จนผมแทบจะไม่สนใจเรื่องการศึกษาเลยด้วยซ้ำไป 

...

อย่างไรก็ดี บรรดาคุณแม่ (แม่ของบรรดาเพื่อนๆ กลุ่มแยงกี้) บอกกับผมเสมอว่า ไม่ว่าอย่างไรแกก็ต้องจบชั้นมัธยมปลายให้ได้ ผมจึงไปโรงเรียนเพื่อเรียนแค่ให้จบๆ ไปแค่นั้น โดยที่พ่อและแม่ของผมไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับผมเลยแม้แต่น้อย 

ทำให้ในเวลานั้น ผมจึงคิดแค่ว่าเมื่อเรียนจบมัธยมปลาย ก็คงไปทำงานขับรถบรรทุกหรือไม่ก็ไปทำงานที่ใช้แรงงาน เช่นเดียวกับบรรดาเพื่อนๆ รวมถึงพ่อและแม่ของเพื่อน ซึ่งไม่มีใครเรียนจบระดับปริญญาตรีเลยแม้แต่คนเดียว”  

หนังสือ แม้แต่แยงกี้ที่โง่เขลา ก็สามารถเข้าแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกได้ หากเขาเต็มใจที่จะตาย” ที่ “ทาคุยะ ซูซูกิ” เขียนจากเรื่องจริงของตัวเอง
หนังสือ แม้แต่แยงกี้ที่โง่เขลา ก็สามารถเข้าแข่งขันสู่มหาวิทยาลัยระดับโลกได้ หากเขาเต็มใจที่จะตาย” ที่ “ทาคุยะ ซูซูกิ” เขียนจากเรื่องจริงของตัวเอง

Big Turning Point : 

แล้วอะไร คือ จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ “ขบถสังคมผู้นี้” ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ “สิ่งที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้” และนี่คือ คำตอบของ “ทาคุยะ ซูซูกิ” กับสื่อญี่ปุ่น  

“มีสองเหตุหลักๆ คือ ข้อแรก ตอนนั้นผมอายุ 19 ปีแล้ว แต่ยังคงทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง ที่ไม่ใช่พนักงานประจำอยู่เลย ผมรู้สึกได้ว่า ผมคงทำงานแบบนี้ต่อไปได้อีกไม่นาน จึงอยากลองมองหาอะไรใหม่ๆ

ข้อที่สอง คือ ผมมีโอกาสเดินทางไปฮาวายเพื่อร่วมงานรับรางวัลพนักงานดีเด่นของคุณพ่อ ซึ่งถือเป็นการได้รับรางวัลครั้งแรกของพ่อหลังทำงานมานานถึง 16 ปี โดยในครั้งนั้นผมพบว่า บรรดาเพื่อนร่วมงานของพ่อทุกคนเดินมาพูดกับผมว่า พ่อของคุณเป็นคนที่น่าทึ่งมาก 

มันทำให้ผมเริ่มเข้าใจการทำงานของคุณพ่อมากขึ้น งานของพ่อนอกจากสามารถสร้างรายได้มหาศาลแล้ว พ่อยังทำงานด้วยความมั่นใจและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับตัวผม ณ เวลานั้น ที่มองว่าทำงานเพื่อหาเงินไปวันๆ  

ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากทำให้ผมอยากมีชีวิตที่เหมือนกับพ่อบ้างแล้ว มันยังทำให้ผมตระหนักได้อีกว่า ที่ผ่านมาผมเอาแต่คิดว่าเพราะเพื่อนเป็นแบบนี้ อย่างไรผมก็ต้องเป็นแบบนี้ มันจึงทำให้ผมไม่เคยมีความฝันที่อยากจะทำอะไรเลยสักอย่าง” 

การเริ่มต้นและความเปลี่ยนแปลง : 

การเริ่มต้นจาก “ติดลบเรื่องการศึกษา” ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ “ทาคุยะ ซูซูกิ” อ่าน “อักษรคันจิไม่ได้” จึงทำให้แทบจะอ่านหนังสือเรียน หรือ แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น ไม่ได้ด้วยซ้ำไป และที่หนักไปกว่านั้น คือ ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์แทบจะติดลบเพราะไม่เข้าใจแม้กระทั่ง “เศษส่วน” คืออะไร? 

อย่างไรก็ดีเมื่อเห็นว่า “ลูกชาย” หันมาเอาจริงเอาจังเรื่องการศึกษาอีกครั้งเพื่อมุ่งหน้าสู่การคว้าปริญญาตรี จึงได้คำแนะนำไปว่า “การศึกษามีความสำคัญมากกว่าคุณวุฒิทางวิชาการ” ทาคุยะ ซูซูกิ จึงตัดสินใจไปสมัครเรียนที่ “วิทยาลัยอาชีวศึกษา” แห่งหนึ่ง เพื่อเติมเต็ม “จุดอ่อนแอ” ทางด้านวิชาการของเขาอย่างเต็มที่เป็นเวลา 2 ปีเต็ม รวมถึงเพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานด้านประมวลผลข้อมูลสารสนเทศ เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การศึกษาต่อในระดับบัณฑิตวิทยาลัยในลำดับถัดไปด้วย

เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยโตเกียว มุ่งสู่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ : 

หลังเรียนจบจากวิทยาลัยอาชีวศึกษา และได้เข้าไปทำงานที่บริษัทไอทีแห่งหนึ่งเป็นเวลา 2 ปี ในตอนนั้น “ทาคุยะ ซูซูกิ” ตั้งใจที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยแบบลงทะเบียนทางไปรษณีย์ แต่เมื่อพ่อของเขารู้เรื่องนี้ จึงได้ให้คำแนะนำกับลูกชายอีกครั้งว่า 

“หากคิดจริงจังกับเรื่องนี้ ควรวางแผนสำหรับทางเลือกที่ดีที่สุดโดยไม่ต้องห่วงเรื่องเงินทุน เพราะยินดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ฉะนั้น จึงควรเลือกไปศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น”  

อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น “ทาคุยะ ซูซูกิ” ซึ่งมีอายุประมาณ 24 ปีแล้ว ประเมินว่าเขาอาจต้องใช้ระยะเวลามากถึง 7-8 ปี สำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อโหด และหินที่สุดของประเทศญี่ปุ่นก็เป็นได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นเขาก็จะมีอายุเลย 30 ปีไปแล้ว 

ด้วยเหตุนี้เขาจึง “ขีดเส้น” สำหรับตัวเองเอาไว้ว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องค้นมหาวิทยาลัยที่ตัวเองพร้อมจะตายเพื่อเข้าไปเรียนให้ได้ และในที่สุดก็ได้ตัดสินใจเลือก “มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์” อันมีชื่อเสียงและเป็นแหล่งรวมตัวของบุคคลระดับหัวกะทิจากทั่วทุกมุมโลกด้วย

"มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์" (University of California Berkeley) มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ลำดับที่ 8 ประจำปี 2023

ทำไมต้อง เบิร์กลีย์ และโจทย์แรกปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ :  

แม้ “ค่าเล่าเรียนจะสูงมาก” (มากกว่า 20 ล้านเยน หรือประมาณ 4.7 ล้านบาท จนกระทั่งเรียนจบ) แต่เนื่องจาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ มีระบบโอนหน่วยกิตสำหรับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี (2+2 University Transfer) “อดีตเด็กเกเร” ชาวญี่ปุ่นผู้นี้ จึงคิดว่า ภายใต้เงื่อนไขต้องสำเร็จภายใน 5 ปี ที่ตัวเขาเองเป็นผู้กำหนดขึ้น จึงน่าจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้  

*** หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 24 พ.ย. 23 *** 

อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ “กำแพงมหึมา” ที่เรียก “ภาษาอังกฤษ” นั่นเป็นเพราะ ระดับความรู้ภาษาอังกฤษไม่ว่าจะเป็น การฟัง พูด อ่าน เขียน และ ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ของ “ทาคุยะ ซูซูกิ” ในเวลานั้น “น้อยกว่าเด็กนักเรียนมัธยมต้น” เสียอีก! อันเป็นผลมาจาก “ขาดทักษะพื้นฐาน” ในช่วงที่ละเลยเรื่องการเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายเป็นเวลาถึง 6 ปีเต็มๆ ซึ่งสวนทางกับเงื่อนไขสำคัญขั้นต้น สำหรับการเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา คือ จะต้องสอบ TOEFL ได้คะแนนต่ำที่สุด คือ 100 คะแนน! 

แล้ว “ทาคุยะ ซูซูกิ” พุ่งทะลุกำแพงมหึมานั้นได้อย่างไร? “เรา” ไปฟังคำตอบนี้จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อของญี่ปุ่นกัน...

“ผมละทิ้งความอาย ด้วยการกลับไปเริ่มต้นเรียนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมต้น เพื่อกลับสู่การปูพื้นฐานในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษอีกครั้ง ผมไม่รู้สึกเขินอายในเรื่องนี้มานัก เพราะผมมักคิดว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งกาจอะไรอยู่แล้ว รวมทั้งผมไม่เคยอายที่จะถามข้อสงสัยกับคนที่มีความรู้ด้วยเพราะมันมักได้ผลลัพธ์ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ดีเมื่อผมต้องพุ่งชนกำแพง ผมจึงต้องทดลองค้นหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ต พร้อมกับใช้ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะสิ่งที่คุณได้ทดลองทำ มันมักจะไม่ได้รับผลสำเร็จเสียตั้งแต่ครั้งแรก ดังนั้น คุณต้องมองย้อนกลับไปและศึกษามันซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมกับค่อยๆ ปรับปรุงจุดบกพร่องเหล่านั้นด้วยตัวเองทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งหากจะว่าไป มันก็คงคล้ายๆ กับช่วงที่ผมเป็นแยงกี้ (หัวเราะ) นั่นคือ ยืนหยัดต่อสู้กับคู่อริโดยไม่คิดจะวิ่งหนี ซึ่งพลังนี้เมื่อถูกส่งไปในเรื่องการศึกษา มันก็คือ พลังของการเต็มใจที่จะทำงานอย่างหนัก!”

อย่างไรก็ดี แม้จะพยายามอย่างหนักหน่วงจนถึงขีดสุด เมื่อ “ทาคุยะ ซูซูกิ” เดินทางถึงสหรัฐอเมริกา การทดสอบภาษาอังกฤษกับโรงเรียนสอนภาษาท้องถิ่นครั้งแรก กลับ “ล้มเหลวไม่เป็นท่า” 

หากแต่นอกจากเขาจะไม่ยอมแพ้แล้ว อดีตเด็กเกเรคนนี้ กลับยิ่งพยายามอย่างหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยการวางแผนเพิ่มเวลาสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษมากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน! ไม่ว่าจะเป็น ทั้งการฝึก ฟัง พูด อ่าน เขียน 

ซึ่งกิจวัตรประจำวันในการเรียนภาษาอังกฤษของเขาก็คือ จะต้องพยายามท่องจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษให้ได้อย่างน้อย 1 หน้าในทุกๆ วัน โดยจะมีการทบทวนคำศัพท์เหล่านั้นทุกๆ 20 นาที และทุกๆ 1 ชั่วโมง วนซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดวัน   

ขณะเดียวกันสิ่งที่ช่วยให้สามารถเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้อย่างรวดเร็วที่สุด คือ การฝึกฝนการออกเสียง โดยเลียนแบบการพูดของผู้ประกาศรายการพอดแคสต์ของสำนักข่าว ABC และคลิปวิดีโอรายการ TED Talk เป็นประจำในทุกๆ วัน

และการฝึกฝนตัวเองอย่างหนักเช่นนี้ ทำให้เมื่อผ่านไปเพียง 1 ปีครึ่ง “ชายที่ครั้งหนึ่งเคยเกลียดภาษาอังกฤษมากที่สุด” ก็สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษและตอบโต้กับเจ้าของภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว จนกระทั่งผ่านเข้าไปเรียนที่ “มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์” ได้สำเร็จ เมื่ออายุ 26 ปี หลังจาก “ผ่านอุปสรรคสุดท้าย” ด้วยการเขียนคำชี้แจงส่วนตัว (Personal Statement) ซึ่งต้องบรรยายถึงความสำเร็จในอดีตและเป้าหมายสำหรับอนาคต ซึ่งระบุว่า... 

“ผมได้รับแรงบันดาลใจที่ดีที่สุดจากครอบครัวของผม พวกเขาไม่เคยทอดทิ้งผมแถมยังสนับสนุนผมเสมอ แม้ที่ผ่านมาผมจะเคยตัดสัมพันธ์กับครอบครัวจนต้องกลายเป็นเด็กที่เคยกระทำความผิดต่อกฎหมายมาก่อนก็ตามที 

ผมมาได้ไกลถึงขนาดนี้ เพราะผมรู้สึกได้ถึงความรักและความไว้วางใจจากครอบครัว ผมต้องการโอกาสนี้ (ได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์) เพื่อนำไปสู่การประสบความสำเร็จและหาทางสนับสนุนทางด้านการเงินให้กับครอบครัว และเมื่อการเรียนบรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งใจไว้แล้ว ผมจะขออุทิศชีวิตเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนครอบครัวของผมต่อไป”  

ทั้งนี้ หลังจากได้รับทราบผลว่า ได้เข้าเรียน มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับโลกแล้ว สิ่งแรกที่ “อดีตเด็กขบถผู้นี้” ทำคือ โทรศัพท์ไปหาคุณพ่อที่ครั้งหนึ่งเขาเคยแสนเกลียดชังเพื่อบอกว่า “ผมทำสำเร็จแล้วครับพ่อ” และสิ่งที่เขาได้รับกลับมา คือ เสียงตะโกนด้วยความดีใจอย่างสุดกลั้นที่ว่า “มันเหลือเชื่อจริงๆ เรื่องมหัศจรรย์ได้เกิดขึ้นแล้ว เธอๆ (ภรรยา) มันช่างมหัศจรรย์จริงๆ” 

โดย “ทาคุยะ ซูซูกิ” ยอมรับว่า นี่คือครั้งแรกในชีวิตที่เขาได้ยินคุณพ่อของเขาตะโกนดีใจสุดเสียงด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นจนแทบจะไม่สามารถระงับความปีติยินดีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ 

ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki)
ทาคุยะ ซูซูกิ (Takuya Suzuki) "บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์การเมือง" (Political Economy) ของ "มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์" (University of California Berkeley)

ชีวิตปัจจุบัน ของ อดีตเด็กที่เคยเกเรและเป็นขบถต่อสังคม : 

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ในปี 2015 แล้ว “ทาคุยะ ซูซูกิ” ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่น และได้เข้าศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทที่ GLOBIS University ซึ่งเป็นสถาบันบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ MBA ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2018   

ปัจจุบัน ตามข้อมูลที่ “ทาคุยะ ซูซูกิ” ระบุเอาไว้ใน Linkedin.com คือ เขาเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation หรือ DX และมีประสบการณ์ในการพัฒนา Personalized System of Instruction หรือ PSI และบริหารจัดการโครงการให้กับบริษัทแฟชั่นชั้นนำระดับโลกของประเทศญี่ปุ่น 

นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง TOKIHA ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมทางด้านการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้กับบรรดาเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ยังเป็นนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจตามเวทีสาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย 

และทั้งหมดนี้ คือ ชีวิตของ “อดีตเด็กขบถ” ที่ใครๆ เคยหยามหมิ่นว่า “เป็นพวกขี้แพ้ไร้อนาคต มีชีวิตเรื่อยๆ ไปวันๆ กับการทะเลาะวิวาทที่ไม่มีแก่นสาร” แต่สุดท้าย เมื่อพบเจอกับ “Big Turning Point” และจิตใจที่ตั้งมั่นว่า หากเราคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายขนาดไหน ขอเพียงมีความกล้าหาญและความมานะบากบั่น รวมถึงพลังใจจากคนรอบข้าง เราก็สามารถเปลี่ยนจากเด็กเกเร เป็น บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยระดับโลกได้เช่นกัน! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน