"นินเทนโด" ใช้กลยุทธ์อะไรจึงทำให้ Nintendo Switch ยืนระยะได้ยาวนานถึง 6 ปี กับ ยอดขายมากกว่า 132.46 ล้านเครื่อง! 

ท่ามกลางความวิตกกังวลของบรรดานักลงทุนว่า "ผลิตภัณฑ์เรือธง" ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทน่าจะเลยจุดสูงสุดของการวงจรการขายไปแล้ว หลังปล่อยออกมาวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2017 

แต่แล้วด้วย "ซีรีส์เกมระดับคุณภาพ" ซึ่งเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับบรรดาเกมเมอร์ต้องผิดหวังแม้แต่สักครั้งเดียวอย่าง "Zelda" ในภาคล่าสุด Zelda : Tears of the Kingdom กลับช่วยผลักดันยอดขาย Console Hybrid ที่อยู่ในตลาดมาอย่างยืนยาวถึง 6 ปี อย่าง "Nintendo Switch" กลับมา "พุ่งแรงได้อีกครั้ง" เป็นผลให้เสียงเรียกร้องของบรรดานักลงทุนที่รบเร้าให้ "บริษัทนินเทนโด" (Nintendo) เข็นเครื่องคอนโซลรุ่นใหม่ ออกมาสู้กับคู่แข่งสำคัญอย่าง เพลย์สเตชัน 5 ของ บริษัทโซนี่ และ X box X ของ ไมโครซอฟท์ ต้องแผ่วเบาลงไปอีกครั้ง 

...

ยอดขาย Nintendo Switch ซึ่ง ณ เวลานี้ ถือเป็นเครื่องคอนโซลของบริษัทที่ขายดีที่สุดของ "นินเทนโด" ไปแล้วนั้น สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 23 อยู่ที่ 132.46 ล้านเครื่อง! ในขณะที่บรรดาซอฟต์แวร์เกมต่างๆ ของนินเทนโด ที่ผลิตออกมาเพื่อป้อนให้กับเครื่อง Nintendo Switch นั้น มียอดขายรวมกันมากมายถึง 1,133 ล้านยูนิต! ส่วนเกมที่ขายดีที่สุด คือ Mario Kart 8 Deluxe ทำยอดขายไปสูงถึง 57 ล้านชุด!

โดยรายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของนินเทนโด ระบุว่ายอดขาย Nintendo Switch ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายน ยังคงสูงถึง 6.84 ล้านเครื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 2.4% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี โดยปัจจัยหลักที่ช่วยผลักดันให้ยอดขาย Nintendo Switch กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง ก็คือ Zelda : Tears of the Kingdom ซึ่งปัจจุบันสร้างยอดขายรวมได้มากถึง 19.5 ล้านชุดแล้วนั่นเอง!  

สำหรับรายได้ของ "นินเทนโด" จากผลประกอบการไตรมาสล่าสุดอยู่ที่ 334,900 ล้านเยน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคาดการณ์เอาไว้ที่ 317,300 ล้านเยน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 90,300 ล้านเยน ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 75,700 ล้านเยน

นั่นจึงนำมาซึ่ง "คำถามสำคัญ" ที่ว่า...อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Nintendo Switch ประสบความสำเร็จและมียอดขายที่ยืนยาวมาได้ถึงขนาดนี้ ทั้งๆ ที่หากเปรียบกับ "คู่แข่งสำคัญ" อย่าง เพลย์สเตชัน หรือ Xbox แล้ว ในแง่ของ "สเปกเครื่อง" รวมถึงจำนวนเกมเอ็กซ์คลูซีฟระดับ AAA จากบรรดา Third-Party นั้น "เป็นรอง" อย่างเห็นได้เด่นชัด วันนี้ "เรา" ลองไปพยายามค้นหาคำตอบที่ว่านี้กันดู 

นวัตกรรม (Innovation) : 

แม้คำว่า "นวัตกรรม" อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ "บริษัทที่ขับเคลื่อนเรื่องความคิดสร้างสรรค์" มาแต่ไหนแต่ไรอย่างนินเทนโด หากแต่ Joy-con ที่สามารถถอดออกจากตัวเครื่องได้อย่างดาย เพื่อนำไปประกอบกับสารพัดอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อเล่นเกมรูปแบบใหม่ๆ จากระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวอันยอดเยี่ยม ขณะเดียวกันมันยังสามารถถอดออกจากตัวเครื่องเพื่อแยกออกเป็น 2 คอนโทลเลอร์ได้ นั้น สามารถเรียกเสียง Wow ดังๆ จากคนทั้งโลกได้อย่างไม่เก้อเขิน ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเครื่องเองยังถูกออกให้สามารถผสมผสานระหว่าง Home Console และ Portable Device ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย  

...

ซึ่งทั้งหมดที่ว่าไปนั้น มันคือการดูดซับนวัตกรรมอันเป็นจุดเด่นในอดีตมา "ผสมผสานและเพิ่มเติม" กันจนกลายเป็น "สิ่งใหม่" ได้อย่างน่าทึ่ง 

แล้ว….Nintendo Switch เป็นส่วนผสมของอะไรที่ว่านั้นบ้าง? 

หน้าจอสัมผัส : Nintendo DS และ Nintendo 3DS  

Joy-con : Nintendo Wii  

Hibrid : Nintendo Wii U

...

กลยุทธ์ Blue Ocean : 

ในเมื่อคู่แข่งสำคัญอย่าง โซนี่ และ ไมโครซอฟท์ ยังคงยึดมั่นกับกลยุทธ์ Upgrade Hardware ที่มุ่งเน้นเรื่องความเร็วในการประมวลผลและขุมพลังกราฟิกอยู่ต่อไป นินเทนโด ซึ่งเคย Comeback กลับมาได้อย่างแข็งแกร่งจากกลยุทธ์ "Blue Ocean" หรือ การสร้าง Demand ใหม่ ผ่านการสร้างสินค้าใหม่ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว ซึ่งถูกริเริ่มมาตั้งแต่ประธานรุ่นที่ 4 "ซาโตรุ อิวาตะ" (Satoru Iwata) โดยการวางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเองให้เป็น "Gaming Platform for everyone" จนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับเครื่อง Nintendo Wii แถมยังทำให้นินเทนโดได้ฐานกลุ่มผู้เล่นวิดีโอเกมใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงยังมุ่งหน้าไปสู่ "น่านฟ้าสีคราม" อย่างมั่นคงต่อไปเช่นกัน

โดยเห็นได้จากที่ Nintendo Switch ยังคงมีคุณสมบัติที่ครบถ้วนสำหรับการ "ตอบโจทย์" ให้กับ "ฐานกลุ่มผู้เล่นเกมหน้าใหม่" (โดยเฉพาะผู้สูงอายุซึ่งแทบไม่เคยมีใครเคยนึกถึงมาก่อน) ที่ยังคงสนุกสนานกับการเล่นเกมในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การนั่งเล่นเกมโดยใช้มือบังคับคอนโทลเลอร์เฉยๆ เพียงแต่สิ่งที่ถูก "แต่งเติมและแก้ไขจุดด้อย" ในกรณีของเครื่อง Nintendo Wii ก็คือ การทำ NS ให้กลายเป็นเครื่อง Hybrid ที่สามารถพกพาออกไปหาความสนุกสนานนอกบ้านได้ด้วย 

...

ชูจุดขายเรื่อง Console Hybrid เพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง :

หลัง Comeback อย่างยิ่งใหญ่กับ Nintendo Wii แต่แล้ว "นินเทนโด" กลับพลาดพลั้งในการต่อยอดความสำเร็จของตัวเองอีกครั้ง กับ Nintendo Wii U จากสาเหตุเพียงเพราะ....ความผิดพลาดในการสื่อสารกับเหล่า "เกมเมอร์" 

ทั้งๆที่ Nintendo Wii U อัดแน่นไปด้วยความคิดสร้างสรรค์มากมาย โดยเฉพาะ Wii U GamePad ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นไอเดียต้นทางของความเป็น Hybrid สำหรับ Nintendo Switch ในปัจจุบัน 

หากแต่ในช่วงของการเปิดตัว นินเทนโดกลับไม่สามารถสื่อสารให้บรรดาเกมเมอร์เข้าใจได้ว่า Nintendo Wii U มีความแตกต่างจาก Nintendo Wii อย่างไร? 

จนกระทั่งทำให้เกิดความสับสนถึงขั้นที่ว่า "Nintendo Wii U" เป็นเพียง "อุปกรณ์เสริม" ของ Nintendo Wii รวมถึงยังมองหาประโยชน์ที่แตกต่างจากเครื่อง Nintendo Wii ที่มีอยู่ติดบ้านแล้วไม่ได้ เนื่องจากแม้ Wii U จะสามารถสตรีมเล่นเกมบน Wii U GamePad ได้ก็จริง แต่มันก็มีระยะห่างที่จำกัด จากเครื่อง Wii U เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้....ทุกอย่างจึงกลายเป็น "หายนะ"

ฉะนั้นเมื่อถึงคราวการเปิดตัวของ Nintendo Switch จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ "นินเทนโด" จะเน้นการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปที่การชู "จุดขาย" เรื่องความเป็น Hybrid และความสนุกสนานของการได้ร่วมเล่นเกมพร้อมกับเพื่อนๆ หลายๆ คน เพื่อสร้าง "ความแตกต่างอย่างเด่นชัด" กับ คู่แข่งสำคัญในกลุ่มคอนโซล อย่าง เพลย์สเตชัน และ X BOX รวมถึงบรรดาสารพัดเกมจาก "โทรศัพท์มือถือ" ที่ปัจจุบันกำลังกลายเป็นศัตรูที่หวาดหวั่นสำหรับเครื่องคอนโซล ด้วยความ "ชัดเจนและตรงไปตรงมา" 

การเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต : 

นอกจาก "ซาโตรุ อิวาตะ" (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการผลักดันนินเทนโดสู่ "ก้าวกระโดด" แห่งการสร้างนวัตกรรมแล้ว ชายผู้นี้ยังได้ "ขีดเส้น" เอาไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า การพัฒนานวัตกรรมใดๆ ของนินเทนโด จะต้องมีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นได้อย่างเต็มรูปแบบเสียก่อน เพราะถึงแม้จะ "คิดได้" แต่ "เทคโนโลยี" ยังไปไม่ถึงมันก็ไร้ประโยชน์

“Virtual Boy” ของ นินเทนโด้
“Virtual Boy” ของ นินเทนโด้

เพราะมิเช่นนั้น "หายนะ" อันเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการออกแบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เกม ซึ่งเคยทำให้เครื่อง "Virtual Boy" (ความมุทะลุที่จะสร้างวิดีโอเกม 3 มิติทั้งๆ ที่ฮาร์ดแวร์ยังไม่สามารถรองรับได้) กลายเป็น "ความแปลกประหลาดที่ไม่น่าจดจำ" ลำดับต้นๆ ของ "นินเทนโด" มาแล้ว มันก็อาจเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน!

คลังซอฟต์แวร์เกมระดับคุณภาพ : 

สำหรับนินเทนโดแล้ว จุดแข็งที่สุดที่คู่แข่งยากจะเอาชนะ คือ "คุณภาพเกม" ตลอดระยะเวลามากกว่า 30 ปี ประเด็นนี้ได้รับการ "พิสูจน์" แล้วว่า เป็นเรื่องจริง หรือใครจะเถียงว่า "คลังแสง" ของนินเทนโดที่มีซีรีส์เกมระดับตำนานมากมายโดยเฉพาะ Mario และ Zelda ซึ่งยืนระยะมาได้อย่างยาวนาน และยังคงเป็นเกมระดับ AAA ที่มีสาวกพร้อมจะกดซื้อ Day one อย่างไม่ลังเล ในขณะที่บรรดาเกมที่เคยอยู่ในระดับเดียวกันมาก่อน...ต่างล้มหายตายจากไปแล้วมากมาย

ขณะเดียวกัน "นินเทนโด" ยังคงวัฒนธรรมในการสร้างเกมที่เป็นมิตรกับ "ผู้เยาว์และถูกใจบรรดาผู้ปกครอง" เอาไว้ได้อย่างน่าชมเชย ทั้งๆ ที่ปัจจุบัน วงการเกมมีการขยายสัดส่วนการตลาดออกไปถึงกลุ่มคนมากมายหลายกลุ่ม โดยเฉพาะบรรดากลุ่มวัยรุ่นที่ถือเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูงสุดในตลาดวิดีโอเกมก็ตาม 

ซึ่งส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน "นินเทนโด" เริ่มเปิดรับเสียงจากบรรดาเกมเมอร์มากขึ้นกว่าในอดีต ดังจะเห็นได้จากการที่ เกม Mario หรือ Zelda ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น Open World เพื่อให้อิสระในการเล่นเกมมากขึ้น ซึ่งตรงกับ ความต้องการของ "เกมเมอร์ในยุคสมัยปัจจุบัน" แล้ว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง