“คนยุคใหม่ต้องไม่กลัวเทคโนโลยี แต่ต้องไม่บ้าเทคโนโลยี!” อยู่อย่างไร...ในโลกซูเปอร์ไฮเทค? #เชื่อคิดและทำอย่างวิทยาศาสตร์...

*สนุก!

*โอกาส!

*สุดยอด!

*อึดอัด!

*ลำบาก!

*เครียด!

“เชื่อ คิดและทำ อย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไป “ส่อง” อย่างเร็วๆ ดูชีวิตของมนุษย์เรา ในยุคได้ชื่อเป็นยุคซูเปอร์ไฮเทค

เพื่ออะไร?

เพื่อสำรวจตัวเราเอง!

เพื่ออะไร (อีกที)?

เพื่อดูว่า เราควรจะดูแลหรือจัดการกับตัวเราเองอย่างไร!

เพื่อจัดการกับตัวเราเองเท่านั้นหรือ? แล้วคนอื่นล่ะ?

อืม!

คอมพิวเตอร์ทุกหนแห่ง!

ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2001

ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2023 คือวันนี้ ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดได้เดินหน้ามาแล้ว 22 ปี 10 เดือน กับอีก 4 วัน

ย้อนหลังกลับไปสู่ศตวรรษที่ยี่สิบ!

ศตวรรษที่ยี่สิบ เปิดตัวกับทฤษฎีควอนตัม โดย มักซ์ พลังค์ (Max Planck) และทฤษฎีสัมพัทธภาพ (Relativity Theory) ของไอน์สไตน์

...

กลางศตวรรษที่ยี่สิบได้ชื่อเป็นยุคอะตอมหรือยุคนิวเคลียร์ กับการเปิดตัวของพลังงานนิวเคลียร์ ในรูปแบบการทำลายของระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา (วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945) และนางาซากิ (9 สิงหาคม ค.ศ. 1945) ตามมาด้วยสงครามเย็นที่ “ร้อนระอุ” ระหว่าง สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเดิมหรือรัสเซียในปัจจุบัน

หลังการเริ่มต้นของกลางศตวรรษที่ยี่สิบไม่กี่ปี คือ ปี ค.ศ. 1957 โลกก็เข้าสู่ยุคอวกาศ โดยความสำเร็จของสหภาพโซเวียตเดิม ในการส่งดาวเทียมสปุตนิกขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 

แล้วยุคคอมพิวเตอร์ล่ะ?

น่าสนใจว่า เมื่อเอ่ยถึง “ยุคคอมพิวเตอร์” ผู้คนส่วนใหญ่ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ และประชาชนคนทั่วไป ก็ผงกศีรษะรับว่า “รู้จัก” และตระหนักว่า “สำคัญ” แต่ก็บอกไม่ได้ชัดเจนหรือตรงกันว่า คืออะไร? เริ่มต้นเมื่อไร? และจริงๆ แล้ว “เป็นอย่างไร?”

หลายคนจะนึกถึงคำอื่นขึ้นมาแทน เช่น ยุคข้อมูลข่าวสาร (information age) ยุคดิจิทัล (digital age) หรือยุคโซเชียลมีเดีย (social media)

แต่ถ้าถามว่า วันนี้ โลกกำลังอยู่ในยุคคอมพิวเตอร์อย่างเต็มตัวแล้วใช่ไหม?

ผู้เขียนเชื่อว่า หลายคนก็จะผงกศีรษะว่า ใช่!

แต่หลายคน ก็คงจะเลิกคิ้ว แล้วบอกว่า ไม่แน่ใจ!

สำหรับผู้เขียนแล้ว ก็เข้าใจ “ในความไม่เข้าใจ” หรือ “ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน” เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพราะ...อย่างสั้นๆ ที่สุด...คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่มีประวัติความเป็นมายาวนานนับเป็นพันๆ ปี แต่เพิ่งมาเริ่มมีบทบาทในความหมายของ “คอมพิวเตอร์” ที่มิใช่เพียงแค่ “เครื่องคำนวณ” แต่ให้เป็นเครื่องที่ “คิด” เป็น คล้ายมนุษย์มากขึ้น

แถมยังเริ่มต้นกับบทบาทอย่างเป็นรูปธรรรม แต่เป็นแบบลับๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เกี่ยวกับการ “เข้า” และ “ถอด” รหัสลับของ “คำสั่ง” ในระหว่างสงคราม และเกี่ยวกับการทดลองระเบิดไฮโดรเจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

จนกระทั่งมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการกันหลังสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเดิมที่เริ่ม “เย็นลงจริง” และก็เป็นการเปิดตัวที่ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม และชัดเจน ต่อวงการต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์, การเมือง, เศรษฐกิจและสังคม ดังเช่น กำเนิดของ “อินเทอร์เน็ต” ที่ทางการทหารของสหรัฐฯ ยก “อาร์พาร์เน็ต” (aparnet) ให้เอกชนได้ใช้งานกันอย่างเป็นทางการวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1983

ยิ่งถ้าดูพัฒนาการเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่เป็นของยุคใหม่จริงๆ ซึ่งก็เป็น “เรื่องยาก” จากความคิดที่ “แปลก” แต่ “อัจฉริยะ” ของผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ ดังเช่น ชาร์ลส์ แบบเบจ (Charles Babbage) ผู้ได้ชื่อเป็น “บิดาแห่งคอมพิวเตอร์” และ แอลัน ทัวริง (Alan Turing) ผู้ได้ชื่อเป็นผู้สร้างคอมพิวเตอร์ยุคใหม่จริงๆ เครื่องแรกขึ้นมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ระบบเป็นกลไกแบบเครื่องจักรกล มาเป็นระบบผสมอิเล็กทรอนิกส์กับกลศาสตร์ และมาเป็นอิเล็กทรอนิกส์ล้วนๆ ทำให้เกิดมีคำว่า ดิจิทอล คอมพิวเตอร์ และยุคดิจิทัล ซึ่งก็เริ่มจากหลอดสุญญากาศ, ทรานซิสเตอร์, ไมโครชิป และล่าสุดที่กำลังฮือฮากันมาก คือ ควอนตัมคอมพิวเตอร์ (quantum computer) ที่ใช้ “อะตอม” เป็นตัวทำงาน แทนที่จะเป็นอิเล็กทรอนิกส์ที่คุ้นเคยกัน

...

ดังเช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์เครื่องแรกๆ ของโลก คือ ซีคามอร์ (Sycamore) ของกูเกิลที่เปิดตัวเมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยกูเกิลให้ข่าวว่า สามารถแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ จะต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งหมื่นปี ในขณะที่ซีดามอร์สามารถทำได้ภายใน 200 วินาที

เรื่องราวพัฒนาการคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ เหล่านี้น่าสนใจ และสนุกสำหรับคนชอบเรื่องลึกๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่เป้าหมายของเราวันนี้ จะโฟกัสที่เรื่องของบทบาทและผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคตที่ไม่ไกลเกินไปนัก

ถึงแม้เราจะไม่ลงลึกในเรื่องของกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเราจับจุดสำคัญกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์ได้ ก็มีส่วนช่วยในการตอบโจทย์ “อยู่อย่างไร...ในโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค” ของเราได้

สัมผัสแรกกับคอมพิวเตอร์

ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ผู้เขียนได้มีโอกาสใช้งานคอมพิวเตอร์โดยตรงเป็นครั้งแรก สำหรับงานวิจัยฟิสิกส์ทฤษฎีเกี่ยวกับโลหะทองคำ

...

เป็นการวิจัยต้องใช้ทฤษฎีควอนตัม เกี่ยวข้องกับการคำนวณที่เคยทำกันมาก่อนเมื่อประมาณสามสิบปี (ก่อนเริ่มต้นการวิจัยของผู้เขียน) แต่ได้ผลออกมาคลาดเคลื่อนมาก เนื่องจากขีดจำกัดของเครื่องคำนวณ

มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) กรุงเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เพิ่งมีคอมพิวเตอร์เมื่อไม่กี่ปี ก่อนที่ผู้เขียนจะได้ใช้ เป็นคอมพิวเตอร์ชนิดเมนเฟรม (mainframe computer) ขนาดใหญ่จริงๆ ต้องใช้พื้นที่เป็นห้องใหญ่ ปรับอากาศตลอดเวลา

ในการใช้คอมพิวเตอร์ ผู้เขียนมิได้สัมผัสด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง แต่ต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ยาวมาก เป็น “สเตตเมนต์” (statement) ภาษาคณิตศาสตร์ของคอมพิวเตอร์ แล้วพิมพ์บนบัตรคอมพิวเตอร์แผ่นละหนึ่ง สเตตเมนต์ เป็นจำนวนนับร้อยแผ่น แล้วส่งให้เจ้าหน้าที่รับไปป้อนให้กับคอมพิวเตอร์

ต่อจากนั้น ก็ต้องรอ “คิว” ที่เจ้าหน้าที่จะป้อนโปรแกรมของผู้เขียนให้คอมพิวเตอร์

ผลที่ได้จะพิมพ์ออกมาเป็นแผ่นกระดาษยาวพับเป็นปึกคล้ายหนังสือพิมพ์

โชคดีที่ผู้เขียนได้ใช้ “เวลา” ของคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนรุ่นต่อๆ มา ที่นักวิจัยจะได้ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานให้ด้วยเวลาที่จำกัดของแต่ละคน และทำให้ผลงานวิจัยของผู้เขียนออกมาได้ดังที่คาดหวัง

นั่นเป็นประสบการณ์แรกจริงๆ ของการใช้คอมพิวเตอร์ของผู้เขียน ซึ่งจะแตกต่างไปจากการใช้คอมพิวเตอร์รุ่นต่อๆ มา ที่จะลดขนาดลงเป็นระดับมินิคอมพิวเตอร์, ไมโครคอมพิวเตอร์ (แบบตั้งโต๊ะ) และถึง คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา ซึ่งลงมาถึงที่สุดของการใช้งาน ดังเช่น โทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้งานสามารถ “ส่ง” หรือ “ใช้งาน” คอมพิวเตอร์ด้วยการพิมพ์ข้อความ หรือด้วย “เสียง”

...

ถึงแม้ผู้เขียนจะไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช แต่ทุกครั้งที่ได้ผลออกมา เป็นปึกแผ่นกระดาษพิมพ์ผลจากคอมพิวเตอร์ มันก็ทำให้ผู้เขียนรู้สึกถึงความพิเศษของคอมพิวเตอร์ ที่ทำงานได้อย่างที่นักวิจัย “เคยฝัน” ว่า “อยากได้”

ผ่าคอมพิวเตอร์

ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) ที่มหาวิทยาลัยอุปป์ซาลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน แล้วผู้เขียนก็มีโอกาสได้ “ผ่า” เครื่องคอมพิวเตอร์

ผู้เขียนชอบวิทยาศาสตร์ และสนุกมากกับการเรียนรู้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยอมรับว่า “เก้งก้าง” “ซุ่มซ่าม” กับการทดลองวิทยาศาสตร์ จำได้ว่า เมื่อเรียนวิทยาศาสตร์ปีที่ 1 อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำคะแนนสอบชีววิทยาได้ดี แต่ไม่สนุกนักกับการทดลองชีววิทยา เพราะสงสารเจ้ากบที่พยายามปิดหน้าปิดตาดิ้นรนในโถแก้วทดลองใส่นำยา ก่อนถูกผ่าในห้องแล็บเพื่อศึกษาระบบอวัยวะภายใน

แต่ผู้เขียนก็มีโอกาส “ผ่า” เครื่องคอมพิวเตอร์เพราะอยากรู้จักกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์อย่างลงลึก

คอมพิวเตอร์ที่ผู้เขียนได้ “ผ่า” ศึกษา อย่างแน่นอน ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่แบบเมนเฟรม แต่เป็นไมโครคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะ

จากการได้ “ผ่า” ศึกษาคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด ถอดชิ้นส่วนของไมโครคอมพิวเตอร์ออกเป็นชิ้นๆ ก็ทำให้ผู้เขียนได้เห็นส่วนที่เปรียบเป็น “สมอง” ของเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง คือ “CPU” (ซีพียู  : central processing unit : หน่วยประมวลผลกลาง) ว่า หน้าตาเป็นอย่างไร และเข้าใจกลไกการทำงานของคอมพิวเตอร์อย่างลงลึกขึ้นอีก

Sycamore ของ กูเกิล
Sycamore ของ กูเกิล

ฟิวเจอร์ช็อก...ของจริงหรือไม่ใช่!

ปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ (Alvin Toffler) ตีพิมพ์หนังสือ “Future Shock” ทำให้โลกได้รู้จักกับคำว่า “Future Shock” หรือ “ฟิวเจอร์ช็อก”

อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ เป็นนักอนาคตศาสตร์ ชาวอเมริกัน ความสนใจใหญ่ของเขา คือ ผลกระทบจากเทคโนโลยีต่อมนุษย์และสังคม

ความหมายอย่างสั้นๆ ตรงๆ ที่สุดของฟิวเจอร์ช็อก คือ “การเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป ในเวลาที่สั้นเกินไป”

ขยายให้ชัดเจนขึ้น คือ “ผลกระทบในระดับใหญ่ของซูเปอร์เทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์เร็วเกินไป โดยที่มนุษย์มิได้มีการเตรียมตัวรับมือให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดฟิวเจอร์ช็อกของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ อย่างชัดเจนที่สุด คือ เทคโนโลยีเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือ คอมพิวเตอร์ ที่จะเป็น “ตัวจัดการ ทั้งการรับ การเก็บ การจัดการ การสร้างและการแพร่ขยาย” ข้อมูลข่าวสาร

จากการเปิดตัวของ Future Shock ถึงวันนี้ ฟิวเจอร์ช็อกของอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ก็ได้สร้างกระแสความตื่นตัว ต่อความเปลี่ยนแปลงและจัดการกับบทบาทและผลกระทบของเทคโนโลยีต่อมนุษย์และสังคมมนุษย์อย่างมาก

แต่ก็มีการตั้งคำถามและการทบทวนเกี่ยวกับฟิวเจอร์ช็อกของอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ว่า  เป็น “ของจริงหรือไม่?”

นั่นคือ ได้เกิดขึ้นตามการเตือนของอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์หรือไม่?

คำถามนี้ เป็นคำถามใหญ่ และต้อง “คุยกันยาว” แต่สำหรับเวทีของเราวันนี้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ และผู้เขียนเชื่อว่า “สมควรจะต้องทำ” ก็คือ เราคงไม่ปฏิเสธว่า เรากำลังอยู่ในโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค แล้วมาช่วยกันหาคำตอบว่า เราจะอยู่อย่างไร ในโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค

อยู่กับโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค!

ในโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค ด้านหนึ่ง ก็มีสิ่งดีๆ ใหม่ๆ น่าตื่นเต้น และโอกาสมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานประกอบอาชีพ การดำเนินชีวิต การพักผ่อน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคม

ตัวอย่างในด้านบวก มีเช่น :-

*คนมีโอกาสเลือกจะทำงานทั้งประเภท on site คือ ที่สำนักงาน หรือ online คือ ที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้

*การเปิดกว้างขึ้นของอาชีพอิสระ

*การฟังเพลง ดูหนัง ดูละคร ซีรีส์ดัง ที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้

แต่โลกยุคซูเปอร์ไฮเทค ก็เหมือนกับโลกในทุกยุคสมัย คือ “ไม่มีอะไรฟรี”

โลกยุคซูเปอร์ไฮเทคจึงมีทั้งส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านลบ

ตัวอย่าง (ด้านลบ) มีเช่น :-

*อาชญากรรมไซเบอร์ หรือ คอมพิวเตอร์ที่กำลังรุนแรงขึ้นอีก เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การหลอกลวงทำได้ “แนบเนียน” ยิ่งขึ้น

*คนตกงานมากขึ้น จากงานอาชีพที่ถูกเทคโนโลยีแย่งงาน ดังเช่น การปิดตัวของโรงงานที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีใหม่ๆ

*ความเครียดจากการปรับตัวไม่ทันหรือไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี เช่น คนปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิทัล บัตรเครดิต การทำธุรกรรมทางออนไลน์

แล้วเราจะอยู่อย่างไร ในโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค?

คำถามนี้ ผู้เขียนขอเรียนกับท่านผู้อ่านว่า เป็นคำถามซึ่งผู้เขียนได้รับจากผู้ติดตามรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่ผู้เขียนเคยจัดมายาวนาน และคอลัมน์ตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ เช่น คุยกับชัยคุปต์ คุยกับชัยวัฒน์ ตั้งแต่เมื่อประมาณปลายศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งผู้เขียนต้องครุ่นคิดอยู่นาน

ประกอบกับประสบการณ์ของผู้เขียนในการใช้งานและผ่าคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เข้าใจ “ตัวตน” ของคอมพิวเตอร์ ที่เป็นเทคโนโลยีหลักของโลกยุคซูเปอร์ไฮเทคได้อย่างมั่นใจขึ้น...

ผู้เขียนจึงตกผลึกออกมาเป็นคำตอบว่า :-

“คนยุคใหม่ต้องไม่กลัวเทคโนโลยี แต่ต้องไม่บ้าเทคโนโลยี!”

เพราะถ้าเรากลัวเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ เราก็พลาดโอกาสที่จะได้ใช้ประโยชน์มหาศาลจากคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกัน ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ก็มีหลายระดับ อีกทั้งระดับที่เพิ่มขึ้นของคอมพิวเตอร์ ล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย

ดังนั้น สำหรับผู้เขียน การอยู่กับโลกยุคซูเปอร์ไฮเทค คือ การอยู่อย่างไม่ต้องกลัวเทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน ก็เลือกใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น

ตัวอย่าง คือ โทรศัพท์มือถือมีหลายระดับ ราคาก็สูงตามระดับ สำหรับผู้เขียนก็เลือกใช้เฉพาะระดับที่จำเป็นสำหรับการใช้งาน และการดำเนินชีวิต

ผู้เขียนเชื่อและหวังว่า “การไม่กลัวเทคโนโลยี แต่ต้องไม่บ้าเทคโนโลยี” จะช่วยดูแลตัวเราเองได้อย่างดี ในการอยู่กับโลกยุคซูเปอร์ไฮเทคได้อย่างมีความสุข โดยไม่เครียด

แต่กับคนอื่นล่ะ?

ไม่มีใครบังคับจิตใจคนอื่นได้ นอกเสียจากตัว “คนอื่น” จะเห็นเอง

ดังนั้น คำตอบของผู้เขียนเกี่ยวกับคนอื่นจึงยังเป็น “อืม!”

หรือท่านผู้อ่านเองล่ะครับ คิดอย่างไร?