อิสราเอล-ฮามาส สงครามคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ ยังหาทางยุติลงไม่ได้ ล่าสุดมีการโจมตีทางอากาศโรงพยาบาลในฉนวนกาซา จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย นักวิชาการมองว่า อิสราเอลพร้อมเดินหน้าทำลายขุมกำลังฮามาส หลบซ่อนกำลังอยู่ในอุโมงค์กว่าพันแห่ง ในพื้นที่ฉนวนกาซาตอนเหนือ แต่นั่นอาจเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้สงครามทวีความรุนแรง

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องบินอิสราเอลโปรยใบปลิวประกาศให้ประชาชน ในฉนวนกาซาทางตอนเหนือ อพยพลงสู่พื้นที่ภาคใต้ ท่ามกลางคำถามด้านมนุษยชน ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนอิสราเอล เมื่อ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา

ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ให้ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า แนวโน้มขั้นต่อไปของสงครามอิสราเอลและฮามาส จะเกิดขึ้นได้ 3 แนวทาง ดังนี้

ทางแรก อิสราเอลบุกเข้าไปในดินแดนฉนวนกาซาตอนเหนือ ปฏิบัติการในวงจำกัด เข้าไปทำลายโครงสร้างทางทหารกลุ่มฮามาส ที่ซ่อนอยู่ภายในอุโมงค์ลับใต้ดินเท่านั้น เพราะอิสราเอลรู้ว่าการปราบฮามาสให้หมดสิ้นคงทำไม่ได้ ดังนั้น การบุกเข้ามาเพื่อลดทอนกองกำลังต่อต้าน และหลังจากปฏิบัติการเสร็จสิ้น กองกำลังทหารจะถอนตัวออกจากดินแดนฉนวนกาซาทันที จะทำให้สถานการณ์เป็นปกติเหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา

...

“แนวทางแรกมีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะถ้าเกิดเข้าไปยึดครองดินแดน ยิ่งทำให้ความขัดแย้งขยายตัว”

แนวทางที่สอง อิสราเอลบุกเข้าไปในฉนวนกาซา เข้ายึดครองพื้นที่ โดยอิสราเอลเคยเข้าไปยึดครองแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967-2005 แต่การเข้าไปยึดครองมีรายจ่ายสูง ต้องสนับสนุนกำลังพลและอาวุธ ขณะเดียวกันมีกระแสต่อต้าน ส่งผลต่อความปลอดภัยของกำลังทหาร และพลเมืองอิสราเอล

สิ่งสำคัญคือ อิสราเอลต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้อพยพในฉนวนกาซาทางตอนเหนือ มีค่าใช้จ่ายมหาศาล หากตัดสินใจเข้าไปยึดครองเหมือนอดีต สุดท้ายอิสราเอลตัดสินใจถอนกำลังออกมา ด้วยเหตุปัจจัยนี้เป็นหลัก ขณะเดียวกันมีโอกาสที่สงครามจะยืดเยื้อ สงครามขยายวง มีกลุ่มอื่นพร้อมต่อต้านอิสราเอล เช่น ฮิซบอลเลาะห์ ทางตอนเหนือของอิสราเอล เข้ามาร่วมเต็มตัว ส่งผลให้สงครามกระจายตัวไปนอกดินแดนที่มีความขัดแย้งเดิม

แนวทางที่สาม เกิดการยกระดับสงครามไปสู่ระดับภูมิภาค เป็นที่น่ากลัว ในการที่อิสราเอลและประเทศที่สนับสนุนกลุ่มฮามาสต่อสู้กันโดยตรง เพราะที่ผ่านมามีการต่อสู้กันโดยสงครามตัวแทนมาตลอด และทำให้ประเทศมหาอำนาจหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงคราม จนดินแดนในตะวันออกกลางกลายเป็นสมรภูมิรบเชิงรัฐศาสตร์

แรงงานไทยในอิสราเอล กระทบยาวจากไฟสงคราม

สำหรับขั้นบันไดความรุนแรงของสงครามอิสราเอลและฮามาส จากสามแนวทาง ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดหวังว่าจะเกิดแนวทางแรก ในการที่อิสราเอลเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาทางตอนเหนือ และถอนกำลังออกมาหลังจากทำลายขุมกำลังบัญชาการในอุโมงค์ลับแล้ว ประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางได้มีความพยายามให้เกิดการหยุดยิง

มีแนวโน้มขยายความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประเทศอิสราเอลขณะนี้อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลฝ่าย "ขวาจัด" มีความต้องการขยายอาณาเขต ซึ่งมีความน่าเป็นห่วงว่า ถ้าให้ประชากรในฉนวนกาซา ไปอยู่ในพื้นที่ตอนใต้แล้ว มีการกวาดต้อนให้ประชาชนบางส่วนไปอยู่ในพื้นที่ชายแดนอียิปต์ และเกิดการขยายวงของสงครามได้

แรงงานไทยในภาวะสงครามอิสราเอล หากมีการขยายวงความรุนแรงต่อจากนี้ จะนำไปสู่การเปิดศึกหลายแนวรบ พื้นที่อิสราเอลอาจไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทางที่ดีแรงงานไทยควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา.