"ทวิตเตอร์" กับการรีแบรนด์สู่ everything app ปัจจัยที่ทำให้ Twitter Bird ต้องโบกมือลา...

“Twitter Bird Logo” หนึ่งในโลโก้แบรนด์อันโด่งดังจนกระทั่งไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะเวลายาวนานถึงหนึ่งทศวรรษ...ได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดลงในวันที่ 24 มค.23 เข้าจนได้ เมื่อ “อีลอน มัสก์” เจ้าของบริษัทคนใหม่ ซึ่งทุ่มเงินมหาศาลมากกว่า 4,4000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 ล้านล้านบาท) เข้าซื้อกิจการ ป่าวประกาศต่อชาวทวิตภพว่า...ถึงเวลาสำหรับ “ความเปลี่ยนแปลง” โดยโลโก้แบรนด์ใหม่สำหรับทวิตเตอร์จะเปลี่ยนจาก “นกสีฟ้า” มาเป็น “X” อักษรที่ “มิสเตอร์ไอรอนแมน” แสนรักใคร่ 

แล้วเพราะเหตุใด?....“อีลอน มัสก์” จึงต้องเร่งร้อนเปลี่ยนแปลง “ทวิตเตอร์” อย่างรวดเร็วถึงขนาดนี้ วันนี้ “เรา” ลองไปประมวลข้อมูลแวดล้อมต่างๆ เพื่อพยายามค้นหา “คำตอบ” ที่ว่านี้ร่วมกัน

...

เพราะอะไร Twitter Bird จึงไม่ได้ไปต่อ : 

“The bird is freed” ทวีตของ “อีลอน มัสก์” ขณะพยายามเข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อปี 2022 ถูกตีความจากนักวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นความต้องการสื่อถึง แนวคิดที่จะปลดปล่อยแพลตฟอร์มออกจากรูปแบบเดิมๆ เพื่อเบนเข็มไปสู่ “รอยทางใหม่” ภายใต้ Concept “everything app” เช่นเดียวกับ “WeChat” แอปพลิเคชันยอดนิยมของชาวจีน ที่ผู้ใช้งานสามารถทำได้สารพัดสิ่งไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อสินค้า ชำระค่าบริการ หรือแม้กระทั่งการกู้เงิน เพื่อหวังสร้างรายได้มาชดเชยเงินลงทุนมากกว่า 4,4000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเข้าเทคโอเวอร์ทวิตเตอร์ รวมถึง รายได้จากค่าโฆษณาซึ่งถือเป็นรายได้หลักของทวิตเตอร์ ซึ่งลดลงมากกว่า 50% อันเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องมาตรฐานการดูแลแพลตฟอร์ม หลังอยู่ภายใต้การครอบครองของมนุษย์ที่รวยที่สุดในโลก 

Twitter Logo Evolution : 

21มี.ค.2006 : “Just setting up my twttr”.

“ทวีตแรกบนโลก” ที่ “แจ็ค ดอร์ซีย์” (Jack Dorsey) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ ทวีตข้อความบน “Twitter” ว่าแต่...รู้หรือไม่?...จุดเริ่มต้นของโลโก้แบรนด์แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ ณ ปัจจุบัน (ปี 2023) มี Monthly Active Users มากกว่า 450 ล้าน Users มีหน้าตาเป็นอย่างไร?

จุดเริ่มต้น ปี 2005-2006 : ทวิตเตอร์สีเขียว 

ก่อนเกิดวิบากกรรมเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด “อีวาน วิลเลียมส์” (Evan Williams) , “บิซ สโตน” (Biz Stone) , “โนอาห์ กลาส” (Noah Glass) และ “แจ็ค ดอร์ซีย์” (Jack Dorsey) เหล่าสหายผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์ ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า จะเรียกเทคโนโลยีที่พวกเขาคิดค้นนี้ว่าอย่างไร หน้าตาของโลโก้แบรนด์ (อย่างไม่เป็นทางการ) จึงถูกออกแบบหน้าตาให้ออกมาในหลายๆ รูปแบบรวมถึงชื่อที่จะถูกนำมาใช้เรียกโปรเจกต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนานี้ด้วย 

...

SMSSY An Odeo Thingy , Twitter An Oreo Thingy , Twttr twttr และ Twttr 

โดยสาเหตุที่ 2 โลโก้แรกมีคำว่า “Odeo Thingy” ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากจุดกำเนิดของทวิตเตอร์นั้น เริ่มต้นจากการทำ Podcast ที่มีชื่อช่องว่า Odeo ตั้งแต่ปี 2004 ส่วน Twttr นั้น มาจาก “ทวีตแรกบนโลกใบนี้” ของ “แจ็ค ดอร์ซีย์” นั่นเอง ก่อนที่ในท้ายที่สุด “โนอาห์ กลาส” ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโลโก้เหล่านั้น จะตัดสินใจเลือก โลโก้ Twttr ในที่สุด สำหรับสาเหตุที่เลือกโลโก้สีเขียว นั้น เป็นเพราะต้องการสื่อถึง “ธรรมชาติและเสรีภาพ” 

ปี 2006-2010 : ทวิตเตอร์สีฟ้า 

ส่วนโลโก้แบรนด์อย่างเป็นทางการแบบแรก ที่เปิดตัวพร้อมกับเวอร์ชันสมบูรณ์แบบของ “ทวิตเตอร์” ในเดือนกรกฎาคมปี 2006 นั้น มีหน้าตาเป็นแบบนี้...

...

โดยโลโก้ดังกล่าวถูกออกแบบโดย “ลินดา เกวิน” (Linda gavin) ดีไซเนอร์สาวชาวสวีเดน โดยเธอได้บอกเล่าผ่านเว็บไซต์ eyeem.com ว่า “โนอาห์ กลาส” ได้ติดมาให้ทางบริษัทของเธอช่วยรีแบรนด์ Twttr (ชื่อที่ยังใช้ ณ เวลานั้น) ซึ่งกำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนบริษัทมีเงินมากเพียงพอสำหรับการรีแบรนด์ครั้งใหญ่ (เปลี่ยนชื่อจาก Twttr เป็น Twitter) อย่างไรก็ดี เธอได้รับ “เวลา” สำหรับการทำงานในครั้งนี้เพียง 3 วันเท่านั้น! 

และจากโลโก้มากกว่า 20 แบบ จากฝีมือของ “ลินดา เกวิน” ในท้ายที่สุด “โนอาห์ กลาส” ได้ตัดสินใจเลือกโลโก้ดังกล่าว เนื่องจากถูกใจการใช้ “สีฟ้า” เพราะเขามองว่า มันเป็น “สีที่ผู้ใช้งานสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย” และจากนั้นเป็นต้นมา “สีฟ้า” ก็ได้กลายเป็นสีหลักที่ทวิตเตอร์ใช้สื่อสารกับผู้ใช้งานจนถึงปัจจุบัน

ปี 2010-2012 : การมาถึงของนกสีฟ้า  

การปรากฏตัวครั้งแรกของ “นกสีฟ้า” บนโลโก้ทวิตเตอร์ นั้น ในเบื้องต้นต้องเป็นผลงานการออกแบบของ “ไซมอน โอ๊คเลย์” (Simon Oxley) ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษ อย่างไรก็ดี ไซมอน ได้รับค่าตอบแทนจากภาพต้นแบบ “นกสีฟ้า” ที่ชาวโลกรู้จักนี้เพียง 3-4 ดอลลาร์สหรัฐ (103-138 บาท) เท่านั้น! ตามรายงานของ "สำนักข่าว Insider"

...

นั่นเป็นเพราะ...เจ้านกสีฟ้าออริจินอล ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์เป็นผู้เลือกนั้น ถูกโหลดมาจาก iStock เว็บไซต์แชร์รูปภาพแบบเปิดรับสมัครสมาชิก ก่อนจะนำไปดัดแปลงให้มีความเป็นมินิมอลมากขึ้น เป็นเหตุให้ “ไซมอน” ซึ่งเป็นหนึ่งในศิลปินจำนวนมากที่นำผลงานไปแชร์เพื่อรอรับส่วนแบ่ง แทบไม่เคยได้รับเครดิตอย่างเป็นทางการใดๆจากทวิตเตอร์!

ทั้งนี้ นกสีฟ้าตัวดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อว่า “Larry The Bird” ตาม “แลรี เบิร์ด” (Larry Bird) ตำนานนักบาสเกตบอล NBA และในยุคนี้เองที่เริ่มเรียกการโพสต์ข้อความว่า “ทวีต” (Tweets)

โดย “Larry The Bird” เป็น Symbolize ที่ต้องการสื่อถึง “วัฒนธรรมของการทวีต” ที่รวดเร็วและสั้นได้ใจความ ซึ่งใกล้เคียงกับ “เสียงนกร้อง” ด้วย

2012-2023 : ไร้ชื่อแบรนด์เหลือเพียง “นกสีฟ้า”

การอัปเดตโลโก้แบรนด์ ด้วยฝีมือการออกแบบของกลุ่มศิลปินที่นำโดย “Martin Grasser” , “Todd Waterbury” และ “Angy Che” 

โดย Martin Grasser ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ รวมถึงทวีตบอกเล่าถึงเรื่องราวการออกแบบ “นกสีฟ้า” เวอร์ชันใหม่ที่มีชื่อว่า “Twitter Bird” เอาไว้ดังต่อไปนี้... 

หลังเรียนจบจาก Art Center College of Design และเริ่มต้นการทำงานได้เพียง 3 ปี จู่ๆ วันหนึ่งเขาก็ได้รับโทรศัพท์ลึกลับ ที่นัดหมายให้ไปสัมภาษณ์กับโปรเจกต์ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยโปรเจกต์หนึ่ง และเมื่อเดินทางไปถึงจึงได้รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วโปรเจกต์ลับดังกล่าว คือ “การออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับทวิตเตอร์!” โดยหลังจากได้รับทราบ เขาทำได้เพียงก้มหน้านิ่งๆ เพื่อระงับความประหม่า และตื่นตระหนก ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างชนิดแทบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

อย่างไรก็ดีแม้ว่า “แจ็ค ดอร์ซีย์” จะบรีฟงานในเบื้องต้นว่า อยากให้การออกแบบโลโก้ใหม่นี้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ Martin Grasser กลับเชื่อมั่นว่าควรจะเน้นไปที่การพัฒนา “นกสีฟ้าตัวใหม่” ให้กับทวิตเตอร์มากที่สุด 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเริ่มศึกษาอากัปกิริยาขณะที่นกหลายๆ ชนิดกำลังโบยบิน รวมไปจนกระทั่งให้บรรดานักศึกษาฝึกงานค้นคว้าขนาดของปีกโดยเฉลี่ยของนกที่ถูกพบเห็นได้บ่อยที่สุด เพื่อหาข้อสรุปที่ว่า “ขนาดปีกนก” ควรจะมีขนาดประมาณเท่าไหร่? และเพื่อให้อินกับนกให้ได้มากที่สุด ศิลปินผู้นี้ถึงกับโหลดเสียงนกในป่าแอมะซอนมาฟังขณะทำงานด้วย! 

และในที่สุด “นกฮัมมิงเบิร์ด” ก็ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ และเพื่อให้แน่ใจว่าสัดส่วนของหน้าอก ปีก ปาก และ หัว จะเท่าๆ กัน เขาจึงทำวงกลมที่มีขนาดที่แตกต่างกันถึง 15 วง มาวางซ้อนๆ กัน 

สำหรับ Concept ในการออกแบบนั้น Martin Grasser ระบุว่า เน้นไปที่ ความเรียบง่าย (Simple) , สมดุล (Balanced) และ เข้าใจง่าย (Legible) ส่วนความหมายที่ซุกซ่อนอยู่ในการออกแบบนี้ก็คือ เสรีภาพ เสมอภาค เป็นกลาง และประชาธิปไตย

โดยหลังจากออกแบบเสร็จสิ้นและนำภาพร่าง 24 ชิ้น มานำเสนอ “ผลลัพธ์” ที่เกิดขึ้นคือ “แจ็ค ดอร์ซีย์” ตัดสินใจชี้นิ้วไปที่ภาพร่าง “Twitter Bird” ซึ่งตอนนั้นมีชื่อว่า “Bird 5CS” ภายในเวลาเพียง 2 วินาที! และหลังจากนั้นเป็นต้นมา มันก็ยืนยงเป็นโลโก้อันโด่งดังและเป็นที่จดจำให้กับทวิตเตอร์ มาเนิ่นนานถึง 1 ทศวรรษ ก่อนที่จะถึงจุดสิ้นสุดลงในปี 2023 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง