ภายหลังจากภาพยนตร์แอนิเมชันในระยะหลังๆ ทำเงินได้น่าผิดหวัง หรือมันเป็นเพราะเวทมนตร์ Pixar เริ่มถึงคราวเสื่อมถอย...

จุดเริ่มต้น "Toy Story" ในปี 1995 จากทุนสร้าง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สามารถทำรายได้รวมทั่วโลกไปมากกว่า 394 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมจากนั้นเป็นต้นมา...ชาวโลกทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างพร้อมใจกันโอบกอดและให้การต้อนรับ ภาพยนตร์แอนิเมชันจาก “ดิสนีย์พิกซาร์ แอนิเมชัน สตูดิโอ” (Disney Pixar Animation Studio) ด้วยความรักใคร่ไม่ว่าจะเป็นทั้งในแง่รายได้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และรางวัลการันตีคุณภาพ  

อย่างไรก็ดี หลัง Toy Story 4 หนึ่งในแฟรนไชส์อันแข็งแกร่งของสตูดิโอ ทำเงินทั่วโลกได้รวมกันถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2019 เป็นต้นมา ผลงานที่ตามมาในช่วงที่ชาวโลกเผชิญกับโควิด-19 กลับทำรายได้ “ลดฮวบฮาบ” อย่างชนิดน่าใจหาย ไม่เว้นแม้กระทั่ง “Lightyear” หนัง Spin-off จากแฟรนไชส์ Toy Story อันแสนภาคภูมิใจของสตูดิโอ และถือเป็น “หมุดหมายสำคัญ” สำหรับย่าวก้าวต่อไปของ “นายอำเภอวู้ดดี้และผองเพื่อน” 

...

โดย “Lightyear” ซึ่งใช้ทุนสร้างไปมากถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำรายได้รวมทั่วโลกไปเพียง 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! ขณะที่ผลงานล่าสุด “Elemental” ซึ่งแม้จะยังได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์เช่นที่เคยเป็นมา แต่รายได้รวมทั่วโลกหลังออกฉายไปได้ 2 สัปดาห์ (สิ้นสุดวันที่ 22มิ.ย.23) กลับทำเงินไปได้เพียง 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! ทำให้มีความเป็นไปได้สูงมากแล้วว่า “Elemental” จะกลายเป็นอีกหนึ่งผลงานของสตูดิโอที่ “ขาดทุน” และนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า “เวทมนตร์ของพิกซาร์” เสื่อมถอยลงแล้วใช่หรือไม่? 

27 ผลงาน ในรอบ 28 ปี ของ พิกซาร์ : 

นับตั้งแต่ Toy Story ภาคแรกในปี 1995 จนถึงปัจจุบันปี 2023 “พิกซาร์” ปล่อยผลงานออกมารวมกันแล้วทั้งสิ้น 27 เรื่อง ซึ่งทำเงินได้รวมกันมากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แถมในจำนวนนี้มีเพียง Cars 2 เรื่องเดียวเท่านั้น ที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของบรรดานักวิจารณ์ (ได้รับคะแนนจากเว็บไซต์ Rottentomators ไปเพียง 40%) อย่างไรก็ดีแม้จะไม่ได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์มากนัก แต่ Cars 2 ก็ยังสามารถทำเงินทั่วโลกไปมากกว่า 559 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ดี หนำซ้ำ...Cars 2 ก็ยังสามารถทำรายได้จากค่าลิขสิทธิ์และสินค้าที่ระลึกต่างๆได้รวมกันมากมายถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย!

ส่วน “แอนิเมชัน” ที่ทำเงินในระดับที่ “ไม่น่าพึงพอใจมากนัก” จากทั้งหมด 27 เรื่อง ประกอบด้วย 1. “The Good Dinosaur” ในปี 2015 ที่ทำเงินไปเพียง 332 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเหตุผลสำคัญทั้งจากปัญหาความล่าช้าในการผลิต การเปลี่ยนตัวผู้กำกับกลางคัน 2. “Cars 3” ปี 2017 ทำเงินไป 383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3. "Lightyear" ปี 2022 ทำเงินรวม 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่ “ผลงานที่เข้าขั้นขาดทุน” ประกอบไปด้วย

1. “Onward” ปี 2020 ทำเงิน 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. “Soul” ปี 2020 ทำเงิน 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

3. “Luca” ปี 2021 ทำเงิน 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

...

4. "Turning Red" ปี 2022 ทำเงิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  

*** หมายเหตุ Soul , Luca , Turning Red ทำรายได้จากเฉพาะการฉายในตลาดต่างประเทศ 100% ***  

และล่าสุดที่มี “แนวโน้มสูงว่าจะขาดทุน” คือ “Elemental” (ทำเงินได้แล้ว 124 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังสัปดาห์แรกของการฉายในตลาดสหรัฐฯ ทำเงินไปได้เพียง 47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่า รายได้เปิดตัวของ “ตำนานพ่อปลาการ์ตูนตามหาลูกจอมดื้อสุดขอบฟ้า” อย่าง “Finding Nemo” (ครั้งแรกฉายปี 2003) เวอร์ชัน 3D ที่นำกลับมาฉายในโรงภาพยนตร์ใหม่เมื่อปี 2012 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น! (สัปดาห์แรก Finding Nemo เวอร์ชัน 3D ทำเงินในตลาดสหรัฐไป 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

สำหรับในกรณีของ Onward , Soul , Luca , Turning Red ในแง่ของการ “ขาดทุน” ยังพอสามารถอธิบายได้จากปัจจัยปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คน “หนีห่างจากโรงภาพยนตร์” รวมถึงการตัดสินใจของดิสนีย์ที่นำทั้ง Soul , Luca , Turning Red ไปลง Disney+ บริการสตรีมมิงของบริษัท

...

แต่สำหรับกรณีของ “Lightyear” และ “Elemental” ซึ่งออกฉายในช่วงโควิด-19 ผ่านพ้น ปัจจัยดังกล่าว จึงไม่น่าใช่ “คำตอบ” อีกทั้งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น “คู่แข่ง” ยังสามารถปล่อยผลงานแอนิเมชันออกมากวาดเงินได้อย่างถล่มทลายเสียด้วย!

ไม่ว่าจะเป็น 1.“Super Mario Bros. Movie” (ปี 2023) ที่ล่าสุดทำเงินไปแล้วมากกว่า 1,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 2.Spider-Man : Across the Spider-Verse (ปี 2023) จากค่ายโซนี ที่ทำเงินทั่วโลกไปแล้ว 563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!   

ส่วนในปี 2022 แอนิเมชันจากค่ายยูนิเวอร์แซล อย่าง “Minions : The Rise of Gru” ทำเงินไป 939 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ "Puss in Boots : The Last Wish" ทำเงินไปได้ถึง 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และจากความ “ล้มเหลว” ในแง่รายได้ของ “Lightyear” ทำให้ “พิกซาร์” ต้องมีการปรับลดพนักงานเป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษถึง 75 ตำแหน่ง (จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 1,200 คน) ซึ่งในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งในระดับผู้บริหารถึง 2 คน ตามแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในเครือ "Walt Disdey" ด้วยการเลิกจ้างพนักงานถึง 7,000 ตำแหน่ง เพื่อหวังลดต้นทุนมากกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา   

...

แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ “เสน่ห์เฉพาะตัว ของ แอนิเมชันพิกซาร์” หายไป? จากบรรทัดนี้ไป คือ มุมมอง จากบรรดานักวิเคราะห์ในสหรัฐอเมริกา 

จอห์น ลาสเซเทอร์ (John Lasseter)
จอห์น ลาสเซเทอร์ (John Lasseter)

1. จอห์น ลาสเซเทอร์ (John Lasseter) : 

“จอห์น ลาสเซเทอร์” คือ บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลัง “เวทมนตร์มหัศจรรย์” ที่เรียกว่า “ความคิดสร้างสรรค์” จนกระทั่งเสกให้ “พิกซาร์” กลายเป็นสตูดิโอแอนิเมชันระดับโลก ทั้งก่อนและหลังที่ "ดิสนีย์" ตัดสินใจเข้าซื้อ “พิกซาร์” ด้วยเม็ดเงินสูงถึง 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ! เมื่อปี 2006 

แล้ว “จอห์น ลาสเซเทอร์” สำคัญอย่างไร? 

จอห์น ลาสเซเทอร์ คือ ผู้ร่วมก่อตั้ง ครีเอทีฟ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ (Chief Creative Office) หรือ CCO ของ “พิกซาร์”

โดย จอห์น ลาสเซเทอร์ และกลุ่มคนที่ถูกเรียกขานว่า “เบรนทรัสต์” (Braintrust) ซึ่งประกอบไปด้วย “พีท ดอกเตอร์” (Pete Docter), “แอนดูรว์ สแตนตัน” (Andrew Stanton) , “โจ แรนฟท์” (Joe Ranft), “ลี อันคริช” (Lee Unkrich), “แบรด เบิร์ด” (Brad Bird) ได้ผนึกกำลังกันอย่างแข็งแกร่งในการสร้างสรรค์ผลงานที่ทำให้ชาวโลกหลงรักแอนิเมชันในช่วงยุคทองของ “พิกซาร์” ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ อย่าง Toy Story , A Bug’s Life , Monsters Inc , Finding Nemo , The Incredibles และ WALL-E อย่างชนิดท่วมท้นหัวใจ และกลายเป็น “รอยทางสำคัญ” สำหรับการเดินตามรอยความสำเร็จของสตูดิโอในเวลาต่อมา โดยเฉพาะกลยุทธ์ “ถ้า X (สิ่งใดสิ่งหนึ่ง) เกิดพูดได้ขึ้นมาล่ะ?”

โดยบรรยากาศการสุมหัวหารือในกลุ่มเบรนทรัสต์ เพื่อนำไปสู่ “ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ” ซึ่งถูกบรรยายลงใน "หนังสือ Creativity, INC" จนทำให้มันกลายเป็นหนังสือ Bestseller ที่บอกเล่าถึงตำนานของ “พิกซาร์” ในเวลาต่อมาได้ระบุว่า...   

“กลุ่มเบรนทรัสต์ มีวิธีการให้ฟีดแบ็กกับภาพยนตร์เวอร์ชันแรกๆ ที่แตกต่างจากขนบของฮอลลีวูดดั้งเดิมซึ่งมักจะก่อให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่าง นายทุนและผู้กำกับ ก่อนจะไปลงเอยที่ความไม่ลงรอยระหว่างศิลปะและการค้าอยู่เสมอๆ 

แต่ที่พิกซาร์จะต่างออกไป ข้อแรก กลุ่มเบรนทรัสต์ ประกอบด้วยกลุ่มคนที่เข้าใจการเล่าเรื่องอย่างลึกซึ้งเพราะเคยผ่านกระบวนการเหล่านั้นมาแล้วด้วยตนเองจึงมีความเข้าใจเรื่องศิลปะเป็นอย่างดี ข้อสอง กลุ่มเบรนทรัสต์ ไม่มีอำนาจสั่งการ ผู้กำกับจึงไม่จำเป็นต้องทำตามคำแนะนำเจาะจงใดๆ ที่ให้มา หลังจากจบการประชุม มันก็ขึ้นอยู่กับผู้กำกับคนนั้นๆ แล้วว่า จะจัดการกับฟีดแบ็กเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งการตัดอำนาจการสั่งในแบบ หากไม่ทำเดี๋ยวจะต้องเจอดีนี้เอง เป็นผลให้ กลุ่มเบรนทรัสต์ สามารถดึงต้นเหตุของปัญหาออกมาให้เห็น โดยไม่ต้องลงไปลงมือรักษามันด้วยตนเอง 

นั่นเป็นเพราะ...กลุ่มเบรนทรัสต์ ที่นำโดย จอห์น ลาสเซเทอร์ เชื่อมั่นว่า ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาใดจะดีเท่ากับวิธีที่ผู้กำกับกับทีมสร้างสรรค์ของเขาหรือเธอจะจัดการแก้ไขมันด้วยตัวเอง อีกทั้ง ไอเดียรวมถึงภาพยนตร์จะยอดเยี่ยมได้เมื่อมันถูกท้าทายและทดสอบ! 

และ จอห์น ลาสเซเทอร์ มักจะเป็นคนแรกที่เสนอว่า เขาชอบฉากใดมากที่สุด รวมถึงระบุธีมและไอเดียที่ต้องพัฒนาเพื่อให้เกิดการโต้ตอบไปมา จากนั้นทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมก็จะค่อยๆ กระโดดเข้าร่วมวงพร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องจุดแข็ง และจุดอ่อน ของภาพยนตร์ต่อๆ กันไป จนกระทั่งมันมักจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบไม่คาดคิดได้อยู่เสมอๆ” 

โดย “แอนดูรว์ สแตนตัน” หนึ่งในสมาชิกเบรนทรัสต์ ได้ให้คำจำกัดความของ “กลุ่มเบรนทรัสต์” เอาไว้ว่า...ถ้าพิกซาร์เป็นโรงพยาบาล และภาพยนตร์ต่างๆ เป็นคนไข้ กลุ่มเบรนทรัสต์ ก็ประกอบไปด้วยหมอที่ไว้ใจได้ และต้องไม่ลืมด้วยว่า ผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์เองก็เป็นหมอด้วยเช่นกัน มันก็เป็นเหมือนการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษามาร่วมด้วยช่วยกันเพื่อวินิจฉัยเคสซับซ้อนสุดขีดให้ถูกต้อง แต่ถึงที่สุดแล้ว คนสร้างหนังจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า... “วิธีการรักษาแบบไหนฉลาดที่สุด”

และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้...จึงมีข้อตกลงในพิกซาร์ว่า “สตีฟ จ๊อบส์” เอกบุรุษผู้ก่อตั้ง Apple ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าของพิกซาร์ “ห้ามเข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มเบรนทรัสต์อย่างเด็ดขาด!” นั่นเป็นเพราะทางกลุ่มเกรงว่า ภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของ “สตีฟ จ๊อบส์” จะทำให้การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาเป็นไปได้ยากขึ้น (หรือหากจะให้พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ ใครจะกล้าไปขัด แรงปรารถนาอันแรงกล้า มุทะลุดุดันและเหี้ยมเกรียม สไตล์ “สตีฟ จ๊อบส์” ได้จริงไหม?) 

นอกจากนี้ “จอห์น ลาสเซเทอร์” ยังมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคนและเทคโนโลยีให้กับพิกซาร์อย่างชนิดไร้ขีดจำกัดด้วย เช่น เมื่อใดก็ตามที่บรรดาลูกทีมเริ่มไอเดียตีบตัน และเริ่มจะเสนองานในลักษณะ “ก๊อบปี้คู่แข่ง”  

“จอห์น จะหยุดคนเหล่านั้นเสมอ พร้อมกับกระตุ้นให้พวกเขาเดินให้ช้าลง และมองให้ไกลกว่าสิ่งที่คิดว่ารู้อยู่แล้ว พร้อมกับออกไปข้างนอกเพื่อค้นคว้าให้รู้จริง” 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิกซาร์เตรียมสร้างแอนิเมชันเกี่ยวกับหนูปารีสตัวหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเชฟทำอาหาร ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นภาพยนตร์ “Ratatouille” จอห์น ได้กระตุ้นให้ลูกทีมในโปรเจกต์นี้เดินทางไปฝรั่งเศสและใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์สำหรับการรับประทานอาหารมื้อค่ำในภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์ รวมถึงเยี่ยมชมห้องครัว และสัมภาษณ์เชฟในร้าน! 

เช่นเดียวกับกรณี ภาพยนตร์เรื่อง “Finding Nemo” ทีมงานถูกจัดทริปไปดูงานบำบัดน้ำเสียของซานฟานซิสโก เพื่อไปหาข้อมูลให้ได้จริงๆว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ปลาจะสามารถหนีไปทางท่อน้ำทิ้งก่อนจะออกไปสู่มหาสมุทรโดยไม่ตายเสียก่อน!  

และสำหรับภาพยนตร์อีกเรื่องอย่าง “UP” จอห์น จัดการส่งนกกระจอกเทศตัวเป็นๆ มาที่สำนักงานใหญ่ของพิกซาร์ เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมออกแบบที่กำลังร่างคาแรกเตอร์นกตัวยักษ์อยู่!

ส่วนในด้านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานแอนิเมชัน ซึ่งแน่นอนว่า “พิกซาร์” คือผู้นำในด้านนี้อย่างไม่ต้องสงสัยในช่วงเวลานั้น จอห์น มีปรัชญาสำหรับคนในพิกซาร์ที่แสนสั้นและเรียบง่ายว่า “ศิลปะท้าทายเทคโนโลยี เทคโนโลยีสร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปะ”  

และด้วยวิธีการเหล่านี้เอง “จอห์น ลาสเซเทอร์” จึงกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ รวมถึงได้รับความเคารพรักจากทุกคนในพิกซาร์อย่างแท้จริงไปในที่สุด 

อย่างไรก็ดี หลัง “จอห์น ลาสเซเทอร์” ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง จากเหตุการณ์อื้อฉาวการล่วงละเมิดทางเพศในบริษัทเมื่อปี 2018 และทางสตูดิโอ ได้แต่งตั้ง “พีท ดอกเตอร์” เข้ามาทำหน้าที่แทน ผลงานของพิกซาร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “มุ่งเดินตามรอยความสำเร็จเดิมๆ มากเกินไป และมักจะไม่ค่อยมีอะไรที่แสดงถึง ความคิดสร้างสรรค์ที่สดใหม่” หากนำไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่น่าเกรงขามในยุคนี้อย่าง “สตูดิโออิลลูมิเนชัน” (Illumination) ของ ยูนิเวอร์แซล (Universal) ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างผลงานถล่ม Boxoffice มาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะแฟรนไชส์ขบวนการเจ้าตัวเล็กสีเหลืองจอมป่วน “Minions” ในช่วงระหว่างปี 2010-2020 ซึ่งได้กลายเป็นขวัญใจและเติบโตมาเคียงคู่กับเหล่า Gen Z และ Gen Alpha โดยปล่อยให้ “Pixar” และอริที่ถือเป็นคู่แข่งในระนาบเดียวกันมาก่อนอย่าง “DreamWorks Animation” ยังคงแนบแน่นอยู่กับเหล่า Gen X และ Millennials อยู่ต่อไป!  

2.Disney+

ในมุมมองของนักวิเคราะห์ “ดิสนีย์พลัส” (Disney+) กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “เวทมนตร์ของพิกซาร์เสื่อมถอยลง” หลังผู้บริหารดิสนีย์ ตัดสินใจส่งแอนิเมชัน Soul, Luca, Turning Red ลงบริการสตรีมมิงของตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 

จนเป็นผลผู้บริโภคส่วนหนึ่งเกิดความสับสนว่า “ควรจะเสียเงินเข้าไปดูในโรงภาพยนตร์ดีหรือไม่” ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งเกิดความเคยชินว่า “รออีกไม่นานแอนิเมชันของพิกซาร์ ก็คงจะมาลงสตรีมมิงแล้ว” ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อ “รายได้โดยตรงของภาพยนตร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” อีกทั้งยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำไปว่า...“จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไรจึงจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้”   

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง