การ “ฟาดปาก” ศึก Battle of the Billionaires ระหว่าง “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) และ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) เรื่องจริง หรือ แค่เบี่ยงเบนประเด็นสร้างจุดสนใจ...

การวิวาทะผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ลุกลามกลายเป็นการท้าทายเพื่อหวังขึ้น “ฟาดปาก” กันบนสังเวียนระหว่าง 2 อภิมหาเศรษฐีหนุ่ม “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) และ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” (Mark Zuckerberg) เจ้าของ 2 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่มีอิทธิพลต่อชาวโลก ณ ปัจจุบัน อย่าง “ทวิตเตอร์” และ “เฟซบุ๊ก” ซึ่งกลายเป็น “จุดโฟกัส” ของชาวโลกในเวลานี้ “มีจุดเริ่มต้นและเหตุผลมาจากอะไร?" และ ถ้าหาก “2 บิลเลียนแนร์หนุ่ม” เกิดอาการหมั่นเขี้ยวและตกลงปลงใจขึ้นเวทีเพื่อหวังใช้กำลังเข้าตัดสินขึ้นมาจริงๆ ใครคือผู้ที่ควรได้รับการชูมือในฐานะผู้ชนะ? วันนี้ “เรา” ลองไปพิจารณาถึง “ปัจจัยต่างๆ” ที่นำไปสู่ “ดราม่าหยุดโลก” เรื่องนี้กันดู 

...

MARK VS ZUCK 

Physical :

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก : อายุ : 39 ปี สูง : 171 เซนติเมตร หนัก : 69 กิโลกรัม 

อีลอน มัสก์ : อายุ : 51 ปี สูง : 187 เซนติเมตรหนัก : 84 กิโลกรัม 

ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ : 

CEO เฟซบุ๊ก ได้เปรียบได้เรื่องของความหนุ่มแน่นเนื่องจากอายุห่างจาก “เจ้าพ่อเทสลา” ถึง 11 ปี อย่างไรก็ดีความกำยำของร่างกายแน่นอนว่า “อีลอน มัสก์” เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของส่วนสูงที่มากกว่าถึง 16 เซนติเมตร และน้ำหนักที่มากกว่าถึง 15 กิโลกรัม! 

Skill : 

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก : เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม (Mixed Martial Arts) หรือ MMA และ ศิลปะการต่อสู้ยิวยิตสู (Jiu-Jitsu) 

อีลอน มัสก์ : เจ้าตัวยอมรับว่าก่อนหน้านี้ว่า “แทบไม่เคยออกกำลังกาย” และการออกกำลังกายของเขาคือ “การอุ้มลูกแล้วโยนขึ้นไปในอากาศ” 

ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ : 

แม้ร่างกายดูบอบบางและภาพลักษณ์ดูเป็น “เด็กเนิร์ดค่อนไปแนวติ๋มๆ ด้วยซ้ำไป” หากแต่ความเป็นจริง คือ “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” เป็นผู้นิยมชมชอบการฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวอย่างโชกโชนไม่ว่าจะเป็น MMA หรือ ยิวยิตสู โดยเฉพาะอย่างหลังนี้ “บิลเลียนแนร์เฟซบุ๊ก” เอาจริงเอาจังถึงขนาดจ้างนักสู้ยิวยิตสูระดับสายดำ (Black Belt) มาช่วยฝึกฝนอย่างหนัก แถมเคยลงแข่งขันอย่างเป็นทางการมาแล้วเสียด้วย! 

และนอกจากจะชื่นชอบการฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวแล้ว ในแต่ละปี “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ยังเข้าร่วมกิจกรรมมนุษย์ทรหดที่เรียกว่า “Murph Challenge” ซึ่งต้องผ่านด่านหฤโหดไม่ว่าจะเป็น “การโหนบาร์ดึงข้อ 100 ครั้ง, วิดพื้น 200 ครั้ง, ทำท่าสควอต 300 ครั้ง และวิ่งระยะทางอีก 1 ไมล์ด้วยการสวมเสื้อเพิ่มน้ำหนักอีก 20 ปอนด์” เพื่อฟิตซ้อมร่างกายตัวเองอยู่เสมอๆ

...

ฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ “อีกฝ่าย” ซึ่งชื่นชอบแต่กับการโชว์โปรไฟล์หรูหราฟูฟ่อง และมักเปิดศึกวิวาทะทางน้ำลายผ่านโซเชียลมีเดียกับใครๆ อยู่เป็นเนืองนิจแล้ว...คงไม่ต้องบอกแล้วมั้งว่า ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบในประเด็นนี้! โดยเฉพาะศิลปะการต่อสู้แบบยิวยิตสู นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักสู้ที่ตัวเล็กกว่าสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำหนักของคู่ต่อสู้ที่สูงใหญ่กว่าได้เสียด้วย!

Wealth :

มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก : 102,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการประเมินความมั่งคั่งแบบ Real Time ของ Forbes (ณ วันที่ 26 มิ.ย. 23)  

อีลอน มัสก์ : 234,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการประเมินความมั่งคั่งแบบ Real Time ของ Forbes (ณ วันที่ 26 มิ.ย. 23)

ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ :

“มาร์ค” สูญเสียความมั่งคั่งในปีที่ผ่านมา (ปี 2022) ไม่ต่ำกว่า 13,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากความทะเยอทะยานลงทุนไปให้ถึงโลกใบใหม่ที่เรียกว่า “Metaverse” ส่วนทางด้าน “มัสก์” ในปีที่ผ่านมาก็ละลายเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากความอลหม่านในการยึดครอง “ทวิตเตอร์” เช่นกัน

...

Social Media :

เนื่องจากทั้งคู่ได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าของ” แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอันทรงอิทธิพล ประเด็นนี้ “เรา” จึงขอมองว่าเป็น “กองเชียร์ หรือ กองหนุน หรืออะไรก็แล้วแต่แล้วกัน!”

ปัจจุบัน Facebook (กองเชียร์มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก) มียอด Monthly Active Users อยู่ที่ประมาณ 2,900 ล้าน Users ด้าน Twitter (กองเชียร์อีลอน มัสก์) มียอด Monthly Active Users อยู่ที่ประมาณ 330 ล้าน Users

ประเด็นพิพาทระหว่าง MARK และ ZUCK : 

ประเด็นพิพาทท้าตีท้าต่อยนี้ถูกจุดชนวนขึ้นจากฝ่ายของ “อีลอน มัสก์” เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังมีการแชร์ข่าวว่า "Meta" กำลังอยู่ระหว่างการซุ่มพัฒนา "Project 92" เพื่อสร้างแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า "Threads" ซึ่งเป็นแอปฯ ที่คล้ายคลึงกับ "ทวิตเตอร์" 

...

เป็นเหตุให้เจ้าตัวจัดการทวีตข้อความตอบโต้ไปว่า “พร้อมสำหรับการต่อสู้ในกรงเหล็ก (Cage Match)” จนเป็นที่ลือลั่นไปทั่วทั้งทวิตภพ 

และเมื่อความทราบไปถึง “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ก็จัดการ “แคปเจอร์เธรด” ของ “อีลอน มัสก์” พร้อมข้อความที่ระบุว่า “ส่งโลเกชันมา” แล้วแชร์ลงบนอินสตาแกรมสตอรี่เพื่อเป็นการตอบโต้ทันที 

ซึ่งหากทั้งหมดจบลงเพียงเท่านี้...มันก็ดูจะเป็นเรื่องชวนหัวขำขันกันไปตามระเบียบ หากแต่เมื่อฝ่าย “อีลอน มัสก์” ยังไม่ยอมหยุด และได้ทวีตข้อความตามมาอีกว่า “Vegas Octagon” ซึ่งเป็นชื่อสังเวียนชิงแชมป์ "Ultimate Fighting Championship" หรือ UFC ของ MMA ไอ้ที่ตอนแรกดูเหมือนว่าจะแค่ “ล้อกันเล่น” จึงเริ่มจะกลายเป็นว่า “เอ๊ะ..หรือมันจะเป็นเรื่องจริงขึ้นทันใด!” 

ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดเมื่อ “ดานา ไวท์” (Dana White) ประธาน UFC ออกมาเปิดเผยผ่านสื่อโดยระบุว่า “ผมเพิ่งได้คุยกับทั้งคู่ (มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และ อีลอน มัสก์) เมื่อคืน ทั้งสองคนดูจริงจังกับเรื่องนี้มากๆ และพูดตรงกันเสียด้วยว่า ใช่ เราจะทำมัน!” ทุกอย่างมันก็เลยเริ่มจะกลายเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นไปอีก 

โดย ประธาน UFC ระบุเพิ่มเติมว่า “นี่จะเป็นการต่อสู้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และมันจะทำลายทุกสถิติการรับชมใดๆ ที่ผ่านมา อีกทั้งมันจะนำไปสู่การหาเงินบริจาคเพื่อการกุศลได้หลายล้านดอลลาร์สหรัฐแน่นอน”  

เป้าประสงค์ และ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ : 

จนถึงขณะนี้ (26 มิ.ย. 23) ยังไม่มีการ “ยืนยัน” อย่างเป็นทางการว่าจะเกิด “ไฟต์หยุดโลก”นี้จริงหรือไม่? ด้วยเหตุนี้ประเด็นดังกล่าว จึงนำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างว่า “ทั้งคู่” กำลังแสวงหา “ประโยชน์” จากประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า 

แล้วทั้ง “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” และ “อีลอน มัสก์” ได้ประโยชน์อะไรจากประเด็นดราม่านี้กันน่ะหรือ? จากบรรทัดนี้ไปคือ...แว่วเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อสังเกตจากสื่อในสหรัฐฯ

1. เบี่ยงเบนความสนใจ : 

ประเด็นดราม่านี้ สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชนที่มีต่อปัญหาสำคัญที่ Facebook กำลังเผชิญ นั่นคือล่าสุด Meta ได้ประกาศ “จำกัดการเข้าถึงข่าวสารของสำนักข่าวต่างๆ ในประเทศแคนาดา” บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม หลังมีการผ่านกฎหมายที่กำหนดให้เหล่า Big Tech ต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับสำนักข่าวต่างๆ ที่แชร์ข่าวสารลงบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่นเดียวกับที่ประเทศออสเตรเลียเคยทำสำเร็จมาแล้วก่อนหน้า ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับ Meta เป็นอย่างยิ่ง เพราะมันอาจลุกลามออกไปจนกระทั่งประเทศต่างๆ เดินตามรอย ด้วยการอาจออกกฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้ออกมาบังคับใช้เป็นลูกโซ่

2. เรียกร้องความสนใจ

ในสายตาของสื่อต่างประเทศ กรณีของ “อีลอน มัสก์” นั้น ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมสุดห่ามเกินพอดีในระยะหลัง ที่มักจะก่อวิวาทะกับใครๆ ไปทั่วไม่เว้นแม้แต่ “วิศวกรของทวิตเตอร์” เริ่มทำให้ชื่อเสียงของเขามัวหมองลง ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของ "Morning Consult" ในช่วงปลายปี 2022 ที่ระบุว่าความนิยมในตัวของ “อีลอน มัสก์” ลดลงถึง 13 จุดในกลุ่มผู้ใหญ่ชาวสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ “ชื่อเสียงของแบรนด์เทสลา” ที่เสื่อมถอยลงจากพฤติกรรมเกินพอดีในระยะหลังๆ เช่นเดียวกัน 

ฉะนั้น การเรียกร้องความสนใจด้วยการ "ท้าตีท้าต่อย" กับ “คนดัง” ที่เป็นที่สนใจของคนทั้งโลก ย่อมทำให้ “มิสเตอร์ไอรอนแมน” ผู้นี้กลับมาเป็นจุดโฟกัสของชาวโลกได้อีกครั้ง

ด้าน “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” นั้น ต้องยอมรับว่า ความพยายามทำตัวโลว์โปรไฟล์ และค่อนข้างระมัดระวังการปรากฏตัวต่อสาธารณชน รวมถึงกรณีอื้อฉาว “เฟซบุ๊กข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลในปี 2018” นั้น นอกจากทำให้เขาไม่ป๊อปมากนักในสายตาคนส่วนใหญ่แล้ว (และยิ่งหากไปเทียบกับ อีลอน มัสก์ แล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่) ในทัศนคติของคนทั่วไปยังมองด้วยว่า CEO ของ Meta "เป็นบุคคลประเภทเข้าใจยาก" ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Morning Consult ที่ระบุว่า “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” เป็น CEO ที่ได้รับความชื่นชอบจากสาธารณชน “น้อยที่สุด”

ฉะนั้น “ดราม่าที่เกิดขึ้น” จึงไม่แปลกที่จะถูกมองในแง่ที่ว่า “อาจเป็นหนึ่งในความพยายามเรียกร้องความสนใจจากสาธารณชน” เช่นเดียวกับ "ความพยายามบ่มเพาะตัวตนใหม่ผ่านโซเชียลมีเดียในระยะหลังๆ โดยเฉพาะการกระโดดลงไปฝึกศิลปะป้องกันตัวและกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ"

ทั้งหมดนี้เป็นเพียง “ความคิดเห็น” ต่อเรื่องดราม่าระดับโลกที่เกิดขึ้นในสายตาของสื่อตะวันตก ส่วนไฟต์หยุดโลกระหว่าง “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” และ “อีลอน มัสก์” จะเป็นเพียงการสร้างดราม่า หรือ เกิดขึ้นจริง เวลาเท่านั้นจะเป็น “คำตอบ”   

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง