วิเคราะห์ 5 ปัจจัยที่ทำให้ "นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด" บินสูงสู่เป้าหมายไปแชมเปียนส์ลีกครั้งแรกในรอบ 20 ปี...

264 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 11,133 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 24 พ.ค. 66) ภายใน 3 ฤดูกาล คือ “ราคา” ที่ “นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด” จ่ายให้กับการปีนป่ายไปอวดโฉมบนเวทีแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีสำเร็จ อย่างไรก็ดี...กำลังทุนทรัพย์เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถบันดาลให้เหล่าทูนอาร์มี่สามารถไปเฉิดฉายอย่างโก้หรูบนเส้นทางสู่บิ๊กเอียร์ได้แน่ๆ หากคนที่จับจ่ายใช้สอยเงินก้อนโตนี้ ไม่ได้มีชื่อ “เอ็ดดี ฮาว” (Eddie Howe) กุนซือหนุ่มชาวอังกฤษ วัยเพียงแค่ 45 ปี อยู่เบื้องหลัง 

โดยหลังเข้ามาช่วยทีมจนรอดตกชั้นเมื่อช่วงปลายฤดูกาล 2020-21 สำเร็จ จากนั้นในฤดูกาลต่อมา (2021-2022) พาทีมที่เกือบตกชั้นทีมเดียวกันนี้ พุ่งทะยานจบอันดับที่ 11 บนตารางพรีเมียร์ลีกได้อย่างสวยงาม หากแต่ในฤดูกาลนี้ 2022-2023 ใครจะเชื่อว่า “เอ็ดดี ฮาว” จะสามารถเข็นทีมสาลิกาดง ขวัญใจของ อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฝ่าด่านเหล่าทีม BIG 6 อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, อาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ทอตแนม ฮอตสเปอร์ และ เชลซี คว้าตั๋วไปเล่นแชมเปียนส์ลีกได้สำเร็จอย่างชนิดเหนือความคาดหมาย ภายในระยะเวลาการคุมทีมเพียง 18 เดือน หลังเข้ารับตำแหน่งเท่านั้น (เข้ารับตำแหน่ง 8 พ.ย. 2021)

...

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “นิวคาสเซิล” ภายใต้การควบคุมของ “เอ็ดดี ฮาว” ประสบความสำเร็จในฤดูกาลนี้บ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปพยายามค้นหา “คำตอบ” เหล่านั้นกันดู 

การซื้อกลุ่มนักเตะที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นแกนหลักของทีม : 

แม้หลังการเข้า Takeover ของ 3 กลุ่มทุน ซึ่งประกอบไปด้วย 1.RB Sports Media ของ เดวิด และ ไซมอน รูเบน เจ้าของความมั่งคั่ง 21,500 ล้านปอนด์ (ถือหุ้น 10%) 2. PCP Capital Partners ของ “อแมนดา สเตฟลีย์” นักธุรกิจสาวชาวอังกฤษ (ถือหุ้น 10%) 3. Public Investment Found หรือ PIF กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของซาอุดีอาระเบีย (ถือหุ้น 80%) จะทำให้ “นิวคาสเซิล” กลายเป็นทีมอภิมหาเศรษฐีในระนาบเดียวกับเหล่า BIG 6 (หรือบางทีอาจจะมีทุนหนามากกว่าทีมเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำไป)  

แต่การซื้อกลุ่มนักเตะเข้าสู่ทีม กลับไม่ได้เป็นไปอย่างชนิดที่เรียกว่า “ซื้อแบบไม่ลืมหูลืมตา” เสียจนทำให้ทีมมีนักเตะสไตล์เดียวกัน และตำแหน่งเดียวกัน มากองรวมกันเสียจน...คนที่เป็นกุนซือไม่รู้จะจับใครลงเล่นตำแหน่งไหน หรือจะจัดแท็กติกอย่างไรให้กับนักเตะเหล่านั้นดี เหมือนกับที่ “ท็อดด์ โบห์ลี” มหาเศรษฐีชาวอเมริกันทำกับสโมสรสิงโตน้ำเงินครามในฤดูกาลนี้

1. กลุ่มนักเตะที่ซื้อมาคุ้มเกินคุ้ม :   

“คีแรน ทริปเปียร์” (สูง 178 ซม.) แบ็กขวาทีมชาติอังกฤษ ค่าตัว 15 ล้านปอนด์ คือ การจ่ายที่สมเหตุสมผล แถมสิ่งที่ได้รับกลับมา คือ การโจมตีจากทางด้านข้างที่ดุดันและมีลูกฟรีคิกที่เฉียบคม และหากใครยังไม่รู้...แม้จะอายุถึง 32 ปีแล้ว แต่แบ็กจอมเก๋ารายนี้ ลงเล่นเป็น 11 คนแรก รับใช้ต้นสังกัดในศึกพรีเมียร์ลีกถึง 37 นัด รวม 3,251 นาที (เหลืออีก 1 นัดก่อนจบฤดูกาล) เรียกว่าไม่มีพัก ไม่มีเจ็บ และไม่มีคนไหนสามารถพรากตำแหน่งตัวจริงไปจากชายผู้นี้ได้  

...

“สเวน บอตแมน” กองหลังร่างยักษ์ (สูง 195 ซม.) เจ้าของค่าตัว 35 ล้านปอนด์ คือ การวางรากฐานเกมรับอันแน่นหนาให้กับทีมอย่างแท้จริง แถมการชิงตัดหน้าเหล่าทีมยักษ์ใหญ่ทั่วยุโรป ที่ต้องการคว้าลายเซ็นเซนเตอร์เนื้อหอมผู้นี้ไปครอบครอง ยังกลายเป็นสัญลักษณ์ครั้งสำคัญ ว่าถิ่นเซนต์ เจมส์ ปาร์ค มีศักยภาพและเสน่ห์มากพอ สำหรับการดึงนักเตะระดับท็อปเข้าสู่ทีมแล้วอีกด้วย 

“อเล็กซานเดอร์ อิซัค” กองหน้าสวีดิช มูลค่า 63 ล้านปอนด์! นักเตะค่าตัวแพงที่สุด ที่ “เอ็ดดี ฮาว” ทุ่มเงินซื้อเข้าสู่รังเซนต์ เจมส์ ปาร์ค หากแต่ความเร็วเร่งและดุดันในเกมรุก การหาช่องว่างและความเฉียบคมในการจบสกอร์คือสิ่งที่เหล่าทูนอาร์มีได้รับกลับมา ซึ่งหากในฤดูกาลหน้า กองหน้าร่างโย่งรายนี้ (สูง 190 ซม.) ไม่ถูกอาการบาดเจ็บลักพาตัวออกจากสนามมากจนเกินไปนัก บางที...20 ประตูต่อฤดูกาล อาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะเรียกร้องจากกองหน้าดาวรุ่งที่แสนอันตรายทุกฝีก้าวรายนี้ 

...

“นิค โป๊ป” (สูง 190 ซม.) นายทวารค่าตัวเพียงแค่ 10 ล้านปอนด์ ลงเฝ้าเสาในลีกฤดูกาลนี้ 37 นัด (เหลืออีก 1 นัดก่อนจบฤดูกาล) เก็บคลีนชีตได้ถึง 14 นัด! (37.84%) และทำผิดพลาดจนนำไปสู่การเสียประตูเพียง 1 ครั้งเท่านั้น! เรียกว่าเป็นนายด่านที่ไว้วางใจได้ในระนาบเดียวกับ วากาบายาชิ เวอร์ชันสเปน อย่าง “ดาบิด เดเคอา” ที่เก็บคลีนชีตในลีก 17 นัด จาก 36 เกม (47.22%) และ “อลิสสัน เบคเกอร์” ผู้รักษาประตูของลิเวอร์พูล ที่เก็บคลีนชีต 14 นัด จาก 37 เกม (37.84%) ได้เลย

“บรูโน กิมาไรส์” (สูง 182 ซม.) มิดฟิลด์ค่าตัว 40 ล้านปอนด์ จาก โอลิมปิก ลียง อีกหนึ่งการค้นพบของ “เอ็ดดี ฮาว” เพราะปัจจุบันนักเตะบราซิเลียนรายนี้ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของทีมในการกำหนดทิศทางการเล่น รวมถึงการแจกจ่ายบอลไปยังพื้นที่ต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จ (สถิติการผ่านบอลต่อเกม 51.55% เข้าเสียบสกัดคู่ต่อสู้สำเร็จ 51%) มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หากมีเขาอยู่ในสนาม สัดส่วนการได้ชัยชนะของทีมจะสูงถึง 61.29%! (จาก 31 นัดที่ลงเล่นในลีก ทีมจะเก็บชัยชนะได้ถึง 19 นัด)  

...

2. ไร้ซึ่งการก่อกวนจากผู้บริหาร :

นับตั้งแต่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่ง “เอ็ดดี ฮาว” ตกอยู่ภายใต้คำครหามาตลอดว่า คงเป็นเพียงกุนซือขัดตาทัพชั่วคราว เนื่องจากสภาพทีมนิวคาสเซิล ณ เวลานั้น (ฤดูกาล 2020-21) มีความสุ่มเสี่ยงต่อการจะตกชั้นลงในไปเล่นในแชมป์เปียนชิพเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เป็นเรื่องยากที่กุนซือระดับท็อปของโลก จะยอมใจอ่อนมารับเผือกร้อนให้เสียเครดิต แม้ว่าสโมสรที่ร่ำรวยแห่งนี้ จะไม่มีปัญหาเรื่อง “ราคา” ที่จะต้องจ่ายก็ตาม 

อย่างไรก็ดี “ผลงาน” การคุมทีมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้ค่อยๆ ปัดเป่าเสียงครหาเหล่านั้นให้ค่อยปลิวหายไปตามสายลมในที่สุด นอกจากสิ่งสำคัญที่ “เอ็ดดี ฮาว” ได้รับจากผู้บริหารสโมสร คือ เขาจะได้นักเตะในแบบที่เขาต้องการ ซึ่งสามารถเล่นได้เข้ากับระบบของเขาเสมอ 

ซึ่งแตกต่างจากบรรดา “สโมสรสามล้อถูกหวย” หลายๆ สโมสรก่อนหน้านี้ ที่ผู้บริหารมักจะมาก้ายก่ายการซื้อนักเตะเข้าสโมสร โดยมักจะเลือกซื้อนักเตะชื่อดังราคาแพงโดยไม่สนใจว่านักเตะคนนั้นๆ จะสามารถตอบสนองต่อแท็กติกของผู้เป็นกุนซือได้มากน้อยแค่ไหน หรือในทีมมีนักเตะสไตล์เดียวกันนี้อยู่ในทีมมากมายแล้วแค่ไหนก็ตาม 

ปัญหาเดียวที่ “เอ็ดดี ฮาว” เคยต้องประสบในการเข้าสู่ตลาดนักเตะคือเมื่อครั้งพยายามขอซื้อตัว “อเล็กซานเดอร์ อิซัค” เนื่องจาก สโมสรเรอัล โซเซียดัด ยื่นข้อเสนอแรกที่สุดร้อนแรงมาถึง 80 ล้านปอนด์! ทำให้บอร์ดบริหารสโมสรเห็นว่าน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป และควรหันไปพิจารณาทางเลือกอื่นแทน  

อย่างไรก็ดี หลังผลงานของทีมเริ่มทะยานสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ทีมกลับพบกับปัญหาอาการบาดเจ็บของ “คัลลัม วิลสัน” กองหน้าตัวหลักจนเหลือ “คริส วูด” เป็นทางเลือกเดียว การอนุมัติงบประมาณเพื่อกองหน้าคนใหม่แห่งอนาคตจึงเดินหน้าทันที และนั่นก็คือ...การตัดสินใจที่ถูกต้อง

3. เซนต์ เจมส์ ปาร์ค นรกสำหรับทีมเยือน : 

หากใครยังไม่ทราบ...ศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ (2022-2023) เหล่า “เดอะแม็กพายส์” ยังคงขนกองกำลังเข้าไปช่วยเชียร์ทีมรักจนเนืองแน่น “สนามเซนต์ เจมส์ ปาร์ค” โดยจำนวนแฟนบอลที่เข้าสนาม รวมเฉพาะในลีก (19 นัด) มีตัวเลขรวมสูงถึง 990,422 คน และมีค่าเฉลี่ยต่อนัดอยู่ที่ 52,127 คน จากความจุของสนามที่ 52,338 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 99.60% ต่อนัด!

คือพูดง่ายๆ ว่า เซนต์ เจมส์ ปาร์ค แทบจะขายบัตร Sold out ได้เกือบทุกนัดในลีกเลยก็ว่าได้ ฉะนั้น คงไม่ต้องเดากันแล้วมั้ง ว่า “แรงกดดัน” ที่ถาโถมเข้าใส่บรรดานักเตะทีมเยือนนั้น มันจะมีดีกรีความรุนแรงมากขนาดไหน?

ซึ่งค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนาม 99.60% ต่อนัดนี้ เป็นตัวเลขที่สูงกว่าสโมสรชั้นนำในลีก ไม่ว่าจะเป็น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนาม 73,850 คนต่อนัด จากความจุรวม 74,879 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 98.63% ต่อนัด หรือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนาม 53,249 คนต่อนัด จากความจุรวม 55,017 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 96.79% ต่อนัด และ ลิเวอร์พูล ซึ่งมีค่าเฉลี่ยแฟนบอลเข้าสนาม 53,177 คนต่อนัด จากความจุรวม 54,074 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 98.34% ต่อนัด เสียอีก!

และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ สถิติการเล่นในบ้านของทีมสาลิกาในฤดูกาลนี้ จึงออกมาสวยหรูด้วยสถิติ ชนะ 11 นัด เสมอ 6 นัด และแพ้ไปเพียง 2 นัด คาถิ่นเซนต์ เจมส์ ปาร์ค เท่านั้น! จากฝีเท้าของ อาร์เซนอล และ ลิเวอร์พูล 

4. แท็กติก รุมล้อม ไล่ล่า กดดัน และโจมตีเร็ว : 

“เอ็ดดี ฮาว” ติดตั้งแท็กติกที่เรียกว่า “รุมล้อม ไล่ล่า กดดัน และเข้าปะทะเพื่อกดดันคู่ต่อสู้อย่างหนักหน่วงตั้งแต่แดนบน เพื่อครองบอลและครองแดน” ก่อนจะใช้การพาสบอลอันรวดเร็ว เพื่อเปลี่ยนจังหวะเกมพุ่งทะลุเข้าแนวรับคู่ต่อสู้ กับบรรดาลูกทีมของเขามาตั้งแต่ช่วงปรีซีซั่นแล้ว ซึ่งการเคลื่อนที่เข้าหาคู่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลานี้เอง ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ทีมสาลิกาดงบินสูงได้ในฤดูกาลนี้ 

โดยในจังหวะเกมรุกนั้น “แดน เบิร์น” แบ็กซ้าย จะหุบตัวเขามาเป็น เซนเตอร์ฮาล์ฟคนที่ 3 เพื่อเปิดทางให้ “คีแรน ทริปเปียร์” แบ็กขวาผู้มีวิสัยทัศน์และการจ่ายบอลอันเฉียบคม สามารถเดินเครื่องเล่นเกมรุกสมทบกับ 2 ปีก ที่โชว์ฟอร์มในฤดูกาลนี้ได้อย่างเปล่งปลั่งอย่าง “มิเกล อัลมิรอน” “โจลิงตอน” และ “อัลลอง แซงต์-แม็กซิแมง” (หากสมบูรณ์เต็มที่) โดยมี “บรูโน กิมาไรส์” ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการลำเลียงบอลและเชื่อมเกมทั้งหมด

5. เกมรับอันเหนียวแน่นในแบบฉบับ “ดิเอโก ซิเมโอเน” แห่งพรีเมียร์ลีก :

เก็บคลีนชีตได้ 12 เกม เสียประตูในลีกรวมกันเพียง 32 ประตู (เล่นในบ้านเสียเพียง 14 ประตู เล่นนอกบ้านเสีย 18 ประตู) ซึ่งเท่ากับทีมที่ได้แชมป์พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้อย่าง “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” (สิ้นสุดนัดที่ 37) ยังมีคำถามอะไรกับเกมรับประดุจปราการเหล็กสำหรับทีมของ “เอ็ดดี ฮาว” อีกไหม? 

ซึ่งการสร้างทีมโดยเน้นความเหนียวแน่นในเกมรับเป็นพื้นฐานนี้เอง ทำให้ “เอ็ดดี ฮาว” ถูกสื่อมวลชนในประเทศอังกฤษขนานนามให้ว่าเขาคือ “ดิเอโก ซิเมโอเน” แห่งพรีเมียร์ลีก เนื่องจากรูปแบบการเล่นที่เน้นเกมรับและการเข้าปะทะบีบคู่ต่อสู้ในแดนกลางอย่างดุเดือดนั้น แทบจะถอดแบบมาจาก “กุนซือแอตเลติโก มาดริด” จอมดุดันไม่ผิดเพี้ยน! 

หลังการเข้า Takeover “อแมนดา สเตฟลีย์” ผู้อำนวยการสโมสรนิวคาสเซิล ได้หล่นวรรคทองที่ชวนให้ใครหลายคน ณ เวลานั้น เลิกคิ้วด้วยความสงสัยที่ว่า “นิวคาสเซิลอาจจะเป็นแบบแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายในอีก 5 ปี ข้างหน้า”

หากแต่เมื่อตัดภาพกลับมาวันนี้ ความเป็นไปได้ที่ว่า...มีจุดเริ่มต้นที่มองเห็นถึงความเป็นไปได้เข้าให้แล้ว! 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :