วันที่ 25 เดือนเมษายน พ.ศ.2566 นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เตือนในนิตยสาร Time มนุษย์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากปัญญาประดิษฐ์ เพราะกำลังทำตัวแบบในภาพยนตร์ “Don’t Look Up”

นักวิทยาศาสตร์ ชื่อ แม็กซ์ เทกมาร์ค (Max Tegmark) เป็นศาสตราจารย์นักฟิสิกส์ นักจักรวาลวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ แห่งเอ็มไอที (MIT : Massachusetts Institute of Technology) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง สถาบันอนาคตของชีวิต (Future of Life Institute) แล้วก็เป็นประธานคนปัจจุบันของสถาบันด้วย

ภาพยนตร์ Don’t Look Up เป็นภาพยนตร์หายนะภัยถึงระดับโลกาวินาศ ที่เกิดขึ้นจริง (ในภาพยนตร์) แต่ถูกนำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์ตลกร้ายแนวเสียดสี สะท้อนสภาพที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ต่อการเตือนภัยใหญ่กำลังคุกคามมนุษยชาติ

ชื่อพากย์ไทยของภาพยนตร์ คือ โปกฮาวันโลกาวินาศ

ปัญญาประดิษฐ์กำลังทำให้คนทั่วโลก 300 ล้านคน เสี่ยงตกงาน !

...

เมื่อวันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ.2566 สถาบันการเงินระดับโลก โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) เผยแพร่รายงานผลการศึกษาเตือนว่า ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ประเภทเจเนอเรทีฟ เอไอ (generative AI) ดังเช่น ChatGPT ของโอเพนเอไอ (OpenAI) กำลังทำให้คนทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน เสี่ยงต่อการตกงาน

ถึงแม้รายงานของโกลด์แมน แซคส์ จริงๆ แล้ว ก็มิได้มีเฉพาะ “ข่าวร้าย” เพราะก็มี “ข่าวดี” จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่จะช่วยเพิ่มจีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลาสิบปีด้วย...

แต่ “ข่าวร้าย” ก็มักจะดังกว่า “ข่าวดี” จึงมีกระแสต่อเนื่องจากรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ที่ออกมาชัดเจนในเชิงลบต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญญาประดิษฐ์ที่คิดเป็น ทำงานใหม่ได้ดังมนุษย์ แม้แต่งานสร้างสรรค์ ดังเช่น การแต่งเพลง เขียนบทกวี เขียนรายงาน เขียนบทความ ถึงการสร้างเกมคอมพิวเตอร์

หลังการเผยแพร่รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ก็มีกระแสปฏิกิริยาต่อรายงานอย่างคึกคัก ที่ดังมากเป็นพิเศษ คือ กระแสคัดค้านหรือให้เฝ้าระวังบทบาทและผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ ระดับเป็น “ซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์” ดังเช่น เจเนอเรทีฟ เอไอ (generative AI) หรือที่มีชื่อระดับกว้างกว่าเป็น Artificial General Intelligence (AGI : ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป)

ในบรรดาความเคลื่อนไหวให้เฝ้าระวังหรือคัดค้านซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ สถาบันอนาคตของชีวิตก็ได้ออกจดหมายเปิดผนึก “Pause Giant AI Experiment” ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2566 แต่เผยแพร่ทั่วไปวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2566 หลังรายงานของโกลด์แมน แซคส์ สองวัน เรียกร้องให้ “หยุดการทดลองยักษ์ใหญ่ปัญญาประดิษฐ์” เป็นเวลา 6 เดือน

ในฐานะประธานสถาบันอนาคตของชีวิต จดหมายเปิดผนึกนี้ จึงเป็น “ความเคลื่อนไหวใหญ่” ของ แม็กซ์ เทกมาร์ค ก่อนบทความของเขาในนิตยสาร Time เปิดเรื่องของเราวันนี้

นอกเหนือไปจาก แม็กซ์ เทกมาร์ค ก็มีนักวิทยาศาสตร์ บุคคลสำคัญในวงการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์โดยตรง ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการปัญญาประดิษฐ์ มากกว่า แม็กซ์ เทกมาร์ค เสียอีกหลายคน ออกมาแสดงจุดยืนสอดคล้อง...หรือหนักกว่า...จดหมายเปิดผนึกเสียอีก ดังเช่น เอลีเซอร์ ยัดโคว์สกี (Elieger Yudkowsky) หนึ่งในผู้วางรากฐานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่คิดหรือมีความฉลาดเท่ากับมนุษย์

เอลีเซอร์ ยัดโคว์สกี เขียนบทความใน Time ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2566 ด้วยชื่อบทความว่า “Pausing AI Development Isn’t Enough. We Need To Shut It All Down.” (“หยุดการพัฒนาเอไอไม่เพียงพอหรอก เราจำเป็นต้องปิดมันทั้งหมด”)

แต่ความน่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับ แม็กซ์ เทกมาร์ค สำหรับเรื่องของเราวันนี้ คือ การยกเอาภาพยนตร์ Don’t Look Up มาเป็น “จุดขาย” ในการชี้ให้เห็นถึงภัยจากปัญญาประดิษฐ์ ถึงระดับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติอย่างเป็นรูปธรรม

...

อย่างไร?

Don’t Look Up เมื่อมนุษย์หัวเราะกับคำเตือนวันโลกาวินาศที่กำลังจะมาถึง!

ภาพยนตร์ Don’t Look Up เป็นภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ รวมดารานักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์หลายคน เช่น ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, เมอรีล สตรีป และ เคต แบลนเชตต์

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ รับบทสำคัญเป็น เคท ดิบิแอสกี (Kate Dibiasky) นักศึกษาปริญญาเอกดาราศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตต ผู้ค้นพบดาวหางขนาดใหญ่ดวงใหม่ กำลังเคลื่อนที่ในแนวทางจะชนโลกโดยตรง

ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ รับบทเป็นนักดาราศาสตร์อาจารย์ของเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ และตรวจสอบซ้ำจนกระทั่งได้ผลแน่ชัดว่า เป็นดาวหางขนาดประมาณ 10 กิโลเมตร และกำลังจะชนโลกอย่างแน่นอนในอีก 6 เดือน โดยจะชนโลกที่มหาสมุทรแปซิฟิก ใกล้ประเทศชิลี โดยผลของการชนจะเหมือนกับโลกถูกถล่มด้วยระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาเป็นจำนวนถึงหนึ่งพันล้านลูก ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 10 หรือ 11 และเกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ทำลายโลกทั้งโลก

เมอรีล สตรีป รับบทเป็น เจนี ออร์ลีน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้หมกมุ่นอยู่กับอาชีพทางการเมือง และทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง

...

เคต แบลนเชตต์ รับบทเป็น บรี อีแวนที พิธีกรรายการโทรทัศน์ ผู้สัมภาษณ์ ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ผู้สนใจในความเด่นดังของตำแหน่งหน้าที่และความต้องการส่วนตัว มากกว่าการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวอย่างมืออาชีพ

แล้วก็ยังมี โจนาห์ ฮิลล์ รับบทเป็น เจสัน ออร์ลีน ลูกชายของประธานาธิบดี เจนี ออร์ลีน เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว และก็เป็น “มนุษย์คนสุดท้ายบนโลก” จากดาวหางชนโลก

Don’t Look Up เขียนบท (ร่วม) คิดพล็อต (ร่วม) อำนวยการสร้างและกำกับโดย อดัม แม็กเคย์ (Adam Mckay)

แก่นของภาพยนตร์ที่อดัม แม็กเคย์ ต้องการสื่อจริงๆ คือ ปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกของสังคมมนุษย์ ต่อมหันตภัยที่กำลังคุกคามมนุษย์อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภัยจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ในระดับเป็น “climate crisis” คือ “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ”

แต่ในภาพยนตร์ ใช้ “ภัยจากดาวหางชนโลก” แทน “วิกฤติสภาพภูมิอากาศ” โดยโฟกัสไปที่สาเหตุทำให้คนส่วนใหญ่บนโลก ไม่ตระหนักถึงมหันตภัยระดับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ ว่าเป็นปัญหาของ “การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์” หรือ “science communication” 

...

ใน Don’t Look Up หลังจากที่ ลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ มั่นใจ (หลังการตรวจสอบอย่างละเอียดทางวิทยาศาสตร์) ว่า ดาวหางที่ได้รับการตั้งชื่อเรียกเป็น “ดาวหางดิบิแอสกี” ตามชื่อผู้ค้นพบ จะชนโลกอย่างแน่นอน และผลจากการชนโลก จะทำให้มนุษย์สูญพันธุ์เหมือนกับที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปจากโลก เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน จากการถูกดาวเคราะห์น้อยขนาดพอๆ กัน (คือ ประมาณ 10 กิโลเมตร) ชน ทั้ง ลีนาร์โด และ เจนนิเฟอร์ ก็ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อดำเนินการปกป้องโลก ซึ่งก็ยังสามารถทำได้ โดยการส่งยานอวกาศบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไปดักทำลายดาวหางในอวกาศ

แต่ ลีนาร์โด และ เจนนิเฟอร์ ต้องผิดหวัง เพราะประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่สนใจจริงๆ แถมยังตำหนิลีโอนาร์โด ที่บอกกับประธานาธิบดีว่า ดาวหางจะชนโลกและทำลายโลก 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะ “วิทยาศาสตร์ไม่เคยบอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์หรอก!”

ลีโอนาร์โด และ เจนนิเฟอร์ พยายามจะเตือนมนุษย์ทั้งโลกถึงภัยจากดาวหาง ด้วยการตัดสินใจออกสื่อให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันปกป้องโลก

แต่สื่อก็ไม่สนใจจริงๆ จนกระทั่ง เจนนิเฟอร์ ระเบิดอารมณ์ โวยวายกลางรายการว่า ดาวหางกำลังจะชนโลกในอีก 6 เดือน และทุกคนบนโลกกำลังจะตายหมด

ผลที่เกิดขึ้น เจนนิเฟอร์ กลายเป็นคนที่ถูกสังคมรุมประณามว่า เป็นคนประเภทชอบโวยวายเรื่องโลกแตกที่ ไร้สาระ และไม่มี “ใคร”  “สนใจ” จะฟังเธออีก

แถมเมื่อ เจนนิเฟอร์ ซมซานกลับบ้านด้วยความผิดหวัง ก็ถูกคุณพ่อคุณแม่ไล่ออกจากบ้านเสียอีก

ส่วน ลีโอนาร์โด จากการที่พยายามทำตัวเป็น “ผู้ใหญ่” ไม่โวยวายอะไรง่ายๆ ก็กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์คนดังทางสื่อ และเมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกิดปัญหาส่วนตัว ก็หันกลับมาหา ลีโอนาร์โด แสดงความพร้อมที่จะปกป้องโลก ด้วยการส่งยานอวกาศบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ ไปสกัดทำลายดาวหางในอวกาศ

แต่ขณะที่ยานอวกาศเพิ่งจะเดินทางขึ้นไปจากฐานเพียงไม่กี่นาที ประธานาธิบดีก็เกิดเปลี่ยนใจ เพราะมหาเศรษฐีผู้สนับสนุนเธอทางการเมืองบอกข่าวว่า ดาวหางมีทรัพยากรซึ่งมีมูลค่ามหาศาลสำหรับเทคโนโลยียุคใหม่ ภารกิจการทำลายดาวหางจึงถูกยกเลิกกลางคัน และหันมาเตรียมการเพื่อส่งโดรนไปเก็บทรัพยากรล้ำค่าบนดาวหางให้ได้มากที่สุด

แถมประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังออกมาบอกประชาชนให้ผู้คนไม่ต้องกลัวดาวหาง ด้วยการ “Don’t Look Up!”  (“อย่ามองขึ้น!”)

ในขณะที่ ลีโอนาร์โด ผู้ “สิ้นหวัง” กับนักการเมือง ก็ออกมาเรียกร้องให้คนทั้งโลกตระหนักถึงภัยจากดาวหาง ด้วยการรณรงค์ให้คนทั้งโลก “Just Look Up!” (“เพียงเงยหน้าขึ้น!”) เพราะดาวหางได้เข้ามาใกล้โลกจนกระทั่งเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้ว

ในที่สุดแผนเก็บเกี่ยวทรัพยากรจากดาวหางก็ล้มเหลว และดาวหางก็ชนโลก เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิทำลายโลก ดังที่ ลีโดนาร์โด และ เจนนิเฟอร์ ได้ “เตือน” ตั้งแต่แรก

คนทั้งโลกจึงตายหมด โดยมี โจนาห์ ลูกชายของประธานาธิบดีเป็น “มนุษย์คนสุดท้าย” ของโลก

ส่วนประธานาธิบดีและคนใกล้ชิดรวม 2,000 คน ได้เดินทางโดยยานอวกาศ หนีภัยจากดาวหางได้

หลังการเดินทางเป็นเวลา 22,740 ปี ยานอวกาศจากโลกก็เดินทางถึงดาวเคราะห์ดวงใหม่คล้ายโลก ทุกคนในยานอวกาศตื่นจากการ “แช่เย็นหลับยาว” ระหว่างการเดินทาง และลงมาจากยานอวกาศ ที่มีสัตว์คล้ายนกตัวใหญ่พอๆ กับมนุษย์ รายล้อมยานอวกาศ แล้วประธานาธิบดีก็เป็นคนแรกที่ถูกนกโลกใหม่ “กัด” ถึงแก่ชีวิต

จาก Don’t Look Up ถึงการเตือนภัยจากซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์!

แม็กซ์ เทกมาร์ค เขียนใน Time ว่า จากรายงานของไมโครซอฟต์และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับแนวหน้า สรุปได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ ChatGPT ของโอเพนเอไอ (Open AI) รุ่นล่าสุด คือ GPT4 มีประสิทธิภาพสอบผ่าน “การทดสอบเทอริง” (Turing Test) แล้ว ซึ่งหมายความว่าสามารถคิดได้แบบมนุษย์แล้ว และก้าวต่อไปของปัญญาประดิษฐ์แบบ GPT4 ที่จะเป็นซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ ก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาสั้นกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดกัน จากระดับยี่สิบถึงห้าสิบปี เป็นเพียงไม่ถึงหนึ่งปี

เขาย้ำว่า ประเด็นซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์มิใช่ประเด็นระยะยาว หากเป็นประเด็นที่จะเกิดขึ้นเร็วกว่า climate change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) หรือแผนการเกษียณของคนส่วนใหญ่แทบทั้งหมดเสียอีก

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ จะมีสภาพคล้ายกับในภาพยนตร์ Don’t Look Up ที่ไม่รู้สึกตัวเลยว่า กำลังตกอยู่ในสภาวะความเสี่ยงรุนแรงที่สุดระดับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ

คำเตือนของ แม็กซ์ เทกมาร์ค ที่สะท้อนออกมาจริงๆ โดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้อยู่ในวงการการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์มายาวนานหลายคน ซึ่งบางคนก็ถึงกับออกมาตะโกนให้ปิดปัญญาประดิษฐ์ทันที ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

แต่ แม็กซ์ เทกมาร์ค ใช้วิธีเตือนอย่างนิ่มๆ...ทว่าแข็งขัน...ถึงภัยจากซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ โดยยกประเด็นจากภาพยนตร์ Don’t Look Up ให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ ว่า ทำไมผู้คนใน Don’t Look Up จึงเฉยเมยต่อการเตือนภัยจากดาวหาง โดยใน Time แม็กซ์ เทกมาร์ค ใช้ “ดาวเคราะห์น้อย” แทน “ดาวหาง” สำหรับการเตือนของเขา

ตัวอย่างประเด็นที่ แม็กซ์ เทกมาร์ค ยกมากล่าวถึงใน Time คือ :-

*การกล่าวถึงภัยจากดาวเคราะห์น้อย ทำให้ปัญหาอื่นๆ ที่เร่งด่วนกว่า (เช่น โลกร้อน) ถูกมองข้าม จึงไม่ควรจะกล่าวถึงเสียเลยดีกว่าไหม?

แม็กซ์ เทกมาร์ค ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากฟังเรื่องมหันตภัยจากซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ เพราะคิดว่าอาจทำให้ปัญหาอื่นๆ ที่เร่งด่วนกว่า และกำลังจะเกิดขึ้นถูกละเลย

ปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาจากปัญญาประดิษฐ์เองที่กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว (การถูกปัญญาประดิษฐ์แย่งงาน, การสูญเสียความเป็นส่วนตัว, ความไม่เท่าเทียมกัน, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาการถูกโดดเดี่ยวทางสังคม, ข้อมูลข่าวสารปลอม ฯลฯ)

*ดาวเคราะห์น้อยจะหยุดก่อนจะชนเรา หรือดาวเคราะห์จะเกือบหยุดเสียก่อน หรือถ้าดาวเคราะห์น้อยจะชนเราจริงๆ เราก็จะ “รอด” อยู่ดี!

เป็นความคิดปฏิเสธความเป็นจริง เพราะความจริงนั้นเจ็บปวด เช่น ถ้ายอมรับว่า ซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์เป็นมหันตภัยของจริง ก็จะกระทบกับตนเองทันที ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ (เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์) หรือคนทำงานและนักวิจัยที่กำลังทำงานการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อยู่

*อย่าไปเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย เพราะมัน “มีค่า”

เป็นแนวคิดแบบใน Don’t Look Up ด้วยความหวังว่า ผลที่เกิดขึ้น จะไม่เป็นไปตามแบบในภาพยนตร์ คือ สามารถเก็บเกี่ยวทรัพยากรมีค่าจากดาวเคราะห์น้อยได้

ในเรื่องของซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ แม็กซ์ เทกมาร์ค ชี้ว่า เป็นความคิดที่ผูกอยู่กับความหวังว่าผลประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เช่น การต่อสู้กับโรคระบาด, ความยากจน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะคุ้มค่ากับความเสี่ยงจากซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์

*เราก็ได้ดำเนินมาตรการป้องกันภัยจากปัญญาประดิษฐ์ที่จำเป็นต้องทำไปหมดแล้ว หรือกำลังทำอยู่แล้ว!

แม็กซ์ เทกมาร์ค ชี้ว่า เป็นการแก้ตัวอย่างไม่มีความหมาย เพราะไม่มีกระบวนการหรือวิธีการที่จะทำตามเจตนารมณ์จริงๆ

แม้แต่แถลงการณ์ของ “สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์” (เอเอเอไอ : AAAI : The Association for the Advancement of Artificial  Itelligence) เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2566 เรื่อง Working Together On Our Own Future With AI (ทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตของเรากับปัญญาประดิษฐ์) ซึ่ง แม็กซ์ เทกมาร์ค ก็มองว่า เป็นการแสดงออกที่แสดงถึงการรับผิดชอบและความกังวลต่อความเสี่ยงจากปัญญาประดิษฐ์ แต่เขาก็ยังอดบ่นไม่ได้ว่า น่าเสียดายที่ในแถลงการณ์ ไม่กล่าวถึงความเสี่ยงจาก superintelligence  machine ซึ่งก็หมายถึงซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง

*สื่อ...ช่วยทำหน้าที่สื่ออย่างมืออาชีพด้วย !

แม็กซ์ เทกมาร์ค เรียกร้องสื่อ ขออย่าให้เป็นแบบใน Don’t Look Up เพราะการทำหน้าที่สื่ออย่างมืออาชีพ อย่างมีจรรยาบรรณ จะช่วยให้เกิด “การถก” “การระดมความคิด” ในการหาทางออก และการเผชิญกับภัยคุกคามอย่างมีสติ

*มันต้องเกิดขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ดังนั้น ก็ไม่ต้องพยายามหาทางหลบเลี่ยงมันหรอก !

แม็กซ์ เทกมาร์ค ชี้ว่า เป็นแนวคิดที่เป็นหลักประกันความล้มเหลวของมนุษยชาติเพียงอย่างเดียว โดยไม่แม้แต่พยายามจะหลีกเลี่ยงการสูญสิ้นของมนุษยชาติ

แล้วเราควรจะทำอย่างไร?

แม็กซ์ เทกมาร์ค กล่าวเป็นบทสรุปของเขาใน Time ว่า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรากำลังวิ่งเข้าหาหน้าผาแห่งความตายของมนุษยชาติ แต่เราก็ยังไม่ตกหน้าผา...

เรายังมีเวลาอยู่ ที่จะ “วิ่งให้ช้าลง” “เปลี่ยนทิศทาง” และ “หาวิธีที่จะไม่ตกหน้าผา” โดยในระหว่างที่กำลังวิ่ง ก็ยังมีความสุขได้ กับสิ่งดีๆ จากปัญญาประดิษฐ์ที่มีให้เราอยู่โดยต้องไม่ลืมว่าหน้าผาก็ยังมีอยู่จริง

ข้อความสุดท้ายของ แม็กซ์ เทกมาร์ค ใน Time คือ Just Look Up! สะท้อนคำเตือนของนักวิทยาศาสตร์ในภาพยนตร์ Don’t Look Up 

ภาพยนตร์ Don’t Look Up ออกฉายอย่างจำกัดโรงฉายวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2564 ออกฉายอย่างเปิดกว้างทาง Netflix วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2564 ทำสถิติมีผู้เข้าชมสูงในช่วงสุดสัปดาห์แรกของการออกฉายเป็นอันดับสองของ Netflix โดยมีผู้เข้าชมรวม 111.03 ล้านชั่วโมง ได้รับคำวิจารณ์จากนักวิจารณ์ภาพยนตร์ทั่วไปในระดับปานกลาง แต่ได้รับการกล่าวถึงในเชิงบวกอย่างชัดเจน จากสังคมวิทยาศาสตร์

ท่านผู้อ่านที่ได้ชมภาพยนตร์ Don’t Look Up มาแล้ว คิดอย่างไรกับความคิดของ แม็กซ์ เทกมาร์ค ในการเตือนภัยจากซูเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ 

ผู้เขียนก็ได้ชม...และชอบ... Don’t Look Up

แล้วท่านผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชม คิดอยากชม Don’t Look Up ไหมครับ? และท่านคิดอย่างไรกับข้อคิดของ แม็กซ์ เทกมาร์ค ใน Time ครับ?