วันที่ 27 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) รายงานผลการศึกษาชี้ว่า คนทำงานทั่วโลกประมาณ 300 ล้านคน กำลังมีความเสี่ยงจะตกงานเพราะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ย้อนหลังเมื่อสามสิบสี่ปีก่อน นิตยสาร “คู่แข่ง” ตีพิมพ์บทความเรื่อง “5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ” ของผู้เขียน เป็นบทความชุดยาว 11 ตอน มองบทบาทและผลกระทบของ “5 เทคโนโลยีแห่งอนาคต” ต่อการประกอบอาชีพของมนุษย์ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของศตวรรษที่ยี่สิบ กับศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
“เชื่อ คิด และทำอย่างวิทยาศาสตร์” วันนี้ขอนำท่านผู้อ่านไป “ส่อง” สาระใหญ่รายงานของโกลด์แมน แซคส์ และไป “อัปเดต” ครั้งใหม่ล่าสุดของ “5 เทคโนโลยีแห่งอนาคต” ว่า ยังมีสาระเป็นประโยชน์หรือไม่?
ข่าวร้ายต่อ 300 ล้านตำแหน่งงานจากโกลด์แมน แซคส์!
โกลด์แมน แซคส์ เป็นสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก
...
ต่างรายงานเรื่อง “The Potentially Large Effects of Artificial Intelligence on Economic Growth” (ผลกระทบใหญ่ที่เป็นไปได้ของปัญญาประดิษฐ์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ” โดยโฟกัสเป็นพิเศษที่ผลกระทบจาก generative AI หรือ generative artificial intelligence ต่อการทำงาน ซึ่งในภาษาไทยยังไม่มีศัพท์บัญญัติ แต่วันนี้ ผู้เขียนขอเรียกทับศัพท์เป็น เจเนอเรทีฟ เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์แบบเจเนอเรทีฟ
เจเนอเรทีฟ เอไอ เป็นพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ล่าสุด ที่กำลังถูก “จับตา” มองจากวงการต่างๆ ทั้ง “ตื่นเต้น” และ “กังวล” เพราะเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีศักยภาพ สามารถสร้างชิ้นงานใหม่ จากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นข้อความ บทความ รูปภาพ และงานสร้างสรรค์ ดังเช่น แต่งเพลง บทกวี บทละคร รหัสคอมพิวเตอร์ (computer code) เกมคอมพิวเตอร์ วีดีโอ ร้องเพลง การทำหน้าที่เป็น “พิธีกร” ทางวิทยุและโทรทัศน์
รวมไปถึงการสร้างผลงานวิชาการ ดังเช่น บทความวิชาการระดับสูงกว่าปริญญาตรี การสอบเทียบวิชาการทางวิทยาศาสตร์ การสอบเพื่อประกอบอาชีพ เช่น ทางกฎหมาย
ในปัจจุบันมี เจเนอเรทีฟ เอไอ ที่กำลังเปิดบริการให้แก่ลูกค้าจำนวนมาก (นับเป็นจำนวนร้อย) แต่ที่กำลังถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ และถูก “ชี้” ในรายงานของ โกลด์แมน แซคส์ คือ แชตจีทีพี (chat GTP) ของ โอเพนเอไอ (OpenAI) สนับสนุนโดยไมโครซอฟท์ของ บิลล์ เกตส์ ซึ่งเป็นเจเนอเรทีฟ เอไอ ทำงานดังกล่าวไปแล้วได้ “ก้าวหน้าที่สุด” ในบรรดา เจเนอเรทีฟ เอไอ ที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้
แชตจีทีพี เปิดตัวรุ่นแรกวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ทำสถิติผู้เข้าชมมากถึงหนึ่งล้านคนภายใน 5 วัน และ 100 ล้านคนภายในสองเดือน โดยมี GPT-4 เป็นรุ่นล่าสุด เปิดตัวเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2566
ตามรายงานของโกลด์แมน แซคส์ โดยภาพรวม เจเนอเรทีฟ เอไอ ทำให้ตำแหน่งงานทั่วโลก 300 ล้านตำแหน่ง อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกแทนที่
แต่ความเสี่ยงของการถูกแย่งงานโดยปัญญาประดิษฐ์ ก็แตกต่างกันในประเภทของงานและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
ประเภทของงานที่มีความเสี่ยงถูกแย่งงานทำมากที่สุด คือ งานประเภทใช้ความรู้และทักษะจากการศึกษาและฝึกอบรม ซึ่งสามารถทำแทนได้โดยคอมพิวเตอร์
ส่วนงานที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ งานประเภทใช้แรงงาน และประสบการณ์เฉพาะ ในการดูแลและบำรุงรักษา
ประเทศที่โกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า มีความเสี่ยงสูงสุด 5 ประเทศ คือ ฮ่องกง, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา
5 ประเทศที่ถูกชี้ว่า มีความเสี่ยงต่ำสุด คือ จีนแผ่นดินใหญ่, ไนจีเรีย, เวียดนาม, เคนยา และอินเดีย
...
แล้วประเทศในยุโรปล่ะ?
ถึงแม้กลุ่มประเทศยุโรปจะไม่ติดอันดับ 5 ประเทศมีความเสี่ยงสูงสุด แต่โดยภาพรวม สหรัฐอเมริกาและยุโรปรวมกัน จะเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากที่สุด กล่าวคือ ประมาณ 2 ใน 3 ตำแหน่งงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะเสี่ยงต่อการถูกแทนที่เป็นบางส่วน แต่อีกประมาณ 1 ใน 4 ส่วน อาจถูกแทนที่ทั้งหมดด้วยปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบ
ทั้งนี้ มีข้อมูลเจาะลึกลงไปเฉพาะสหรัฐอเมริกา เป็น 5 ประเภทงานที่มีความเสี่ยงสูงสุด จะถูกแย่งงานโดยคอมพิวเตอร์ ดังนี้ :
(1) งานประจำสำนักงาน มีความเสี่ยงสูงสุด คือ 46%
(2) งานด้านกฎหมาย มีความเสี่ยงรองลงมา คือ 44%
(3) งานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม 33%
(4) งานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ, กายภาพและสังคม 36%
(5) งานจัดการธุรกิจและการเงิน ปิดท้าย 5 อันดับความเสี่ยงสูงสุด คือ 35%
ในด้านตรงกันข้าม สำหรับสหรัฐอเมริกางานที่มีความจะถูกแทนที่โดยคอมพิวเตอร์ต่ำสุดเพียง 1% คือ งานการทำความสะอาดอาคาร และงานการบำรุงรักษา ส่วนงานการติดตั้ง, การซ่อมบำรุงและงานการซ่อมรักษา เป็นงานมีความเสี่ยงต่ำสุดอันดับสอง คือ 4% โดยมีงานก่อสร้างและงานการสกัด (extraction) มีความเสี่ยงอยู่ในอันดับสามจากต่ำสุด คือ 6%
...
ปัญญาประดิษฐ์มิใช่มีแต่ข่าวร้าย!
ถึงแม้รายงานของโกลด์แมน แซคส์ ที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก จะเป็นข่าวร้าย แต่ก็มีข่าวในเชิงบวกจากบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ต่ออาชีพการทำงานของคนจริงๆ เช่นกัน
ตามรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ถึงแม้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้ตำแหน่งงานที่ทำด้วยคนจริงๆ ต้องหดหายลง แต่ในขณะเดียวกัน จากประวัติศาสตร์พัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ผ่านมา เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก็จะทำให้เกิด “สิ่งดีๆ” สำหรับการทำงานของมนุษย์ขึ้นมา 2 อย่าง
หนึ่ง คือ สร้างงานใหม่ขึ้นมาสำหรับมนุษย์ที่จะต้องเป็น “คน” ทำให้เทคโนโลยีใหม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
สอง คือ ทำให้ “มนุษย์” มี “เวลา” มากขึ้น ในการทำงานสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม ตามรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ชี้ว่า ปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการทำงาน โดยอาจส่งผลให้จีดีพี (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก เพิ่มขึ้นประมาณ 7% ต่อปี เป็นเวลาสิบปี
...
5 เทคโนโลยีแห่งอนาคตกับ 76 อาชีพ!
เมื่อปี พ.ศ. 2513 อัลวิน ทอฟเฟลอร์ (Alvin Toffler) ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Future Shock และทำให้คนทั้งโลก ทั้งตื่นกลัวและตื่นตระหนกกับคำว่า “ฟิวเจอร์ช็อก”
อัลวิน ทอฟเฟลอร์ ให้ความหมายของฟิวเจอร์ช็อกถึง “สภาวะความรู้สึก” ของมนุษย์ ที่ต้องเผชิญกับ “การเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไปและเร็วเกินไป จนกระทั่งมนุษย์ไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทัน”
สาเหตุสำคัญของฟิวเจอร์ช็อกตาม อัลวิน ทอฟเฟลอร์ คือ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วนชีวิตของมนุษย์
หลังจากการได้อ่านหนังสือ Future Shock ผู้เขียนจึงได้ขยายส่วนความสนใจทางด้านวิชาการของผู้เขียน (ที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์) มารวมส่วนที่เป็นบทบาทและผลกระทบของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อมนุษย์ด้วย
ผู้เขียนได้รับโจทย์จากการตอบคำถามในนิตยสาร ในรายการวิทยุและโทรทัศน์ในการบรรยายพิเศษ ให้ระบุเทคโนโลยีที่ผู้เขียนเห็นว่า จะมีบทบาทและผลกระทบมากเป็นพิเศษต่อมนุษย์ในอนาคต ช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
ผลที่ผู้เขียนสรุปออกมาเป็น “5 เทคโนโลยีแห่งอนาคต” และก็ได้เขียนเป็นบทความชุดยาว 11 ตอน ในคอลัมน์ “สู่อนาคตกับเทคโนโลยี” ของนิตยสาร “คู่แข่ง” รวม 11 ฉบับ ตั้งแต่ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 จนกระทั่งจบชุด ซึ่งสำนักพิมพ์มีเดียโฟกัสได้จัดพิมพ์รวมเป็นเล่มในชื่อเดิมจากนิตยสาร คือ “5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ” ตีพิมพ์ครั้งแรกเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534
5 เทคโนโลยี ที่ผู้เขียนได้ประมวล, วิเคราะห์ และสังเคราะห์ออกมา โดยกำหนดกรอบเวลาอนาคตอีกประมาณ 10-20 ปี ข้างหน้า (จากปี พ.ศ. 2532 หรือ ค.ศ. 1989 ที่เริ่มลงมือเขียน) ซึ่งก็หมายถึงช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด และต่อไปอีกประมาณ 10 ปี ของช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
ในการเขียนบทความชุด “5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ” ผู้เขียนเลือกที่จะกล่าวถึงบทบาท และผลกระทบจากเทคโนโลยีต่อ “อาชีพ” ของมนุษย์
โดยผู้เขียนวิเคราะห์ออกมาเป็นทั้ง “ข่าวร้าย” และ “ข่าวดี” ของเทคโนโลยีต่ออาชีพ
5 เทคโนโลยีแห่งอนาคตมีอะไรบ้าง?
(1) คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์
(2) หุ่นยนต์คอมพิวเตอร์
(3) เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม
(4) วัสดุศาสตร์
(5) เลเซอร์
เพื่อความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเราวันนี้ ที่เป็นเรื่องของผลกระทบจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับอาชีพ ผู้เขียนขอยกข้อสรุปของผู้เขียนใน 5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ มากล่าวถึงเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ว่า เป็นข่าวร้ายต่องานอาชีพจำนวน 10 อาชีพ ดังเช่น อาชีพเสมียน, พนักงานพิมพ์ดีด, อาชีพพนักงานทั่วไปประจำสำนักงาน, ทนายความ ฯลฯ
ส่วนที่เป็นข่าวดีที่ผู้เขียนยกมากล่าวถึง มี 13 อาชีพ ดังเช่น อาชีพขายข้อมูล, อาชีพผู้เชี่ยวชาญระบบปัญญาประดิษฐ์, อาชีพผู้เชี่ยวชาญอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
แล้วในจำนวน 76 อาชีพที่ผู้เขียนกล่าวถึง เป็นข่าวร้าย-ข่าวดี มากน้อยอย่างไร?
คำตอบคือ เป็นข่าวร้าย 25 อาชีพ เป็นข่าวดี 51 อาชีพ
5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพอัปเดต!
จากปี พ.ศ. 2532 ถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2566 เวลาผ่านไปแล้ว 34 ปี!
ในคอลัมน์ “For The Future” วารสารประชาคมวิจัยและนวัตกรรม ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ. 2564 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) คือ เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมา ตีพิมพ์บทความของผู้เขียนชื่อ “5 เทคโนโลยีแห่งอนาคตอัปเดต” เพื่อสำรวจตรวจสอบถึงสิ่งที่ผู้เขียนได้ “มอง” เอาไว้เมื่อ 32 ปีก่อนว่า เป็นอย่างไร?
ข้อสรุปที่ผู้เขียนเห็นคือ ทั้ง 5 เทคโนโลยีที่ผู้เขียนได้กล่าวถึง ก็ได้แสดงบทบาท และยังมี “ความสำคัญ” ต่อไปอีกถึงขณะนี้ และในอนาคตที่พอมองเห็นได้ คือ ถึงกลางศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด
จาก 5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ ถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์คุกคามคนทำงาน 300 ล้านคน!
การเปรียบเทียบที่เกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความหมายของ “5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ” กับรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ก็คือ ส่วนที่เป็นบทบาทและผลกระทบของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์
โดยของ โกลด์แมน แซคส์ โฟกัสที่ปัญญาประดิษฐ์แบบเจเนอเรทีฟ ส่วนของ 5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ คือ ส่วนของคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์โดยรวม
ทั้งนี้ ผลกระทบที่ผู้เขียนมองว่า ถูกคุกคาม (คือ เป็น “ข่าวร้าย” ใน 5 เทคโนโลยีกับ 76 อาชีพ) ส่วนใหญ่ก็ “ยัง” สอดคล้องกับรายงานของโกลด์แมน แซคส์ ดังเช่น งานที่ถูกคุกคามมากที่สุด คือ งานทางด้านธุรการและการบัญชี (การเงิน) แล้วก็มีงานทางด้านกฎหมาย คือ อาชีพทนายความอยู่ด้วย
แต่ส่วนที่แตกต่างกัน คือ ในรายงานของโกลด์แมน แซคส์ มีส่วนรวมถึง “จำนวนตำแหน่งงาน” คือ “จำนวนคน” ที่เสี่ยงต่อการถูกปัญญาประดิษฐ์ประเภทเจเนอเรทีฟทดแทน และก็เป็นส่วนที่ถูก “ไฮไลต์” เป็นข่าวดังไปทั่วโลก
ในขณะที่ส่วนเป็น “ข่าวดี” ของรายงาน ดังเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกประมาณ 7% ต่อปีนั้น ไม่ได้ถูก “ไฮไลต์” ในรายงานต่างๆ นัก
การตอบสนองต่อรายงนของโกลด์แมน แซคส์ และจุดยืนคนละด้านของอีลอน มัสก์ กับ บิลล์ เกตส์
สำหรับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ส่วนใหญ่ก็รับฟังรายงานของโกลด์แมน แซคส์ อย่างใส่ใจ เพราะความน่าเชื่อถือของโกลด์แมน แซคส์
แต่ก็มีความเห็นที่ “เตือน” ผู้รับข่าวสารให้ “อย่าตื่นตระหนก” เกินไป หรือ “ปฏิเสธ” ในทันที
อีลอน มัสก์ ผู้ร่วมก่อตั้งโอเพนเอไอ แต่ได้ถอนตัวจากโอเพนเอไอไปแล้ว แสดงจุดยืนความวิตกกังวล ถึงผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจเนอเรทีฟ เอไอ
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2566 อีลอน มัสก์ ออกจดหมายเปิดผนึก “Pause Giant AI Experiment” (หยุดการทดลองยักษ์ใหญ่ปัญญาประดิษฐ์) จาก “สถาบันอนาคตของชีวิต” (Future Of Life Institute) ของเขา เรียกร้องให้นักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หยุดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่ ดังเช่น เจเนอเรทีฟ เอไอ เป็นเวลาหกเดือน เพื่อตั้งสติและสร้างมาตรการที่จะป้องกันผลกระทบไม่พึงประสงค์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ได้มากที่สุดเสียก่อน
อีลอน มัสก์ กล่าวว่า จดหมายเปิดผนึกนี้ในขั้นต้น เรียกร้องขอความร่วมมือจากนักพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างสมัครใจ
แต่ถ้าไม่ได้ผล อีลอน มัสก์ ก็เสนอ “ยาแรง” ให้รัฐบาลออกมาตรการบังคับอย่างเป็นทางการ
ถึงวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566 มีผู้ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกแล้ว มากกว่าห้าหมื่นรายชื่อ
แต่ในด้านตรงกันข้ามกับ อีลอน มัสก์ ก็มี บิลล์ เกตส์ ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโอเพนเอไอในปัจจุบัน และกำลังเป็นกระบอกเสียงสำคัญ สนับสนุนการพัฒนาเจเนอเรทีฟ เอไอ
บิลล์ เกตส์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์ส เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2566 คัดค้านข้อเรียกร้องให้หยุดการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นเวลา 6 เดือนว่า ไม่สมเหตุผล และไม่มีทางปฏิบัติได้จริง
สำหรับผู้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ ก็มีจุดยืนต่อจดหมายเปิดผนึกแบบเดียวกับบิลล์ เกตส์
ท่านผู้อ่านล่ะครับ มีความคิดเห็นอย่างไรต่อรายงานของโกลด์แมน แซคส์?
สำหรับจุดยืนของ อีลอน มัสก์ กับ บิลล์ เกตส์ ท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับใครมากกว่าครับ?