เช้าวันที่ 24 ก.พ. 2565 วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารบุกยูเครน ในภูมิภาคดอนบาส เป็นจุดเริ่มของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และยืดเยื้อยาวนานเข้าสู่ปีที่ 2 ไม่มีวี่แววจะยุติ ต่างฝ่ายได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวยูเครน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กต้องระหกระเหินไปอยู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป 7 ล้านกว่าคน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะยาวนานเท่าใดไม่มีใครคาดการณ์ได้ มีแต่จะก่อให้เกิดการพลัดพราก ความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับน้ำตาของผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไปเพราะสงคราม จากการไม่ลดราวาศอกของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างตอบโต้ปะทะกันต่อเนื่อง และสิ่งที่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนกรุงเคียฟของยูเครน เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.พ. 2566 โดยไม่มีกำหนดการล่วงหน้า มีสัญญาณใดกำลังบอกให้โลกได้รู้ นอกเหนือจากการสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในการปกป้องอธิปไตย จากการรุกรานของรัสเซีย

2 วันผ่านไป หวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการฝ่ายการต่างประเทศกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มาเยือนรัสเซียโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อหารือกับปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ในการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก่อนการมาเยือนรัสเซียร่วมประชุมสุดยอดของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน ในเร็วๆ นี้ จากการรายงานของสื่อต่างประเทศ เพื่อผลักดันการเจรจาสันติภาพยุติความขัดแย้งในยูเครน แต่ก่อนหน้านี้แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาระบุจีนกำลังจะส่งอาวุธช่วยรัสเซีย ทำให้จีนออกมาตอบโต้เป็นความพยายามกล่าวหาใส่ร้ายจีน

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนกรุงเคียฟ
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนกรุงเคียฟ

...

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจสร้างความสั่นสะเทือนต่อโลก ทำให้หมู่มวลมนุษย์อยู่ไม่เป็นสุขอีกต่อไป เพราะสงครามโลกครั้งที่ 3 กำลังจะเกิดหรือไม่? จากการวิเคราะห์ของ ”ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชี้ว่าขณะนี้ทั้งสหรัฐฯและรัสเซีย ต่างออกมาพูด โดยตัวปูติน แถลงนโยบายอย่างชัดเจนในที่ประชุมรัฐสภา ว่า สงครามต้องดำเนินต่อไป ส่วนไบเดน พูดระหว่างเยือนโปแลนด์ ว่าการต่อสู้ในวันข้างหน้าจะดำเนินต่อไป เพราะปูติน เริ่มสงครามเป็นการทำผิดโดยสิ้นเชิง

“ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเป็นสงคราม จะไม่ยอมลดราวาศอกอย่างแน่นอน ฝ่ายรัสเซีย ก็ยังเดินหน้า และยูเครน ไม่หยุดขออาวุธเพิ่ม เพื่อตอบโต้รัสเซีย ทำให้ยังมองไม่เห็นว่าสงครามจะยุติในเร็ววันนี้ อาจเป็นปีหรืออีกหลายปี แต่ที่แน่ๆ คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ หรือภายในปีนี้ จนอาวุธแต่ละฝ่ายร่อยหรอหมดไป จะผลิตหรือซื้อเพิ่มเติมที่ไหนยังไม่ชัดเจน เพียงแต่ว่ายูเครน อยากได้อาวุธยิงระยะไกล รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ ใช้ตอบโต้ กวาดล้างกองกำลังรัสเซียให้ถอยออกไปให้พ้นเขตแดนของยูเครน”

ส่องความคิดปูติน อยากยึดดินแดนยูเครน แต่ไม่ง่าย

อีกทั้งโอกาสจะเจรจาหาทางออก ซึ่งต่างฝ่ายไม่เห็นมีท่าทีออกมา และผ่านไปเกือบ 1 ปี ไม่เป็นไปตามที่รัสเซียคาดหวัง เพราะการบุกยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 ทางรัสเซียคิดว่าน่าจะได้ตามเป้าในการยึดกรุงเคียฟแบบเบ็ดเสร็จ ภายใน 1 สัปดาห์ หรือคิดว่าโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน จะหนีไป และนำคนของรัสเซีย เข้ามาเป็นรัฐบาลแทน ขณะเดียวกันก็คิดว่าประเทศตะวันตก และนาโต จะตั้งตัวไม่ทัน แต่ปรากฏว่าความเข้มแข็งของนาโต มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งผู้นำฝรั่งเศส เยอรมัน และอิตาลี ต่างช่วยเหลือยูเครน จนกว่ารัสเซีย จะยกเลิกการยึดครองยูเครน และผู้นำยุโรปในการประชุมความมั่นคงที่มิวนิก ต่างออกเสียงจะช่วยเหลือยูเครนต่อไป

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เดินหน้าต่อทำสงคราม
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เดินหน้าต่อทำสงคราม

...

ขณะที่ปูติน เพิ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีการโจมตีชาติตะวันตกว่าเป็นฝ่ายสนับสนุนยูเครนในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย โดยปูติน พยายามทำให้คนรัสเซียและประเทศอื่นในโลก ได้เห็นว่ารัสเซียทำเพื่อประเทศ แต่ฝ่ายต่อต้านสงคราม ก็บอกว่าปูติน โกหก หรือแม้แต่อดีตทูตจีน ประจำยูเครน ยังมองว่าปูติน เสริมแต่งประวัติศาสตร์ความเป็นหนึ่งเดียวของรัสเซียกับยูเครน เหมือนที่เป็นมาในอดีต

เช่นเดียวกับชาติตะวันตก เห็นว่าสหภาพโซเวียต ได้ล่มสลายไปแล้ว มีการแสดงให้เห็นถึงการแยกตัวไปอยู่ฝ่ายชาติตะวันตก เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจ เพราะไม่อยากอยู่ภายใต้ระบบสังคมนิยม ซึ่งไม่มีอนาคต และรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียต ได้ระบุไว้ว่าสาธารณรัฐทั้งหลายที่อยู่ในสหภาพยุโรป มีอธิปไตยเป็นของตัวเอง ก็มีสิทธิ์ไปมีความสัมพันธ์กับประเทศใดก็ได้ และยูเครน เป็นหนึ่งในรัฐร่วมก่อตั้งสหภาพกับโซเวียต และโซเวียตก็สนับสนุนยูเครนก่อตั้งสหประชาชาติ จนมีตัวแทนประเทศร่วมลงประชามติในสหประชาชาติ ซึ่งถือเป็นรัฐเอกราช

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จนมาถึงยุคปูติน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ได้หวนหามีความคิดอยากให้รัฐที่เคยอยู่กับสหภาพโซเวียต รวมถึงยูเครน ให้มาอยู่ในเขตอิทธิพลของรัสเซีย ทั้งๆ ที่ยูเครน ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับรัสเซีย ไม่ต้องการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย เพราะประเทศใกล้เคียงต่างฝ่ายต่างพัฒนาอัตลักษณ์ของตัวเอง เช่นเดียวกับยูเครนก็มีชาตินิยมของตัวเอง แต่ปูติน ยังต้องการให้อยู่ในเขตอิทธิพล เมื่อชาติตะวันตกเข้ามาสนับสนุนฝ่ายตะวันตกด้วยกัน จนในที่สุดรัสเซียพ่ายแพ้ไม่สามารถดึงยูเครน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งได้

บิดเบือน หาข้ออ้างรุกรานยูเครน ไม่สนเสียงประณาม

ต่อมาในปี 2547 เกิดจุดหักเหสำคัญเมื่อวิกเตอร์ ยานูโควิช นักการเมืองยูเครน ซึ่งสนับสนุนรัสเซีย คว้าชัยชนะในการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดียูเครน แต่ถูกครหาว่าการเลือกตั้งไม่โปร่งใส ทำให้ประชาชนออกมาประท้วงอย่างสันติ หรือปฏิวัติสีส้ม ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จนมาปี 2553 ยานูโควิช กลับมาลงเลือกตั้งและชนะอีกครั้ง พร้อมสัญญาว่าจะนำยูเครนเข้าสู่สหภาพยุโรป

...

แต่ยานูโควิช กลับไม่ทำตามสัญญา แอบต่อรองกับรัสเซียอย่างลับๆ และถูกปูติน กดดันไม่ให้ทำข้อตกลงกับสหภาพยุโรป ทำให้นักศึกษายูเครน ไม่พอใจเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ หรือปฏิวัติยูโรไมดาน เมื่อปี 2557 บริเวณจัตุรัสเอกราช ในกรุงเคียฟ จนยานูโควิช ถูกรัฐสภาขับจากตำแหน่ง และหนีไปอยู่รัสเซีย หลังจากนั้นรัสเซีย ได้บุกคาบสมุทรไครเมีย ประกาศเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย และในเวลาต่อมาได้เข้ามาแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ทั้งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย

กระทั่งวันที่ 24 ก.พ. ปีที่แล้วมีการบุกรุกรานยูเครน ต้องการจะยึดดินแดนจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงของปูติน อ้างว่าถูกคุกคามพยายามกล่าวหาชาติตะวันตกว่าทำร้ายรัสเซีย ซึ่งไม่ใช่เลย เพราะยูเครนยังไม่เป็นสมาชิกนาโต และที่ผ่านมาเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส พยายามโน้มน้าวไม่ให้รัสเซียดำเนินการ แต่ปูติน วางแผนจะบุกยูเครนอยู่แล้วตั้งแต่แรก อ้างว่าจะโค่นล้มรัฐบาลนาซี จนถูกชาติสมาชิกสหประชาชาติ 100 กว่าประเทศ ลงมติประณามเพราะทำผิดกฎบัตรสหประชาชาติ ในแง่ศีลธรรมของประเทศมหาอำนาจจะทำไม่ได้ และมากกว่า 140 ประเทศ ประณามในการรวมดินแดน 4 แคว้นของยูเครน มาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

“ยิ่งทำให้ยุโรปผนึกกำลังยืดเยื้อยาวนาน จะให้ปูติน ชนะไม่ได้ ส่วนอีกฝ่ายก็ต้องการให้ปูติน ชนะ และต้องดูท่าทีของสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน จะไปพูดเรื่องสันติสุขต่อที่ประชุมสหประชาชาติ ขณะเดียวกันก็ส่งหวัง อี้ ไปรัสเซีย เพราะไม่ต้องการให้รัสเซียใช้กำลัง ตามหลักการของจีน แต่จีนก็ไม่เคยออกมาประณามรัสเซียว่าทำในสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งระหว่างนี้ต้องรอดูข้อเสนอแผนสันติภาพของจีน จะเป็นอย่างไร หากอยู่ในหลักการอธิปไตย ก็เป็นที่ยอมรับได้”

...

ระวังสงครามโลกครั้งที่ 3 ปะทุ ความบรรลัยบังเกิด

ส่วนความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เพราะหากปูติน ต้องการจะจัดการสหรัฐฯ อาจทำร้ายไบเดน ก็ได้ ระหว่างเดินทางไปเยือนโปแลนด์ และกรุงเคียฟ แต่ก็ไม่ทำ เป็นการยับยั้งชั่งใจของประเทศมหาอำนาจ และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ปล่อยให้การสู้รบอยู่ในยูเครน และสหรัฐฯ จะยังไม่ส่งอาวุธยิงระยะไกลให้ยูเครน เพราะอาจจะถลำเข้าไปในรัสเซียได้ หากรุกล้ำกันไปมากกว่านี้ ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

ประเด็นการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นอยู่กับการเผชิญหน้า ขอบเขตของสงครามจะขยายวงกว้างเท่าใด และประเทศมหาอำนาจ สามารถจัดการให้อยู่ในหลักการและแนวทางปฏิบัติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หรือไม่ ซึ่งทุกอย่างไม่แน่นอน และบันไดลงของแต่ละฝ่ายต้องทำอย่างไร ไม่ให้มีใครแพ้หรือชนะ หากคิดไม่ได้จะทำให้สงครามยืดเยื้อ จะต้องดูท่าทีของสี จิ้นผิง จะมีแผนสันติภาพหรือไม่ เพราะฝ่ายรัสเซีย ก็เสียชีวิตไปแล้ว 2 แสนศพ ส่วนยูเครน อาจมากกว่า ยังไม่รวมทหารรับจ้างที่เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก

สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแต่ความสูญเสีย
สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแต่ความสูญเสีย

จากปัจจัยของแต่ละฝ่ายจะต้องหาแนวทางให้เกิดสันติภาพ ทั้งรัสเซียและยูเครน ต้องตกลงกันอย่างเด็ดขาดว่าอะไรห้ามล้ำเส้น แต่ที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งที่รัสเซียเป็นฝ่ายรุกรานก่อน ควรต้องยุติการละเมิดอธิปไตยประเทศอื่น ยึดตามกฎหมายระหว่างประเทศ แม้แต่จีน ยังงดออกเสียงสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ประณามรัสเซีย จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จีนจะมีแผนสันติภาพที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่อย่างน้อยก็เป็นการแสดงเจตนาที่ดีของจีน ในเชิงสัญลักษณ์ว่าพยายามแล้ว จะกล่าวหาว่าเฉยเมยไม่ได้

“สงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่แน่ไม่นอน หากเกิดขึ้นจริงน่าจะแค่ในยุโรป คงไม่ลามมาถึงภูมิภาคของเรา ยกเว้นญี่ปุ่น และจีน อาจเข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จีน ก็ฉลาดพอและรู้ดีว่าต่างฝ่ายต่างพึ่งพาตะวันตก แม้จะมีการทำสงครามการค้ากับสหรัฐฯ แต่ต่างฝ่ายก็ต่างค้าขาย ถ้าเกิดสงครามก็บรรลัยกันหมด ทั้งจีน ทั้งสหรัฐฯ ถ้าผู้นำโลกหน้ามืดตามัว และประเทศเล็กอย่างเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพียงให้หาทางออกเพื่อป้องปราม ไม่ให้เกิดผลกระทบกว้างขวางมากขึ้น ค่อยๆ หาทางให้มันคลี่คลาย เคารพในหลักการอยู่ร่วมกัน ไม่ให้สงครามบานปลายไปมากกว่านี้”.

ผู้เขียน : ปูรณิมา