“Overreaction” กระทรวงกลาโหมจีนกล่าวประณามการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ตัดสินใจส่งเครื่องบินรบประสิทธิภาพสูง F-22 Raptor ยิงบอลลูนสัญชาติจีนจนร่วงลงจากน่านฟ้าประเทศสหรัฐอเมริกา โดยฝ่ายปักกิ่งอ้างว่ามันเป็นเพียง “บอลลูนทางด้านอุตุนิยมวิทยา” ในขณะที่วอชิงตันอ้างว่าบอลลูนเจ้าปัญหานี้ เป็น “บอลลูนสอดแนม” โดยมีการยกเหตุผลสำคัญขึ้นมาว่า เนื่องจากมันลอยอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองบิลลิงส์ รัฐมอนทานา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปสำคัญของสหรัฐอเมริกา

อะไรคือ “เหตุผล” ของทั้งฝ่ายจีนและสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่บาดแผลทางการทูตครั้งใหม่ระหว่างทั้งสองชาติ และบอลลูนสอดแนมคืออะไร วันนี้ “เรา” ลองไปร่วมกันค้นหา “คำตอบ” จากการทะเลาะเบาะแว้งครั้งล่าสุดของ “พญาอินทรีและพญามังกร” กันดู

...

การโต้เถียงเรื่องบอลลูนเจ้าปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐฯ :

เหตุผลของฝ่ายจีน :

China Daily สื่อของทางการจีน ออกมาตอบโต้สหรัฐฯ ว่า ปีกสายเหยี่ยวทางการเมืองในสหรัฐฯ โดยเฉพาะพรรครีพับลิกัน กำลังพยายามสร้างพล็อตภาพยนตร์ระดับบล็อกบลัสเตอร์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ฝ่ายจีนสื่อสารไปยังสหรัฐฯ อย่างตรงไปตรงมาแล้วว่า บอลลูนดังกล่าวเป็นของพลเรือนและมีวัตถุประสงค์สำหรับการทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา อีกทั้งการลอยเข้าน่านฟ้าสหรัฐฯ นั้นยังเป็นเพียง “เหตุสุดวิสัยอีกด้วย” และที่สำคัญมากไปกว่านั้น แม้ว่ามันอาจลอยอยู่เหนือพื้นที่อ่อนไหว ซึ่งเป็นที่ตั้งเก็บขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปของสหรัฐฯ “แต่มันไม่ได้ศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลใดๆ ที่หาไม่ได้จากดาวเทียมสอดแนม”

ขณะที่ The Global Times สื่อของการจีนอีกเช่นกัน ได้ออกบทบรรณาธิการที่ออกไปในเชิงตั้งคำถามกับฝ่ายสหรัฐฯ ที่ว่า หากเรื่องบอลลูนสอดแนมดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ระบบป้องกันภัยทางอากาศของสหรัฐฯ คงไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงเช่นที่วอชิงตันมักพยายามอวดอ้างเป็นแน่

พร้อมกับยืนยันว่าที่ผ่านมาฝ่ายจีนได้พยายามสื่อสารในเรื่องนี้กับสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่า การที่บอลลูนดังกล่าวซึ่งได้รับการยืนยันจาก กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ "เพนตากอน" แล้วว่า “ไม่ถือเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ” ลอยเข้าล่วงล้ำน่านฟ้านั้น “เป็นเพียงเหตุสุดวิสัย” พร้อมกับสวนวอชิงตันอย่างตรงไปตรงมาว่า หากมีบอลลูนสหรัฐฯ รุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าจีน ปักกิ่งสามารถยิงทำลายได้เช่นกันใช่หรือไม่?

เหตุผลของฝ่ายสหรัฐอเมริกา :

"เพนตากอน" ระบุว่า บอลลูนดังกล่าวลอยอยู่ในระดับความสูงเหนือเพดานบินเฉลี่ยของสายการบินพาณิชย์ และไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางการทหารหรือทางกายภาพต่อผู้คนที่อยู่เบื้องล่าง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการตรวจพบบอลลูนที่มีการทำกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง “นายเควิน แมคคาร์ธี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรหมาดๆ จาก รีพับลิกัน ออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวว่า “การกระทำดังกล่าวของจีนถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน” พร้อมกับกดดันให้รัฐบาลสหรัฐฯจัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ด้วยความเฉียบขาด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จึงมีคำสั่งให้เครื่องบินรบของสหรัฐฯ ออกปฏิบัติการยิงบอลลูนดังกล่าวทันที หลังมันลอยอยู่เหนือทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงการที่เศษซากของมันอาจจะตกลงมาใส่บ้านเรือนของประชาชน

...

ขณะเดียวกันบรรดานักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองด้วยว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งล่าสุดนี้ อาจเป็นผลให้การเดินทางไปพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของ "นายแอนโทนี บลิงเคน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นหารือสำคัญคือการขยายขีดความสามารถของกองทัพสหรัฐฯ ในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งฝ่ายจีนมองว่าเป็นการคุกคามต่อเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ถูกยกระดับความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นโดยไม่จำเป็น

ข้อมูลพื้นฐานบอลลูนสอดแนม :

“บอลลูนสอดแนม” ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามการปฏิวัติในฝรั่งเศส (ปี 1792-1802) และมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ (ปี 1861-1865) โดยวิธีการส่งข้อมูลจากบอลลูนสอดแนมมายังภาคพื้นดินในยุคนั้น มีทั้งการใช้รหัสมอร์ส (Morse Code) และการส่งกระดาษผูกติดกับก้อนหินแล้วโยนทิ้งลงมาเบื้องล่าง ขณะเดียวกันในช่วงสงครามเย็น มีรายงานว่าทั้งสหภาพโซเวียตและจีน นิยมใช้บอลลูนสอดแนมเพื่อหาข้อมูลของฝ่ายตรงข้ามด้วย เนื่องจากเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนสำหรับงานด้านข่าวกรองที่ไม่สูงมากนัก

...

อย่างไรก็ดี หลังการถือกำเนิดของ “ดาวเทียมสอดแนม” และ “โดรนสอดแนม” ที่มีเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในการค้นหาข้อมูลและรวบรวมข้อมูลได้จำนวนมาก อีกทั้งยังยากต่อการป้องกันหรือถูกยิงทำลาย วิธีการใช้บอลลูนสอดแนมที่แสนล้าสมัย จึงค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงในที่สุด

เทคโนโลยีบอลลูนสอดแนมในยุคปัจจุบัน :

“บอลลูนสอดแนม” ในปัจจุบันจะมีการติดตั้งกล้องประสิทธิภาพสูง, เรดาห์, อุปกรณ์นำทางและส่งข้อมูล เอาไว้กับบอลลูนที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยความสูงเฉลี่ยสำหรับการปฏิบัติการของบอลลูนสอดแนมในปัจจุบันอยู่ที่ความสูงประมาณ 24,000-37,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับความสูงที่สูงกว่าเพดานบินเฉลี่ย 12,000 เมตร ของเครื่องบินพาณิชย์ และค่าเฉลี่ยเพดานบินของเครื่องบินรบทั่วไปที่ 20,000 เมตร หรือแม้กระทั่ง เพดานบินของเครื่องบินสอดแนม U-2 ของสหรัฐฯ ที่สามารถบินในระดับเพดานบินที่สูงถึง 24,000 เมตร!

...

ข้อดีของบอลลูนสอดแนม :

มีต้นทุนต่ำ โดยปัจจุบันบอลลูนสอดแนม มีต้นทุนเฉลี่ยเพียงประมาณ 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดาวเทียมสอดแนมทางการทหารในปัจจุบัน มีต้นทุนเฉลี่ยสูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนด้านการขนส่งเพื่อนำมันเข้าสู่วงโคจรโลก (ปัจจุบันค่าขนส่งที่ประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม ในขณะที่ด้านเทียมสอดแนมทางการทหารส่วนใหญ่มีน้ำหนักเฉลี่ยที่ 2,500 กิโลกรัม)

นอกจากนี้ "บอลลูนสอดแนม" ยังสามารถใช้เวลาในพื้นที่เป้าหมายได้นานกว่าดาวเทียมสอดแนมด้วย เนื่องจากเคลื่อนที่ช้ากว่า หากไม่ถูกฝ่ายตรงข้ามยิงทำลายเสียก่อน!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง