ผ่านไป 2 ปี รัฐประหารในเมียนมา จากน้ำมือพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของออง ซาน ซูจี ภายหลังพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ย. 2563 อย่างถล่มทลายจนครองเสียงข้างมาก เตรียมจะเปิดประชุมสภาครั้งแรกภายใน 90 วัน
ท่ามกลางกลิ่นรัฐประหารโชยมา และแล้วก็เป็นจริง เมื่อกองทัพอ้างความชอบธรรมในการก่อรัฐประหารเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ. 2564 ระบุว่า มีการทุจริตเลือกตั้ง และเข้าจับกุมตัวออง ซาน ซูจี รวมถึงนักการเมืองที่เกี่ยวข้อง ส่วนอีกหลายคนสามารถหลบหนีไปได้ และภายหลังได้ตั้งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ เพื่อคานอำนาจกองทัพเมียนมา
การก่อรัฐประหารนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปี แต่งตั้งพลเอกมินต์ ส่วย รองประธานาธิบดี ทำหน้าที่ประธานาธิบดีรักษาการ ต่อมามีการขยายสถานการณ์ฉุกเฉินเป็น 2 ปี 6 เดือน และยังทำให้เมียนมาเกิดการนองเลือดทั่วแผ่นดิน ผู้เห็นต่างถูกจับกุม สูญเสียชีวิต หายสาบสูญ และพลัดถิ่นอาศัย ซึ่งข้อมูลของ ACLED มีการเฝ้าสังเกตความรุนแรงในหลายประเทศ ระบุมีผู้เสียชีวิตในเมียนมาราว 1.9 หมื่นคน
...
2 ปีผ่านไป กับเสียงปืนเสียงระเบิด การสู้รบเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่าง บริเวณแนวชายแดนติดกับไทย มีเป็นระยะๆ สร้างความหวาดผวาให้กับชาวไทยที่อาศัยในพื้นที่ ยังไม่รวมเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาจถูกปกปิดไม่ออกมาสู่โลกภายนอก และต้องจับตาดูท่าทีกองทัพเมียนมา จะจัดการเลือกตั้งไม่เกินเดือน ส.ค. 2566 นี้ ตามที่ให้คำมั่นหรือไม่ หลังออกกฎระเบียบใหม่ให้เอื้อต่อพรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นตัวแทนทหาร
แต่อาจไม่ง่าย เพราะสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย มองว่าเป็นเรื่องจอมปลอม และหากมีเลือกตั้งจริง ก็จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเรื่องการจัดการเลือกตั้งของกองทัพเมียนมา ตามข้อสมมติฐานต่างเชื่อกันว่าเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับทหารเมียนมา จะต้องทำตามรัฐธรรมนูญกำหนด หลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดไปเมื่อสิ้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยการจัดเลือกตั้งใหม่ ได้วางเงื่อนไขให้ลงทะเบียนพรรคใหม่ จะต้องมีสมาชิกพรรค 1 แสนคนขึ้นไป และมีสาขาของพรรคจำนวนครึ่งหนึ่งของประเทศ ทำให้พรรคฝ่ายตรงข้ามมีปัญหาเรื่องความพร้อม
“การเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหาร จะแพ้ไม่ได้ จะต้องมีวิธีการของตัวเอง แต่หากจัดเลือกตั้งไปแล้ว มีความไม่ชอบมาพากล ความชอบธรรมไม่เกิดกับประชาชน ถูกต่อต้านไม่หยุด และไม่ยอมให้ต่างชาติมาสังเกตการเลือกตั้ง เพราะกฎกติกาไม่เป็นธรรมกับคู่แข่ง ก็เป็นไปตามข้อสมมติฐานเชื่อว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง และความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีก หากไม่แก้ปัญหาอย่างแท้จริง”
อีกทั้งฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน เพื่อแก้วิกฤติและยุติความรุนแรงในเมียนมา ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ และคนในประเทศ จนประชาคมโลกไม่ไว้วางใจว่าการเลือกตั้งในลักษณะนี้จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาได้ และรัฐบาลทหารเมียนมาต้องทำอะไรให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผลการเลือกตั้งมีความยุติธรรม
...
ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่กองทัพเมียนมามีการรัฐประหาร ยังคงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และอาเชียน ก็ไม่ยินยอมให้ผู้แทนเมียนมาเข้าร่วมประชุม เพราะไม่สามารถทำให้นานาชาติไว้เนื้อเชื่อใจ ทำให้การเลือกตั้งไม่ตอบสนองอย่างแท้จริง ว่ารัฐบาลทหารเมียนมายึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และเมื่ออยู่ในอำนาจก็สามารถทำอะไรก็ได้ อย่างที่ผ่านมาไม่เคยสนใจนานาชาติ อาจจะไม่จัดเลือกตั้งก็ได้ และขยายสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก เพราะต้องการยึดอำนาจให้อยู่ในเงื้อมมือทหาร
“คิดว่ากองทัพเมียนมามั่นใจจะกลับมามีอำนาจได้จากการเลือกตั้ง หากหมดอำนาจลงก็จะเสียประโยชน์หลายๆ อย่าง เป็นเหตุผลไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ หากโดนตรวจสอบภายหลังก็จะเสียผลประโยชน์ และการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลทหารเมียนมาไม่มีหลักประกันใดๆ เลย เพราะพฤติกรรมในอดีตไม่น่าเชื่อถือ ไม่ได้สร้างให้คนเห็นในความบริสุทธิ์ใจ ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายต่อต้าน และเมื่อคนไม่เชื่อใจ ก็มองเป็นการเลือกตั้งจอมปลอมอยู่แล้ว หากจะให้ยอมรับต้องทำตามกฎหมาย ไม่ควรตุกติก”
หรือตราบใดที่นักโทษทางการเมืองยังถูกจับและถูกจองจำ จะทำให้การแข่งขันเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และนักการเมืองของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ก็ยากจะแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน หากจะเลือกตั้งควรทำอย่างตรงไปตรงมา ต้องเลิกคุมสื่อ เลิกคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน
...
แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะจะถูกโค่นล้มอำนาจโดยประชาชนที่เคยถูกปราบปราม ทำให้การลงจากหลังเสือลำบาก จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน จัดการกับฝ่ายตรงข้าม และที่สุดแล้วรัฐบาลทหารเมียนมาจะอยู่ไปอีกยาว จนประเทศเดินถอยหลัง ทำให้ภูมิภาคของเรามีประเทศถูกตราหน้า กระทบต่อชื่อเสียงของอาเซียนไม่จบสิ้น.