483,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 18 ม.ค. 66) คือจำนวนเงินที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกสูญเสียรายได้จากภาษีรวมกันในปี 2022 จากการกระทำของบรรษัทข้ามชาติและผู้มั่งคั่ง โดยในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 3 หรือ 171,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 5.6 ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 18 ม.ค. 66) เป็นการดำเนินการหลบเลี่ยงภาษีในต่างประเทศของมหาเศรษฐีทั่วโลก อ้างอิงจาก "รายงานการจัดทำดัชนีความลับทางการเงิน" หรือ Financial Secrecy Index ปี 2022 ของ "เครือข่ายความยุติธรรมด้านภาษี" (TAX JUSTICE NETWORK) หรือ TJN

โดย 5 อันดับแรกของประเทศที่มีค่าดัชนีความลับทางการเงินสูงสุดของโลก ปี 2022 ประกอบด้วย...

อันดับที่ 1 สหรัฐอเมริกา
ดัชนีความลับทางการเงิน : 1,951
คะแนนความลับทางการเงิน : 67/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 25.78%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 5.74%

...

อันดับที่ 2 สวิตเซอร์แลนด์
ดัชนีความลับทางการเงิน : 1,167
คะแนนความลับทางการเงิน : 70/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 3.91%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 3.43%

อันดับที่ 3 สิงคโปร์
ดัชนีความลับทางการเงิน : 1,167
คะแนนความลับทางการเงิน : 67/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 5.64%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 3.43%

อันดับที่ 4 ฮ่องกง
ดัชนีความลับทางการเงิน : 927
คะแนนความลับทางการเงิน : 65/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 3.87%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 2.73%

อันดับที่ 5 ลักเซมเบิร์ก
ดัชนีความลับทางการเงิน : 804
คะแนนความลับทางการเงิน : 55/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 11.32%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 2.36%

อันดับที่ 23 ไทย
ดัชนีความลับทางการเงิน : 380
คะแนนความลับทางการเงิน : 70/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 0.139%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 1.12%

** หมายเหตุ FSI Value : ดัชนีความลับทางการเงิน, Secrecy Score : คะแนนความลับทางการเงิน โดย 0 คือคะแนนเต็มของความโปร่งใส ส่วนคะแนน 100 คือ คะแนนเต็มของความลับทางการเงิน, Global Scale Weight : สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน, FSI Share : สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก **

ทั้งนี้ การจัดอันดับประเทศที่มีความลับทางการเงิน มีความเกี่ยวข้องกับระบบ และกระบวนการทางด้านกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการฟอกเงิน หรือช่องทางที่นำไปสู่การคอร์รัปชันเพื่อทำให้เกิดความมั่งคั่ง โดยระดับของความลับทางการเงิน จะถูกประเมินผ่าน 4 ตัวชี้วัด คือ 1.มาตรฐานและความร่วมมือระหว่างประเทศ 2.ความซื่อสัตย์สุจริตในการใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินและภาษี 3.ความโปร่งใสของภาคธุรกิจ 4.การจดทะเบียนเป็นเจ้าของกิจการ โดยจะมีการประเมินทุกๆ 2 ปี

โดยการจัดอันดับครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ "สหรัฐฯ" กลายเป็นประเทศที่มีความลับในโลกการเงินถึงเกือบ 1 ใน 3 และได้รับการจัดอันดับแย่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดอันดับเมื่อปี 2009 เป็นต้นมา โดย เครือข่ายความยุติธรรมด้านภาษี ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้อันดับของสหรัฐฯ เลวร้ายลงไปผลมาจากการปฏิเสธที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานทางด้านภาษีของประเทศอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล ซึ่งหากสหรัฐฯ ยอมเปลี่ยนแนวทางไปใช้รูปแบบเดียวกับประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ จะสามารถลดระดับความลับทางการเงินให้แก่โลกได้มากถึง 40%

...

ซึ่งประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ "นางเจเน็ต เยลเลน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และอดีตประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ เคยออกมาระบุว่า “สหรัฐอเมริกาอาจกำลังกลายเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการซุกซ่อน และฟอกเงินที่ได้มาโดยมิชอบ”

ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า อันดับดัชนีความลับทางการเงินในปี 2022 นี้ มีกลุ่มประเทศ G7 คือ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ติดอยู่ใน 15 อันดับแรกถึง 4 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ (อันดับ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 6) เยอรมนี (อันดับ 7) สหราชอาณาจักร (อันดับ 13)

ญี่ปุ่น :
ดัชนีความลับทางการเงิน : 765
คะแนนความลับทางการเงิน : 63/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 2.81%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 2.25%

เยอรมนี :
ดัชนีความลับทางการเงิน : 681
คะแนนความลับทางการเงิน : 57/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 5.21%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 2.00%

...

สหราชอาณาจักร :
ดัชนีความลับทางการเงิน : 547
คะแนนความลับทางการเงิน : 47/100
สัดส่วนการให้บริการด้านการเงินข้ามพรมแดน : 14.14%
สัดส่วนการเก็บความลับทางการเงินโลก : 1.61%

ขณะเดียวกันตาม รายงานของเครือข่ายความยุติธรรมด้านภาษี ยังระบุว่า สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น, เยอรมนี และอิตาลี (อันดับที่ 21) มีส่วนในความรับผิดชอบ ต่อการลดกระบวนการต่อต้านการฟอกเงินทั่วโลกลงมากกว่าครึ่ง เนื่องจากความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอลงด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก varanya.p

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง