ขออุทิศแด่...มหาอัจฉริยะลูกหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล...ศูนย์หน้าที่เปี่ยมล้นไปด้วยทักษะและสามารถยิงประตูได้ทุกรูปแบบราวกับได้รับพรจากสวรรค์ซึ่งยากจะหาใครในโลกนี้เสมอเหมือน และท้ายที่สุด “ชายผู้นี้” คือ “พระเจ้าสำหรับชาวบราซิลโดยแท้จริง”
จุดกำเนิดราชาแห่งโลกฟุตบอล :
30ม.ค.65 ชีวิตอันแสนมหัศจรรย์ของเด็กหนุ่มที่มีชื่อจริงว่า “Edson Arantes do Nascimento” แต่มวลมนุษย์ชาติมากกว่า 7,000 ล้านคนทั่วโลก รู้จักเด็กหนุ่มผู้นี้ในนาม “เปเล่” (Pele) ซึ่งเป็นชื่อที่เพื่อนในวัยเด็กเรียกเพี้ยนจากชื่อเล่นที่ครอบครัวตั้งให้ว่า “ดีโก้” (Dico) ชายหนุ่มผู้รังสรรค์ลูกฟุตบอลให้กลายเป็นงานศิลปะอันเลอค่าให้กับชาวโลกมาตั้งแต่อายุได้เพียง 17 ปี ได้เดินทางมาถึงสถานที่พักผ่อนสุดท้ายแห่งชีวิตลงในที่สุด หลังชาวโลกเพิ่งได้รับฟังข่าวร้าย เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ว่า “การแพทย์ในยุคนี้ยังไม่สามารถพิชิตมะเร็งร้ายได้” และร่างกายของชายวัย 82 ปี ผู้เป็นดั่งตำนานแห่งโลกลูกหนัง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆอีกต่อไปแล้ว
...
82 ปีที่ผ่านมา...”เปเล่” สร้างอะไรให้กับโลกลูกหนังและเหตุใดมนุษย์คนหนึ่งจึงได้รับการก้มหัวคารวะจากเหล่าสุดยอดนักฟุตบอลโลกหลายต่อหลายเจนเนอเรชั่นให้เป็น “นักเตะอันดับหนึ่งของโลกตลาดกาล” ก่อนที่ในอีกหลายปีต่อมาจะมี “มนุษย์อีกเพียงคนเดียวเท่านั้น” ที่สามารถก้าวขึ้นท้าทาย “บัลลังก์ของราชาได้” นั่นก็คือ “ดิเอโก มาราโดนา” เจ้าหนูมหัศจรรย์จากอาร์เจนตินา
อะไรคือสิ่งที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้บ้าง?
“เปเล่ และ มาราโดนา คือ อัจฉริยะที่อยู่เหนือกว่าเหล่านักเตะอัจฉริยะคนอื่นๆในโลกใบนี้” ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ผู้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ทั้งในฐานะนักเตะและผู้จัดการทีมชาติเยอรมันตะวันตก
“เปเล่ คือนักฟุตบอลเพียงคนเดียวที่ก้าวผ่านขอบเขตของตรรกะ” โยฮัน ครัฟฟ์ สุดยอดนักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์และอดีตผู้จัดการทีมบาร์เซโลนา เจ้าของฉายานักเตะเทวดา
“More Than a player” คำชื่นชมเพียงสั้นๆแต่ช่างมีความหมายที่แทบไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายอีกต่อไปจาก “เฟเรนซ์ ปุสกัส” อีกหนึ่งอัจฉริยะนักเตะจากทีมชาติฮังการี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ชีวิตสุดขั้ว ดิเอโก มาราโดนา สูงสุด ตกต่ำ ปิดตำนานหัตถ์พระเจ้า
ทำไมเปเล่ จึงเลือกเล่นฟุตบอล :
ปี 1950 เปเล่ในวัย 9 ขวบ ตัดสินใจเดินออกจากบ้านไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ หลังเห็นพ่อของเขาและกลุ่มเพื่อนๆกำลังเริงร่าอย่างสุดขีด ขณะกำลังฟังการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกทางวิทยุ ระหว่าง ทีมชาติบราซิล และ ทีมชาติอุรุกวัย และในขณะนั้น ทีมแซมบ้ายิงประตูออกนำไปก่อน
อย่างไรก็ดี เมื่อเขากลับมาถึงบ้านสิ่งที่เขาพบหลังเปิดประตูเข้าไปก็คือ พ่อของเขากับเพื่อนๆกำลังนั่งร้องไห้เมื่อทัพเซเลเซาพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติอุรุกวัยจนพลาดแชมป์ฟุตบอลโลกในปีนั้นคาสนามมาราคานา
...
“เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้ ผมตกตะลึงมาก ผมจึงสัญญากับพ่อว่าสักวันหนึ่งผมจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้จงได้” และนี่เองคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “เปเล่” ซึ่งก่อนหน้านี้อยากเป็นนักบินจึงเบนเข็มไปสร้างตำนานให้กับโลกลูกหนังแทนในที่สุด!
ปี 1956 : อายุ 15 ปี กับสัญญานักเตะอาชีพ :
ในยุคสมัยปัจจุบันที่มีทั้งระบบแมวมองและอะคาเดมีอันเข้มแข็งในการรับรองอัจฉริยะรุ่นเยาว์ การได้สัญญาอาชีพด้วยวัยเพียง 15 ปี อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์อะไรมากมาย แต่กับเมื่อเกือบ 7 ทศวรรษก่อน สำหรับเด็กชายที่อายุเพียงเท่านี้ “มันแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
แต่ในเมื่อชายผู้นี้คือ “เปเล่” ปัญหาเรื่องอายุมันจึงเป็นเพียง “ขนมกรุบกริบ” เพราะฝีเท้าระดับมหาอัจฉริยะเกินมนุษย์ของเขา ทำให้สุดยอดศูนย์ผู้นี้ได้ขึ้นสู่ทีมชาติใหญ่และได้สัญญาอาชีพกับสโมสรซานโตสทันที หลังได้ร่วมฝึกซ้อมกับเหล่านักเตะรุ่นพี่ครั้งแรก ก่อนจะค้าแข้งต่อเนื่องยาวนานเป็นตำนานของสโมสรถึง 25 ปี! (ปี1956-ปี1975) และพาทีมคว้าแชมป์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แชมป์ Brazilian Serie A รวม 6 สมัย แชมป์ Copa Libertadores 2 สมัย และ แชมป์ Intercontinental อีก 2 สมัย และในระหว่างการค้าแข้งให้กับ "สโมสรซานโตส" นั้น เปเล่ ซัดประตูได้รวมกันถึง 618 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 636 นัด
...
หากแต่ที่ร้ายกาจไปกว่านั้น คือ “เปเล่” คว้าตำแหน่งดาวซัลโวของลีกได้ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี! ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่าทึ่งคือ ในปี 1959 ตลอดปีปฏิทินนี้ “คุณ” รู้หรือไม่? ราชาลูกหนังโลกตลอดกาลผู้นี้ ยิงประตูให้กับสโมสรซานโตสได้รวมกันถึง 127 ประตูด้วย!
ปี 1957 : ติดทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 16 ปี 9 เดือน
7 ก.ค. 1957 คือการเดบิวต์ในฐานะนักเตะทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ของ “เปเล่” ด้วยวัยเพียง 16 ปี 9 เดือน ถึงแม้ว่าในนัดนั้นในท้ายที่สุด ทีมชาติบราซิลจะพ่ายให้กับคู่อริตลอดกาลอย่าง อาร์เจนตินา ก็ตาม
แต่ถึงแม้ว่า...การเปิดตัวในนามทีมชาติอาจจะไม่สวยงามนัก แต่อีกเพียงไม่กี่เดือนถัดจากนั้น ประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล ก็ได้ถูกขีดเขียนด้วยเท้าอันทรงพลังของ “ราชาแห่งโลกลูกหนังผู้นี้” ในที่สุด
1958 - 1970 ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ แชมป์โลก 3 สมัย :
...
“เด็กหนุ่มจากบราซิล” กลายเป็นจุดโฟกัสของชาวโลกในทันที หลังปรากฏตัวในฟุตบอลโลกปี 1958 ด้วยวัยเพียง 17 ปี! อย่างก็ดีในขณะที่คนทั้งโลกกำลังถามไถ่กันว่า “ไอ้หนูคนนี้มันมาติดทีมชาติบราซิลได้อย่างไร?”
“Edson Arantes do Nascimento” ก็จัดการร่ายเวทมนต์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับฟุตบอลโลกทันที ด้วยการยิงถึง 6 ประตู แถมในจำนวนนี้เป็นการยิงในนัดชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพสวีเดนถึง 2 ประตู ก่อนพาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกครั้งแรกได้ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ อีกทั้งยังทำให้เขาคือนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกด้วยอายุเพียง 17 ปี 249 วัน
ส่วนฟุตบอลโลกครั้งต่อมาในปี 1962 ที่ประเทศชิลีเป็นเจ้าภาพนั้น แม้ทีมชาติบราซิลที่มีเปเล่ร่วมทัพมาด้วยจะได้แชมป์โลกสมัยที่ 2 ติตต่อกัน แต่สุดยอดกองหน้าผู้นี้ มีส่วนร่วมในทีมเพียงเล็กน้อยโดยยิงไปได้เพียง 2 ประตู “หลังตกเป็นเป้ารุมเตะอย่างไร้ปราณีจนได้รับบาดเจ็บหนัก” ตั้งแต่ในนัดที่ 2 ของรอบแบ่งกลุ่ม จนไม่ได้ลงเล่นอีกเลยตลอดทัวร์นาเมนต์ที่เหลือ
ส่วนในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพนั้น ถือ เป็นฟุตบอลโลกที่ไม่น่าจดจำสำหรับ “เปเล่” แม้แต่เล็กน้อย เพราะนอกจากจะถูกดับแสงจนมิดจากดาวรุ่งดวงใหม่นาม “ยูเซบิโอ” เจ้าเสือดำแห่งโมซัมบิกของทีมชาติโปรตุเกสแล้ว “เปเล่” ยังคงหนีไม่พ้นจากถูกไล่เตะจากกองหลังฝ่ายตรงข้ามจนได้รับบาดเจ็บหนักและทีมต้องตกรอบแบ่งกลุ่มไปอีกครั้ง
ปี 1970 การกลับมาของราชาลูกหนัง :
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ทำให้ชาวโลกได้รับรู้ได้ทันทีว่า “เปเล่” คือ พระเจ้าของชาวบราซิล เพราะทันทีที่ “Joao Saldanha” ผู้จัดการทีมชาติบราซิลมีท่าทีว่าจะไม่ใส่ชื่อ “เปเล่” ไปเล่นฟุตบอลโลก เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติทันที!
แม้ว่า “Joao Saldanha” ซึ่งพาทีมผ่านรอบคัดเลือกได้สำเร็จ จะพยายามอธิบายว่า สาเหตุที่เขาตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเพราะ “เปเล่” เริ่มอายุมาก (29ปี) เชื่องช้าลงและมีปัญหาเรื่องสายตา (สายตาสั้น) แต่ชาวบราซิลก็ไม่ฟังเสียง เพราะไม่มีทางที่ชายผู้นี้จะไม่ติดทีมชาติเพื่อไปล่าแชมป์ฟุตบอลโลกให้กับบราซิล
และนั่นก็เป็น...การตัดสินใจที่ถูกต้อง! เพราะในฟุตบอลโลกครั้งนี้ “เปเล่” ร่ายเวทมนต์ได้เหนือชั้นดุจเทวดาและสร้างซีนชวนประทับใจได้มากมายจนเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก และพาทีมแซมบ้า คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ได้เป็นชาติแรกของโลกในท้ายที่สุด
โดยตลอดการรับใช้ชาติ “เปเล่” ทำสถิติยิงประตูไปรวมกันทั้งสิ้น 77 ประตูจากการลงเล่น 92 นัด
ทำไม เปเล่ จึงไม่ได้ไปค้าแข้งในสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป :
สโมสรเงินถุงเงินถังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น รีล มาดริด , แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด , ยูเวนตุส หรือ อินเตอร์มิลาน พยายามอยากหนักในการล่าลายเซ็นของ “วีรบุรุษของบราซิล” หลังเจ้าตัวแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฟุตบอลโลก 1958 และ 1962 แต่ทั้งหมดนั้น “ไม่เกิดขึ้น” เพราะ “เปเล่” คือ “สมบัติอันล้ำค่าเฉพาะชาวบราซิลเท่านั้น”
ในปี 1958 แม้ “อินเตอร์ มิลาน” ยักษ์ใหญ่แห่งอิตาลีจะได้ลายเซ็นของเจ้าหนูเปเล่ไว้ในมือแล้ว แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิกในเวลาต่อมา หลังแฟนบอลซานโตส ได้ก่อการประท้วงต่อต้านการซื้อตัวครั้งนี้อย่างรุนแรง และเพื่อเป็นการรับประกันว่า “ตำนานนักเตะผู้นี้” จะเล่นให้ชาวบราซิลได้ชมเท่านั้น ในปี 1961 รัฐบาลบราซิล “จึงประกาศให้เปเล่เป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศอย่างเป็นทางการ” เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรในยุโรปสามารถดึงตัวชายผู้นี้ออกจากแผ่นดินบราซิลได้!
ปี 1969 สันติภาพที่มีชื่อว่า เปเล่ :
“คุณ” รู้หรือไม่? การทำสงครามอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลไนจีเรียและกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองไนจีเรียไปร่วม 2 ล้านคน ระหว่างปี 1967-1970 นั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏได้ "บรรลุข้อตกหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 48 ชั่วโมง" ในปี 1969 เพื่อขอเวลาดู “เปเล่” ในเสื้อสโมสรซานโตส ลงเตะกับ ทีมชาติไนจีเรีย! ซึ่งหลังจบเกมทั้งคู่เสมอกันไป 2 ประตูต่อ 2 และผู้ชมชาวไนจีเรียต่างร่วมใจกันส่งเสียงเชียร์ราชาลูกหนังโลกคนนี้ตลอดทั้งเกมเสียด้วย!
ปี 1975 เปเล่ บุกแผ่นดินอเมริกา :
หลังอายุมากขึ้น “เปเล่” ในวัย 35 ปี ได้รับข้อเสนอเงินก้อนโตที่ไม่อาจปฏิเสธจากสโมสรนิวยอร์ก คอสมอส เพื่อหวังใช้ความโด่งดังของเขาร่วมกับเหล่าอดีตนักเตะชื่อดังของโลกในวัยโรยรา “ปลุกกีฬาซ็อคเกอร์” ใ้ห้ฮิตบนแผ่นดินอเมริกา ซึ่งแน่นอน...ด้วยระดับฝีเท้าที่แตกต่างกันจนแทบมองไม่เห็นหลัง “เปเล่” ที่ลงเล่นโชว์ตัวแบบสบายๆ ก็จัดการกระหน่ำประตูไปได้รวมกันถึง 66 ประตู จากการลงเล่น 107 นัด ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการในปี 1977
ทั้งนี้ ตลอดการเล่นอาชีพ (ที่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการรวมนัดประชับมิตร) “เปเล่” ทำสถิติยิงประตูไปรวมกันทั้งสิ้น 1,283 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 1,363 นัด
เปเล่ กับวงการภาพยนตร์ :
“เตะแหลกแล้วแหกค่าย” หรือ Escape to Victory ที่ออกฉายในปี 1981 เป็นผลมาจากการที่เขาได้กลายเป็นเซเลบที่คนอเมริกันรู้จักอย่างกว้างขวาง รวมถึงเหล่าคนดังในฮอลีวูดยังยินดีที่พร้อมจะเสียเงินเข้าไปดูการแข่งขันซอคเกอร์มากมายด้วย โดยภาพยนต์เรื่องนี้ เปเล่ ได้แสดงร่วมกับ เหล่านักแสดงชื่อดัง อย่าง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน , ไมเคิล เคน และตำนานนักเตะของอังกฤษ “เซอร์บ็อบบี้ มัวร์” ด้วย
ปี 2000 เมื่อโลกตัดสินไม่ได้ว่า ใครคือนักเตะที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 :
"ฟีฟ่า" มอบรางวัล "FIFA Player of the Century award" ให้กับทั้ง “เปเล่” และ “ดิเอโก มาราโดนา” ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการยอมรับกลายๆว่า ชาวโลกไม่อาจตัดสินได้ว่า ระหว่างสุดยอดนักเตะทั้งสองคนนี้ ใครที่เป็น The Best of the Best มากกว่ากัน เนื่องจากรางวัลนี้เป็นมาจากการทำผลสำรวจทางอินเตอร์เน็ตและผู้เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลถึง 2 ครั้ง
และแม้จนถึงปัจจุบัน หลังจากทั้งคู่ได้ไปร่วมเล่นฟุตบอลบนสรวงสวรรค์ด้วยกันแล้ว แต่ “เรา” ก็ยังคงเชื่อมั่นว่า คำถามที่ว่า ระหว่าง “เปเล่ และ มาราโดนา” ใครคือสุดยอดมากกว่ากัน ก็น่าจะยังคงเป็นคำถามที่ชาวโลกมักหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อของการสนทนาอยู่ต่อไปไม่รู้จบ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟฟิก sathit chuephanngam
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :