ติดตามอีก 5 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2566 ต่อจาก "ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2566 (ตอนที่หนึ่ง)" เช่นเดียวกับในตอนที่หนึ่ง เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์อีก 5 เรื่องวันนี้ ไม่มีการจัดอันดับความสำคัญเพราะทุกเรื่องมีความสำคัญทัดเทียมกัน

(6) อีซาส่งยานสำรวจหาสิ่งมีชีวิตที่ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี

เดือนเมษายน พ.ศ.2566 องค์การอวกาศยุโรป อีซา (ESA) กำหนดแผนจะส่งยาน "จูส"(JUICE) ไปสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์น้ำแข็งสามดวงของดาวพฤหัสบดี เพื่อสำรวจหาร่องรอยหลักฐานของสิ่งมีชีวิต

จากการสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีมาก่อน พบว่า ดวงจันทร์สามดวงคือ เจนีมีค, กัลลิสโตและยูโรปา เป็นดวงจันทร์ปกคลุมด้วยน้ำแข็งและมีร่องรอยหลักฐานว่า มีน้ำอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งปกคลุมผิวดวงจันทร์ทั้งสามดวงเป็นปริมาณมาก

จากความรู้และประสบการณ์ของมนุษย์ว่า ที่ไหนมีน้ำ ที่นั่นก็มักจะมีสิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ อีซาจึงกำหนดแผนจะส่ง ยานจูส (JUICE : Jupiter Icy Moons Explorer) ออกเดินทางขึ้นจากโลก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 แล้วยานจูสก็จะเดินทางต่อโดยอาศัยแรงเหวี่ยงจากแรงดึงดูดของโลก ดวงจันทร์และดาวศุกร์ ถึงแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี โดยจะถึงและสำรวจดาวเคราะห์น้อย 223 โรซา (223 Rosa) เดือนตุลาคม พ.ศ. 2572

จาก 223 โรซา ยานจูสจะเดินทางต่อจนกระทั่งถึงดาวพฤหัสบดีเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2574 จากนั้นก็จะสำรวจศึกษาดวงจันทร์น้ำแข็งทั้งสามดวง พร้อมๆ กับการสำรวจดาวพฤหัสบดี โดยในช่วงสุดท้าย ยานจูสจะอยู่ในวิถีโคจรรอบเจนีมีค เพื่อสำรวจศึกษาเจนีมีคอย่างละเอียดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2577 จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2578 ขณะที่เชื้อเพลิงของยานจูสใกล้จะหมด จูสก็จะปฏิบัติภารกิจสุดท้ายคือ ศึกษาเจนีมีคละเอียดขึ้น จนกระทั่งตกลงสู่เจนีมีค

...

เครดิตภาพ : ESA
เครดิตภาพ : ESA

ยานจูสมีอุปกรณ์เครื่องมือวิทยาศาสตร์หลายชนิด เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกำเนิดของดาวพฤหัสบดี เพื่อศึกษาดวงจันทร์น้ำแข็งทั้งสามดวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจนีมีค ในส่วนของรายละเอียดเกี่ยวกับแผ่นน้ำแข็งปกคลุมพื้นผิวดวงจันทร์และน้ำภายใต้พื้นผิวน้ำแข็ง ที่คาดว่ามีมากถึงระดับเรียกเป็นมหาสมุทรใต้ผิวน้ำแข็ง เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ว่า โอกาสจะมีสิ่งมีชีวิตกำเนิดและดำรงอยู่ได้บนดวงจันทร์น้ำแข็งทั้งสามดวงของดาวพฤหัสบดีนั้นมีมากน้อยแค่ไหน?

อีซา เริ่มต้นดำเนินโครงการยานจูสสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์น้ำแข็งของดาวพฤหัสบดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555

(7) นาฬิกาวันสิ้นโลก ปี 2566

จับตาการปรับตั้งนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ครั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 ปัจจัยใหญ่ที่จับตากันคือ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นาฬิกาวันสิ้นโลก เริ่มแสดงเวลานับถอยหลังสู่ภัยพิบัติใหญ่ระดับวันสิ้นโลกคือ เที่ยงคืน เมื่อ 75 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2490) การปรับตั้งเวลาใหม่ที่ใกล้เที่ยงคืนมากที่สุดคือ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ที่เวลา 100 วินาทีถึงเที่ยงคืน

ปัจจัยแรกเริ่มของการปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก คือ การคุกคามจากภัยนิวเคลียร์ ต่อมามีการเพิ่ม การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยที่สอง ต่อมาอีกก็มีการเพิ่มอีกสองปัจจัยคือ วิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีใหม่ ประเภทสร้างความปั่นป่วน (disruption) แก่มนุษย์

การปรับตั้งเวลาใหม่ (เป็นเวลาใหม่จริงๆ หรือคงเวลาเดิม เป็นภารกิจของ คณะกรรมการบริหารของ The Bulletin Of The Atomic Scietists (จดหมายข่าวของนักวิทยาศาสตร์อะตอม) ซึ่งจะประชุมและมีมติปรับตั้งเวลาใหม่ในเดือนมกราคมของทุกปี

สำหรับปี พ.ศ. 2566 ปัจจัยด้านลบที่จะทำให้นาฬิกาวันสิ้นโลกถูกปรับเข้าใกล้เวลาหายนะใหญ่คือ เที่ยงคืนมากขึ้นก็จะเป็นปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ยังห่างไกลจากเป้าหมายสูงสุดคือ การป้องกันมิให้อุณหภูมิบรรยากาศของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก่อนยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม และปัญหาจากเทคโนโลยีใหม่ประเภทดิจิทัล

...

แต่ปัจจัยใหญ่ที่สุดคือ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อต่อไปอีกใน พ.ศ. 2566

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 ห้าผู้นำประเทศอาวุธนิวเคลียร์คือ จีน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย มีแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อป้องกันสงครามนิวเคลียร์และยุติการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ มีสาระสำคัญว่า "จะไม่มีประเทศผู้ชนะสงครามนิวเคลียร์ และสงครามนิวเคลียร์จะต้องไม่เกิดขึ้น"

แถลงการณ์ร่วมนี้ มีส่วนสำคัญช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของประชาคมโลกและเชื่อกันว่า มีส่วนทำให้นาฬิกาวันสิ้นโลกของปี พ.ศ. 2565 ไม่ถูกขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนมากขึ้น

แต่เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้เกิดขึ้นและยืดเยื้อต่อๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทดลองขีปนาวุธมีขีดความสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กได้ และคำสั่งของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน "ให้กองกำลังนิวเคลียร์อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" ก็ทำให้ความผ่อนคลายเมื่อต้นปี พ.ศ.2565 กลับมา "ตึงเครียด" ขึ้นอีกครั้งตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2565 และก็ต้องจับตาดูกันว่า นาฬิกาวันสิ้นโลกที่จะปรับตั้งเวลาใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2566 จะเป็นอย่างไร ?

(8) ทีมนาซากับผลการศึกษายูเอฟโอ

ทีมนาซาเพื่อการศึกษายูเอฟโอ ได้เริ่มต้นทำงานกันแล้วเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 จับตาดูผลการศึกษาที่นาซาคาดว่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายและเปิดเผยผลการศึกษาต่อสาธารณชนประมาณกลางปี พ.ศ. 2566

จากประกาศของนาซา ตั้งทีมงานเพื่อศึกษา "ปรากฏการณ์ในอากาศที่อธิบายไม่ได้" หรือ "Unidentified Aerial Phenomena: UAP" ที่สื่อโดยทั่วไปเรียกกันเป็นทีมงานศึกษายูเอฟโอ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ตามมาด้วยการประกาศรายชื่อทีมงานศึกษายูเอฟโอทั้งหมด 16 คน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 นาซา ได้รายงานว่า ทีมงานทั้งหมด ได้เริ่มต้นทำงานกันแล้วในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565 มีกำหนดเวลาการทำงานเก้าเดือน ด้วยงบประมาณไม่เกินหนึ่งแสนดอลลาร์

...

เครดิตภาพ : ESA/Hubble & NASA
เครดิตภาพ : ESA/Hubble & NASA

ทีมงานทั้งหมด 16 คน มี เดวิด สเปอร์เกล (David Spergel) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีมตามประกาศเมื่อเดือนมิถุนายน คณะทำงานคนอื่นๆ ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์, ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง, นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และอดีตมนุษย์อวกาศของนาซา

นาซา แถลงสาเหตุการตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาว่า ปรากฏการณ์ในอากาศที่อธิบายไม่ได้ มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยในอากาศ (air safety) นั่นคือ เป้าหมาย มิได้มุ่งเจาะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องของยูเอฟโอกับมนุษย์ต่างดาวเป็นหลัก

แต่นาซาก็กล่าวว่า เป้าหมายของโครงการก็เพื่อรวบรวมข้อมูลรายงานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในอากาศที่อธิบายไม่ได้ให้มากที่สุด (ยกเว้นรายงานที่ "ลับ" หรือ " classified") จากทั้งรายงานของทางการและเอกชน เพื่อการวางแผนสำหรับการศึกษาต่อไปอย่างให้เป็นระบบและให้คำตอบที่เปิดกว้างมากขึ้น

...

นาซา กล่าวว่า ผลการศึกษาของทีมงานพิเศษนี้ น่าจะแล้วเสร็จตามเป้าหมายประมาณกลางปี พ.ศ. 2566 และผลการศึกษาจะเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป

อย่างแน่นอน สำหรับคนทั่วไป ก็คาดได้ว่า จะรอรายงานผลการศึกษาของทีมงานพิเศษนี้ ในส่วนที่จะบอกอะไรได้ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับยูเอฟโอและมนุษย์ต่างดาว

(9) คณะทัวร์ดวงจันทร์เที่ยวแรก

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ยูซากุ มาเอะซาวะ (Yusaku maezawa) ประกาศรายชื่อบุคคล 8 คน ที่จะร่วมเดินทางไปดวงจันทร์กับเขา ในโครงการ "เดียร์มูน" (dearMoon) กับยานอวกาศสตาร์ชิป (starship) ของสเปซเอกซ์ (SpaceX) กำหนดการเดินทางในปี พ.ศ. 2566 ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงและไม่มีใครตัดหน้าก่อน ก็จะเป็นการเปิดทัวร์ครั้งแรกสู่ดวงจันทร์ มีนักน้องดัง ทอป หรือ ที.โอ.พี.(T.O.P.) แห่งเคป๊อปบอยแบนด์ "บิ๊กแบง" เป็นคนดังร่วมเดินทางไปด้วย

ยูซากุ มาเอะซาวา เป็นนักธุรกิจแฟชั่นชาวญี่ปุ่น ได้ทำสัญญากับบริษัท สเปซเอกซ์ ของอีลอน มัสก์ เมี่อ ปี พ.ศ. 2561 ที่จะนำคณะท่องเที่ยวรวม 9 คน ไปดวงจันทร์ โดยเขาจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด โดยทุกคนจะเป็นผู้ทำงานทางด้านศิลปะแขนงต่างๆ และประกาศเจตนารมณ์ของโครงการ "เดียร์มูน" ว่า เพื่อ "ศิลปะและสันติภาพ"

การเดินทางของคณะทัวร์จะใช้เวลาทั้งหมดประมาณหนึ่งสัปดาห์ เข้าใกล้ดวงจันทร์มากที่สุดที่ระดับ 200 กิโลเมตรจากพื้นผิวดวงจันทร์

ยูซากุ มาเอะซาวา ปัจจุบันอายุ 47 ปี มีสถานะเป็นโสด เขาเคยประกาศระหว่างการเตรียมการคัดเลือกผู้เข้าร่วมทัวร์ดวงจันทร์ว่า เขาตั้งใจจะคัดเลือกคนที่จะเป็น "คู่ชีวิต" คนใหม่ของเขา เพื่อร่วมเดินทางไปทัวร์ดวงจันทร์ด้วย แต่ล่าสุด เขาได้ประกาศว่า ล้มเลิกความคิดเรื่องนี้แล้วเพราะ "ซับซ้อนเกินไป"

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องลุ้นกันว่า ทัวร์เดียร์มูนจะเกิดขึ้นได้จริงๆ ในปี พ.ศ. 2566 หรือไม่ เพราะถึงขณะนี้ ยานอวกาศสตาร์ชิปของสเปซเอกซ์ที่จะนำคณะเดียร์มูนไปดวงจันทร์ ก็ยังไม่ได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ จาก FAA (Federal Aviation Administration) หรือสหพันธ์บริหารการบินสหรัฐฯ

(10) อาชญากรรมไซเบอร์

โควิด-19 ทำให้ผู้คนแทบทุกอาชีพรวมถึงนักเรียนนักศึกษา ต้องทำงานหรือศึกษาทางออนไลน์อยู่กับบ้าน ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่า อาชญากรรมคอมพิวเตอร์หรือ อาชญากรรมไซเบอร์ เพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก มาปี พ.ศ. 2566 ความเกรงกลัวโควิด-19 ที่ลดลงไปมาก ทำให้ผู้คนและนักเรียนนักศึกษา กลับเข้าทำงานที่สำนักงานและศึกษาที่สถาบันการศึกษาเช่นเดิม (ยกเว้นคนที่ "ติด" กับวิถีการทำงานใหม่ทางออนไลน์) ก็ต้องจับตาดูกันว่า สถานการณ์ของอาชญากรรมไซเบอร์ ในปี พ.ศ. 2566 จะเป็นอย่างไร?

จากปี พ.ศ. 2562 ถึงปี พ.ศ. 2564 ตามข้อมูลจากศูนย์การร้องเรียนอาชญากรรมอินเทอร์เน็ต (Internet Crime Complaints Center) ของสหรัฐอเมริกา ความเสียหายจากอาญากรรมไซเบอร์ในสหรัฐเพิ่มจาก 3,500 ล้านดอลลาร์ ในปี พ.ศ. 2562 เป็น 4,200 ล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2563 และเป็น 6,900 ล้านดอลลาร์ ในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์การทำงานทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี พ.ศ. 2563 และผลสืบเนื่องต่อมาปีใน พ.ศ. 256

สำหรับประเทศไทย สถิติจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 ระบุว่า ชาวไทยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เคยมีประสบการณ์ถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ระหว่างช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา โดย 2 ใน 5 คน หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ เกิดเป็นความเสียหายเฉลี่ยประมาณ 2,400 บาทต่อคน

และเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา มีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางออนไลน์มากถึงประมาณ 1 แสนคดี และมีความเสียหายที่เกี่ยวข้องประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อาญากรรมไซเบอร์จึงเป็นภัยร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและจำเป็นจะต้องมีมาตรการทั้งป้องกันและปราบปรามที่เข้มข้นขึ้น

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงสำหรับงานป้องกันปราบปราม สืบสวนและสอบสวนภัยจากอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็น่าสนใจที่จะต้องจับตาดูว่า เมื่อผู้คนและนักเรียนนักศึกษากลับเข้าทำงาน และศึกษาที่สำนักงานและที่สถาบันการศึกษา จะมีผลต่อการแพร่หลายลดลงหรือยังเพิ่มขึ้นต่อไปของอาชญากรรมไซเบอร์

แต่ก็มีคำเตือนอย่าคาดหวังมากว่า เมื่อคนทำงานและศึกษาทางออนไลน์น้อยลง จะทำให้อาชญากรรมไซเบอร์ลดลงไปด้วยอย่างมีนัย เพราะอาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นนานแล้ว ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแนวโน้มการใช้งานของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เพิ่มความหลากหลาย และขีดความสามารถ อีกทั้งความซับซ้อนจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ก็ทำให้การคาดการณ์ในอนาคตยากขึ้น