รายงานของ Constellis บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงชื่อดังของสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถิติการลักพาตัวชาวต่างชาติเพื่อเรียกค่าไถ่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ (2002) เพื่อนำไปใช้สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้มการลักพาตัว เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ และสร้างแผนการจัดการในภาวะวิกฤติอย่างครอบคลุมสำหรับองค์กรต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลพนักงานในอนาคต ซึ่งมีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า มีชาวต่างชาติถูกลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่รวมกันทั้งสิ้น 1,681 คน โดยภูมิภาคที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติมากที่สุดอันดับแรก คือ 1.แอฟริกา 657 คน (39%) 2.อเมริกา 532 คน (32%) 3.เอเชีย 264 คน (16%) 4.ตะวันออกกลาง 171 คน (10%) 5.ยุโรป 57คน (3%)
...
ส่วน 10 ประเทศที่มีสถิติการลักพาตัวมากที่สุด ประกอบด้วย 1.เม็กซิโก 264 คน (15.7%) 2.ลิเบีย 208 คน (12.4%) 3.แอฟริกาใต้ 184 คน (10.9%)
4.กัมพูชา 161 คน (9.6%) 5.สหรัฐฯ 111 คน (6.6%) 6.ซีเรีย 84 คน (5%)
7.ไนเจอร์ 63 คน (3.7%) 8.เฮติ 48 คน (2.9%) 9.ไนจีเรีย 43 คน (2.6%)
10.ฟิลิปปินส์ 43 คน (2.6%) **หมายเหตุ ส่วนอีก 472 คน หรือ 28% กระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ในโลก**
เหตุใดทวีปแอฟริกาจึงน่ากังวลสำหรับชาวต่างชาติ :
ทวีปแอฟริกา ยังคงเป็นอันตรายสำหรับชาวต่างชาติในแง่ของการถูกลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปตามรายงานของ Constellis โดย นักธุรกิจจากเอเชียใต้ คือเป้าหมายหลักลำดับต้นๆ ของกลุ่มอาชญากรที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่ามีจุดกำเนิดและการเชื่อมโยงในประเทศโมซัมบิก ขณะเดียวกันรายงานการลักพาตัวบรรดาผู้อพยพเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์ จากฝีมือกลุ่มอาชญากรลักลอบนำคนเข้าเมืองยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย มิหนำซ้ำในแต่ละครั้งยังมีเหยื่อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ ทุกที โดยมีรายงานว่า แก๊งอาชญากรเชื้อสายปากีสถานเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคดีที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ และคดีที่เกิดโดยมากมักเกิดขึ้นที่ บริเวณตอนเหนือของทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลิเบีย
ขณะเดียวกัน ล่าสุด ประเทศบูร์กินาฟาโซ ได้แซงหน้า ประเทศมาลี ในฐานะประเทศศูนย์กลางของการก่อความไม่สงบจากฝีมือกลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคไปแล้ว โดยเหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือกลุ่ม Jama'a Nusrat ul-Islam wa al-Muslimin' หรือ JNIM ที่นอกจากจะใช้กำลังที่เป็นภัยต่อความมั่นคงในภูมิภาคแล้ว ยังมีการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนรวมถึงการลักพาตัวด้วย และแม้เหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นคนท้องถิ่น แต่ชาวต่างชาติคือเป้าหมายสำคัญของ JNIM ด้วย
โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีรายงานยืนยันว่า มีชาวต่างชาติถูกกลุ่ม JNIM ลักพาตัวไปเรียกค่าไถ่แล้วอย่างน้อย 6 คน นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มด้วยว่า กลุ่ม JNIM กำลังเตรียมขยายการปฏิบัติการจากภูมิภาคตอนกลางและตอนเหนือของประเทศบูร์กินาฟาโซออกไปสู่รัฐทางชายฝั่งบริเวณแอฟริกาตะวันตกด้วย
...
ทวีปอเมริกา :
ความเปราะบางทางการเมืองในประเทศเฮติ ที่นำไปสู่ปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง คือต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการลักพาตัวชาวต่างชาติ ทั้งนี้ ตามรายงานของ Center for Analysis and Research in Human Rights ระบุว่า เกิดเหตุการณ์ลักพาตัวอย่างน้อย 225 ครั้ง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 หรือเพิ่มขึ้นถึง 58% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2021
อย่างไรก็ดี ประเทศเม็กซิโก ยังคงเป็นประเทศที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติเพื่อเรียกค่าไถ่ในระดับสูงอย่างน่าวิตก โดยเหยื่อส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้อพยพในอเมริกากลาง และโดยมากมักถูกก่อเหตุในช่วงระหว่างการเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยข้อมูลที่ถูกจัดทำขึ้นผ่านความร่วมมือระหว่างองค์กรในเม็กซิโก และองค์กรระหว่างประเทศ ระบุว่า มีผู้อพยพประมาณ 20,000 คนที่ถูกลักพาตัวในทุกๆ ปี (ในจำนวนนี้มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันรวมอยู่ด้วย) และมีการประเมินด้วยว่าการก่อเหตุในลักษณะนี้ทำเงินได้มากถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ให้กับกลุ่มอาชญากรรมที่มีความเชื่อมโยงถึงแก๊งค้ายาเสพติดในประเทศเม็กซิโก
เอเชีย :
สถิติการก่ออาชญากรรมและเหยื่อที่ถูกลักพาตัวในประเทศกัมพูชาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2020 โดยส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับแก๊งอาชญากรการพนันออนไลน์และการฉ้อโกงออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเหยื่อที่ถูกลักพาตัวไปส่วนใหญ่มักเป็นชาวจีนและพลเมืองของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค เช่น ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และปากีสถาน ที่เป็นลูกหนี้ของแก๊งอาชญากร หรือถูกหลอกให้เดินทางไปทำงานในต่างประเทศภายใต้คำหลอกลวงว่าจะได้รับค่าตอบแทนสูง
...
ตะวันออกกลาง :
เหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศอิรัก ซีเรีย เยเมน จากฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ คือสาเหตุหลักที่นำไปสู่ปัญหาการลักพาตัวชาวต่างชาติจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มชาวตะวันตกเป็นหลัก อย่างไรก็ดีแม้ตัวเลขการก่อเหตุ ณ ปัจจุบัน จะลดลงหลังการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ หากแต่ตามการประเมินของ Constellis ระบุว่า การลดระดับการปฏิบัติการลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีแนวโน้มสูงว่ากลุ่มก่อการร้ายต่างๆ อาจพยายามฟื้นฟูความเข้มแข็งของกลุ่มในเร็วๆ นี้
ยุโรป :
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนำไปสู่ปัญหาการลักพาตัวรวมถึงการควบคุมตัวเพื่อหวังใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม โดยเหยื่อมีทั้งพลเรือน นักการเมือง นักข่าว และนักเคลื่อนไหว นอกจากนี้ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งยังถูกจับกุมในข้อหาสายลับอีกด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...