พฤติกรรมอันคาดเดาได้ยาก และมักจะสร้างดรามาในแง่ลบต่อชื่อเสียงของตัวเองรวมถึงแบรนด์พันธมิตร กำลังทำให้เวทมนตร์อันเร้าร้อนที่สร้างแรงปะทุให้กับวงการแฟชั่นเริ่มเสื่อมถอยลง และทำให้บรรดาพันธมิตร เริ่มบ่ายหน้าหนีเพราะไม่อยากเอาชื่อเสียงของแบรนด์ไปเสี่ยง กับ "ความไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้"

ล่าสุด แฟชั่นไอคอนแห่งยุค "คานเย เวสต์" (Kanye West) หรือ เย (Ye) ได้สูญเสียพันธมิตรทางธุรกิจสำคัญลงอีกหนึ่งแบรนด์ หลัง Kering บริษัทแม่ของ แบรนด์หรูไฮเอนด์ Balenciaga ได้ประกาศสิ้นสุดความสัมพันธ์ กับ “Ye” ลงอย่างเป็นทางการ หลังแสดงพฤติกรรมสวมเสื้อที่ปรากฏข้อความ “WHITE LIVES MATTER” รวมทั้งยังมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะที่แสดงออกถึงการต่อต้านชาวยิว จนนำไปสู่เสียงวิพากวิจารณ์ในสังคมอเมริกันอย่างสูง

การแสดงทัศนะต่อสังคมในแบบที่ "คานเย เวสต์" เรียกว่า “ไม่ควรมีใครอยู่ในจุดที่มีใครมาสั่งได้ว่า เราจ่ายเงินให้คุณแล้วจงปิดปากซะ” ไม่ได้ทำเพียงแบรนด์อย่าง Balenciaga จำเป็นต้องตีจาก “ราชันย์แห่งสตรีทแฟชั่น” เท่านั้น วันนี้ "เรา" ลองไปทบทวนการสูญเสียความสัมพันธ์อันดีกับเหล่าแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอื่นๆ ของ "คานเย เวสต์" กัน

...

Balenciaga (2021-2022):

“Balenciaga ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ หรือ แผนใดๆ สำหรับโครงการในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับศิลปินคนนี้ (คานเย เวสต์) อีกต่อไปแล้ว"

คำตอบที่ชัดเจนจาก Kering ที่ถูกส่งตรงมายัง สื่อแฟชั่นชื่อดังระดับโลก Women’s Wear Daily หลังปล่อยให้เกิด “ความเงียบงัน” ท่ามกลางดรามาของ Ye มาได้ระยะหนึ่ง นอกจากนี้ เว็ปไซต์ Balenciaga ได้ทยอยลบโพสต์อะไรก็ตามที่กล่าวถึง คานเย เวสต์ ออกทั้งหมดแล้วด้วย

ทั้งนี้ พันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง Balenciaga และ "Ye" เกิดขึ้นผ่านความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง "คานเย เวสต์" และ “Demma Gvasalia” ดีไซเนอร์ชื่อดังซึ่งทำงานเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ให้กับ Balenciaga จนกระทั่งได้มีการประกาศว่าจะมีการทำงานร่วมกันภายใต้แบรนด์ Yeezy Gap Engineered by Balenciaga เมื่อปี 2021

Gap : (2020-2022)

ว่ากันว่า...สัญญาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่าง Ye และ Gap มีอายุนานถึง 10 ปี หากแต่ในความเป็นจริงทั้งสองฝ่ายได้ประกาศแยกทางกันหลังผ่านไปไม่ถึง 2 ปี เท่านั้น! และภายใน 2 ปีที่ว่านี้ ยังเต็มไปด้วยความ “ดรามา” มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การที่ คานเย เวสต์ ยืนยันว่าจะต้องใช้ถุงขยะใส่เสื้อผ้าเป็นที่จุดแสดงสินค้าคอลเลกชัน Yeezy X Gap ภายในสโตร์ของ Gap จนสร้างความโกลาหลให้กับทั้งลูกค้าและพนักงานในการต้องรื้อค้นหาไซส์เสื้อผ้าที่อยู่ในถุงขยะ รวมไปจนกระทั่งถึงกล่าวหาว่า Gap ละเมิดข้อตกลงต่อสาธารณชนอย่างรุนแรง

...

Nike (2007-2013) :

ก่อนจะร่วมงานกับ Adidas “คานเย เวสต์” เคยร่วมงานกับแบรนด์คู่ปรับอย่าง Nike มาแล้ว โดยมีคอลเลกชัน “Air Yeezy II” เป็นผลงานอันสุดโดดเด่นและปัจจุบันมันคือ หนึ่งในคอลเลกชันที่หายากและมีราคาแพงที่สุดในโลกสนิกเกอร์

อย่างไรก็ดีทั้งคู่ได้ประกาศแยกทางกัน แถม “Ye” ยังโผไปหาอริทางธุรกิจสำคัญของ Nike อย่าง Adidas ทันที ภายใต้ข้อกล่าวหาต่อสาธารณะชนที่ว่า “Nike ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับผม เพราะผมไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ” ส่วนเหตุผลที่ไปเซ็นสัญญากับ Adidas ก็เพราะจะได้ค่าลิขสิทธิ์เอาเงินไปเลี้ยงครอบครัว!

Adidas (2013-ปัจจุบัน) :

นี่คือหนึ่งในการทำงานร่วมกันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของโลกแฟชั่น ทั้งคู่ประกาศว่าจะทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2013 ก่อนที่จะมีการเปิดตัวคอลเลกชัน Yeezy Boost 750 ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2015

แต่ก็เป็นเช่นเดิม การทำงานร่วมกันอย่างยาวนานระหว่าง Adidas และ “คานเย เวสต์” ไม่ได้เป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะ “King of Culture” ผู้นี้ก็มักจะวิพากวิจารณ์สปอต์แวร์สัญชาติเยอรมันอยู่บ่อยครั้ง ไม่นับรวมพฤติกรรมส่วนตัวที่มักคอยสร้างดรามาจากการวิพากวิจารณ์สังคมรวมถึงการ “เปิดศึก” กับบรรดา “คู่อริ” ในวงการบันเทิงอยู่เนืองๆ ในแบบที่เรียกว่า “ควบคุมไม่ได้” อีกด้วย

...

ที่ผ่านมาแม้ Adidas จะพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่มีมูลค่าธุรกิจมหาศาลนี้เอาไว้ให้ยาวนานที่สุด หากแต่ การแสดงทัศนะที่แสดงออกถึงการต่อต้านชาวยิวครั้งล่าสุดของ Ye นั้น ทำให้ Adidas ต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก นั่นเป็นเพราะ กลุ่ม Anti-Defamation League หรือ ADL องค์กรเพื่อสิทธิทมนุษย์ชนชื่อดัง ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารระดับสูง ของ Adidas เพื่อกดดันให้มีการยกเลิกสัญญากับ “คานเย เวสต์” และไม่เพียงแบรนด์แฟชันเท่านั้น กลุ่ม Anti-Defamation League ยังได้เรียกร้องให้ Apple และ Spotify “แบน” เพลง ของ Ye ทั้งหมดในแพลตฟอร์ม รวมถึงกลุ่มธุรกิจทั้งหมดยังไม่ควรให้การสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ตของแรปเปอร์ชื่อดังผู้นี้ด้วย

โดย ADL ให้เหตุผลว่า “Ye” ไม่ใช่บุคคลธรรมดาแต่เป็น “ไอคอนทางวัฒนธรรม” ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมอย่างสูง ฉะนั้น การออกมาแสดงทัศนะสร้างความเกลียดชัง “ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่สมควรถูกปล่อยผ่าน” เพราะการพูดเพื่อสร้างความเกลียดชังไม่ควรดำรงอยู่ในสังคมต่อไป ถึงแม้ว่า ผู้ที่พูดจะอ้างว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็ตาม

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง