ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย เข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง หลังล่าสุดกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ที่มี "ซาอุดีอาระเบียเป็นแกนนำ" ได้ประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้เป็นต้นไป ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำเนียบขาวพยายามสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับริยาด ในฐานะพี่ใหญ่ของกลุ่มโอเปกหลายต่อหลายครั้ง ให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันให้มากขึ้น เพื่อหวังบีบให้รัสเซีย ซึ่งมีรายได้หลักจากการค้าขายพลังงาน “สิ้นเนื้อประดาตัว” กับสงครามยูเครนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

"เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

...

อะไรคือ “เหตุผล” ของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย และ “ความขุ่นเคือง” ของฝ่ายสหรัฐฯต่อการตัดสินใจดังกล่าว วันนี้ “เรา” ไปวิเคราะห์กันทีละประเด็น

เหตุผลของซาอุดีอาระเบีย :

อับดุลลาซิส บิน ซัลมาน (Abdulaziz Bin Salman) รัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ให้เหตุผลถึงการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มโอเปก นับตั้งแต่ปี 2020 ว่า เพื่อเป็นการตอบสนองต่อภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลก รวมถึงกระตุ้นการฟื้นตัวของราคาน้ำมันเพื่อเตรียมรับมือกับอุปสงค์ที่ลดลง อันเป็นผลพวงมาจากพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ พร้อมกับยืนยันว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นฉันทามติของประเทศสมาชิกด้วย

ความขุ่นเคืองของสหรัฐฯ :

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินความพยายาม “จำกัดราคาขายน้ำมัน” ของรัสเซีย เพื่อหวังบีบคั้นให้เครมลินต้องจ่ายต้นทุนสงครามยูเครนให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้การตัดสินใจ “ลดกำลังการผลิต” จึงเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ "รัสเซีย" หลุดรอดจากบ่วงการคว่ำบาตร และสามารถขายน้ำมันได้ในราคาที่สูงขึ้น ทำให้การตัดสินใจดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับ การเลือกเข้าข้างฝ่ายรัสเซีย แทนที่จะเป็น "สหรัฐฯ"

อีกทั้งการวางเงื่อนกำหนดเวลาเอาไว้ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยุโรปและสหรัฐฯ เข้าสู่ฤดูหนาว และจำเป็นต้องมีการใช้ "พลังงาน" (น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ในปริมาณที่สูงกว่าปกติ เพื่อผลิตไฟฟ้าสร้างความอบอุ่นในครัวเรือน ย่อมเท่ากับเป็นการสร้างภาระในแง่ “ต้นทุน” ให้กับบรรดาชาติตะวันตกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และประเด็นนี้จะยิ่งเป็นการซ้ำเติม “ปัญหาเงินเฟ้อ” ที่ยังพุ่งสูงขึ้นให้หนักหน่วงมากยิ่งขึ้นต่อไปด้วย

นอกจากนี้ “เงื่อนเวลา” สำหรับการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว ยังทำให้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เคลือบแคลงใจในเจตนาได้อีกด้วยว่า “ซาอุดีอาระเบีย” อาจมุ่งเป้าไปที่การเมืองภายในของสหรัฐฯ เนื่องจากให้ “บังเอิญ” เสียเหลือเกินว่า ช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับ “การเลือกตั้งกลางเทอม” (8 พ.ย.) ที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอยอันเกิดจากสารพัดปัญหาที่กำลังรุมเร้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่อง “เงินเฟ้อ” ที่กำลังต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อเรียกคะแนนนิยมกลับคืนมา

...

การตอบโต้ของสหรัฐฯ :

“ราคาน้ำมันยังสูงเกินไป และเราจำเป็นต้องทำงานต่อเพื่อกดราคาให้ลดลง” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าว

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ ระบาย "น้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์" (Strategic Petroleum Reserve) หรือ SPR ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังเข้าแทรกแซงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากพิษสงครามยูเครน เป็นผลให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลงเป็นเวลาเกือบ 3 เดือนติดต่อกันแล้ว

ด้วยเหตุนี้เมื่อ “โอเปกพลัส” ประกาศลดกำลังการผลิตลง ทำเนียบขาวจึงประกาศว่า พร้อมขยายระยะเวลาสำหรับการระบาย SPR เพื่อสร้างความสมดุลในตลาดน้ำมันโลกต่อไป โดยจะเริ่มซื้อน้ำมันดิบกลับคืนคลัง SPR เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 67-72 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์มากที่สุดในโลก โดยมีปริมาณสูงถึง 400 ล้านบาร์เรล!

ขณะเดียวกัน ปีกสายเหยี่ยวในสภาคองเกรส ต่างดาหน้าออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้อย่างเดือดดาล พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดขาดการสนับสนุนทางด้านความมั่นคงทั้งหมด รวมไปจนกระทั่งถึง "การขายอาวุธ" ให้กับฝ่ายริยาด

...

นอกจากนี้ยังได้เรียกร้องให้มีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการไม่มีเครือข่ายผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน (No Oil Producing and Exporting Cartels ct) หรือ NOPEC ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำไปสู่การถอดถอนการปกป้องกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือ “โอเปก” ต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ และเป็นผลให้สามารถฟ้องร้อง โอเปก หรือแม้กระทั่งชาติสมาชิกโอเปกพลัส ในกรณีที่มีการจำกัดจำนวนโควตาการผลิต หรือระงับการส่งออก เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในตลาดพุ่งสูงขึ้น เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของซาอุดีอาระเบียและกลุ่มโอเปกพลัสในครั้งนี้ด้วย

จะเกิดอะไรขึ้นจากความขัดแย้ง :

นักวิเคราะห์ตะวันตก คาดว่า ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามลงระหว่างสหรัฐฯ และ ซาอุดีอาระเบีย อาจทำให้ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความสุ่มเสี่ยงอันเป็นผลมาจากสหรัฐฯ อาจใส่ใจให้ความดูแลลดน้อยลง นอกจากนี้ในความเป็นจริงแล้วการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันอาจไม่สูงถึงวันละ 2 ล้านบาร์เรล เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศสมาชิกโอเปกที่ขาดเพดานการผลิต ในขณะที่อิรักได้แสดงท่าทีว่าพร้อมจะผลิตเกินกว่าโควตาที่ได้รับด้วย

...

อย่างไรก็ดีในทางตรงกันข้าม นักวิเคราะห์จากจีนมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นการตอกย้ำถึงเจตนารมณ์ของ "เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน" มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการนำพาซาอุดีอาระเบียไปสู่ยุคใหม่ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นอิสระจากสหรัฐฯ มากขึ้นบนเวทีโลก หลังจากก่อนหน้านี้ได้แสดงความสนใจว่าต้องการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่มีรัสเซียและจีนเป็นแกนนำ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :