ภายหลังจากได้ทดสอบแล้วว่าการขึ้นบัญชีดำห้ามการค้าขาย เพื่อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ Entity List สามารถเล่นงานบริษัทชั้นแนวหน้าของจีนที่กำลังก้าวพรวดๆ ขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของสหรัฐฯ เรื่อง "เทคโนโลยี 5G" อย่าง “หัวเว่ย” (HUAWEI) จนกลายเป็น “มังกรปีกหัก” ได้สำเร็จ ล่าสุด ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เริ่มต้นการ “รุกฆาต” เพื่อหวังถดถอยศักยภาพในการแข่งขันทางเทคโนโลยีของจีนลง ในแบบชนิดที่นักวิเคราะห์ตะวันตกเรียกว่า “หวังให้จีนกลับคืนสู่ยุคหินทางด้านเทคโนโลยี” เลยทีเดียว อะไรคือการ “รุกฆาต” ของสหรัฐฯ วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปวิเคราะห์กันทีละประเด็น

การยกระดับมาตรการสกัดกั้นทางเทคโนโลยีจีน :

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศกฎเกณฑ์ใหม่ที่ระบุว่า บริษัทของสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทต่างชาติที่ใช้เครื่องจักรของสหรัฐฯ ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จะต้องยื่นขอใบอนุญาต หากต้องการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์การประมวลผลขั้นสูง หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้กับจีน

...

ซึ่งเท่ากับว่าคำสั่งดังกล่าวจะนำไปสู่การจำกัดการขายเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ สำหรับนำไปใช้กับเทคโนโลยี AI, คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ รวมไปจนกระทั่งถึงเครื่องมือผลิตชิปของสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทของจีน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต (หากแต่ในความเป็นจริงคือ มีข้อจำกัดมากมาย และเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะได้รับอนุญาต) นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ยังห้ามหน่วยงานราชการ และพลเมืองที่ถือสัญชาติอเมริกัน เข้าทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตชิปของจีน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะ (ซึ่งก็เป็นเรื่องยากมากอีกเช่นกันที่จะได้รับอนุญาต)

ผลกระทบจากมาตรการสกัดกั้นทางเทคโนโลยี :

ผลกระทบต่อจีน :

เนื่องจากเซมิคอนดักเตอร์เกือบทุกชิ้นในโลกได้รับการออกแบบเพื่อให้ใช้กับซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ อีกทั้งโรงงานที่ผลิตชิปส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เครื่องจักรของสหรัฐฯ ด้วย มันจึงทำให้มาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อจีนโดยตรงอย่างชนิดไม่มีทางหลีกเลี่ยง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีของ “หัวเว่ย” ที่สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์เครือข่ายลงทันที หลังต้องเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ และถึงแม้ในปัจจุบัน “หัวเว่ย” อาจยังคงสามารถขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้ต่อไป หากแต่ผลิตภัณฑ์ในยุคหลังถูกแบน ก็ไม่ได้มีความก้าวล้ำเช่นในยุครุ่งเรืองอีกเลย

นอกจากนี้ มาตรการที่ห้ามพลเมืองสัญชาติสหรัฐฯ ทำงานให้กับบริษัทผู้ผลิตชิปของจีน ยังน่าจะสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ประกอบการของจีนอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันมีพนักงานทั้งชาวจีนและไต้หวันที่ถือหนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก ทำงานอยู่ในส่วนที่เป็นฝ่ายขายและฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิคในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ของจีน

ขณะเดียวกัน อีกหนึ่งประเด็นที่จะสร้างผลกระทบต่อความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของจีนจากมาตรการดังกล่าว คือ การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI และ เทคโนโลยี High Performance Computing หรือ HPC ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพิงชิปประมวลที่มีประสิทธิภาพสูงทั้งสิ้น ซึ่งประเด็นนี้ไม่เพียงแต่กระทบในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังอาจตัดตอนความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาวุธของกองทัพจีนอีกด้วย

ผลกระทบต่อสหรัฐฯ :

ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของจีนคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของปริมาณความต้องการทั่วโลก ด้วยเหตุนี้เหล่าซัพพลายเออร์ โดยเฉพาะที่เป็นสัญชาติอเมริกันย่อมต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น Applied Meterials หรือ AMAT ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตชิปของสหรัฐฯ ครองยอดขายมากกว่า 33% ในประเทศจีนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต่างจากอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่คือ Lam Research ที่ครองยอดขายมากกว่า 31% และหนึ่งในจำนวนนั้น คือ บริษัทแยงซีเมมโมรี เทคโนโลยี (Yangtze Memory Technologies Corp) หรือ YMTC บริษัทผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งสั่งซื้อเครื่องจักรจาก Lam Research ในสัดส่วนที่สูงถึง 6-7% รวมอยู่ด้วย ส่วน Intel ผู้ผลิตโปรเซสเซอร์ระดับไฮเอนด์ของสหรัฐฯ เองก็มีสัดส่วนยอดขายในตลาดซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีนมากถึง 10% เช่นกัน

...

การตอบโต้ของจีน :

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า ความพยายามดังกล่าวของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์ที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าวของสหรัฐฯ มีใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในประเทศจีน ด้วยเหตุนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ปักกิ่งอาจแสร้งทำเป็นเพิกเฉยต่อสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อการเปิดทางไปสู่การใช้กระบวนการ Reverse Engineering ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตท้องถิ่น เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง วางเป้าหมายเอาไว้ว่า “จีนจะต้องเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของโลก ภายในปี 2030”

การตอบโต้ของสหรัฐฯ :

การ “รุกฆาต” ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้มีขึ้นหลังสหรัฐฯ มีการประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่า CHIPS and Science Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะนำไปสู่แพ็กเกจการสนับสนุนมูลค่ามากกว่า 52,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและส่งเสริมให้บริษัทในสหรัฐฯ หันมาผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศของตัวเอง รวมถึงยังมีข้อกำหนดด้วยว่า บริษัทใดๆ ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้จะต้องไม่ไปลงทุนเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์กับจีน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อหวังแยกส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คืนจากจีน (บริษัท YMTC) เกาหลีใต้ (บริษัทซัมซุง) และไต้หวัน (บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC) หลังสหรัฐฯ สูญเสียอำนาจการควบคุมและกลายเป็นผู้ล้าหลังในตลาดนี้มานานร่วม 15 ปีเข้าให้แล้ว

...

เพราะอะไรสหรัฐฯ จึงต้องแข็งกร้าวกับจีน :

นักวิเคราะห์ตะวันตก มองว่า การแสดงท่าทีที่คลุมเครือต่อสงครามยูเครน และการมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางคุกคามต่อไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆ หรือการยึดมั่นต่อนโยบาย Covid-Zero ไม่เลิกรา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อบรรยากาศการลงทุนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมไปจนกระทั่งถึงการแสดงความกระตือรือร้นในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องยกระดับการใช้ “ไม้แข็ง” เพื่อกดดันฝ่ายจีนให้มากขึ้นเรื่อยๆ

หากแต่ในทางตรงกันข้าม นักวิเคราะห์จากฝ่ายจีน มองการกดดันจากวอชิงตันในครั้งนี้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อสิ่งที่สหรัฐฯ มักเป็นฝ่ายเที่ยวไปกดดันให้ประเทศต่างๆ เปิดการค้าเสรี และการกระทำดังกล่าวยังจะเป็นการขยายช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้มากขึ้นเรื่อยๆ และอาจถึงขั้นที่ไม่สามารถหวนคืนกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกเลย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :