“ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามต่อบูรณภาพแห่งดินแดนและประเทศ เพื่อเป็นการปกป้องรัสเซียและพลเมืองของเรา เราจะใช้ระบบอาวุธทั้งหมดที่เรามีอย่างแน่นอน” ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวสุนทรพจน์อย่างแข็งกร้าว ในระหว่างการประกาศผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครน อันประกอบไปด้วย ซาปอริชเชีย, เคอร์ซอน, โดเนตสก์ และลูฮานสก์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน
ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน

โดยทันทีหลังการประกาศดังกล่าว บรรดาชาติตะวันตกตีความทันทีว่า ผู้นำรัสเซียกำลังข่มขู่ว่าอาจจะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์กับยูเครนและชาติตะวันตก (อีกครั้ง) หากคิดจะมีการส่งกำลังทหารเข้ามายึดดินแดนทั้ง 4 แคว้นคืน เพียงแต่ “อาวุธทั้งหมดที่เรามี” ที่ประธานาธิบดีปูตินกล่าวถึงนั้น มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะหมายถึง “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” หรือ Tactical Nuclear Weapons มากกว่าจะหมายถึง “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์” หรือ Strategic Nuclear Weapons

...

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี VS อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ :

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี :

หัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก ที่สามารถถูกลำเลียงไปใช้ในสนามรบและโจมตีเป้าหมายในพื้นที่จำกัด โดยไม่ทำให้เกิดการกระจายของกัมมันตภาพรังสีในวงกว้าง โดยขนาดเล็กที่สุดมีขนาดไม่เกิน 1 กิโลตัน และใหญ่ที่สุดไม่เกิน 100 กิโลตัน

สำหรับวิธีการใช้งานนั้น มันจะถูกติดตั้งในขีปนาวุธร่อน หรือกระสุนปืนใหญ่ และสามารถยิงได้จากทั้งเครื่องบินและเรือรบ โดยหากถูกยิงจากเรือรบ หรือเรือดำน้ำ ด้วยขีปนาวุธร่อน Kalibr Missile จะมีพิสัยทำการประมาณ 1,500-2,500 กิโลเมตร แต่หากยิงจากระบบปล่อยขีปนาวุธเคลื่อนที่ภาคพื้นดิน ด้วยขีปนาวุธ Iskander พิสัยทำการจะอยู่ที่ประมาณ 400-500 กิโลเมตร โดยหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ รายงานว่า รัสเซียน่าจะมีอาวุธชนิดนี้ไว้ในครอบครองประมาณ 2,000 ลูก

และแม้ในเชิงของการทหาร “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” จะถูกเรียกว่า เป็นอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างต่ำ หรือ Low-Yield แต่ในความเป็นจริงอำนาจการทำลายล้างของหัวรบนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีจากเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันนั้นมีอำนาจการทำลายล้างมากกว่าอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมา และนางาซากิ (ขนาด 15 และ 21 กิโลตัน ตามลำดับ) ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 100,000 ราย ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอีกหลายแสนรายเสียชีวิตในเวลาต่อมาอย่างทุกข์ทรมานจากฤทธิ์ของกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นผลให้ญี่ปุ่นต้องเป็นฝ่ายยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์ :

ถูกออกแบบมาเพื่อการทำลายล้างอย่างแท้จริง โดยมีอำนาจการทำลายล้างมากกว่า 1,000 กิโลตัน และยังมีพิสัยทำการไกลในระดับที่สามารถยิงข้ามทวีปได้อีกด้วย โดยจากข้อมูลล่าสุดของ Federation of American Scientists ระบุว่า ณ ปัจจุบัน (ปี 2022) รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์ชนิดนี้ในคลังแสง และพร้อมใช้งานทางยุทธศาสตร์ รวม 1,588 ลูก ส่วนสหรัฐอเมริกามี 1,644 ลูก

...

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี กับสงครามยูเครน :

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารส่วนใหญ่มองว่า “อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี” เป็นอาวุธที่มุ่งเป้าไปในเชิงทำลายขวัญกำลังใจและข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม และมันมักจะถูกเลือกนำมาใช้ “โจมตีเป้าหมายที่มีความสำคัญมากๆ” เพื่อหวังใช้เป็นกลยุทธ์สำหรับการเปลี่ยนทิศทาง หรือสร้างความได้เปรียบในสงคราม

ขณะที่แนวคิดหลักสำหรับอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี ในมุมมองของนักยุทธศาสตร์ฝ่ายรัสเซียนั้นมองว่า หากมีการนำมาใช้ในสนามรบจะทำให้ผู้บังคับบัญชาทางการทหารมีทางเลือกในการโจมตีที่เด็ดขาด และรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น มิหนำซ้ำยังเป็นการป้องกันความพ่ายแพ้ และทำให้ไม่จำเป็นต้องมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์มาใช้ ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์แบบเดียวกันมาใช้ตอบโต้ในท้ายที่สุดด้วย

ส่วนนักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกส่วนใหญ่มองว่า เป็นไปได้ยากมากที่หากมีการนำอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีมาใช้ในสนามรบแล้วจะสามารถจำกัดวงเป้าหมายและความสูญเสีย รวมถึงทำให้สงครามยุติลงได้หลังจากนั้น

โดยการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ของ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ซึ่งเริ่มต้นด้วยการนำอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีมาใช้นั้น ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดคือ ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างขยายการใช้อาวุธดังกล่าวตอบโต้กันไปมาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 90 ล้านศพ

ขณะที่ นักวิเคราะห์ในยุโรป เชื่อว่า การใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีแม้เพียงครั้งเดียวบนผืนแผ่นดินยุโรป นอกจากจะสามารถคร่าชีวิตผู้คนหลายแสนราย รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากแล้ว กัมมันตภาพรังสีจะแพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างด้วย เนื่องจากทวีปยุโรปมีอาณาเขตติดต่อกัน และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด การแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีอาจลอยไปไกลถึงทวีปเอเชียอีกด้วย.

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟฟิก : Varanya Phae-araya

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :