“แซม แบงก์แมน ฟรายด์” (Sam Bankman Fried) หนุ่มวัย 30 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาด้านฟิสิกส์ จาก สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts of Technology) หรือ MIT ก่อนจะตัดสินใจกระโดดเข้าสู่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในช่วงปลายปี 2017 หลังมองเห็นโอกาสที่จะนำไปสู่ความร่ำรวย และต่อมาในปี 2019 เขาได้ตัดสินใจสร้างหนึ่งในกระดานเทรดอนุพันธ์คริปโตเคอร์เรนซีที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมมากที่สุด ที่มีชื่อว่า FTX จนกระทั่งได้กลายเป็นเจ้าของความมั่งคั่งมูลค่า 16,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการประเมินของ “ฟอร์บส์” (Forbes)

“แซม แบงก์แมน ฟรายด์” (Sam Bankman Fried) มหาเศรษฐีคริปโตฯ
“แซม แบงก์แมน ฟรายด์” (Sam Bankman Fried) มหาเศรษฐีคริปโตฯ

และแม้ปัจจุบัน “ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล” จะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวอันหนาวเหน็บ และหนำซ้ำยังดูราวกับว่าพายุฤดูหนาวนี้จะยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง การล้มแบบโดมิโนของแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินคริปโตฯยักษ์ใหญ่อย่าง Arrow Capital, Celsius Network และ Voyager Digital ซึ่งทั้ง Celsius Network และ Voyager Digital ที่เข้าสู่ภาวะล้มละลายนั้น มี กองทุน Alameda Research ของ แซม แบงก์แมน ฟรายด์ เป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่เสียด้วย! หรือแม้กระทั่งกรณี Coinbase คู่แข่งสำคัญของ FTX ก็ยังได้รับ "แรงกระแทกเต็มๆ" จากพายุฤดูหนาวระลอกนี้ จนมูลค่าหุ้นร่วงลงมากกว่า 70% แถมต้องเลิกจ้างพนักงานลงถึง 1 ใน 5 และแน่นอน...บิตคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก สูญเสียมูลค่าไปมากกว่าครึ่งในปีนี้แล้ว

...

หากแต่สิ่งที่ให้นักลงทุนเกิดความประหลาดใจ คือ....เหตุใดนอกจาก “แซม แบงก์แมน ฟรายด์” จะสามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร้ริ้วรอยแล้ว เขายังคงสามารถให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมคริปโตฯ ได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปอีกด้วย อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ “ชายผู้นี้ยังคงอบอุ่น” ท่ามกลางพายุฤดูหนาวของอุตสาหกรรมคริปโตฯได้ วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปสำรวจกันทีละประเด็น

การวางกลยุทธ์ที่เหมาะสม :

“ปีที่ผ่านมาเราขยายธุรกิจตามแผนการที่วางเอาไว้ ประกอบกับแพลตฟอร์มของเราไม่ได้มีนักลงทุนรายย่อยมากนัก ซึ่งนักลงทุนเหล่านั้นเป็นผู้ที่อ่อนไหวต่อตลาดได้ง่าย ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถชดเชยความสูญเสียจากตลาดคริปโตฯ ในช่วงขาลงได้ โดยปริมาณการซื้อขายภายใน FTX ส่วนใหญ่มาจากนักลงทุนที่มีปริมาณการซื้อขายต่อวันอย่างน้อย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐด้วย โดยคนกลุ่มนี้นอกจากนี้จะมีทั้งส่วนร่วมและมีปริมาณการซื้อขายที่สูงแล้ว ยังเป็นกลุ่มที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมีตั้งแต่บริษัทขนาดเล็กไปจนถึงสำนักงานธุรกิจครอบครัว (Family office) หรือแม้กระทั่งนักลงทุนรายวัน ซึ่งจากข้อมูลที่มีพบว่าคนกลุ่มนี้นอกจากมีความอ่อนไหวต่อตลาดน้อยแล้ว ยังสามารถบริหารการถือครองทรัพย์สินได้ดี ซึ่งเหมาะสมกับตลาดหมีอันซบเซาของคริปโตฯ ในช่วงนี้อย่างยิ่ง” แซม แบงก์แมน ฟรายด์ กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญของ FTX

ปริมาณการจ้างงานที่เหมาะสม :

การเลือกวิธีคงปริมาณการจ้างงานที่เหมาะสม คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ โดย “แซม แบงก์แมน ฟรายด์” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า...การว่าจ้างพนักงานในจำนวนที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมต้นทุน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ FTX สามารถสร้างผลกำไรและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน FTX มีพนักงานรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 350 คนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนเพียง 1 ใน 10 ของจำนวนพนักงาน Coinbase คู่ปรับสำคัญทางธุรกิจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ FTX จึงสามารถควบคุมต้นทุนที่เหมาะสมในการทำธุรกิจได้อยู่เสมอ

การเลือกใช้จุดเด่นในฐานะบริษัทเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ :

การที่ FTX อยู่ในสถานะบริษัทเอกชน (Private Company) ทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่องการสร้างผลกำไรก้อนโตๆ เพื่อดันการเติบโตของบริษัทให้มากพอที่จะเย้ายวนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากนัก ขณะเดียวกันยังมี “ข้อดี” ในแง่ของการตัดสินใจปิดดีลธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของบริษัทได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากกรณี บริษัทมหาชน (Public Company) ซึ่งจะมีขั้นตอนอันแสนยุ่งยากกว่าที่จะสามารถเข้าซื้อกิจการอะไรได้สักบริษัท โดย “แซม แบงก์แมน ฟรายด์” ยอมรับว่ามีบางดีลที่เขาใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้นในการเข้าซื้อกิจการได้สำเร็จ

...

การถือครองเงินสด :

FTX ไล่ซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมคริปโตฯ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ไซปรัส เยอรมนี สิงคโปร์ ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หลังระดมทุนได้มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2019 เป็นต้นมา โดยในการเข้าซื้อกิจการเหล่านั้น “แซม แบงก์แมน ฟรายด์” เปิดเผยว่า ใช้เงินสดไปมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ และปัจจุบันยังเหลือเงินสดในมืออีกส่วนหนึ่งสำหรับการปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจด้วย

เรียบง่ายไม่ฟุ่มเฟือย :

แม้จะรำ่รวยอย่างมหาศาล แต่ “แซม แบงก์แมน ฟรายด์” กลับใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายแทบไม่ต่างจากอภิมหาเศรษฐีโลกผู้ช่ำชองด้านการลงทุน อย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ที่ทุกวันนี้ยังคงกินแฮมเบอร์เกอร์และโค้กของแมคโดนัลด์เป็นอาหารหลัก

โดยหนุ่มวัย 30 ปีผู้นี้บริจาคเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ ไปกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ขณะเดียวกันเขายังปฏิเสธไลฟ์สไตล์สุดหรูหราฟุ่มเฟือยต่างๆ ด้วยการยังคงขับรถยนต์โตโยต้า โคโรลล่า และแชร์บ้านพักร่วมกับเพื่อนๆ อีก 10 คนต่อไป!

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :