ควอน โด-ฮยอง (Kwon Do-hyung) ชายหนุ่มวัย 31 ปี ชาวเกาหลีใต้ ผู้คว้าปริญญาตรีจากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งยังเคยผ่านการทำงานในบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่าง Apple และ Microsoft ก่อนที่ต่อมาในปี 2018 จะผันตัวเองไปเปิดบริษัทที่มีชื่อว่า Terraform Labs บริษัทที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันงดงามของ Terra Chain แพลตฟอร์ม Blockchain ที่มีเหรียญ LUNA ทำหน้าที่เหรียญหลักในการทำธุรกรรมต่างๆ ภายในระบบนิเวศของตัวเอง รวมถึงยังมี Terra USD (UST) ซึ่งเป็น Stablecoin บน อีเทอเรียม บล็อกเชน จนสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลเฟื่องฟู

ควอน โด-ฮยอง (Kwon Do-hyung) CEO Terraform Labs
ควอน โด-ฮยอง (Kwon Do-hyung) CEO Terraform Labs

...

และด้วยเหตุนี้เอง “ควอน โด-ฮยอง” จึงได้รับการเรียกขานในบ้านเกิดว่าเป็น “อีลอน มัสก์ เวอร์ชันเกาหลี” โดยเฉพาะในแง่การชอบใช้ทวิตเตอร์สื่อสารกับบรรดาผู้สนับสนุน รวมถึง “จิกกัด” บรรดาผู้ที่กล้าอาจหาญมาวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขา

อย่างไรก็ดีในท่ามกลางความสำเร็จอันน่าชื่นชมนั้น การดึงดูดนักลงทุนด้วยการให้ผลตอบแทนด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อปี รวมถึงการตรึงมูลค่าเหรียญให้เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐอยู่เสมอ ผ่านอัลกอริทึมที่ไม่เหมือนใคร ด้วยการใช้เหรียญ LUNA และ UST ผ่านกลไก Mint&Burn ในการรักษาเสถียรภาพของเหรียญ ทำให้ Terra ถูกผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งมองว่า นอกจากอัลกอริทึมจะมีช่องโหว่แล้ว มันยังแทบไม่ต่างอะไรกับ “แชร์ลูกโซ่” (Ponzi Scheme) อีกด้วย หากแต่ “อีลอน มัสก์ เวอร์ชันเกาหลี” กลับตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้นอย่างหยามหยันผ่านสื่อว่า “ผมไม่อยากแลกเปลี่ยนทัศนะกับพวกคนจน”

แต่แล้ว...การเปลี่ยนสถานะจาก “อีลอน มัสก์ เวอร์ชันเกาหลี” สู่การกลายเป็น “เอลิซาเบธ โฮล์ม” (Elizabeth Holmes) อดีต CEO เธรานอส (Theranos) ผู้สร้างตำนานชุดตรวจเลือดลวงโลกแห่งซิลิคอน วัลเลย์ ของ "ควอน โด-ฮยอง" ก็เดินทางมาถึง

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหรียญ UST หลุดการตรึงมูลค่าที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ หลังการให้ผลตอบแทนด้วยดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อปี ทำให้เงินทุนไหลบ่าเข้า Anchor Protocol ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการฝาก UST โดยนักลงทุนโดยตรงไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์มากจนเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับนักลงทุนไหว และแม้ ควอน โด-ฮยอง จะพยายามระดมทุน ซึ่งว่ากันว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้กอบกู้สถานการณ์และทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ

หากแต่การโจมตีของนักเก็งกำไรบวกกับความตื่นตระหนกของนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่พากันแห่เทขายเหรียญ LUNA และ UST เพื่อหนีตายกันอย่างจ้าละหวั่น ทุกอย่างก็ไปถึงจุดจบ UST รูดค่าลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดที่ 9 เซนต์ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ! โดยจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่ามูลค่ารวมของความสูญเสียในครั้งนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกันหายนะที่เกิดขึ้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของการล้มแบบโดมิโนของแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินคริปโตฯ ยักษ์ใหญ่อย่าง 3 ชนิด คือ Arrow Capital, Celsius Network และ Voyager Digital อีกด้วย

การล่มสลายของ Terra ทำให้ ควอน โด-ฮยอง ถูกจับตาทันที หลังบรรดานักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากหายนะที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้เอาผิด ควอน โด-ฮยอง ในข้อหาฉ้อโกง อีกทั้งยังมีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้าที่ LUNA และ UST ใกล้จะถึงจุดจบไม่นาน ควอน โด-ฮยอง ได้แอบลอบนำผลกำไรจากการซื้อขายเหรียญ LUNA และ UST ของบริษัทในประเทศสิงคโปร์ไปซุกไว้ที่หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน เพื่อหวังจะหลบเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านวอนด้วย

...

จนกระทั่งเมื่อการสอบสวนผ่านไปร่วม 3 เดือน อัยการเกาหลีใต้จึงออกหมายจับ “อีลอน มัสก์ เวอร์ชันเกาหลี” พร้อมพวกอีก 5 คน ซึ่งปัจจุบันยังคงพำนักอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ในข้อหากระทำการละเมิดกฎหมายตลาดทุน (Capital Market Law) หลังเข้าทำการจู่โจมตรวจค้นที่ทำการของบริษัท Terraform Labs และบริษัทลูกในประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงบ้านพักของบรรดาผู้บริหารของบริษัท ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา พร้อมกันนี้กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ยังมีการประสานไปยังทางการสหรัฐฯ เพื่อร่วมมือกันในการสืบสวนคดีนี้ รวมถึงจะมีการประสานงานกับตำรวจสากลและรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแล้วด้วย

ท่ามกลางคราบน้ำตาของนักลงทุน โดยเฉพาะรายย่อยที่สูญเสียเงินจำนวนมากไปกับหายนะที่เกิดขึ้น ควอน โด-ฮยอง ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อถึงความล้มเหลวของตัวเองเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แถมยังเป็นไปด้วยบุคลิกที่แตกต่างไปจากคราบไคล “ความเย่อหยิ่ง จองหอง” ในอดีตอย่างสิ้นเชิง โดยเขากล่าวว่า...

“ผมคิดว่า UST คือความล้มเหลวครั้งใหญ่ในแง่ของการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ผมคิดว่า UST คือความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง และจะกลายเป็นสกุลเงินหลักของคริปโตฯ ในอนาคต”

...

อย่างไรก็ดีในการเปิดใจครั้งสำคัญนั้น ไม่มีแม้เพียงสักประโยคเดียวที่จะแสดงออกถึงความพยายามในการแสดงความรับผิดชอบในหายนะที่เกิดขึ้นนี้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง