24 สิงหาคม 2565 กลายเป็นวันที่ประเทศญี่ปุ่นและโลกได้สูญเสียอีกหนึ่งสุดยอดนักปราชญ์แห่งการบริหาร และเอกบุรุษที่ยากจะหาใครเสมอเหมือน "อินาโมริ คาซึโอะ" (INAMORI KAZUO) ผู้สร้างปรัชญาการบริหารที่มีสารตั้งต้นที่ว่า “ต้องมีจิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน และห้ามยอมแพ้อย่างเด็ดขาด!” ซึ่งสารตั้งต้นนี้ คือ หัวใจสำคัญในการสร้างบริษัทเล็กๆ ที่เริ่มก่อตั้งมาด้วยคนเพียง 28 คน ให้กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจเซรามิกและเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่น อย่าง บริษัทเคียวเซร่า (Kyocera) และยังสามารถพลิกฟื้นสายการบินแห่งชาติของญี่ปุ่น อย่าง แจแปนแอร์ไลน์ หรือ JAL ที่กำลังมีหนี้สินล้นพ้นตัวให้พลิกฟื้นกลับมาเป็นสายการบินแห่งความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นทั้งมวลได้อีกครั้งอย่างเหลือเชื่อ ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี จนกระทั่งกลายเป็นตำนานที่กล่าวขานมาจวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้! ซึ่งส่วนหากท่านใดอยากทราบตำนานการกอบกู้ JAL ของ "อินาโมริ คาซึโอะ" สามารถกดอ่านได้ในบรรทัดด้านล่างนี้

"อินาโมริ คาซึโอะ" (INAMORI KAZUO) (ซ้ายอดีตผู้บริหาร JAL)

...

และนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ เศษเสี้ยวที่น่าสนใจเรื่องศาสตร์ในการบริหารงานองค์กรให้ประสบความสำเร็จ โดยทลายสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ และหลอมรวมคนในองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นสู้และไม่ยอมแพ้จนวินาทีสุดท้าย ของอีกหนึ่งตำนานของประเทศญี่ปุ่นนามว่า "อินาโมริ คาซึโอะ"

แบบอย่างในการสร้างจิตวิญญาณนักสู้ให้กับองค์กร :

“เขาทำให้ผมคิดว่า เอาละ เราต้องรีบกลับบริษัทและลงมือทำงานบ้าง”

“ฮอนดะ โซอิจิโร่” (Honda Soichoro) ผู้ก่อตั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอย่าง ฮอนด้า (Honda) คือแบบอย่างที่ทำให้ “อินาโมริ คาซึโอะ” รู้สึกหลงใหลและชื่นชมการบริหารในแบบดุดัน เอาจริงเอาจัง และสร้างจิตวิญญาณนักสู้อันแรงกล้าให้กับองค์กร โดยครั้งหนึ่งเมื่อเขามีโอกาสไปเข้าร่วมการสัมมนาการบริหารงานของฮอนด้า ซึ่งมี “ฮอนดะ โซอิจิโร่” เข้าร่วมการบรรยาย หากแต่สิ่งที่เขาพบเจอในวันนั้น คือ...

“ทุกคนมาทำอะไรที่นี่ ดูเหมือนจะมาศึกษาเรื่องการบริหารงานกันสินะ หากว่างมากขนาดจะทำเรื่องแบบนั้นละก็ รีบกลับไปทำงานต่อที่บริษัทให้เร็วที่สุดเถอะ ผมไม่เคยให้ใครมาสอนเรื่องบริหารเลย ขนาดผู้ชายแบบผมยังบริหารงานบริษัทได้เลย สิ่งที่ต้องทำมีเพียงเรื่องเดียวคือ รีบกลับไปบริษัทและทุ่มเททำงานซะ!”

ซึ่งคำพูดง่ายๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้อย่างสุดตัวของ “ฮอนดะ โซอิจิโร่” ที่ในวันนั้นมาปรากฏตัวในงานสัมมนาด้วยชุดทำงานเปื้อนน้ำมันราวกลับเพิ่งออกมาจากโรงงานนี้เอง ได้ทำให้ "อินาโมริ คาซึโอะ" เกิดความประทับใจและเรียกมันว่านี่คือ “จิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน” ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะสามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ให้บรรลุความสำเร็จ และนำไปสู่การพัฒนากิจการให้เจริญก้าวหน้าได้ต่อไป

องค์กรใดหากคิดจะเอาชนะ จะขาดจิตวิญญาณนักสู้ไม่ได้ :

“คนที่ทุ่มเทไม่ยอมแพ้ใคร คือ คนที่จะอยู่รอด ส่วนคนที่ปราศจากใจนักสู้ ไม่พยายาม สุดท้ายก็ต้องจบ”

ในช่วงที่ “อินาโมริ คาซึโอะ” บริหารงานบริษัทเคียวเซร่า (Kyocera) ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นบริษัทหน้าใหม่ในธุรกิจเซรามิกของญี่ปุ่น สิ่งที่เขาพร่ำบอกพนักงานในบริษัทอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยคือ “เคียวเซร่าจะต้องเป็นหนึ่งในโตเกียว เป็นหนึ่งในญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งของโลก” ทั้งๆ ที่ในเวลานั้น ธุรกิจเซรามิกในญี่ปุ่นมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่มีทั้งผลงานและประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมถึงยังมีเทคโนโลยีและทุนทรัพย์ที่เหนือล้ำกว่า “บริษัทเคียวเซร่า” มากมายก็ตาม

นอกจากนี้ สิ่งที่ “อินาโมริ คาซึโอะ” ลงมือทำและกระตุ้นคนในองค์กรคือ “ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่ขั้นตอนการหาออเดอร์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์” รวมทั้งยังมีการปลุกปลอบพนักงานฝ่ายขายที่คอตกกลับมาบริษัทเพราะหาออเดอร์ไม่ได้ว่า...

...

“ถ้าพวกนายทำไม่ได้ ฉันจะเอาปืนจ่ออยู่ข้างหลัง ถ้าคิดจะถอยหลังหนีก็ตาย เพราะฉะนั้นจงก้าวไปข้างหน้าให้เต็มที่ซะ!”

และแล้วในอีกเพียงไม่กี่ปีต่อมา...การผลักดันคนในองค์กรให้สู้แบบชนิดสุดเพดานก็ผลิดอกออกผล “เคียวเซร่า” ได้พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกในธุรกิจประเภทไฟน์เซรามิก (Fine Ceramics) ได้สำเร็จ และพวกเขาเอาชนะได้แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่ อย่าง บริษัท เจเนอรัล อิเลกทริก (General Electric) หรือ GE ที่กระโดดเข้าไปร่วมในตลาดธุรกิจเซรามิกหลังเห็นผลประโยชน์ที่น่าสนใจ

แต่แล้วอีกเพียงไม่กี่ปีต่อมา GE ก็ต้องถอนตัวออกจากธุรกิจเซรามิกอย่างชอกช้ำ โดย "แจ็ค เวลช์" (Jack Welch) CEO ของ GE ในเวลานั้น ยอมรับกับ “อินาโมริ คาซึโอะ” ในตอนได้มีโอกาสพบกันว่า “ตอนที่แข่งขันกันในธุรกิจเซรามิก พวกผมถูกกำจัดทิ้งอย่างกับแมลงวันเล็กๆ ตัวหนึ่งเลย”

โดย “อินาโมริ คาซึโอะ” มีมุมมองการบริหารงานในช่วงเวลานั้นว่า

“หากเป็นผู้บริหารที่ต้องทำให้บริษัทอยู่รอดและรับฝากชีวิตของพนักงานไว้ จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายการบริหารงานที่ตั้งไว้สำเร็จลุล่วง หากตัวเองและคนอื่นไม่สู้จนยกสุดท้าย ก็ไม่มีทางทำให้เป้าหมายบริหารที่ตั้งไว้สูงเป็นจริงได้ หากตั้งเป้าหมายไว้ครั้งหนึ่งแล้วใช้ไม่ได้ ครั้งต่อไปก็ใช้ไม่ได้อีก ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ หมายความว่า องค์กรนั้นไม่มีทางประสบความสำเร็จได้แน่นอน บริษัทไหนไม่เคยชนะและไม่รู้จักวิธีเอาชนะ แม้จะดิ้นรนจนเฮือกสุดท้ายก็ไม่อาจคว้าชัยชนะมาได้แน่นอน”

...

ต้องสู้จนกว่าจะชนะ :

“ต้องเปลี่ยนความปรารถนาของผู้บริหาร ที่เรียกว่าเป้าหมายในการบริหาร ให้เป็นความปรารถนาของพนักงานทุกคน”

หลังก่อตั้งบริษัทเคียวเซร่า ที่มีพนักงานเริ่มต้นเพียง 28 คนได้สำเร็จ “อินาโมริ คาซึโอะ” วางเป้าหมายขององค์กรเอาไว้ทันทีว่า...

เคียวเซร่าจะต้องเป็นหนึ่งของเมืองนิชิโนะเคียวฮาระมะจิ (ชื่อเมืองในเกียวโต) และเมื่อเป็นหนึ่งในเมืองนิชิโนะเคียวฮาระมะจิได้แล้ว จะต้องเป็นหนึ่งในเขตชูโอ ถ้าเป็นหนึ่งในเขตชูโอได้ ก็เป็นหนึ่งในเกียวโต ถ้าเป็นหนึ่งในเกียวโตได้ก็เป็นหนึ่งในญี่ปุ่น ถ้าเป็นหนึ่งในญี่ปุ่นได้ ก็เป็นหนึ่งในโลกได้!

และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ “อินาโมริ คาซึโอะ” จึงได้พยายามทุ่มเทและไม่ยอมแพ้ใครตั้งแต่วินาทีแรกที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา โดยเขาเปรียบเทียบการมุ่งมั่นในเวลานั้นว่า เหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่วิ่งด้วยความเร็วเต็มฝีเท้าแบบไม่หยุดพัก ทำงานจนเกินขีดจำกัดของมนุษย์มาตลอดจนแทบไม่เจียดเวลาให้กับการนอนพักเลยแม้แต่น้อย

...

จนกระทั่งทำให้บรรดาพนักงานถึงกับบ่นออกมาว่า พยายามอย่างหนักขนาดนี้ร่างกายจะรับไม่ไหว หรือหากทำเกินตัวแบบนี้จะบริหารในระยะยาวได้ไหวหรือ? หากแต่สิ่งที่ “อินาโมริ คาซึโอะ” บอกกับบรรดาพนักงานเหล่านั้น คือ...

“บริษัทเคียวเซร่าก่อตั้งช้ากว่าคู่แข่ง ฉะนั้นเราจึงถูกคู่แข่งวิ่งออกนำมาแล้วด้วยระยะทางหนึ่ง ฉะนั้นหากเรายังวิ่งเหยาะแหยะอยู่ ก็ไม่สมควรจะไปแข่งกับเขา ทำธุรกิจไปก็ไร้ความหมาย ฉะนั้นเราต้องวิ่งให้สุดแรงเกิดเอาไว้ก่อน”

นั่นเป็นเพราะสำหรับ “อินาโมริ คาซึโอะ” แล้ว แม้คนเรามักจะคิดทำงานที่ติดอยู่แต่ในกรอบของสามัญสำนึกว่า ทำไม่ได้แน่นอน และไม่มีทางทำได้ ก็ต้องเสี่ยงที่จะกล้าทุ่มเทอย่างไม่ยอมแพ้ใคร สร้างนิสัยมุมานะอดทนทุกวัน หาไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอและนำไปใช้ สำหรับผู้บริหารจำเป็นต้องมีใจนักสู้ที่คิดจะสู้อย่างไม่คิดชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ และมีเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน

สิ่งสำคัญสำหรับใจนักสู้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่กับผู้บริหารเท่านั้น ทั้งองค์กรรวมถึงพนักงานต้องมี “จิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน” เพื่อให้เป็นเช่นนั้น จึงจำเป็นต้องให้พนักงานมีความรู้สึกร่วมด้วย

เดิมทีเป้าหมายการบริหารนั้นเกิดจากความปรารถนาของผู้บริหาร แต่สิ่งที่สำคัญคือ เป้าหมายนั้นพนักงานทุกคนต้องคิดที่จะ “ทำกันเถอะ” หรือเปล่า เรียกได้ว่า ต้องเปลี่ยนความปรารถนาของผู้บริหารที่เรียกว่าเป้าหมายในการบริหารให้เป็นความปรารถนาของพนักงานทุกคน

ซึ่งวิธีการที่จะทำให้องค์กรมีจุดร่วมเช่นนั้นได้ง่ายๆ คือ การพูดซ้ำๆ ที่ว่า “บริษัทเรามีศักยภาพอันยอดเยี่ยม แม้ว่าตอนนี้อาจจะยังเล็กอยู่ แต่ในอนาคตต้องพัฒนาจนยิ่งใหญ่ได้แน่นอน” พูดแบบนี้ไปซ้ำๆ ทุกวัน พูดจนเหนื่อย พอปูพื้นฐานได้ก็หาโอกาสไปนั่งดื่ม และพูดคุยแบบเข้าเรื่องว่า “ตั้งใจว่าปีนี้จะหายอดขายเพิ่มให้ได้อีกเท่าตัว”

และในตอนนั้นให้หาคนที่ทำงานไม่ค่อยเก่งแต่ประจบเก่งไว้ข้างตัว เพื่อให้เขาคอยพูดว่า “นั่นสิครับท่าน มาทำกันเถอะ” ทีนี้คนที่หัวดีทำงานเก่งแต่นิ่งเฉย ที่มักพอเสนอเป้าหมายสูงเมื่อไหร่ ก็มักจะชอบอ้างว่า “ท่านครับ ผมว่าทำไม่ได้หรอก เพราะว่า...” คนพวกนี้จะพูดอะไรไม่ออกและคล้อยตามไปโดยปริยาย ทำให้เป้าหมายที่ผู้บริหารกำหนดไว้ จะกลายเป็นเป้าหมายที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในที่สุด!

และเมื่อจิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชนของผู้บริหารถ่ายทอดสู่พนักงานได้สำเร็จ ทั้งองค์กรก็จะกลายเป็นองค์กรที่มี จิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน ไปในที่สุด และต่อให้มีเป้าหมายการบริหารที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ องค์กรแห่งนั้นก็จะสามารถทำให้เป็นจริงได้ในที่สุด!

คุณธรรมและมนุษย์ มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร :

“มาตรฐานการตัดสินใจในการบริหาร ได้ถูกรวบรวมอยู่ในคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งถูกต้องในฐานะมนุษย์”

หนังสือ IKIKATA ที่เขียนโดย “อินาโมริ คาซึโอะ” พูดถึงความเชื่อฝังหัวในเรื่อง มนุษย์มีชีวิตอยู่เพื่ออะไร? โดยเน้นย้ำถึงปรัชญาแบบญี่ปุ่นโบราณที่ว่า “จงทำสิ่งที่ถูกต้องในฐานะมนุษย์” ซึ่งถือเป็นหนังสือขายดีอีกหนึ่งเล่ม และได้ยังได้รับความนิยมในประเทศจีน ...ประเทศซึ่งมักมีช่องว่างทางความสัมพันธ์ให้กับอะไรๆ ที่เป็นญี่ปุ่นจากความขัดแย้งในอดีตเสมอมา

จนกระทั่งทำให้ “อินาโมริ คาซึโอะ” ได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับบรรดาเจ้าของกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศจีน โดยครั้งหนึ่ง “อินาโมริ คาซึโอะ” ได้กล่าวในระหว่างการบรรยายว่า...

“การบริหารที่ยึดมั่นในตัณหาต้องล้มเหลวแน่นอน กำไรที่ได้จากการทุจริตและเขี่ยคนอื่นให้พ้นทางคือ สิ่งที่ไม่มีความหมาย การหากำไรจำเป็นต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องในฐานะมนุษย์ การวางรากฐานแห่งความถูกต้องคือ การคำนึงถึงผู้อื่น หัวใจที่เห็นแก่ผู้อื่น มีเมตตากรุณาและเที่ยงธรรมในฐานะมนุษย์ ซึ่งเรียกอีกอย่างคือ คุณธรรมนั่นเอง หากไม่มีความรักต่อพนักงาน การบริการที่มีต่อลูกค้าและการอุทิศตนต่อสังคมแล้ว คงไม่มีการบริหารใดที่จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ตลอดไปได้”

ทำให้ในเวลาต่อมา หนังสือ IKIKATA เล่มนี้ ได้ถูก "มหาวิทยาลัยปักกิ่ง" นำไปปรับใช้เป็นตำราเรียนสำหรับหลักสูตร MBA สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ โดย คณบดี ได้กล่าวกับ “อินาโมริ คาซึโอะ” หลังสิ้นสุดการบรรยายที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งว่า...

ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยใช้ตำรา MBA ของสหรัฐอเมริกา โดยเน้นไปที่ของ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เป็นหลัก แต่ว่าในสหรัฐอเมริกาที่เป็นแบบอย่างนั้น กลับเกิดปัญหาเรื่องการนับถือเงินเป็นพระเจ้า จนส่งผลให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายตามมามากมายและสังคมก็ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่น รวมทั้งสังคมและเศรษฐกิจของประเทศจีนก็ไม่ดีขึ้น เมื่อได้รับฟังการบรรยายดังกล่าว จึงมั่นใจว่า ธุรกิจในจีนควรบริหารด้วยปรัชญาตามแบบอย่างของ “อินาโมริ คาซึโอะ”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของ บุรุษผู้เป็นตำนานการบริหารองค์กรของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้วันนี้ ชายที่มีชื่อว่า “อินาโมริ คาซึโอะ” จะได้จากโลกใบนี้ไปแล้ว แต่ปรัชญาการบริหารงานที่นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จจะยังคงถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปไม่รู้จบ

หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจาก หนังสือถอยก็ตายวิกฤติยังไงก็ต้องสู้ (A Fighting Spirit)

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :