“ศึกภายนอกทำให้ภายในดีขึ้น นี่มันคือ....“หนังอเมริกัน”

นี่คือคำจำกัดความจากบทวิเคราะห์โดย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการด้านความมั่นคง ที่กำลังมองประเด็นเรื่อง การเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้แทนระดับสูงสุดของอเมริกา และถือเป็นการเยือนในรอบ 25 ปี ท่ามกลางเสียงทัดทาน และข่มขู่อย่างแข็งกร้าวจากจีน

รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า การเดินทางมาครั้งนี้ของประธานสภาฯ มี 2 ประเด็นใหญ่ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

ประเด็นที่ 1 : ความสัมพันธ์แนบแน่น สหรัฐฯ - ไต้หวัน

นโยบายพื้นฐานของสหรัฐฯ : ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของสหรัฐฯ จะสานความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดกับไต้หวัน โดยเฉพาะฝ่ายนิติบัญญัติที่มีการออกพระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐสภาระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยมีกฎหมายตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อสนับสนุนการเดินทาง การเงิน อาวุธ โดยสะท้อนไปถึงจีนให้รับรู้ว่าทั้ง 2 ประเทศประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ซึ่งยังมีการพูดกันว่านโยบายนี้มีมานาน 20-30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจ ที่อดีตประธานสภาฯ สหรัฐฯ นิวต์ กิงริช (Newt Gingrich) เดินทางไปเยือน

“ทางสหรัฐฯ เองขายอาวุธให้ไต้หวันมานาน และมีข้อตกลงร่วมกันว่า จะมาปกป้องหากมีการบุกยึดครองโดยไม่ชอบธรรม ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว”

การเยือนของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา
การเยือนของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐอเมริกา

...

ประเด็นที่ 2 : ไม่ให้จีนเป็นเบอร์ 1 โลก และหวังผลทางการเมืองภายใน

อาจารย์ปณิธาน ยังกล่าวถึงปัจจัยที่ 2 ซึ่งมีหลายประเด็น ดังนี้

1. ไต้หวันถูกรังแก : ชาวไต้หวันจากหลายภาคส่วน กำลังมีความรู้สึกว่ากำลังถูกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม เช่น การค้าการลงทุน การขโมยเทคโนโลยี การโจมตีทางไซเบอร์ หลายๆ เรื่องทำให้ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ เอกชน และประชาชน มองว่าประเทศจีนกระทำการก้าวร้าว เกิดการต่อต้านจีน ต่อต้านการลงทุนในจีน

2. ลดความทะเยอทะยานจีนเป็นเบอร์ 1 โลก : กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ โดยรายงานของเพนตากอน ระบุชัดเจนว่าจำเป็นต้องปิดล้อมจีน ลดความทะเยอทะยานที่จะขึ้นเป็นหมายเลข 1 ให้ได้

3. ผลการเมืองในสหรัฐฯ - ไต้หวัน : ช่วงนี้ ถือเป็นฤดูกาลเลือกตั้งทั้งในสหรัฐฯ-ไต้หวัน วันนี้เข้าใจว่ากำลังมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายรัฐ ในประเทศสหรัฐฯ รวมถึงในไต้หวัน ก็เลยกลายเป็นประเด็นที่ปะทุขึ้นมา พร้อมกันหมด

“ความจริง อย่างที่ทราบกันว่า “ทริปนี้” มีกำหนดการเดินทาง ตั้งแต่เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้น กรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และ ส.ส. อีก 6 คนเดินทางมา แต่ นางแนนซี มาไม่ได้ เพราะติดโควิดก่อนเดินทาง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ส่งไปถึงจีน” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวและว่า

ในขณะเดียวกัน ก็มีกำหนดการ “สืบตำแหน่ง” ของประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ซึ่งประเด็นนี้มีน้ำหนักหรือไม่ คำตอบคืออาจจะไม่มาก แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้ อาจจะเป็นผลดีกับ “สี จิ้นผิง” ก็เป็นได้ เพราะถือเป็นการปลุกความรู้สึก “ชาตินิยม” ขึ้นมาได้อีก

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร

ไต้หวัน อาจกลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมนี้

อาจารย์ปณิธานวิเคราะห์ว่า เกมการเมืองระหว่างประเทศครั้งนี้ สหรัฐฯ กับ จีน อาจจะได้ประโยชน์ระยะสั้น แต่...ไต้หวันเอง จะกลายเป็นฝ่ายโดนจีนเล่นงานอย่างที่ผ่านๆ มา เพราะทุกครั้งที่มีปัญหา จีนจะมาลงที่ “ไต้หวัน”

หากสังเกตการให้สัมภาษณ์ของไต้หวัน จะไม่พูดยั่วยุจีน อีกทั้งช่วงวันที่ 4-7 นี้ ทางจีนก็ประกาศจะซ้อมรบทางทหาร ที่น่านน้ำ และน่านฟ้ารอบไต้หวันอีก

...

เมื่อถามว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แสดงท่าทีไม่สนับสนุนการเดินทางทริปนี้ของแนนซี อาจารย์ปณิธาน ตอบสวนทันทีเลยว่า “เตี๊ยมกันมาหรือเปล่า” เพราะพรรคเดียวกัน แต่...ก็คงเล่นตามบทว่า มีความอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เดี๋ยวนี้คนทั่วไปเขาอาจจะไม่เชื่อ อาจจะมีทฤษฎีสมคบคิดอะไรหรือไม่?

“สไตล์นี้เป็นสิ่งที่อเมริกันทำเป็นประจำในอดีต อ้างความเป็นประชาธิปไตย ควบคุมกันไม่ได้ ทั้งที่อยู่พรรคเดียวกัน และที่สำคัญคือ ไม่เห็นมีการปรามกัน แต่แค่บอกว่า “ไม่เห็นด้วย” และเป็นเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะเป็นสัญญาณนิดๆ ว่าไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่อาจจะมองว่าไม่ได้เสียหายอะไรมาก” นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าว

พื้นที่ซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ของกองทัพจีน
พื้นที่ซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ของกองทัพจีน

การตอบโต้ของจีน

เมื่อถามว่า สหรัฐฯ เมินคำขู่ของจีนในการตอบโต้ อาจารย์ปณิธาน วิเคราะห์ว่า หากจีนต้องการทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะเป็นเรื่อง “ศักดิ์ศรี” และ “ความเป็นผู้นำ” ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

...

“หากระตุกหนวดเสือ แล้วเสือหมอบคลาน แปลว่า เสือตัวนี้คงจะต้องหมอบคลานไปอีกสักระยะ แต่ถ้าเสือจะทะยานขึ้นมาในหลายรูปแบบที่เหมาะสม อาจจะเกิดเป็นสัญญาณอันตรายในแง่หนึ่ง แต่ก็บ่งบอกว่า “จีน” ไม่ยอมให้แล้ว เหมือนกับ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งสถานการณ์เวลานั้น กับตอนนี้ ต่างกันเยอะ”

คราวที่แล้ว...จีนซ้อมรบ สหรัฐฯ ก็ส่งเครื่องบินไปปิดช่องแคบไต้หวัน จีนก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ตอนนี้ “จีน” มีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก (แต่กองกำลังทางทะเลยังไม่เทียบเท่าสหรัฐฯ) ซึ่งก็ไม่ได้ความว่า จีนจะเอาชนะอเมริกาได้

แต่ก็ใช้มาตรการทางทหาร คือ “การซ้อมรบ” ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่ง ส่วนจะคืบหน้าถึงขั้น การวางกำลังถาวรมากขึ้น แบบนี้จะอันตราย แต่จีนก็เผยออกมาบ้างแล้วว่า ว่าอาจจะมีมาตรการทางทหารมากขึ้น ส่วนจะเป็นอะไรก็คงต้องรอดู....เพราะจีนใช้คำว่า ใช้ “อย่างเหมาะสม”

อาจารย์ปณิธาน ให้ความเห็นว่า หากจีนเลือกใช้วิธีวางกำลังนานขึ้นใครจะนำเขาออกมาจากตรงนั้น และเขาก็ไม่ได้ทำอะไร แค่อยู่เฉยๆ ในเกาะรอบๆ 2-3 เกาะ ในระยะ 70 กิโลเมตร ซึ่งตรงนี้จีนอาจจะเอามาเป็นข้ออ้างได้ ส่วนการตอบโต้ทางการทูต จีนก็ทำแล้ว ด้วยการประท้วง

เปรียบเทียบขนาดกองทัพ จีน VS ไต้หวัน
เปรียบเทียบขนาดกองทัพ จีน VS ไต้หวัน

...

ท่าทีไทย เรียกร้องลดความร้อนแรง

เมื่อถามอาจารย์ปณิธาน ว่า “ไทย” ควรแสดงท่าทีอย่างไร นักวิชาการด้านความมั่นคง กล่าวว่า ต้องเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ลดความร้อนแรง ทั้งการโต้ตอบในเชิงโวหาร ในการทูต และทางทหาร ซึ่งเรื่องโวหารถือเป็นเรื่องที่ทำไม่ง่าย เพราะเวลานี้ ถือว่ามีฝ่าย “เชียร์กีฬา” กันอยู่ ซึ่งตอนนี้มีการติดตามความคืบหน้าของเครื่องบิน มีการถล่มผ่านโซเชียลฯ กลายเป็นเรื่องที่มีการคาดหวังกันสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายเหมือนกัน เพราะหากมีกองเชียร์เยอะ นักกีฬาก็จะฮึกเหิม

ในขณะที่ทาง “การทูต” ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะโวหารไม่ร้อนแรง
ทางทหาร ก็คิดว่าไม่ร้อนแรง เนื่องจากมีนโยบายที่เคร่งครัด อาจจะมีการเชิญนานาชาติเข้ามาสังเกตการณ์ และนี่อาจจะแจ้งเตือนว่า นี่ไม่ใช่ “การยึด” แต่เป็นการ “ซ้อมรบ” ไม่ต้องตกใจ

โอกาสบานปลายกลายเป็นสงคราม หรือ สงครามโลก

ทีมข่าวฯ ถามว่ามีโอกาสบานปลายจนเกิดสงคราม หรือสงครามโลก หรือไม่ อาจารย์ปณิธาน กล่าวว่า ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ถ้าขยับหลังวันที่ 7 เพื่อคุมเชิง ก็ไม่น่ามีอะไร แต่ถ้าขยับก่อนวันที่ 7 ก็อาจจะน่ากลัว แต่เชื่อว่า หากมีการเผชิญหน้ากัน ทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะยังไม่พร้อม โดยเฉพาะฝ่ายจีน เพราะกองเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน 2 กอง ยังทำงานไม่ได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ กองแรกยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ขณะที่ กองที่ 2 ยังทำงานไม่ได้ ขณะที่อเมริกามี 10 กอง ยกกำลังมาเพียง 2 กอง จีนก็สู้ไม่ได้

“ปัญหา...ไม่ใช่การแพ้ชนะกันในทะเล แต่มันคือ “นิวเคลียร์” ซึ่งสหประชาชาติ ก็ออกมาเตือน เรื่องการกดปุ่ม ซึ่งตอนนี้กำลังมีการทบทวนสนธิสัญญาไม่เผยแพร่นิวเคลียร์อยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี และเหมาะสมกับเวลาที่จะเตือน ซึ่งเลขาธิการสหประชาชาติอาจจะเห็นแนวทางอยู่แล้วว่าอาจจะเกิดปัญหาที่ไต้หวันมาพักใหญ่แล้ว

อาจารย์ปณิธาน ย้ำว่า สหรัฐฯ กำลังกู้สถานการณ์กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ ที่ผ่านมา ในยูเครนก็ถือว่าทำได้ดี ส่งอาวุธไปชะลอ และยังขายอาวุธได้อีกเยอะ

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว

อาจารย์ปณิธาน ยังมองไปถึงเรื่องเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า การเผชิญหน้าแบบนี้ส่งสัญญาณไม่ดีทางเศรษฐกิจแน่ โดยเฉพาะระยะสั้น ซึ่งตรงดูผลกระทบในตลาด หากทำกลไกรับมือทางเศรษฐกิจให้ดี ระยะกลางอาจจะดีขึ้น แต่เชื่อว่าในระยะยาวน่าจะมีปัญหาตามมาแน่ เพราะ 2 ประเทศมหาอำนาจคงไม่ยอมกัน ถ้าจีนทะยานขึ้นเป็นหมายเลข 1 อเมริกาคงไม่ยอมลง แบบที่อังกฤษยอมลงมา ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องที่อยู่ยาก

“ในรายงานของเพนตากอน จะไม่ยอมให้จีนขึ้นเป็นหมายเลข 1 ซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นแนวทางที่นำมาใช้ในทุกรัฐบาล ที่ผ่านมา แม้อังกฤษจะยอมลงมาจากหมายเลข 1 แต่อเมริกาได้ขึ้นไปแทน แต่อังกฤษกับสหรัฐฯ ก็ถือเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิด แต่สำหรับจีนกับสหรัฐฯ ไม่น่าจะทำได้”

จีนอยู่ในเกมถนัดสหรัฐฯ ก่อศึกภายนอก ทำให้ภายในดีขึ้น

เมื่อถามว่าเกมสำคัญนี้ เพราะคะแนนนิยม “ไบเดน” กำลังตกลงหรือไม่ อาจารย์ปณิธาน พยักหน้าตอบ “ใช่ๆ ด้วย” เรื่องศัตรูภายนอก ทำให้ภายในดีขึ้น มันคือ “หนังอเมริกัน” ซึ่งมีหนังหลายเรื่องที่สะท้อนออกมา คือ คิดอะไรไม่ออก ก็ไปก่อศึกนอกบ้าน มีตั้งแต่สมัย ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ซึ่งไปก่อศึกกับ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศที่เข้าใจเรื่องสงคราม ใช้อำนาจทางการทหารบ่อยครั้ง และประสบความสำเร็จด้วย

แบบนี้แปลว่า “จีน” กำลังตกอยู่ในเกมของสหรัฐฯ หรือไม่ นักวิชาการด้านความมั่นคง ตอบสวนทันทีว่า “ใช่...เรื่องนี้ทางจีนก็รู้ดี ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ยิ้มแป้นเลย ซึ่งเวลานี้สหรัฐฯ ก็เลิกคว่ำบาตรทางการเกษตรกับประเทศรัสเซียแล้ว เพราะผลกระทบจะโดนตัวเอง แต่สำหรับประเด็นเรื่องอาวุธก็ใช้เต็มที่ เพราะเขาเก่งเรื่องนี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Anon Chantanant

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ