• เกิดปฏิกิริยาจากนานาประเทศ ต่อเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจจากการที่รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา "มิน อ่อง หล่าย" สั่งประหารชีวิตเพียว เซยา ตอ ศิลปินฮิปฮอป และอดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และ จ่อ มิน ยู หรือ โก จิมมี นักเขียนและนักเคลื่อนไหว ถูกตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายทางการเมือง รวมถึงลา โม อ่อง และ อ่อง ตูรา ซอ กระทำความผิดฆาตกรรมหญิงที่เชื่อว่าเป็นสายข่าวให้กับกองทัพ

  • สถานการณ์ในเมียนมา กลับมาเป็นที่สนใจของทั่วโลกอีกครั้ง หลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนจากผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของออง ซาน ซู จี ชนะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี) พรรคการเมืองที่กองทัพสนับสนุนอย่างถล่มทลาย อาจสร้างความอับอายให้กับกองทัพ เป็นหนึ่งในเหตุผลในการรัฐประหาร ก่อนการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อรับรองรัฐบาลชุดใหม่

  • การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา อ้างว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง พร้อมกับการควบคุมตัวออง ซาน ซู จี และวิน มินต์ ประธานาธิบดีจากพรรคเอ็นแอลดี รวมถึงคนสำคัญทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวหลายคน ยิ่งสร้างแรงต่อต้านให้กับประชาชนทั่วเมียนมา ต่างลุกฮือออกมาประท้วงในหลายเมือง จนเกิดการปะทะมีผู้บาดเจ็บล้มตาย หลายคนหายสาบสูญไป จนพลังประชาธิปไตยไม่อาจสู้ได้ จากการปราบปราม ข่มขู่ คุกคามอย่างหนัก และถูกสลายไปในที่สุด

  • 25 ก.ค.2565 มีการประหารชีวิต 4 นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย น่าจะด้วยวิธีแขวนคอ เป็นอีกตัวอย่างความโหดร้ายในเมียนมา ตามที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาระบุถึงการลิดรอนชีวิตตามอำเภอใจ จากการพิจารณาคดีอย่างลับๆ และไม่ยุติธรรมในการตัดสินลงโทษของศาลทหาร เชื่อว่ามีผู้ต้องโทษประหารชีวิตมากกว่า 100 ศพ เป็นเวลากว่า 1 ปีที่กองทัพเมียนมากระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ขณะที่ข้อมูลสมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งรวบรวมสถิติจำนวนผู้เสียชีวิต ถูกจำคุก หรือควบคุมตัวโดยทหาร ชี้ว่านับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีผู้ถูกจับกุม 14,847 คน และมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 2,114 ศพ

...

แล้วเหตุผลใดรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ได้ออกมาประกาศเหมือนตั้งใจให้โลกรู้ถึงการประหารชีวิตผู้เห็นต่างทั้ง 4 ศพ หรือจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง และจากการวิเคราะห์ของ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่า เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูจากกระแสต่อต้านที่อาจยืดเยื้อมากขึ้น จึงส่งสัญญาณว่าใครยังไม่หยุด ยังไม่ยุติ จะต้องโดนมาตรการเช่นนี้ อีกทั้งขณะนี้เมียนมาไม่มีอะไรจะสูญเสีย เพราะถูกคว่ำบาตรไปแล้ว และมีทางเดียวจะต้องทำให้รู้แล้วรู้รอดว่าใครจะกล้าหาญต่อกรกับฝ่ายทหาร

“ไม่มีเหตุผลอื่นใด เป็นส่ิงที่กองทัพเมียนมาอยากจะทำอะไรก็ทำ เพราะถูกประณามอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว คงมีการประเมินแล้วจึงไม่สนว่าการประหารชีวิตใครจะเป็นการท้าทายโลก หรือกลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งแย่ลง หรือทำให้กระแสต่อต้านยิ่งกระเพื่อมยิ่งขึ้น หรือได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ในเมียนมายากจะสงบลงได้ อาจเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ เกิดความสะสมสร้างบาดแผลรอยลึกมากไปอีก ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา เป็นการคิดแบบมักง่ายตามที่หลายคนคิด ไม่เหมือนเผด็จการในหลายประเทศมีความระมัดระวัง ไม่ให้เลยเถิด จนถูกประณามแล้วถูกประณามอีก แต่กองทัพเมียนมากลับไม่ยับยั้งชั่งใจ”

แม้เร็วๆ นี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 55 หากเมียนมาใส่ใจจริงๆ ก็ควรจะทำอะไรบางอย่างให้ทุเลาลง ไม่ใช่ไม่คิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างที่ผ่านมาไม่รู้กี่ครั้งที่มีบันไดจะลง แต่กลับไม่ใช้ จนขณะนี้สาหัสหนักมากขึ้น เพราะไม่ดำเนินการใดๆ หรือค่อยๆ ผ่อนคลายไม่กดดันคนในชาติ หวังว่าอาจจะมีสักวันหนึ่งเหมือนเกาหลีใต้ เคยสร้างจุดเปลี่ยนหลังมีการประท้วงรัฐบาลเผด็จการ ส่วนเมียนมา ยังคงปราบปรามสังหารคนที่ไม่ใช่คนของตัวเองทั้งหมด และยังมีอีกหลายคนอยากออกมาต่อต้านกองทัพ แต่ไม่แสดงตัวเพราะเป็นห่วงคนในครอบครัว

...

เพราะผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของประชาชน ทำให้เชื่อว่ามีประชาชนอีกจำนวนมากอยากออกมาต่อต้าน และคิดว่ามีทางเดียวจะแก้ปัญหาหากมีทหารของกองทัพเมียนมา ออกมาต่อสู้ให้ประชาชน แต่น่าจะเป็นไปได้ยากมากเพราะมิน อ่อง หล่าย คุมกำลังทั้งหมด และทหารเมียนมาขึ้นชื่อเรื่องความโหดไม่เป็นรองใคร หวังว่าจะมีทหารน้ำดีออกมาทำเพื่อประชาชน แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตาม และยังคงมีการปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง จนไม่รู้สึกสงสารประเทศ ไม่คิดว่าประชาชนจะอดอยาก เพียงเพราะมิน อ่อง หล่าย กลัวว่าตัวเองจะหมดอำนาจลง

“ไม่มีข้อมูลว่ากองทัพเมียนมา ควบคุมฝ่ายต้านได้มากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่าควบคุมได้ดีพอ แล้วค่อยๆ เด็ดหัวทีละคน เพราะหากฝ่ายต้านจะลุกฮือต่อสู้จะต้องมีพลังมากพอ และทหารคงประเมินว่าจะต้องตายไปข้างหนึ่ง ไม่ให้หนักข้อขึ้น เลยต้องป้องปรามต่อเนื่อง แม้มีปฏิกิริยาจากนานาชาติ จนขณะนี้ชาชินไปแล้ว ยิ่งทำให้แต่ละวัน ยิ่งทำให้ปมมัดแน่นในการคลายปมออก แม้ประเทศเพื่อนบ้านพยายามจะช่วย และในที่สุดแล้วคนจะเข้ามาแก้ปัญหาต้องเป็นคนในประเทศ เพราะนอกประเทศหวังเพียงผลประโยชน์มากกว่า อย่างเกาหลีใต้ ต่อสู้เรียกร้องจนเป็นประชาธิปไตยในที่สุด ไม่เห็นมีประเทศไหนเข้ามาช่วยได้ ถือเป็นบทเรียนของเผด็จการทั้งหลาย จะต้องรักประเทศ และท้ายสุดก็ต้องยอมเมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่ง ในการร่วมกันพัฒนาชาติ"

...