“โลกไม่เคยเผชิญวิกฤติด้านพลังงานครั้งใหญ่ในแง่ของความลึกและซับซ้อนเช่นนี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก และผมเชื่อว่าเราอาจยังไม่เคยได้พบเห็นความเลวร้ายเช่นนี้มาก่อน โดยฤดูหนาวที่กำลังจะมาเยือนยุโรปในช่วงปลายปีนี้มันคงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากๆ แน่นอน” นายฟาติห์ บิรอล (Fatih Birol) ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) หรือ IEA กล่าวเตือนชาวโลกในระหว่างการประชุม Sydney Energy Forum ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งสวนทางกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มค่อยๆ ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน จากความหวาดวิตกเรื่องภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากเงินเฟ้อและนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายๆประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก
อ่านเพิ่มเติม : เงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกที่รอการปลดล็อก
...
อะไรคือเหตุผลที่ IEA ต้องออกมาเตือนชาวโลกถึงวิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่กำลังใกล้จะมาถึงในปลายปีนี้กันแน่?
ตลาดพลังงานโลก ณ ปัจจุบัน มีราคาพุ่งสูงขึ้นเพราะอะไร :
"รัสเซีย" คือ ผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ลำดับต้นๆ ของโลก ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการประกาศคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย จึงทำให้อุปทานส่วนใหญ่หายไปจากตลาด
อ่านเพิ่มเติม : ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.10 หากโลกนี้ไม่มีพลังงานจากรัสเซีย
ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจกับราคาน้ำมัน :
โดย IEA คาดการณ์ว่า แม้ว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ อาจเป็นแรงกดดันทำให้ “ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง” แต่ส่วนที่ลดลงจะได้รับการชดเชยจากอุปสงค์ของประเทศจีนที่ค่อยๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ความพยายามครั้งใหม่ของตะวันตกในการหาทางจำกัดอำนาจทางการเงินของรัสเซีย โดยเฉพาะความพยายาม “กดราคา” สำหรับการส่งออกน้ำมันดิบ อาจทำให้ตลาดเพิ่มความผันผวนมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : บีบให้รัสเซียขายน้ำมันราคาถูก ทำได้จริงหรือ?
วิกฤติด้านพลังงานโลกจะรุนแรงขนาดไหน :
นายฟาติห์ บิรอล ให้เหตุผลว่า วิกฤติพลังงานที่อาจเกิดขึ้น บางทีอาจเลวร้ายกว่าในช่วงยุค 70 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่โลกอาหรับ นำโดย ซาอุดีอาระเบีย รวมตัวกันจำกัดการส่งออกน้ำมัน เพื่อกดดันโลกตะวันตกให้ยุติการสนับสนุนอิสราเอลในการใช้กำลังทหารเข้ารุกรานหลายชาติในตะวันออกกลาง จนกระทั่งทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 300% เมื่อปี 1974 รวมถึงเหตุการณ์การปฏิวัติในอิหร่านเมื่อปี 1979 ที่ทำให้โลกเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน และมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันครั้งใหญ่ จนกระทั่งทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก นั่นเป็นเพราะในครั้งนั้น โลกเผชิญหน้าเพียงปัญหาน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้น แต่สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทั้ง น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ หรือ ถ่านหิน ล้วนแล้วแต่มีราคาพุ่งสูงขึ้นทั้งสิ้น
โดยเฉพาะยุโรป ซึ่งพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นหลัก เป็นภูมิภาคที่น่ากังวลมากที่สุด หลังล่าสุด รัสเซียได้อ้างเหตุการซ่อมบำรุงท่อส่ง Nord Stream 1 และตัดการส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้กับหลายชาติในยุโรป จนกระทั่งทำให้เกิดความหวาดวิตกว่า การปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้อาจเป็นการปิดแบบถาวร และอาจทำให้ยุโรปเก็บสะสมพลังงานได้ไม่เพียงพอสำหรับการต่อสู้กับฤดูหนาวในช่วงปลายปีนี้ และอาจบีบคั้นให้ เยอรมนี และ อิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นลำดับต้นๆของยุโรปต้องไปใช้พลังงานจากถ่านหินมากขึ้น รวมถึงยุโรปอาจต้องมีการพิจารณาเรื่องการปันส่วนก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค หากรัสเซียตัดสินใจปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
...
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน นั่นเป็นเพราะในปัจจุบัน ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติล่วงหน้า ก่อนหน้าที่จะมีการปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 เพื่อทำการซ่อมบำรุง ยังมีราคาสูงกว่าที่ยุโรปเคยซื้อก่อนหน้าที่รัสเซียจะทำสงครามกับยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึง 3 เท่าแล้ว ฉะนั้นหาก รัสเซียตัดสินใจปิด Nord Stream 1 แบบถาวรขึ้นมาจริงๆ คงแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่า “ราคาที่ยุโรปจะต้องจ่าย” เพื่อสู้กับความหนาวเย็นมันจะต้องแพงมากขึ้นขนาดไหน?
อ่านเพิ่มเติม : ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.5 Nord Stream 2 เงื่อนไขการต่อรอง
อย่างไรก็ดี ในอีกด้านหนึ่ง ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ ยังคงมีความหวังว่า โลกอาจจะผ่านวิกฤติพลังงานครั้งนี้ไปได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีปัจจัยบวกที่แตกต่างออกไปจากเมื่อครั้งวิกฤติพลังงานในยุค 70
...
พลังงานทดแทน :
ผู้อำนวยการทบวงพลังงานระหว่างประเทศ เชื่อมั่นว่า ความพร้อมเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบันมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยอดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2022 ยังมีสัดส่วนที่สูงถึง 15% ซึ่งสูงกว่ายอดขายเมื่อปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2% อีกด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือวิกฤติพลังงานในยุค 70 ได้เคยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ วิกฤติพลังงานที่กำลังเกิดขึ้น อาจกลายเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” อีกครั้ง สำหรับการขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนถ่ายสู่พลังงานสะอาดให้รวดเร็วมากขึ้นก็เป็นได้
ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ :
หลังอุปทานน้ำมันจากรัสเซียหายไป ปัจจุบันมีเพียงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เท่านั้น ที่มีปริมาณการผลิตสำรองที่มากเพียงพอ สำหรับการชดเชยการขาดแคลนในตลาดได้ หากแต่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ยังคงไม่พยายามแสดงท่าทีเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องจากชาติตะวันตกที่ให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเข้ามาชดเชยส่วนที่ขาดหายไปของรัสเซีย
...
อ่านเพิ่มเติม : NOPEC ของจริงหรือแค่เสียงคำรามจากสหรัฐฯ
โอเปกพลัส :
ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับกลุ่มโอเปกพลัสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย GDP ในช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นถึง 9.9% ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวโน้มสูงว่า โอเปกพลัส ยังคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงระยะนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาคือการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกเดินทางเยือนภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบียในช่วงสัปดาห์นี้ เพราะนั่นอาจนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นได้ หากผู้นำสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการล็อบบี้ซาอุดีอาระเบีย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :