"ปัญหาเงินเฟ้อ" ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กำลังคุกคามต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" ในปีนี้ (2022) โดยจากการคาดการณ์แนวโน้มทางเศรษฐกิจของ "ธนาคารโลก" ในเดือนมิถุนายน ระบุว่า เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) เพิ่มขึ้นจาก 1.9% เป็น 6.95% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Economies) เพิ่มขึ้นจาก 4.23% เป็น 9.37% ในช่วงเวลาเดียวกัน และปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นนี้ ยังมีแนวโน้มด้วยว่าอาจจะคงอยู่ในระยะยาว เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ได้ทำให้ราคาอาหารและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และได้สร้างผลกระทบต่อประเทศผู้นำเข้าอาหารสุทธิและประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานอย่างหนักหน่วง

นอกจากนี้ ปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อที่กดดันให้ ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ต้องหันไปใช้มาตรการควบคุมทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นนี้ อาจทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) หรือ FDI ไหลออกจากภูมิภาคอาเซียน เพื่อไปแสวงหาความคุ้มค่าในการลงทุนที่มากขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ภายหลังจาก "ธนาคารกลางสหรัฐฯ" หรือ เฟด ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 ครั้งแล้วในช่วงครึ่งปีแรกนี้ (ปัจจุบันในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 1.75%) เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ

...

โดยกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าภูมิภาคอาเซียนมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่ารวมถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 26% ด้วยเหตุนี้ หาก สัดส่วนเงินลงทุนจากสหรัฐฯ ลดน้อยลง ย่อมต้องมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในภาพรวมอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นทั้งเรื่องการจ้างงาน, เม็ดเงินลงทุนสำหรับภาคเอกชน, รายได้จากภาษีนิติบุคคลสำหรับนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสาธารณะ

สถานการณ์เงินเฟ้อในอาเซียน :

“เงินเฟ้อ” ยังคงมีแนวโน้มที่พุ่งขึ้นสูงเรื่อยๆ ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจของอาเซียน โดยมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.9% ในเดือนมกราคม ปี 2021 เป็น 3.1% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% เมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 ที่ผ่านมา ส่วนเงินเฟ้อล่าสุดของแต่ละประเทศในอาเซียน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา...

1. มาเลเซีย 2.8%
2. เวียดนาม 2.86%
3. บรูไน 3.2%
4. อินโดนีเซีย 3.55%
5. ฟิลิปปินส์ 5.4%
6. สิงคโปร์ 5.6%
7. ไทย 7.1%
8. กัมพูชา 7.2%
9. ลาว 12.8%
10. เมียนมา 13.82%

อย่างไรก็ดี แม้ต้องเผชิญหน้ากับ "เงินเฟ้อในระดับสูง" แต่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ ยังคงไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมเงินเฟ้อ เหมือนเช่นที่ เฟด ลงมือทำแล้ว โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า เหตุที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียนยังคงไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเพราะอาเซียนต้องการรักษาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคจากภาคเอกชนต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อต้นทุนในการกู้ยืมสำหรับทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคและการลงทุนในโครงการต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นอันเกิดจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน กลับเป็นตัวการสำคัญที่ “ลดการบริโภคและการลงทุนจากภาคเอกชน” ถึงแม้ว่า ธนาคารกลางอาเซียนจะยังคงพยายามดำเนินนโยบายผ่อนปรนทางการเงินอยู่ต่อไปก็ตาม โดยราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นได้ทำให้กำลังซื้อภาคครัวเรือนลดลง เนื่องจากต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้ออาหารในปริมาณเท่าเดิม โดยเฉพาะประเทศไทยและอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ในขณะที่ราคาพลังงานที่สูงขึ้นซึ่งจะมีผลให้ต้นทุนภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้ภาคเอกชนต้องชะลอการลงทุนลงในที่สุด

...

ASEAN กับ Stagflation :

อย่างไรก็ดี...ในอีกมุมหนึ่ง นักวิเคราะห์จาก Financial Times มองว่า อาเซียนน่าจะสามารถหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น หรือ Stagflation ได้ เนื่องจาก 4 ใน 6 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจกำลังส่งสัญญาณการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มคึกคัก ภายหลังจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค กำลังทำให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ “GDP สูงกว่า เงินเฟ้อ”

โดยมีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่อาจต้องเผชิญกับ “เงินเฟ้อ สูงกว่า GDP” โดยประเทศไทยนั้นแม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคภายในประเทศลดลง ในขณะที่ สิงคโปร์ ยอมรับเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังชะลอตัวอันเป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการล็อกดาวน์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของสิงคโปร์

...

การส่งออกและการย้ายฐานการผลิต :

อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคหนำซ้ำยังมีราคาแพงขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลดีต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในปริมาณสูง เช่น การส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) ผลิตภัณฑ์ยางพารา (ไทยและมาเลเซีย) ถ่านหิน (อินโดนีเซีย) และอาหาร (ไทย)

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนได้ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้ทำให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และรองเท้า เพื่อกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากประเทศจีน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ Apple ตัดสินใจย้ายฐานการผลิต iPad บางส่วนไปยังประเทศเวียดนาม

ขณะเดียวกันการที่บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีการกำหนดนโยบายควบคุมราคาสินค้าบางชนิด เช่น กรณีฟิลิปปินส์ มีมาตรการควบคุมราคาข้าว รวมถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย กับกรณีการเข้าแทรกแซงราคาน้ำมัน ยังอาจส่งผลดีต่อการสกัดกั้นเงินเฟ้อในประเทศได้ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจทำให้ อาเซียน ไม่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติเงินเฟ้อที่หนักหน่วงเหมือนเช่นสหรัฐฯ และยุโรปก็เป็นได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...