“คุณต้องการลดอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเหล่าบรรษัทอันมั่งคั่งทั้งหลายจ่าย (ภาษี) อย่างยุติธรรม” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ
“คณะกรรมการที่ดูแลเรื่องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิที่เพิ่งถูกแต่งตั้ง ควรตรวจสอบทวีตนี้ หรือไม่ก็ควรมีการเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
การขึ้นภาษีนิติบุคคลเป็นหัวข้อการสนทนาที่ดี การทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะมีการหารือ หากแต่การนำทั้งสองเรื่องนี้มามัดรวมเข้าด้วยกันถือเป็นการหลงประเด็น” เจฟฟ์ เบซอส อภิมหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon
...
ที่ “คุณ” เพิ่งผ่านสายตาไปคือการเปิดศึกวิวาทะอย่างดุเดือดระหว่างผู้นำโลกเสรีอย่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ เจฟฟ์ เบซอส ผู้ถือครองความมั่งคั่งอันดับ 3 ของโลก จนสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งทวิภพ ว่าแต่....มันเกิดขึ้นมาจากอะไรกันนะ?
“ความร่ำรวย ภาษี และ เงินเฟ้อ” เหตุใดมันจึงถูกนำมาผูกโยงกันจนแทบจะกลายเป็นการวิวาทกันได้!
เงินเฟ้อ :
ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาวิกฤติภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึงระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายทศวรรษ จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ก๊าซ อาหาร และ ที่อยู่อาศัย โดยเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index : CPI) ซึ่งใช้วัดต้นทุนสินค้าและบริการ รวมถึงแนวโน้มภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.3% ซึ่งลดลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนมีนาคม ซึ่งพุ่งไปแตะระดับ 8.5% และแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งแล้วในปีนี้ และยังมีแนวโน้มสูงด้วยว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงมาอยู่ที่เป้าหมาย 2% ภายในปีนี้
ความร่ำรวย :
"เจฟฟ์ เบซอส" อภิมหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ระดับโลก, หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์, บริษัทท่องอวกาศบลูออริจิน ถือเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกในลำดับที่ 3 โดยมีความมั่งคั่งสุทธิประมาณ 137,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามการประเมินของนิตยสารฟอร์บส์
ภาษี :
Build Back Better แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสหรัฐฯ ของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะมีการทุ่มเทเม็ดเงินมากกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากเงินของบรรดาอภิมหาเศรษฐีในสหรัฐฯ ผ่านแผนการจัดเก็บ “ภาษีสำหรับอภิมหาเศรษฐี” (Billionaire tax) ซึ่งจะเป็นการเก็บภาษีกับบรรดาอภิมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินในความครอบครองมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ผู้มีรายได้เกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 3 ปีติดต่อกัน
...
โดยเบื้องต้นนักวิเคราะห์ประเมินว่า จะมี “อภิมหาเศรษฐี” ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่อยู่ในข่ายจะต้องเสียภาษีรูปแบบใหม่นี้ มากกว่า 700 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นย่อมต้องมี "เจฟฟ์ เบซอส" รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอนที่สุดนั้น จะสามารถหาเงินเข้ารัฐได้รวมกันมากกว่า 200,000-250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
โดย...แอนดริว เบตส์ (Andrew Bates) โฆษกทำเนียบขาวสหรัฐฯ ได้ออกมาระบุหลังเกิดศึกวิวาทะบนโลกทวิภพอันลือลั่นว่า จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้แผนการจัดเก็บภาษีสำหรับอภิมหาเศรษฐีที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ “เจฟฟ์ เบซอส” จะต้องจ่ายภาษีเข้ารัฐเพิ่มอีกมากกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ!
...
และหากใครยังไม่ทราบ...อภิมหาเศรษฐีเจ้าของ Amazon อย่าง “เจฟฟ์ เบซอส” ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจาก Tax credit หรือ จำนวนเงินที่สามารถใช้เพื่อชดเชยภาระภาษี (เช่น การลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา หรือ การขาดทุนสะสมต่อเนื่องหลายปีในช่วงที่บริษัทไม่สามารถทำกำไร) และการหักลดหย่อนภาษี จนกระทั่งทำให้อาณาจักรอันยิ่งใหญ่อย่าง Amazon ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้เข้ารัฐบาลกลางแม้แต่ดอลลาร์เดียวในช่วงระหว่างปี 2017-2018
โดยในปี 2018 นั้น นอกจาก Amazon จะไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้จากผลกำไรก่อนหักภาษีซึ่งมีตัวเลขสูงถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังได้รับคืนเงินภาษีมากถึง 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เสียอีกด้วย!
ประเด็นที่นำไปสู่การวิวาทะเรื่องภาษีและเงินเฟ้อ :
เจฟฟ์ เบซอส :
บิลเลียนแนร์อันดับ 3 ของโลก ยืนยันว่าการใช้ทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองเป็นครั้งแรกของเขานั้น เป็นเพราะการเร่งเร้าเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะยิ่งเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ปัญหาเรื่องเงินเฟ้อนี้ ผู้ที่ได้รับผลประทบมากที่สุดคือ "กลุ่มคนระดับฐานราก"
โจ ไบเดน :
ฝ่ายทำเนียบขาวมองว่าการออกแสดงท่าที “คัดค้าน” และมุ่งโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างดุเดือดในครั้งนี้เป็นเพราะนอกจาก “เจฟฟ์ เบซอส” จะเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงจาก Billionaire tax แล้ว การที่ก่อนหน้านี้ ผู้นำสหรัฐฯ ได้เชิญชวนผู้แทนสหภาพแรงงาน Amazon และสหภาพแรงงาน Starbucks ไปเข้าพบที่ทำเนียบขาว ซึ่งอาจนำไปสู่การรวมตัวกันในอนาคต ยังถือเป็นอีกหนึ่งชนวนเหตุสำคัญที่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับ “เจฟฟ์ เบซอส” เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมา อภิมหาเศรษฐีผู้นี้ พยายามขัดขวางการรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานมาโดยตลอด
...
พร้อมกับยืนยันว่าแผนยุทธศาสตร์ Build Back Better นั้น ได้รับการออกแบบเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะยาว ทำให้มันไม่ใช่เป็นเพียงแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ เจฟฟ์ เบซอส เข้าใจอีกด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :