โจ โรแกน (Joe Rogan) คือ พิธีกรรายการพอดแคสต์ที่โด่งดังในระดับต้นๆ ของโลกอย่าง The Joe Rogan Experience ซึ่งมีค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ฟังมากมายถึง 11 ล้านคนต่อตอน และในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยังมีจำนวนผู้ฟังคิดเป็นค่าเฉลี่ยสูงถึง 4.5% จากจำนวนผู้รับฟังพอดแคสต์ทั้งหมดในโลก ของ สปอติฟาย (Spotify) บริษัทสตรีมมิงชื่อดังสัญชาติสวีดิช ซึ่งทุ่มเทเงินทองมากมายถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อสิทธิมาลงเป็น Exclusive content ให้กับ Spotify ตามกลยุทธ์รุกขยายจำนวนสมาชิกในตลาดสตรีมมิง ด้วยเทรนด์ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลามอย่าง “พอดแคสต์” ตั้งแต่ปี 2020
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : Spotify เปิดยุทธการ ดัน Podcast ครองโลก "สตรีมมิง"
แต่ในท่ามกลางการได้รับความนิยมในวงกว้าง และได้รับการคาดหมายอย่างสูงจาก Spotify ในการเป็นหัวหอกขยายตลาดสตรีมมิง แต่แล้วหลังเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19... The Joe Rogan Experience กลับต้องเผชิญหน้ากับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “กำลังกลายเป็นหนึ่งในช่องทาง เผยแพร่ Fake News เกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดและข้อมูลที่บิดเบือนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
และประเด็นนี้ยังกลายเป็นผลพวงให้ Spotify ถูกตั้งคำถามจากรอบด้านด้วยเช่นกันว่า ในเมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ ต่างหันมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการสกัดกั้นการเผยแพร่หรือแชร์ข้อมูลเท็จ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และหนึ่งในมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นก็คือมาตรการ “แบนผู้ใช้งาน” ไปตลอดกาล
...
แต่เหตุไฉน...บริษัทสตรีมมิงยักษ์ใหญ่สัญชาติสวีดิช ซึ่งเคยประกาศกร้าวเสียด้วยซ้ำไปว่าจะแบนบรรดาสำนักข่าวต่างๆ หากมีการเผยแพร่ Fake News เกี่ยวกับอันตรายจากโควิด-19 หรือเนื้อหาต่างๆ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน จึง “ปล่อยปละ” การกระทำของ โจ โรแกน ไปได้?
ทั้งหมดนี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ในวันนี้ “เรา” จะค่อยๆ ไปไขหาคำตอบในเรื่องนี้กันทีละบรรรทัดจากนี้เป็นต้นไป...
เมื่อศิลปินเพลงระดับโลกสุดทน ประกาศ แบน Spotify
การที่ The Joe Rogan Experience และ Spotify ยังคงเมินเฉยต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากมหาชน มันจึงนำไปสู่การ “สุดจะทน” แล้วเช่นกันของคนระดับบิ๊กเนมในวงการดนตรีโลกในที่สุด
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าศิลปินและบริษัทเพลงต่างๆ จะนำเพลงของตัวเองออกจากแพลตฟอร์ม Spotify และหยุดให้การสนับสนุนข้อมูลเท็จต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19”
ลงนามโดย...นีล ยัง (Neil Young) ศิลปินที่หากเป็นเบอร์สอง มันคงเหลืออีกน้อยคนมากในโลกนี้ที่กล้าแม้แต่จะคิดจะมาเป็นเบอร์หนึ่ง และยังสามารถดึงดูดผู้ใช้บริการ Spotify ด้วยค่าเฉลี่ยการฟังเพลงจากแคตตาล็อกเพลงของป๋าได้มากถึง 6 ล้านคนจากต่อเดือน!
และในเมื่อ “ป๋านีล” ออกมาเปิดหน้าชนแบบตรงไปตรงมาแบบนี้ มันจึงทำให้ศิลปินคนอื่นๆ ที่เห็นด้วย ประกาศถอดเพลงของตัวเองทั้งหมดออกจาก Spotify ด้วย เช่น นีลส์ ลอฟเกรน (Nils Lofgren) มือกีตาร์ของ “เดอะบอส” บรูซ สปริงทีน (Bruce Springsteen), โจนี มิตเชลล์ (Joni Mitchell) นักร้องนักและนักเขียนเพลงชื่อดัง ในขณะที่ เบรเน บราวน์ (Brene Brown) อีกหนึ่งนักจัดรายการพอดแคสต์ชื่อดัง ประกาศว่าจะไม่มีการเผยแพร่คอนเทนต์ใหม่ จนกว่า Spotify จะมีการแสดงจุดยืนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน
และไม่เพียงเท่านั้น ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ยังได้ทวีตสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “ป๋านีล” ด้วยข้อความที่ว่า “พวกเราทุกคนมีบทบาทในการยุติการแพร่ระบาดและข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน” อีกด้วย
อะไรคือจุดที่ทำให้ ศิลปินและผู้คนในวงการแพทย์ สุดจะอดกลั้น กับ โจ โรแกน และ Spotify ได้อีกต่อไป?
...
แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงแต่ โจ โรแกน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “เรตติ้ง” ที่ได้มาส่วนหนึ่งเกิดจากความ “ตั้งใจ” จัดรายการด้วยการเชิญแขกรับเชิญประเภท “สายล่อฟ้า” ซึ่งถูก “แบน” จากแพลตฟอร์มอื่นเนื่องจากมีการกระทำที่ละเมิดกฎการเผยแพร่เนื้อหามาออกในรายการของเขาอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในประเด็นการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
และในตอนที่ทำให้ “ป๋านีล” และศิลปินคนอื่นๆ “ทนไม่ไหว” จนต้องลุกขึ้นประกาศถอดเพลงออกจากแพลตฟอร์ม รวมถึงผู้คนในวงการแพทย์และนักวิชาการในสหรัฐฯ มากกว่า 270 คน “สุดจะทน” จนถึงขั้นร่วมกันล่ารายชื่อส่งจดหมายเปิดผนึกถึง Spotify ประกาศนโยบายกลั่นกรองเนื้อหาให้มีความชัดเจนก็คือ การที่ โจ โรแกน เชิญ โรเบิร์ต มาโลน (Robert Malone) นายแพทย์และนักวิจัยผู้ประกาศจุดยืนต่อต้านวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นบุคคลที่กลุ่ม Anti-Vaxxer ให้การสนับสนุน จนกระทั่งถูก “ทวิตเตอร์” ประกาศ “แบน” โทษฐานเผยแพร่ข้อมูลเท็จ มาให้สัมภาษณ์และเผยแพร่ข้อมูลที่โดนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ แบน ในรายการ The Joe Rogan Experience เป็นเวลานานถึง 3 ชั่วโมง!
ทั้งๆ ที่หากบรรดาเจ้าของรายการพอดแคสต์คนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงไม่โด่งดังนัก หากพยายามทำคอนเทนต์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกันนี้ จะถูก Spotify “ลบคอนเทนต์ทันที” โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า
...
นั่นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า...เหตุใด โจ โรแกน จึงมีบรรทัดฐานในการทำคอนเทนต์ที่แตกต่างไปจากคนอื่นได้?
หรือนั่นเป็นเพราะ...สัญญามูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับ Exclusive content?
บรรดาสื่อยักษ์ใหญ่ตั้งข้อสังเกตว่า สัญญาการซื้อสิทธิขาดให้ The Joe Rogan Experience มาลงให้เฉพาะ Spotify ในปี 2020 ไม่มีการเปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงต่างๆ ต่อสาธารณะ โดยทาง Spotify ออกมาเปิดเผยเพียงว่า โจ โรแกน จะสามารถควบคุมและสร้างสรรค์รายการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนั่นอาจแปลว่า Spotify อาจจะไร้ซึ่งสิทธิในการเข้าไปควบคุมหรือกลั่นกรองเนื้อหาต่างๆ ที่ โจ โรแกน ผลิตออกมาก็เป็นได้
นอกจากนี้ จากการตามจิกกัดของสื่อยังพบด้วยว่า Spotify ยังไม่มีการระบุนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเผยแพร่ Fake News เรื่องโควิด-19 ลงไปในระเบียบการใช้งาน และข้อห้ามที่เกี่ยวข้องกับการผลิตคอนเทนต์อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ทาง Spotify จึงสามารถใช้ยุทธวิธี “พลิ้วไหวในสายลม” เพื่อคอยหลบเลี่ยงแรงปะทะอันเกิดจากการผลิตคอนเทนต์ของ โจ โลแกน มาได้โดยตลอด
...
เดี๋ยวก่อนนะ...“เรา” ลืมบอก “คุณ” ไปหรือเปล่านะว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ฟังพอดแคสต์ ของ Spotify มียอด “แซงหน้า” ผู้บุกเบิกวงการอย่าง Apple Podcast ไปแล้วจากการดำเนินกลยุทธ์ทุ่มเงินกว้านซื้อบริษัทผู้ผลิตพอดแคสต์จำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อขยายฐานจำนวนผู้ใช้งาน
เอาล่ะ เราไปกันต่อ...แม้จะพลิ้วไหวในสายลมมาได้หลายครั้ง....
แต่ยกเว้น “แรงปะทะ” ล่าสุดที่กำลังเกิดขึ้นกับ Spotify?
การที่ศิลปินเริ่ม Call out โดยเฉพาะคนคนนั้นคือ “นีล ยัง” ศิลปินที่มากไปด้วยบารมี จนนำไปสู่การจุดชนวนถกแถลงถึงการกระทำของ โจ โรแกน และ Spotify ออกไปในวงกว้าง และตามมาด้วยการ “ยกเลิก” การใช้บริการ Spotify จำนวนมากตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยังได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องตามมา ด้วยการทำให้มูลค่าบริษัทลดลงมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ! (66,472 ล้านบาท อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ก.พ. 2022)
เมื่อเหตุการณ์เริ่มเกิดลุกลามบานปลายไปใหญ่โต Spotify จึงต้องดิ้นรนอย่างหนักด้วยการประกาศว่า ได้จัดการลบพอดแคสต์ มากกว่า 20,000 ตอน ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้วตามนโยบายควบคุมการนำเสนอเนื้อหาของตัวเอง (สงสัยเพิ่งนึกออก)
ในขณะที่ โจ โรแกน เองก็ยอมถอยกรูดด้วยการเผยแพร่คลิปความยาว 10 นาที ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2022 ที่ผ่านมา ด้วยการยอมรับว่า...
“I don’t always get it right”
“ผมไม่ใช่คนที่ถูกต้องเสมอไป”
และพร้อมกับจะยอมปรับปรุงวิธีการทำงานรายการ 2 ข้อคือ...
ข้อแรก จะให้ผู้เชี่ยวชาญกระแสหลักได้แสดงความคิดเห็นในอีกมุมมองหนึ่ง หลังจากได้รับฟังความเห็นของแขกรับเชิญ
ข้อที่สอง จะพยายามค้นหาข้อมูลอย่างเต็มที่ในหัวข้อต่างๆ ที่จะนำมาใช้สนทนาในรายการ โดยเฉพาะในหัวข้อที่ยังมีการโต้แย้ง เพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงที่รอบด้านเสียก่อนที่จะมีการหยิบยกมาใช้เป็นประเด็นในการพูดคุย
ว่าแต่...เหตุใด โจ โรแกน และ Spotify จึงเพิ่งนึกออกกันนะว่า กฎพื้นฐานที่สื่อต้องยึดถือคือ “การนำเสนอข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและรอบด้าน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ