ทั่วโลกต่างจับตามองสถานการณ์ในยูเครน เกรงว่าจะลุกลามบานปลายถึงขั้นเกิดสงครามโลกหรือไม่ ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก ภายหลังรัสเซียส่งกำลังทหารเกือบ 100,000 นาย เข้าประชิดชายแดนยูเครน รวมถึงแหลมไครเมีย ซึ่งยึดไปจากยูเครนอย่างไม่ชอบธรรมเมื่อปี 2557 อาจเป็นสัญญาณกำลังจะบุกโจมตียูเครน ในไม่ช้านี้

ทำให้สหรัฐฯ เตรียมกองกำลังทหาร 8,500 นาย เข้าเสริมกับกองกำลังตอบโต้เร็วของชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ประมาณ 40,000 นาย หากต้องตอบโต้กับกองทัพรัสเซีย เพื่อขัดขวางไม่ให้รุกรานยูเครน และขู่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรง

ขณะที่รัสเซียปฏิเสธ ไม่ได้วางแผนจะรุกรานยูเครนตามข้อกล่าวหา แต่เป็นเพียงความพยายามของนาโตจะปกปิดแผนยั่วยุจากสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้น จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ และมองนาโตเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย มาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

ท่ามกลางความวิตกกังวลของชาวโลก เกรงว่าวิกฤติในยูเครน เพราะต่างฝ่ายไม่ยอมกัน จะนำไปสู่สงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจหรือไม่ “ศ.กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู” ผู้อำนวยการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นว่า ในขณะนี้ไม่รู้แน่ว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย คิดอย่างไร แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะมีช่องทางการทูตในการคลี่คลายวิกฤติได้อย่างไร ต้องใช้ความสามารถเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้เสียหน้ากันทั้ง 2 ฝ่าย

...

ประเด็นอยู่ที่ว่ามุมมองของรัสเซีย ไม่ต้องการให้ยูเครน ตกไปอยู่ฝั่งชาติตะวันตก หรือนาโต นำโดยสหรัฐฯ เพราะจะมีผลต่อความมั่นคงของรัสเซีย ขณะที่ตะวันตกปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัสเซีย ในการให้คำยืนยันจะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิกนาโต และไม่ติดตั้งอาวุธใกล้ชายแดนรัสเซีย รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตอนกลางและตะวันออก

“เพราะแต่ละประเทศก็มีอธิปไตย ในการจะเข้าช่วยฝ่ายไหนก็ตาม แต่รัสเซียก็ระแวงจะถูกคุกคามโดยประเทศตะวันตก จะต้องทำอย่างไรไม่ให้ยูเครนไปสนับสนุนฝ่ายตะวันตก แม้ดึงคาบสมุทรไครเมีย ไปเป็นของรัสเซียไปแล้ว และ 2 พื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน โน้มเอียงไปสนับสนุนรัสเซีย”

รวมถึง เยฟเฮน มูราเยฟ อดีตนักการเมืองของยูเครน ซึ่งฝักใฝ่นิยมรัสเซีย ได้ไปตั้งรัฐบาลหุ่นเชิด สนับสนุนไม่ให้เข้าฝ่ายตะวันตกตามที่รัสเซียต้องการ หากยังไม่สามารถยึดครองยูเครนได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ทางปูติน ต้องคิดบวกลบคูณหาร หากทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบจะมีค่าใช้จ่ายสูง และจะสามารถควบคุมคนยูเครนได้ทั้งหมดหรือไม่

ท่าทีของสหรัฐฯ คิดว่าคงไม่ยกกองกำลังไปในขณะนี้ หลังเพิ่งถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน และตอนนี้ก็ให้อาวุธกับยูเครน เช่นเดียวกับประเทศตะวันตกพยายามให้ความช่วยเหลือ เพื่อหวังป้องปรามปูติน และหากรัสเซียจะยังคงรุกรานยูเครน จะเกิดการคว่ำบาตรจนกระทบเศรษฐกิจรัสเซีย แต่ในประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับความเป็นเอกภาพของประเทศตะวันตก เพราะต้องพึ่งพลังงานก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แม้ยังไม่มีสงครามแต่ราคาพลังงานได้ปรับเพิ่มมากขึ้นถึง 3 เท่าไปแล้ว หลายประเทศคงไม่อยากสูญเสียประโยชน์

ขณะที่รัสเซีย ส่งกองกำลังเข้าประชิดชายแดนยูเครน พร้อมจะรุกรานยูเครน แต่ถึงอย่างไรแล้วยูเครนก็ต้องต่อสู้ ส่วนความรุนแรงของสงครามจะขยายไปเท่าใด อยู่ที่ฝ่ายตะวันตกและตัวปูติน เพราะขณะนี้มีหลายประเทศสมาชิกนาโต ได้ทยอยอพยพนักการทูตออกจากยูเครน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะไม่แน่ใจว่ารัสเซียจะไม่รุกรานยูเครน แม้รัสเซียปฏิเสธอ้างว่าเป็นความหวั่นวิตกของตะวันตก

“เรื่องนี้ต้องฟังหูไว้หู แม้แต่โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยกกองกำลังบุกไปขนาดใหญ่ หรือแบบย่อย หากขนาดใหญ่ก็จะมีการตอบโต้จากรัสเซีย และหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ ตามกฎบัตรสหประชาชาติ ถ้าประเทศใดรุกรานอธิปไตยของประเทศอื่น จะให้สิทธิในการป้องกันร่วมกัน แต่ในกรณีนี้จะเป็นเรื่องของมหาอำนาจรบกัน ไม่เหมือนบุกอิรัก ในสมัยซัดดัม ฮุสเซน ซึ่งสมาชิกสหประชาชาติ สามารถทำได้”

...

การทูต ทางเลือกหยุดสงคราม ก่อนโลกพินาศ

การจะเกิดสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจ จากปมขัดแย้งในยูเครน เป็นสิ่งที่ชาวโลกจับตามองว่าจะลงเอยอย่างไร แต่การทูตยังเป็นทางเลือก ไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายเสียหน้า และการทำสงครามไม่ได้อยู่ที่จำนวนทหารของแต่ละฝ่ายมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับแสนยานุภาพทางอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยรัสเซียเหนือกว่ายูเครน จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้รัสเซียเสียหายมากที่สุด และต้องดูผลดีผลเสีย คงไม่ทำอะไรโดยไม่มีแผนการ 1-2-3 อยู่แล้ว ซึ่งไม่มีใครรู้แน่ และเชื่อว่าจะไม่ทำอะไรตามอำเภอใจ

อีกทั้งปูติน มีความพยายามจะฟื้นอาณาจักรรัสเซีย ให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีตสมัยเป็นสหภาพโซเวียต จนกลายเป็นระบบปูติน เพื่อสร้างเกียรติประวัติให้กับตัวเอง จนมีการตอบโต้ไปมาระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่ผู้นำยูเครน ไม่ยอมก้มหัวให้ตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และส่วนใหญ่หันไปสนับสนุนนาโต ซึ่งต้องแสดงให้คนรัสเซียได้เห็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ยุโรปตะวันออกไม่อยากกลับไปอยู่ภายใต้รัสเซีย

...

แต่มองในแง่ปูติน ทางรัสเซียก็เคยถูกประเทศตะวันตกคุกคามมาก่อน จึงไม่อยากให้ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้นอีก ขณะที่สหรัฐฯ ก็ไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้ลาตินอเมริกา ซึ่งน่าจะเข้าใจความรู้สึกของปูติน ไม่อยากให้ใครมาทำลายเขตอิทธิพล จนส่งผลกระทบต่อความมั่นคง อย่างยุโรปตะวันออก เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต กระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามเย็น สหภาพโซเวียตเกิดการล่มสลาย

“ถือเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายนิยมประชาธิปไตย กับฝ่ายอำนาจนิยม หากประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยในการเผชิญหน้ากันจริง ฝ่ายประชาธิปไตย จะเหนือกว่าฝ่ายอำนาจนิยม ทั้งจีนและรัสเซีย อย่างจีนก็สู้ไม่ถอย แม้มีพวกน้อย แต่อำนาจในประเทศยังเบ็ดเสร็จ”

หวังว่าจะไม่เกิดสงคราม เพราะไม่เป็นผลดีจะส่งผลกระทบไปทั่วโลกทั้งเศรษฐกิจ ความมั่นคง หากไม่ใช้เหตุผล เพราะยึดเกียรติภูมิศักดิ์ศรี และเสียหน้าไม่ได้ จนเกิดสงครามมีการรบราฆ่าฟันเหมือนในอดีต ยิ่งปัจจุบันมีอาวุธมหาประลัยจะสร้างความเสียหายอย่างหนัก หากพฤติกรรมมนุษย์ไม่ยอมเปลี่ยนในการเอาชนะ และเชื่อว่าไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ปล่อยให้ปูติน ทำอะไรตามอำเภอใจอย่างแน่นอน

...

ท่าทีของไบเดน แตกต่างกับสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมให้รัสเซียมาตลอด คล้ายมีลับลมคมใน เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองจนมีการแทรกแซงเลือกตั้ง เป็นหนี้บุญคุณต่อกัน และหวังว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากความไม่ไว้วางใจกัน จะมีทางลงระหว่างมหาอำนาจ จนมีทางออกโดยใช้เหตุผลเหนือกว่าศักดิ์ศรี และอีโก้ของผู้นำประเทศ ไม่ให้เกิดสงครามในที่สุด.