มาถึงตอนนี้ ท้ายปี 2564 วิกฤติ Semiconductor Chip Shortage หรือการขาดแคลน ชิป เซมิคอนดักเตอร์ ที่เริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2563 ก่อนจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ (2564) ก็ยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้นเท่าไรนัก และดูเหมือนว่า...จะลุกลามไปจนถึงปีหน้า (2565) หรือดีไม่ดีอาจลากยาวถึงปลายปี 2566 ก็เป็นไปได้!!

แน่นอนว่า ภาวะวิกฤติชิปขาดแคลนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ "สินค้าไฮเทค" (High-Tech) รวมถึง "อุตสาหกรรมรถยนต์" ที่การผลิตรุ่นใหม่ๆ ส่อสะดุด

ชิปหาย... ชิปขาดแคลน สาเหตุจากอะไร?

เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่... "ชิป" อยู่รอบตัวเรา ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ไปจนถึงรถยนต์ หรือแม้แต่สินค้าบางรายการที่หลังๆ ก็มีความไฮเทคมากขึ้น เช่น เครื่องซักผ้า แปรงสีฟันไฟฟ้า และตู้เย็น เรียกได้ว่าชิ้นส่วนเล็กๆ นี้ มี "อำนาจ" ต่อการดำรงชีวิตของเราเหลือเกิน

...

หากยังจำกันได้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (2564) "ทิม คุก" ซีอีโอแอปเปิล (Apple) ได้ออกมาเตือนให้ทุกคนรับรู้โดยทั่วกันแล้วว่า วิกฤติชิปขาดแคลนจะส่งผลกระทบต่อยอดขายโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตอย่างแน่นอน

แล้วก็เป็นจริง...

เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2564 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า "แอปเปิล" (Apple) ต้องจำใจปรับลดการผลิตสมาร์ทโฟนซีรีส์ "ไอโฟน 13" (iPhone 13) ลง ด้วยปัญหา "ชิปหาย!" แม้จะมียอดสั่งจอง สั่งซื้อ เป็นที่น่าพึงพอใจก็ตาม ซึ่งหลังจากข่าวดังกล่าวออกมา ก็ส่งผลต่อ "หุ้น Apple" ทันทีที่มีการเทรดตลาดหลังการขาย ร่วง 1%

ปัญหา "ขาดแคลนชิป" เป็นผลพวงมาจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 โรงงานหลายแห่งทั่วโลกต้องประกาศ "ชัตดาวน์!" ทำให้ไม่มีวัตถุดิบในการผลิตชิปนานหลายเดือน แต่ความต้องการ "ชิป" กลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในแง่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ ออเดอร์ทับถมเรื่อยๆ สวนทางกับ "ผู้ผลิตชิป" ที่ไม่สามารถจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการได้ทัน

เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น?...

"ชิป" เล็กๆ แต่ "มูลค่า" ไม่เล็ก!

ที่บอกว่า "มูลค่าชิป" ไม่ใช่เล็กๆ นั่นก็เพราะผลพวง "วิกฤติชิปขาดแคลน" ในครั้งนี้ จะทำให้ "ต้นทุน" ของอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก ในส่วนรายได้ปี 2564 นี้ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว!

โดยบริษัทที่ปรึกษา "อลิกซ์พาร์ทเนอร์" (AlixPartner) ได้ปรับประมาณการณ์ต้นทุนเป็น 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6.99 ล้านล้านบาท (*อัตราการแลกเปลี่ยน ณ 3 พ.ย. 64 : 33.36 บาท) จากเดิมเดือนพฤษภาคม (2564) คาดว่าอยู่ที่ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท (*ปลาย ม.ค. คาดการณ์เบื้องต้น 6.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2 ล้านล้านบาท)

ไม่เพียงเท่านั้น ผลพวงของ "วิกฤติชิปหาย!" นี้ ยังคาดว่า ในปี 2564 การผลิตรถยนต์ก็จะหายไปด้วย 7.7 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากประมาณการณ์ 3.9 ล้านคัน เมื่อเดือนพฤษภาคม (2564) หลังไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ภาคการผลิตได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

...

อีกทั้งยังเตือนถึงบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก อาทิ ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) และเจเนอรัล มอเตอร์ (General Motors) เป็นต้น ด้วยว่ารายได้ปี 2564 ของพวกเขาจะลดลงอย่างมหาศาล เพราะการขาดแคลนชิป!

เว้นแต่... รายได้ที่สูญเสียไปจะได้รับการชดเชยโดยการบริโภคที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และกำไรเพิ่มขึ้นจากราคารถยนต์

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 1.4 แสนคัน เทียบเดือนเดียวกันปีก่อน (2563) ลดลง 6.4% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม (2564) 34.5% รวมนับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2564 ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 26%

ส่วนข้อกังวลว่า การขาดแคลนชิปจะกระทบต่อการผลิตรถยนต์ของไทยในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ก็คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นวิกฤติที่เจอกันทั้งโลก ดังนั้นไทยก็น่าจะยังคงรักษาความเป็น 1 ในผู้นำการผลิตและส่งออกรถยนต์ได้อยู่

โดยมุมมองของ แดน เฮียนส์ซ แห่ง AlixPartners เชื่อว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกจะยังไม่ฟื้นกลับสู่สภาพปกติอย่างแท้จริง และยอมรับว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน... คาดการณ์ว่า ปัญหาชิ้นส่วนจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยก็เข้าสู่ไตรมาส 2 ปีหน้า (2565) หรืออาจจะลากยาวกว่านั้นอีกหน่อย จนกว่าสินค้าคงคลังจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

...

ผลกระทบนอกเหนืออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ คือ... "ราคา" จะเพิ่มสูงขึ้นในส่วนสินค้าต่างๆ ที่มีความต้องการใช้ "เซมิคอนดักเตอร์" นี้ รวมถึงสินค้าบางอย่างอาจไม่มีจัดส่ง หรือหากจัดส่งก็ล่าช้าจนแทบรอไม่ไหว และนั่นอาจกระทบต่อยอดขายด้วย เช่น ไอแพด (iPad) แมค (Mac) หรือกระทั่งเอ็กซ์บอกซ์ (Xbox) และเพลย์สเตชัน (Playstation)

มีวิธีแก้ปัญหาหรือไม่?

เมื่อเดือนที่ผ่านมา (ต.ค.) แม้หลายๆ ฝ่ายจะเห็นสัญญาณว่า คณะบริหารไบเดนจะมีความพยายามแก้ปัญหาขั้นแรกด้วย "วิธีพิเศษ" แต่จนแล้วจนรอดขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น

โดยหนึ่งใน "วิธีพิเศษ" ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้ของทำเนียบขาว คือ กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกัน (Defense Production Act: DPA)

หลังการประชุมหารือวิกฤติชิปขาดแคลน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ Ford, General Motors และบริษัทอื่นๆ มากกว่า 20 ราย เช่น Apple และไมโครซอฟท์ (Microsoft) ตามข้อมูลการรายงานของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ประเมินว่า ประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" อาจจะงัด DPA มาใช้เพื่อผ่อนคลายการหยุดชะงักบางส่วนของห่วงโซ่การผลิต ที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ใหม่น้อยลงกว่าแผนเดิมมาก ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ จีนา เรมอนโด ได้ถามตัวแทนอุตสาหกรรมต่างๆ ถึงจำนวนชิปที่บริษัทเหล่านี้มีอยู่ในมือ และจำนวนที่จำเป็น หรือต้องการซื้อ

...

ทั้งนี้ เหตุผลที่รัฐบาลต้องรู้รายละเอียดตัวเลขเหล่านี้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ข้อแรก คือ ต้องทำความเข้าใจมากขึ้น ไม่ว่าผู้ผลิตรถยนต์จะกักตุนชิปหรือไม่ก็ตาม

ข้อสอง คือ ต้องการจำนวนชิปที่ต้องการให้แน่ชัด

นั่นก็เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่า ผู้ผลิตรถยนต์กำลังออกใบคำสั่งซื้อชิปกับผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในจำนวนที่มากกว่าที่พวกเขาต้องการ ด้วยพวกเขาไม่คาดหวังว่า ผู้ผลิตชิปจะสามารถส่งออเดอร์ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องทำความเข้าใจว่า วิกฤติชิปขาดแคลนนี้ส่งผลเลวร้ายอย่างไร

อีกด้านหนึ่ง สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association : SIA) ก็ออกมาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2563 โรงงานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว 8% และภายในสิ้นปี 2565 จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 16%

ผู้บริหารสูงสุด ไซมอน เซการ์ส แห่ง Arm Holdings เพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะทุ่มงบลงทุนแล้วกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอีก 50% แต่ในระยะอันใกล้นี้ ซัพพลายชิปก็จะยังคงตึงมือ

ขณะที่ การบริหารความเสี่ยงอื่นๆ หลายบริษัทมีการปรับเปลี่ยนการนำชิปไปใช้ให้คุ้มค่ามากขึ้น ด้วยการนำไปใช้กับสินค้ารุ่นที่ขายดีก่อนรุ่นที่กำลังจะออกมาใหม่ ส่วนภาพระยะยาวก็เห็นได้ว่า หลายประเทศเริ่มลงทุนกับโรงงานผลิตชิปมากขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และยุโรป โดยคาดการณ์ว่ามาตรการอุดหนุนที่สหรัฐฯ จะใช้ในการส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศจะอยู่ที่ราวๆ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาการขาดแคลนชิปในอนาคต เพราะหากมีการปรับเปลี่ยนเข้าสู่โลกเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็จะยิ่งมีความต้องการใช้มากขึ้นไปด้วย

"นี่ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้น
ที่แก้ได้ด้วยวิธีแก้ปัญหาระยะสั้น"

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Chonticha Pinijrob

ข่าวน่าสนใจ: