จาก "คัมป์นู" สู่ "ปาร์ค เดอ แปรงซ์"
"I am excited to begin a new chapter of my career at Paris Saint-Germain. Everything about the club matches my football ambitions"
"ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ กับสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับสโมสรแห่งนี้ ตรงกับความทะเยอทะยานด้านฟุตบอลของผม"
ถ้อยคำแรกหลังการเหยียบย่างสู่กรุงปารีส ท่ามกลางการกู่ก้องร้องตะโกนเรียกชื่อ "เขา" อย่างบ้าคลั่งของ "ชาวปารีเซียง" นับพันนับหมื่นที่แทบไม่ใส่ใจกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกต่อไป
นั่นเป็นเพราะ...พระเจ้าแห่งโลกฟุตบอล ผู้ทำสถิติ 672 ประตู จาก 778 นัด เจ้าของบัลลงดอร์ 6 ครั้ง และเคยชูถ้วยรางวัลในโลกฟุตบอลมาแล้วรวมกันถึง 35 รายการ ได้ย้ายจากแคว้นกาตาลุญญา มาสถิตที่กรุงปารีส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสถานที่แห่งนี้ คือ อนาคตใหม่สำหรับพระเจ้า นามว่า "ลิโอเนล เมสซี"
...
แล้วอะไร คือ สิ่งที่สโมสรมหาเศรษฐีแห่งปารีสอย่างเปแอสเช ต้องนำไป "แลกเปลี่ยน" เพื่อนำ "พระเจ้า" มาสถิตที่ปาร์ค เดอ แปรงซ์?
ตามรายงานของสื่อกีฬาชื่อดังหลายสำนักระบุว่า การปิดดีลระหว่างเปแอสเชกับเมสซี จบลงที่สัญญา 2 ปี (พร้อมออปชันขยายเพิ่มอีก 1 ปี) ซึ่งการันตีเงินสุทธิก้อนโตประมาณ 82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2,736 ล้านบาท (41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อฤดูกาล หรือประมาณ 1,368 ล้านบาท รวมโบนัสและหลังหักภาษีแล้ว!) (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 13 ส.ค. 64 : 33.37 บาท)
ในขณะที่ สื่อกีฬาสเปนยังรายงานด้วยว่า สโมสรมหาเศรษฐีแห่งนี้ยังยอมจ่ายเงินกินเปล่า (Sign-on fee) เพิ่มให้กับยอดนักเตะชาวอาร์เจนตินา อีกถึงประมาณ 30 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,175 ล้านบาท (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 13 ส.ค. 64 : 39.17 บาท) ทั้งๆ ที่เมสซีอยู่ในสถานะนักเตะไร้สังกัด (Free Agent) อีกด้วย!
การย้ายทีมของ Mega Star ครั้งนี้ ใครคือผู้แพ้ และใครคือผู้ชนะ?
ผู้แพ้ บาร์เซโลนา
"จากนี้ไปเพื่อเป็นการรักษาสปอนเซอร์เอาไว้ ผลงานในสนามจะต้องมีความสำคัญมากกว่าชื่อเสียงของสโมสร อย่างไรก็ดี เห็นได้ชัดว่า การอำลาทีมของเมสซีส่งผลกระทบต่อการให้การสนับสนุนของบรรดาสปอนเซอร์ต่างๆ
ณ เวลานี้ บาร์เซโลนาต้องคว้าถ้วยแชมเปียนส์ลีกให้ได้ เพราะผลงานในสนาม คือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้สปอนเซอร์อยู่กับทีมต่อไป การไร้ซึ่งเมสซี ทำให้การพึ่งพาใบหน้า (เมสซี) เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต ไม่อาจทำได้อีกต่อไปแล้ว"
มาร์ค ซีเรีย (Marc Ciria) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของบาร์ซา และ CEO ของ Diagonal Investments กล่าวยอมรับโดยดุษณี
บาร์เซโลนาจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลังไร้ซึ่งเมสซี?
แบรนด์ไฟแนนซ์ (Brand Finance) บริษัทที่ปรึกษาด้านการประเมินมูลค่าแบรนด์ชื่อดังระดับโลก ได้ทำการประเมิน "มูลค่าแบรนด์" (Brand Value) ของบาร์เซโลนา หลังไม่มีนักเตะระดับพระเจ้าเอาไว้ว่า มูลค่าแบรนด์ของสโมสรแห่งแคว้นกาตาลุญญาจะลดลงทันทีถึงประมาณ 11%!
...
แล้ว 11% ที่ว่านี้ มันมีมูลค่าประมาณเท่าไรน่ะหรือ?
มูลค่าแบรนด์ในปัจจุบันของบาร์ซาถูกประเมินเอาไว้ที่ประมาณ 1,266 ล้านยูโร หรือประมาณ 49,587 ล้านบาท ฉะนั้น 11% ของ 1,266 ล้านยูโร จึงอยู่ที่ประมาณ 137 ล้านยูโร หรือประมาณ 5,365 ล้านบาท!
137 ล้านยูโร จากนักเตะเพียงคนเดียว ใช่ ย้ำอีกครั้ง "คุณ" ฟังไม่ผิด!
แล้ว 137 ล้านยูโรที่ว่านี้ มันถูกประเมินมาจากอะไรบ้าง?
1. รายได้เชิงพาณิชย์ (Commercial Revenue)
หากใครยังไม่ทราบ ไอจีของเมสซีในปัจจุบัน มียอดผู้ติดตามทั่วโลกมากถึง 240 ล้าน Followers ซึ่งจำนวนผู้ติดตามนี้ "มากกว่า" ยอดผู้ติดตามไอจีของสโมสรบาร์เซโลนาในปัจจุบัน ที่มีเพียง 99.5 ล้าน Followers ถึง 2 เท่า!
ซึ่งจำนวนผู้ติดตามจำนวนมหาศาลนี้ ทำให้เมสซีกลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดบรรดาสปอนเซอร์ มาสร้างรายได้และผลกำไรให้กับอดีตต้นสังกัดได้เป็นกอบเป็นกำอย่างไม่ต้องสงสัย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อบาร์ซาไร้ซึ่งเมสซี จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียการเชื่อมโยงกับการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ ตามการประเมินของ Brand Finance อย่างน้อย 77 ล้านยูโร!
...
2. ผลงานในสนามและรายได้ในวันแข่งขัน (On-pitch Performance & Matchday)
การผลิตประตูอย่างน้อย 30 ประตูต่อฤดูกาล ตั้งแต่ฤดูกาล 2008-2009 ทำให้บาร์ซาประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ฉะนั้น ในเมื่อ ณ วันนี้ บาร์ซาไม่มียอดนักเตะที่หาใครเสมอเหมือนได้ยากอีกต่อไปแล้ว ใครจะเป็นคนต่อไปที่จะเข้ามารับช่วงการรับประกันความสำเร็จในสนามของทีม เอาล่ะ แม้ในลิสต์รายชื่อนักเตะปัจจุบัน บาร์ซายังมีดาวเด่นอยู่ในทีมอีกหลายคน แต่เป็นที่ทราบกันดีว่ายังต้องใช้เวลาในการผสมสูตรและปรับอะไรอีกหลายๆ อย่างให้ลงตัว และสร้างดาราระดับแม่เหล็กคนใหม่เพื่อเรียกแฟนบอลเข้าชามอ่างยักษ์อย่างคัมป์นูให้เต็มปรี่ ให้เหมือนสมัยที่เมสซียังสถิตอยู่
ซึ่ง "หลุมดำ" ที่ว่านี้ ทำให้ Brand Finance ประเมินความเสี่ยงความสูญเสียในส่วนนี้เอาไว้ที่อย่างน้อยอีก 17 ล้านยูโร!
3. ยอดขายเสื้อและสินค้าที่ระลึก (Shirt sales and Merchandising)
เสื้อบาร์ซาที่ปักชื่อและหมายเลข 10 สัญลักษณ์ประจำตัวของเมสซี จะขายได้ 8 ตัว ในทุกๆ 10 ตัวที่วางจำหน่าย ทำให้เพียงเฉพาะยอดขายเสื้ออย่างเดียว สร้างรายได้ให้กับบาร์ซามากมายถึง 200 ล้านยูโรแล้ว และหากรวมเข้ากับส่วนแบ่งยอดขายเสื้อจากสปอนเซอร์อย่างไนกี้ (Nike) อีกประมาณ 10-15% จะทำให้บาร์ซารับทรัพย์ในส่วนนี้เพิ่มอีกประมาณ 30 ล้านยูโรเป็นอย่างน้อย
...
ฉะนั้น ในเมื่อตามชั้นวางขายสินค้าในสโตร์ของบาร์เซโลนา ไม่มี "Messi No.10" อีกต่อไปแล้ว Brand Finance จึงประเมินความเสี่ยงในส่วนนี้เอาไว้ที่ประมาณ 43 ล้านยูโรเป็นอย่างต่ำ!
77 + 17 + 43 = 137 ล้านยูโร!
แค่ตามบรรทัดด้านบนนั่นก็ว่าหนักแล้วใช่ไหม? แต่ปัญหาใหญ่มากไปกว่าที่กล่าวมา คือ ในเมื่อไร้ "นางกวัก" เรียกสปอนเซอร์อย่างเมสซีแล้ว บาร์ซา จะหาเงินก้อนโตๆ คราวละมากๆ จากที่ไหน สำหรับมาจ่ายหนี้สินที่ว่ากันว่าน่าจะสูงเกินกว่า 1,000 ล้านยูโร
อะไรคือ "หลักฐาน" ยืนยันในเรื่องนี้?
มาร์ค ซีเรีย (Marc Ciria) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของบาร์ซา และ CEO ของ Diagonal Investments เปิดเผยว่า เมสซีเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างรายได้ประจำปี (Usual Income) ให้กับบาร์เซโลนา ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้สูงถึงประมาณ 250-300 ล้านยูโรต่อปี
นอกจากนี้ บรรดาสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ยังมักจะเลือกต่อสัญญากับสโมสรแบบ "ปีต่อปี" มากกว่าที่จะทำสัญญาระยะยาว 4-5 ปี เนื่องจากกลัวว่า เมสซีจะออกจากบาร์ซาเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล และประเด็นนี้ คือ ข้อพิสูจน์ที่ยืนยันได้ว่า บรรดาสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่า บาร์เซโลนาจะมีสภาพเป็นอย่างไรในวันที่...ไม่มีเมสซีแล้ว
และหากใครยังไม่ทราบการออกทัวร์ต่างประเทศเพื่อ "หาเงิน" ในช่วงฤดูร้อน 5 ปีที่ผ่านมา รายได้จากส่วนนี้ของบาร์ซาถึงมากกว่า 50% จะขึ้นอยู่กับว่า มีชื่อของ "เมสซี" ไปร่วมลงเตะด้วยหรือไม่อีกด้วย
ผู้ชนะ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง
1. ได้สุดยอดนักเตะมาแบบฟรีๆ แถมจ่ายค่าจ้างในราคาเบาๆ
การบริหารจัดการเงินที่ผิดพลาด ทำให้บาร์ซาไม่สามารถเก็บรักษาสมบัติล้ำค่าเอาไว้ได้ และสุดท้าย เมสซีก็เดินจากมาและเข้าร่วมกับเปแอสเชแบบฟรีๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ หากใครคิดจะกล้าซื้อตำนานนักเตะผู้นี้ จะต้องจ่ายเงินค่าฉีกสัญญามากมายถึง 700 ล้านยูโร ซึ่งแน่นอนว่า "ไม่มีทาง" ที่จะมีทีมหน้าไหนในโลกสามารถจ่ายได้แท้ๆ
นอกจากนี้ สัญญา 2 ปีที่มีค่าเหนื่อยเป็นเงินสุทธิให้กับเมสซี เพียงประมาณ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อฤดูกาลนั้น มันเทียบอะไรไม่ได้เลยกับสัญญา 5 ปี ที่มีมูลค่ารวมมากมายถึง 835 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เฉลี่ยประมาณ 92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อฤดูกาล รวมออปชันเพิ่มเติมในกรณีที่พาทีมประสบความสำเร็จ) ซึ่งบาร์ซาเคยต้องจ่ายให้กับเมสซีเป็นสัญญาสุดท้ายก่อนจากลาอีกด้วย
นอกจากนี้ จำนวนเงินค่าเหนื่อยที่ว่านี้ มันจะยิ่งถูกลงไปอีก หากเมสซีสามารถบันดาลแชมป์เดียวที่เปแอสเชปรารถนาเสียเหลือเกิน อย่างแชมเปียนส์ลีก ได้สำเร็จ (สักที)
*หมายเหตุ: อ้างอิงรายงานจากนิตยสาร Forbes เมื่อปี 2017
2. เปแอสเชอยู่ท่ามกลางแสงสปอตไลต์บนธุรกิจลูกหนังในฤดูกาล 2021-2022 ทันที
ทันทีที่มีการยืนยันเรื่องการย้ายทีม ยอดผู้ติดตามโซเชียลมีเดียอย่างเป็นทางการของสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และไอจีเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ไอจีมียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึง 4.5 ล้าน Followers ระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค. (สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. มียอดรวมผู้ติดตาม 45.1 ล้าน Followers)
ทวิตเตอร์มีผู้กดติดตามทันที 100,000 Users หลังมีการทวีตข่าวการย้ายทีมของเมสซี และหลังจากนั้นมียอดเพิ่มขึ้น 1,000 Users ในทุกๆ นาที
และเฟซบุ๊กมีผู้กดติดตามเพิ่มขึ้นถึง 611,000 Users ในช่วงเวลาเดียวกัน
3. เสื้อเมสซีขายหมดเกลี้ยง
เสื้อสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทั้งเหย้าและเยือนที่ปักชื่อ Messi พร้อมหมายเลข 30 ซึ่งมีราคาถึงตัวละ 107.99 ยูโร ถูกขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาเพียง 20 นาที ทันทีที่เว็บไซต์ของสโมสรเปิดขายแบบออนไลน์ แถมเมื่อมีการวางจำหน่ายในสโตร์ของสโมสรในวันแรก ปรากฏว่ามีคนยอมต่อแถวยาวเหยียดมาซื้อเสื้อกันจนแน่นสโตร์ที่กรุงปารีสแล้ว
อ่อ...อย่าลืมด้วยนะว่า ปัจจุบัน Nike ภายใต้แบรนด์ Jordan กำลังจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับเปแอสเช เพื่อขยายการรุกเข้าสู่ตลาดฟุตบอลเต็มตัว แล้วหากนับจากนี้เกิดมีคอลเลกชั่น Messi Collaborated with Jordan ขึ้นมาล่ะ...เราคงแทบจินตนาการเม็ดเงินไม่ออกกันเลยละมั้ง!
4. มูลค่าสโมสรเพิ่มขึ้นทันควัน
วินเซนต์ เชาเดล (Vincent Chaudel) ผู้ร่วมก่อตั้ง Observatoire du Sport-Business ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดในวงการกีฬาโลก ประเมินว่า การมาของเมสซีจะช่วยทำให้มูลค่าของสโมสรปารีส แซงต์ แชร์กแมง เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10-20% (จากการประเมินล่าสุดของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เปแอสเชมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
5. จบได้แล้วนะ เอ็มปับเปนายไม่มีข้ออ้างจะหนีแล้ว
"เขาพูดกับสาธารณชนว่า เขาต้องการทีมที่จะสามารถแข่งขันกับใครก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ มันจะไม่มีทีมไหนที่จะแข่งขันกับใครๆ ได้ดีกว่านี้อีกแล้ว ฉะนั้น เขาจึงไม่มีข้ออ้างอื่นใดอีก นอกจากอยู่กับสโมสรต่อไป" นาสเซอร์ อัล เคไลฟี ประธานสโมสรเปแอสเช กล่าวถึงคีเลียน เอ็มปับเป ยอดกองหน้าชาวฝรั่งเศส ที่กำลังงอแงไม่ยอมต่อสัญญา (สักที) และมีข่าวว่าอยากจะย้ายไปเรอัล มาดริด เสียเหลือเกิน
ใช่! ณ ชั่วโมงนี้ จะมีสโมสรอื่นใดที่จะมี 11 ตัวจริงแข็งแกร่งไปกว่าปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่มีจิ๊กซอว์ตัวล่าสุดอย่างเมสซีย้ายเข้ามาแล้ว (จริงไหม)?
แล้วปารีส แซงต์ แชร์กแมง แข็งแกร่งขนาดไหนน่ะหรือ? เอาเป็นว่า หาก "คุณ" เกิดอยากจะนัดหวด Winning หรือ FIFA แบบขำๆ กับ "ใคร" ในชั่วโมงนี้ บางทีอาจมีการตั้งกฎ "แก" ห้ามเลือก "เปแอสเช" เอาเลยก็เป็นได้!
ไม่เชื่อลองดูรายชื่อ 11 ตัวจริงของปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่ได้รับการคาดหมายจากนิตยสาร fourfourtwo ในฤดูกาล 2021-22 กันดู
ระบบการเล่น 4-3-3
ผู้รักษาประตู จานลุยจิ ดอนนารุมนา ผู้รักษาประตูแชมป์ยุโรปหมาดๆ
กองหลัง เซร์คิโอ รามอส อดีตกัปตันเรอัล มาดริด, เพรสเนล คิมเพมเบ, อัชราฟ ฮาคิมี, ฆวน เบร์นาต
กองกลาง มาร์กินญอส, มาร์โก แวร์รัตติ, จอร์จินิโอ ไวจ์นัลดุม
กองหน้า เนย์มาร์, คีเลียน เอ็มบัปเป, ลิโอเนล เมสซี อดีตกัปตันทีมบาร์ซา
นี่เพียงแค่รายชื่อนักเตะตัวจริงนะ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมอีกประการ คือ ทีมนี้มีผู้จัดการทีมชื่อ เมาริซิโอ โปเชตติโน ทำหน้าที่วาทยกรให้อีกเสียด้วยสิ!
หากแต่ความสำเร็จดั่งที่ตั้งความหวังเอาไว้นั้นจะเป็นจริงได้หรือไม่ คงไม่มีใครหน้าไหนที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ 100% อย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเมสซีต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่ต้องมีการปรับตัว (บ้าง)
ในทีมบาร์ซา เขาคือ เบอร์หนึ่งในห้องแต่งตัวที่แม้ผู้จัดการทีมยังต้องให้ความเกรงใจ หรือแม้กระทั่งในสนาม หากเขาเรียกหาลูกบอล เพื่อนก็ต้องส่งมาให้ แต่กับที่ถิ่นปาร์ค เดอ แปรงซ์ คำถามคือ มันจะยังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่?
โดยเฉพาะเมื่อทีมนี้มีนักเตะแบบ "เซร์คิโอ รามอส" ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ใครหน้าไหน มีกองหน้าดาวซัลโวประจำทีมที่อยู่มาก่อนหน้าเขาอย่าง "เอ็มบัปเป" หรือแม้แต่กระทั่ง "เนย์มาร์" ที่เบื้องหน้าดูจะสนิทสนมกันดีตอนอยู่ที่บาร์ซา แต่หากใครยังจำได้ เหตุผลสำคัญที่เนย์มาร์ย้ายมาอยู่กับเปแอสเช ก็เพราะเขาไม่ต้องการอยู่ภายใต้ร่มเงาของเมสซีไม่ใช่หรือ?
หากย้อนกลับไปปี 2014 ก่อนหน้าที่ติโต บิลาโนวา (Tito Vilanova) อดีตกุนซือของบาร์เซโลนา จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเพียงไม่กี่วัน เขาเคยเอ่ยปากเกลี้ยกล่อมเมสซีจากแรงดูดของเปแอสเช สำเร็จด้วยคำพูดที่ว่า...
"นายจะไม่มีความสุขกับที่ไหนๆ เหมือนเช่นที่นี่ (คัมป์นู) หรอก"
เราก็คงได้แต่หวังว่า...อะไรๆ ที่เราคิดเผื่อเอาไว้ บางทีมันอาจจะไม่เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- หนี้สินและซูเปอร์ลีก อุปสรรคที่ยังขวางกั้น "เมสซี" จาก "บาร์เซโลนา"
- เมื่อนักสู้ผู้โดดเดี่ยวและคณิตศาสตร์ พิชิตเหรียญทองโอลิมปิกที่โลกต้องจดจำ
- สถิติหรู สกิลเทพ "ซานโซ" ปีกความหวัง คืนบัลลังก์ของแมนยูฯ
- "วัคซีนเข็ม 3" สิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำโลกแห่งความจริง
- "อเมริกา" อ่วม! โควิดติดเกือบแสน ต้องยกเลิกปลดประจำการแมสก์