ไม่รู้ว่า "คุณ" กำลังรู้สึกเหมือน "เรา" ไหม? ที่จินตนาการไม่ออกเลยจริงๆ ว่า "ลิโอเนล เมสซี" จะสวมเสื้อตราสโมสรใดในโลก แล้วพาสตั๊ดลอยลมกับลูกหนังบนฟลอร์หญ้าได้ นอกจาก...เสื้อที่มีตราสโมสรอาซูลกรานาเท่านั้น!
แต่ ณ วันนี้ คงต้องยอมรับแล้วว่า สิ่งที่ "คุณ" อาจจะจินตนาการไม่ออกในวันวาน... ณ วันนี้ มัน(อาจ)กำลังเกิดขึ้นได้จริงๆ เสียแล้ว
"ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ผมครุ่นคิดมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่ผมอยากจะพูด แต่ความจริงคือ... ผมคิดอะไรไม่ออก มันเป็นเรื่องยากเหลือเกินสำหรับผม หลังจากหลายปีมานี้ ผมอยู่ที่นี่มาทั้งชีวิต และผมยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้
ครอบครัวของผมและผมเอง ปรารถนาที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป และนั่นคือสิ่งที่เราทุกคนต้องการเหนือสิ่งอื่นใด เราคิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ ที่บาร์เซโลนา แต่วันนี้... ผมคงต้องกล่าวอำลากับทุกๆ สิ่ง
ครอบครัวของเรา ทำให้ที่นี่เป็นบ้านของเราเสมอ พวกเราอยู่ที่บ้าน และเราคิดว่าเราจะอยู่ที่นี่ ที่บาร์เซโลนา"
ทั้งหมดที่ "คุณ" เพิ่งอ่านไปนั้น คือ คำพูดที่กลั่นออกจากหัวใจสีน้ำเงินและสีแดงเลือดหมู พร้อมธารน้ำตา ซึ่งแทบไม่ต้อง "ตีความใดๆ" ของเจ้าของบัลลงดอร์ 6 สมัย และบุรุษผู้ผันตัวเองมาอยู่ใต้ชายคาถิ่นคัมป์นูตั้งแต่อายุเพียง 13 ขวบ เมื่อปี 2000 และปัจจุบันอยู่กับสโมสรแห่งนี้มายาวนานถึง 21 ปี!
ใช่แล้ว...ชายคนที่ยืนยันว่า "บาร์เซโลนา" คือ บ้านของเขา ก็คือ "ลิโอเนล เมสซี" หนึ่งในสุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ปัจจุบันอายุ 34 ปี และเป็นเจ้าของสถิติทำประตูสูงสุดตลอดกาลให้กับยอดทีมแห่งแคว้นกาตาลุญญา 682 ประตู จากการลงเล่นรับใช้ต้นสังกัดมากถึง 778 นัด! ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
...
แล้วอะไรคือ "เหตุผล" ที่ทำให้ต้องเกิดการกล่าวอำลาอันแสนเจ็บปวดหัวใจนี้?
สัญญาใหม่ 5 ปี ที่ค่าเหนื่อยลดลงจากเดิมแล้วถึง 50%?
สัญญาของเมสซีกับบาร์เซโลนาเพิ่งหมดลงในวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้สถานะของเขา ณ ปัจจุบัน คือ "นักเตะไร้สังกัด" (Free Agent)
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน "ทั้งคู่" เพิ่งยืนยันว่า สามารถบรรลุข้อตกลงในสัญญาฉบับใหม่ได้เรียบร้อยแล้ว โดยจะเป็นสัญญาที่มีอายุยาวนานถึง 5 ปี และเมสซี "ยินดี" ที่จะรับค่าเหนื่อยน้อยลงจากที่เคยรับอยู่ถึง 50%
ส่วนหากใครอยากรู้ว่า ค่าเหนื่อยของเมสซีในสัญญาเก่ามากน้อยแค่ไหน สามารถติดตามอ่านได้ที่ "เมสซี" แข้งพระเจ้า มากอีโก้ 5 ความขุ่นเคือง ย้ายหนี "บาร์ซา"
"สัญญาของผมไม่เคยเป็นปัญหา แต่สิ่งที่ผมรู้คือ ผมได้ทำทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เพื่อให้สามารถอยู่ที่นี่ได้ต่อไปแล้ว และทางสโมสรบาร์เซโลนาเองก็บอกว่า มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะ...ลาลีกา (La Liga)" นี่คือคำยืนยันจากปากของยอดนักเตะทีมชาติอาร์เจนตินา ว่ายินดีพร้อมเซ็นสัญญาฉบับใหม่กับบาร์เซโลนา
แล้วปัญหาของลาลีกา คืออะไร?
กฎระเบียบของลาลีกา (Spanish La Liga regulations) คำจำกัดความง่ายๆ คือ "หาได้เท่าไหร่ ต้องจ่ายให้สมดุลกับผลประกอบการ" และอยู่ภายใต้การคำนวณและควบคุมอย่างเข้มงวดโดยลาลีกา
โดยกฎกติกานี้ ซึ่งใกล้เคียงกับ Financial Fair Play (FFP) ของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ "ยูฟ่า" นี้ ทุกสโมสรในลาลีกาได้ลงมติเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่ปี 2013 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรในลาลีกา "ต้องล้มละลาย" จากการใช้เงินเกินตัว
โดยตามรายงานของ Sky Sport สื่อกีฬาชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า ลาลีกาได้กำหนดเพดานค่าจ้างสำหรับแต่ละสโมสรเอาไว้ที่ประมาณ 70% ต่ออัตราส่วนรายได้ที่สโมสรสามารถหาได้
แต่กรณีของสโมสรบาร์เซโลนา หากเซ็นสัญญาใหม่กับเมสซีที่แม้จะลดค่าเหนื่อยลงแล้วถึง 50% ก็ยังคงทำให้เพดานค่าจ้าง ณ ปัจจุบัน เพิ่มขึ้นจาก 95% ต่ออัตราส่วนรายได้ พุ่งขึ้นถึง 115%
ด้วยเหตุนี้ การเสียสละลดค่าเหนื่อยของเมสซี จึงยังคงไม่เข้าเกณฑ์ที่ลาลีกากำหนดเอาไว้อยู่ดี เพราะแม้จะยังไม่มีเมสซี เพดานของบาร์ซาก็เกินกว่าเกณฑ์มากถึง 25% เข้าให้แล้ว
...
แล้วปัจจุบัน บาร์เซโลนาสามารถจ่ายค่าจ้างได้เท่าไรจึงจะสมดุล?
หากอ้างอิงตามรายงานของสื่อกีฬาชื่อดังอย่าง The Athletic ในปีนี้ บาร์ซามีเพดานการใช้เงินตามกฎของลาลีกาในฤดูกาลนี้ อยู่ที่ประมาณ 160 ล้านยูโร หรือประมาณ 6,288 ล้านบาท (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 9 ส.ค. 64 : 39.30 บาท/ยูโร)
ซึ่งหากอ้างอิงตัวเลขนี้ แปลว่า บาร์เซโลนามีเพดานค่าใช้จ่ายลดลงถึง 1 ใน 4 เมื่อเปรียบเทียบกับเพดานการใช้เงินในฤดูกาล 2019-2020 ที่เคยสูงถึง 671 ล้านยูโร หรือประมาณ 26,369 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการใช้จ่ายเงินที่สูงที่สุดทีมหนึ่งในบรรดาสโมสรกีฬาโลก ในขณะที่ เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา (2020-2021) อยู่ที่ 382 ล้านยูโร หรือประมาณ 15,010 ล้านบาท
โดย "ฆาเบียร์ เตบาส" (Javier Tebas) ประธานลาลีกา ได้เคยออกมาเตือนเรื่องการใช้เงินของบาร์ซาก่อนหน้านี้แล้วว่า สโมสรเจ้าบุญทุ่มต้องหาทางลดเพดานค่าจ้างลงให้ได้อย่างน้อยเกือบ 200 ล้านยูโร (~7,859 ล้านบาท) จากฤดูกาลที่แล้ว หากคิดที่จะลงทะเบียนนักเตะใหม่ ซึ่งรวมถึงกรณีของเมสซีด้วย เนื่องจากยอดนักเตะชาวอาร์เจนตินาอยู่ในสถานะ Free Agent
...
เหตุใดเพดานการใช้เงินของบาร์เซโลนาจึงลดฮวบลงได้ขนาดนี้?
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า "หนี้สินสุทธิ" (Net Debt) ณ สิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมาของสโมสรบาร์เซโลนา มีตัวเลขสูงถึง 673 ล้านยูโร หรือประมาณ 26,447 ล้านบาท!
แต่เดี๋ยวก่อน มันยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะหากรวมประมาณการหนี้สินที่เป็นภาระผูกพัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็น "ค่าเหนื่อยนักเตะ" ที่ถูกเลื่อนจ่ายมาในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 กองหนี้จำนวนนี้ อาจมีตัวเลขสูงขึ้นเกิน 1,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 39,297 ล้านบาทก็เป็นได้!
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้บาร์ซาติดหนี้ตัวแดงโร่ถึงขนาดนี้ ก็คือ การสูญเสียรายได้เกือบ 100 ล้านยูโร (~3,930 ล้านบาท) เมื่อฤดูกาล 2019-2020 จากปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะที่ ฤดูกาล 2020-2021 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การแผลงฤทธิ์ของโควิด-19 น่าจะทำให้บาร์ซาขาดทุนหนักถึง 487 ล้านยูโร หรือประมาณ 19,139 ล้านบาท...อีกด้วย!
ทำให้ล่าสุด มีรายงานว่า ทีมบริหารภายใต้การนำของ "โจน ลาปอร์ตา" ประธานสโมสรคนใหม่ จำเป็นต้องว่าจ้างโกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) วาณิชธนกิจอันทรงอิทธิพล เข้ามาบริหารจัดการหนี้ และบางส่วนจะรีไฟแนนซ์ พร้อมกับการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินของสโมรยักษ์ใหญ่แห่งนี้แล้ว
...
อย่างไรก็ดี จากจำนวน "หนี้สินกองมหึมา" ที่ว่าไปทั้งหมดนี้ ทำให้บริษัท Fitch Rating จัดอันดับความน่าเชื่อถือ... สโมสรบาร์เซโลนาล่าสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เอาไว้ที่ BBB-
นอกจากปัญหา "หนี้สินกองมหึมา" ดังที่ว่าไปนี้ อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้บาร์ซาไม่สามารถลดเพดานค่าใช้จ่าย เพื่อให้เหลือ "ช่องว่างมากพอ" สำหรับการเซ็นสัญญากับเมสซีได้ก็คือ "การกำจัดนักเตะส่วนเกิน" ที่สุดล้มเหลว
ความพยายามขายนักเตะที่ทั้งค่าตัวและค่าเหนื่อยแพงมหาโหดอย่าง อองตวน กรีซมันน์, อุสมาน เดมเบเล, ฟิลิปเป คูตินโญ, ซามูเอล อุมติตี ประสบความล้มเหลว แทบไม่มีสโมสรไหนสนใจดึงไปร่วมทีมแม้แต่น้อย หรือหากสนใจก็คงเสนอค่าตัวไม่มหาโหดเหมือนตอนที่บาร์ซาทุ่มเงินซื้อตัวมาแน่นอน
และจนถึงปัจจุบัน สโมสรเจ้าบุญทุ่มเองก็ยังไม่สามารถหาวิธีในการจัดการกับ "ปัญหาส่วนเกิน" เหล่านี้ได้อีกด้วย
นั่นจึง นำมาซึ่ง "คำถาม" ที่ต้องการ "คำตอบ" จาก "โจน ลาปอร์ตา" ว่า ประธานบาร์ซาคนล่าสุดนี้ มีความ "จริงใจ" ที่จะเซ็นสัญญากับเมสซีมากน้อยเพียงใดกันแน่ เพราะหากจริงใจจริง เหตุใดจึงไม่หาทางเร่งเคลียร์นักเตะส่วนเกินออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกันล่ะ?
นอกจากนี้ สิ่งที่สาวกบาร์ซากำลังเป็นกังวล คือ 4 ผู้เล่นใหม่ที่เพิ่งดึงตัวเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เมมฟิส เดปาย, เซร์คิโอ กุน อเกวโร, เอริค การ์เซีย, เอเมอร์สัน ที่แม้จะมาแบบไร้ค่าตัว และบางคนยอมลดค่าเหนื่อยลง(บ้าง) แต่ถึงอย่างไร มันก็มีความเสี่ยงที่เข้าข่ายทำให้ "ค่าเหนื่อยเกินเพดาน" เช่นเดียวกับเมสซีด้วยหรือไม่?
เพราะนักเตะทั้ง 4 นี้ แม้จะเซ็นสัญญากับบาร์เซโลนาแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนกับลาลีกาแต่อย่างใด!
การปฏิเสธ "ความหวังสุดท้าย" เพื่อเปิดช่องว่างในการเซ็นสัญญากับเมสซี ที่เต็มไปด้วยเงื่อนงำการดิ้นรนไปสู่ซูเปอร์ลีกที่ยังไม่ตายสนิท?
ก่อนหน้าการแถลงอำลาช็อกโลกของเมสซีนั้น "โจน ลาปอร์ตา" ได้รับโอกาสสุดท้ายจากลาลีกาด้วยการ หยิบยื่นส่วนแบ่ง(เล็กน้อย) จากการที่ลาลีกาบรรลุข้อตกลงมูลค่า 2,700 ล้านยูโร (~106,191 ล้านบาท) จากกลุ่มทุน CVC Capital Partners เพื่อแลกกับหุ้น 10% ของสิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกสเปน ที่มีระยะเวลายาวนานถึง 50 ปี ซึ่งหากประธานสโมสรบาร์ซาคนใหม่รับข้อเสนอดังกล่าว จะทำให้การเก็บเทพเจ้าหมายเลข 10 เอาไว้กับทีมต่อไป ไร้ปัญหาทันที
แต่สิ่งที่ "โจน ลาปอร์ตา" ทำคือ ปฏิเสธข้อเสนออย่างไม่ไยดี นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า บางที "โจน ลาปอร์ตา" (อาจ)ยังมองไปที่ขุมทรัพย์ก้อนมหึมาที่จะได้จากซูเปอร์ลีกอยู่ต่อไป แทนที่จะรับเพียงเศษเงินเล็กๆ น้อยๆ จากลาลีกา และทำให้ความหวังในการก่อตั้งซูปอร์ลีกในอนาคต(อาจต้อง)สิ้นสุดลงไปตลอดกาล
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการแถลงอำลาทีมอย่างเป็นทางการไปแล้ว หากแต่ "ความหวังเล็กๆ" ที่เมสซีอาจอยู่กับบาร์ซาต่อไปยังคงมีแสงสว่างรอดอุโมงค์ออกมาอยู่ เพราะข้อเท็จจริง คือ ตลาดนักเตะยังคงเปิดอยู่จนกระทั่งถึงวันที่ 1 กันยายน นั่นทำให้ "โจน ลาปอร์ตา" ยังมีเวลาอีกหลายสัปดาห์ สำหรับ การจัดการปัญหายุ่งๆ ทั้งหมดนี้ โดยเฉพาะบรรดานักเตะส่วนเกิน รวมถึงการเจรจาขอลดค่าเหนื่อยนักเตะที่ยังอยู่ในแผนต่อไป ซึ่งหากเคลียร์ปัญหานี้ได้ทัน พระเจ้าก็ยังคงสถิตอยู่ที่คัมป์นูต่อไปได้!
อ่อ...นั่นรวมถึงฟ่อนเงินก้อนมหาศาล จากการขายเสื้อบัตรเข้าชม ค่าสปอนเซอร์ และลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ที่มีพระเจ้าเป็นแม่เหล็กต่อไปด้วยนะ ห้ามลืม!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Pradit Phulsarikij
ข่าวน่าสนใจ:
- เมื่อนักสู้ผู้โดดเดี่ยวและคณิตศาสตร์ พิชิตเหรียญทองโอลิมปิกที่โลกต้องจดจำ
- สถิติหรู สกิลเทพ "ซานโซ" ปีกความหวัง คืนบัลลังก์ของแมนยูฯ
- เบื้องหลัง "โรนัลโด" ขยับโค้ก เขย่าหุ้นน้ำดำ สู่ปรากฏการณ์สะเทือนโลก
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน BIBP ของ "ซิโนฟาร์ม" ประสิทธิภาพ-อัตราไม่พึงประสงค์
- งานวิจัยอิสราเอล ฉีด mRNA ครบสูตร ติดโควิด-19 ได้ เชื้ออยู่นาน 6 สัปดาห์