• รายงานการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของพม่าล่าสุดของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ประเมินว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของพม่าจะหดตัวถึง 18 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
  • ภาวะชะงักงันในระบบการเงินการธนาคาร ทำให้ธุรกิจต่างๆ ขาดกระแสเงินสดมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานและชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์จำกัดการเบิกถอนเงินสดเพราะเงินไม่พอ แบงก์ชาติพม่าพยายามเข้าแทรกแซงด้วยการพิมพ์เงินเพิ่ม แต่เกิดปัญหาไม่มีแม้แต่กระดาษจะพิมพ์ธนบัตร
  • ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า สถานการณ์การเมืองและโควิด-19 จะทำให้แรงงานพม่าอย่างน้อย 1 ล้านคนว่างงาน คนที่ยังสามารถรักษางานอาชีพไว้ได้จะต้องถูกลดค่าจ้างลง

ผู้นำทางทหารพม่าไม่เคยตระหนักเลยว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จะมีราคาที่ต้องจ่ายแสนแพง

รายงานการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของพม่าล่าสุดของธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ประเมินว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศของพม่าจะหดตัวถึง 18 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ อันเป็นผลโดยตรงมาจากการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 นั่นหมายความว่า กองทพพม่า หรือ ตัตมาดอว์ (Tatmadaw) ทำให้เศรษฐกิจของพม่ามีขนาดเล็กลงถึงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของที่ควรจะเป็น

ความจริงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจพม่ามาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนนัก จนกระทั่ง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี แล้วเจอการต่อต้านแบบอารยะขัดขืนของชาวพม่าทั่วประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจพม่ากลายเป็นอัมพาตแทบจะทันที ตอนนั้นธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียประเมินว่าเศรษฐกิจพม่าคงจะหดตัวลงประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์

การประท้วงอย่างต่อเนื่องนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เป็นต้นมา ทำให้อุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ในประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจหยุดชะงักเพราะคนงานพากันสไตรค์ การผลิตและการบริโภคตกต่ำ กระทั่งเดือนเมษายน สถานการณ์ดูจะทรงตัวอยู่แบบนั้น

แต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิต-19 นับแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ทำให้พม่าเข้าสู่ภาวะวิกฤติซ้ำซ้อน เนื่องจากเดิมทีระบบสาธารณสุขก็ไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชนได้อยู่แล้ว องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า จนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม พบผู้ติดเชื้อสะสมในพม่า 284,099 คน และเสียชีวิตไปแล้ว 8,210 ราย

ความสามารถในการรับมือโควิด-19 ของพม่ามีความสัมพันธ์กับสถานการณ์การเมืองอย่างแยกไม่ออก มีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืน ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารของตัตมาดอว์อย่างโจ่งแจ้ง ในขณะที่บริการสาธารณสุขในเครือข่ายของกองทัพพม่าก็ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเพียงพอ เนื่องจากขาดแคลนทั้งบุคลากรและวัสดุอุปกรณ์

สถานการณ์ทางการเมืองและการปะทะกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นบริเวณชายแดน ทำให้ไทยและจีนต้องเคร่งครัดการส่งสินค้าข้ามแดน ซึ่งก็เป็นผลโดยตรงให้สาธารณสุขพม่าขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ไปด้วย

อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทหารพม่าไม่มีความสามารถในการจัดหาวัคซีนให้ประชาชนเอาเสียเลย ก่อนการรัฐประหาร พม่าได้วัคซีนจากสถาบันเซรั่มแห่งอินเดีย หรือ Serum Institute of India (SII) 3.5 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอที่จะฉีดให้กับคนแค่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 54 ล้านคน แต่หลังจากยึดอำนาจ มิน อ่อง หล่าย ยังหาวัคซีนไม่ได้แม้สักโดสเดียว โครงการ Covax ประกาศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่าได้อนุมัติวัคซีนจำนวนหนึ่งให้พม่าไปแล้ว แต่การส่งมอบวัคซีนยังทำไม่ได้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่เอื้ออำนวย

...

กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกภาคส่วนในพม่าล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารและการระบาดของโควิด-19 ด้วยกันทั้งนั้น

ความไม่ประสีประสาในการบริหารของทหารทำให้เกิดความปั่นป่วนทั้งในภาคอุตสาหกรรม บริการ การค้าทั้งปลีกและส่ง ภาวะชะงักงันในระบบการเงินการธนาคาร ทำให้ธุรกิจต่างๆ ขาดกระแสเงินสดมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานและชำระหนี้หรือสั่งสินค้า ธนาคารพาณิชย์จำกัดการเบิกถอนเงินสดเพราะเงินไม่พอ แบงก์ชาติพม่าพยายามเข้าแทรกแซงด้วยการพิมพ์เงินเพิ่มเพื่ออัดฉีดเข้าระบบ แต่เกิดปัญหาไม่มีแม้แต่กระดาษจะพิมพ์ธนบัตร การประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ทำให้ผู้ค้าต้องเปิดร้านช้าและต้องปิดเร็ว ส่งผลให้รายได้ของประชาชนลดลง

การติดต่อสื่อสาร เฉพาะอย่างยิ่งผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะรัฐบาลทหารปิดการสื่อสารเป็นคราวๆ เพื่อไม่ให้ผู้ประท้วงกระจายข้อมูลหรือนัดหมายการชุมนุม เมื่อการสื่อสารลำบาก กิจกรรมทางธุรกิจหรือการทำธุรกรรมต่างๆ ก็พลอยได้รับผลกระทบและลดปริมาณลงไปด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ปกติการเดินทางท่องเที่ยวในสถานการณ์โควิดเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว การรัฐประหารและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้การเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศของพม่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

ปี 2019 พม่าต้อนรับนักท่องเที่ยว 4.4 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศได้ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการส่งออก (พม่ามีรายได้จากการส่งออกเฉลี่ยราวๆ ปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่ปีนี้ไม่มีใครเดินทางไปเที่ยวพม่าได้

ราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น การประท้วงของคนงานในภาคบริการขนส่ง ยิ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งในพม่ายิ่งแพงขึ้น ยิ่งเป็นการซ้ำเติมไม่เฉพาะแต่การท่องเที่ยว แต่หมายรวมถึงระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศด้วย

การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า หลังการรัฐประหาร บรรยากาศในพม่าไม่เหมาะแก่การทำธุรกิจเอาเสียเลย บรรดาธุรกิจต่างๆ ประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์บอกว่ายังดำเนินกิจการอยู่ต่อไปในสถานการณ์วิกฤติ แต่สามารถเปิดดำเนินการได้เพียง 63 เปอร์เซ็นต์ของขีดความสามารถ

ในเมืองสำคัญที่มีภาวะตึงเครียดทางการเมืองมากๆ อย่างมัณฑะเลย์นั้นสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของขีดความสามารถที่มีอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อรายได้และผลกำไรอย่างมาก และเมื่อต้องลดขนาดธุรกิจ ย่อมหมายความว่าต้องลดการจ้างงานลงไปด้วย โดยภาคอุตสาหกรรมลดการจ้างลง 44 เปอร์เซ็นต์ ภาคบริการลดลง 39 เปอร์เซ็นต์ ค้าปลีกและค้าส่งลดลง 26 เปอร์เซ็นต์ เกษตรจ้างงานลดลง 19 เปอร์เซ็นต์

โดยรวมแล้วธนาคารโลกคาดการณ์ว่าสถานการณ์การเมืองและโควิด-19 จะทำให้แรงงานพม่าอย่างน้อย 1 ล้านคนว่างงาน คนที่ยังสามารถรักษางานอาชีพไว้ได้จะต้องถูกลดค่าจ้างลง หมายความว่าจะมีคนยากจนในพม่าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ยังไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกเลยว่าสถานการณ์การเมืองของพม่าจะพัฒนาไปในทางที่ดี มิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและแรงกดดันจากนานาชาติ เอาแต่เดินหน้าปราบปรามประชาชนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีแผนการที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างไร อย่างมากก็แค่วิงวอนให้อาเซียนและประเทศที่เป็นมิตรเข้าไปช่วยเหลือ ยังไม่นับว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างไร