เหตุคุกคามทำร้ายร่างกาย ตะโกนด่าทอเหยียดคนเชื้อสายเอเชีย จากความเกลียดชังในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงสหราชอาณาจักร เกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดของโควิด มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต อย่างไม่จบไม่สิ้น ได้จุดกระแสเกิดปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำที่รุนแรงไปทั่วโลก
กระทั่งเกิดประเด็นร้อนอีก พร้อมแฮชแท็ก #StopAsianHate เมื่อหญิงชราชาวจีน อายุ 76 ปี อาศัยในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ตกเป็นเหยื่อถูกชายหนุ่มผิวขาว วัย 30 ปี ทำร้ายจนใบหน้าปูดบวม ตาซ้ายปิดแทบมองไม่เห็น ขณะกำลังข้ามถนน แต่คุณยายกัดฟันฮึดสู้ ใช้ไม้ฟาดสวนกลับไม่ยั้ง จนหนุ่มคราวหลาน สะบักสะบอมถูกหามส่งโรงพยาบาล
...
การกระทำกับคนเชื้อสายเอเชีย โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ย้อนไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค. ชายชราชาวไทย วัย 84 ปี ถูกวัยรุ่นชายอเมริกันผลักจนล้มกระแทกพื้นอย่างแรง ได้รับบาดเจ็บสาหัส และอีกสองวันต่อมาได้เสียชีวิตลง ไม่เท่านั้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีผู้สูงอายุไม่มีทางสู้ ถูกทำร้ายในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งแจ้งความดำเนินคดี และจากสถิติตั้งแต่เดือน มี.ค. จนถึงเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ชาวเอเชียตกเป็นเหยื่อความเกลียดชัง มากกว่า 3,000 ราย ใน 47 รัฐทั่วสหรัฐฯ และประมาณ 7-8% เป็นผู้สูงอายุ
ชนวนเหตุจากส่ิงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในโลกอารยธรรมยุคใหม่ กับสถิติตัวเลขคนเชื้อสายเอเชียถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด ฉายให้เห็นชัดๆ ถึงความฝังลึกอะไรบางอย่าง? จนต้องสนองอารมณ์ระบายออกมาด้วยการกระทำในสิ่งไม่ถูกต้อง ทาง “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” พูดคุยกับ “ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์” สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก มีพลวัตรเปลี่ยนแปลง ซึ่งในสหรัฐฯเกิดขึ้นมายาวนานตั้งแต่ 200-300 ปีมาแล้ว ทั้งการเหยียดคนผิวดำ และคนเอเชีย โดยปรากฏการณ์ในขณะนี้โยงกับสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ในช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความพยายามเชื่อมโยงว่าคนจีนเป็นไวรัส แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิดดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ช่วงปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อผู้คน สร้างความสูญเสียให้กับคนอเมริกัน ซึ่งต้องหาแพะรับบาป และเป็นผลพวงในหลายมิติสะสมมานาน ทั้งโครงสร้างการเมืองเชิงวัฒนธรรม และการนำเสนอของสื่อ ได้สะสมมานานจนเป็นระบบวัฒนธรรม กลายเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างวัฒนธรรม
“น่าเศร้าใจที่ผู้สูงอายุถูกทำร้าย เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เมื่อจะแสดงความโกรธแค้นออกมา จึงลงมือกระทำกับคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และที่ผ่านมามีชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ ทั้งผิวดำ คนเชื้อสายเอเชีย ทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนถูกเหยียดเชื้อชาติจากความเชื่อที่ถูกสร้างกันมา จึงต้องทำงานร่วมกันในการสร้างมิติให้เกิดความเข้าใจ และแก้ปัญหา เพราะไม่เช่นนั้นแล้วพอเกิดความรุนแรงขึ้นมา ก็เกิดกระแสต่อสิ่งที่ไม่ถูกแก้ จนกลายเป็นปัญหารุนแรง”
ขณะที่การเข้ามาของ โจ ไบเดน ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ กลับพบว่า การแสดงท่าทีต่างๆ นั้นเงียบมาก ทั้งเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ และเหตุการณ์ในเมียนมา เพราะจากที่ฟังขณะเข้ารับตำแหน่ง คงพยายามสร้างความปรองดองในสหรัฐฯ จากสิ่งที่ทรัมป์เคยสร้างความแบ่งแยกในสหรัฐฯมาก่อน ซึ่งคิดว่าการที่ไบเดนเข้ามาน่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แม้ขณะนี้ในเชิงนโยบายยังไม่เห็น ควรไปคลี่คลายบาดแผล เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพราะสถิติตั้งแต่ต้นปี มีคนเชื้อสายเอเชียถูกทำร้ายเป็นพันคดี
...
จากสิ่งที่เกิดขึ้นอาจเกิดการต่อต้านระหว่างกลุ่ม ซึ่งทุกฝ่ายต้องเร่งทำความเข้าใจ ไม่อยากกล่าวโทษหรือตำหนิใครที่ใช้ความรุนแรง เพราะอาจได้รับผลกระทบเกิดความสูญเสียจากการระบาดของโควิด จนเกิดความโกรธแค้นและปะทุขึ้นมามากขึ้น และไม่อยากให้ใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน อยากให้ใช้สติจากสิ่งที่มากระทบกระเทือนจิตใจ ไม่อยากให้มีการโหมประเด็นโดยสื่อ เพื่อให้เกิดความเกลียดชัง
สำหรับทางออกที่ดีที่สุด ต้องทำความเข้าใจ ช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องความรุนแรงในภาวะวิกฤติ เพราะโลกนี้มีความผันผวน ต้องเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย ไม่ใช่เฉพาะโควิดอย่างเดียวที่ยังอยู่กับโลกเราอีกนาน แต่ในวันข้างหน้ายังมีอีกหลายเรื่องต้องเผชิญ
...
ในส่วนของการเหยียดเชื้อชาติในอังกฤษ มีไม่มากเท่ากับสหรัฐฯ แต่ก็เกิดปรากฏการณ์คล้ายกัน เมื่อมีกลุ่มมาตั้งรกรากในชุมชน มีระบบชีวิต มีการแข่งขันกับคนในประเทศของเขา โดยเฉพาะมิติการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งไม่แน่น ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิต จึงเกิดคำถาม ใครจะมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น สรุปแล้วไม่ว่าที่ไหนก็เกิดปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ แม้กระทั่งสังคมไทย กระทำกับแรงงานต่างด้าว.