ในเวลานี้ นอกเหนือจากความรุนแรงทางการเมืองในหลายๆ ประเทศแล้ว ยังมีกรณี "เหยียดเชื้อชาติ" ที่ครั้งนี้ "เหยื่อ" คือ "คนเอเชีย" ที่อยู่บนดินแดนแห่งความเสรี "สหรัฐอเมริกา" ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา (2563) ก็เกิดเหตุการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน จากการ "เหยียดคนผิวดำ"

หากยังจำกันได้... เคสแรกที่ถูกกระทำ คือ นายวิชัย รัตนภักดี ชายวัย 84 ปี ที่ถูกผลักลงกับพื้นขณะกำลังเดินยามเช้าที่ซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา (2564) และเพียงแค่ 2 วันหลังจากนั้น...เขาก็เสียชีวิต

แม้ในเวลาต่อมา "อองตวน วัตสัน" ชายวัย 19 ปี จะถูกจับกุม แต่เขาก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธว่า เขากระทำการข่มเหงและฆาตกรรมชายวัย 84 ปีอย่างที่กล่าวหา

นั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

และถึงจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายก็ตาม ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า "สื่อกระแสหลัก" บนดินแดนเสรีนี้ กลับไม่มีการรายงานข่าวอย่างที่ควรจะเป็น...

โดยหนึ่งในคนที่ตั้งข้อสังเกต คือ "อแมนดา เหงียน" นักกิจกรรมสิทธิพลเมืองที่เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้ตั้งคำถามไปยัง "สื่อกระแสหลัก" ว่า "จะต้องมีประชาชนถูกฆ่าอีกกี่คนถึงจะมีการนำเสนอข่าว หรืออีกเท่าไรถึงจะเห็นความคุ้มค่าในการหยิบมานำเสนอ?"

...

หากนับตั้งแต่เดือนมกราคม มีการรายงานการกระทำความรุนแรงและชิงทรัพย์มากกว่า 20 เคส

แต่ถ้าจะถามว่า "คนเอเชีย" เผชิญความรุนแรงจากการ "เหยียดเชื้อชาติ" บนผืนแผ่นดิน "อเมริกา" มาตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น จริงๆ แล้วมีมานานหลายทศวรรษ ส่วนทศวรรษนี้ก็เริ่มมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ "โควิด-19" เริ่มต้นขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ (2564) มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีก่อน (2563)

โดยรายงานของ NYPD องค์กรตำรวจที่ใหญ่ที่สุดใน "อเมริกา" พบว่า อาชญากรรมอันมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังคนเอเชีย หรือ Anti-Asian ในนครนิวยอร์ก เมื่อปี 2563 พุ่งขึ้นกว่า 1,900%

ขณะที่ องค์กร Stop AAPI Hate มีการเก็บรวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 (19 มี.ค. - 31 ธ.ค. 63) พบว่า ความรุนแรงจากการเหยียดคนเอเชียเพิ่มขึ้น รวมกว่า 2,808 รายงาน และยังคงเกิดต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ (2564)

โดยเฉพาะ "ไชน่าทาวน์" ในซานฟรานซิสโกและโอ๊คแลนด์

ทั้งนี้ หนึ่งใน "บุคคล" ที่ถูกมองว่าเป็น "ตัวจุดประกายไฟ" ให้โหมกระพือ คือ อดีตประธานาธิบดี "โดนัลด์ ทรัมป์" ที่เมื่อปีที่แล้ว (2563) เขาใช้วาจาโน้มน้าว "คนอเมริกัน" ซ้ำๆ ว่า "โควิด-19" คือ "ไวรัสจีน" เพื่อสนับสนุนเหตุผลในการสร้างความหวาดกลัวชาวต่างชาติและต่อต้านคนเอเชีย ย้อนสู่ยุคสมัยศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ก่อร่างแนวคิดให้มองว่า "คนอเมริกัน-เอเชียน" คือ "คนต่างชาติชั่วนิจนิรันดร"

วาทศิลป์อันเลวร้ายนี้ "รัสเซล เจิ้ง" ผู้ร่วมก่อตั้ง Stop AAPI Hate และศาสตราจารย์สาขาเอเชีย-อเมริกันศึกษา ประจำมหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟรานซิสโก ชี้ว่า นี่เป็นดั่ง "ใบอนุญาต" ในการทำร้ายคนเอเชีย และเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในอนาคต

ที่น่าหนักใจอีกอย่าง คือ การหยิบยก "นิทานชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง" หรือ Model Minority มาลดทอนการต่อสู้ของคนเอเชีย

"นิทาน" ที่ว่านี้ส่งผลกระทบได้อย่างไร?

ติดตามกับ The Answer

บ่อยครั้งที่การกระทำความรุนแรงทางเชื้อชาติที่มีต่อ "คนอเมริกัน-เอเชีย" ถูกเพิกเฉย เพราะ "สเตอริโอไทป์" ที่ฝังรากลึก และ "นิทาน" นี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการโน้มน้าวสังคมในปัจจุบันให้มี "แนวคิดผิดๆ" เช่น "คนอเมริกัน-เอเชีย" ที่มีพริวิเลจ ทั้งการศึกษาและสถานะทางเศรษฐกิจสังคมชั้นสูง มีมุมมองว่า การเลือกปฏิบัติหรือ "แบ่งแยกเชื้อชาติ" ไม่เกิดขึ้นจริง หรือหากเกิดขึ้นจริงก็มองว่าการกระทำต่อ "เหยื่อ" นั้นถูกต้องสมควรแล้ว เหตุผลง่ายๆ คือ "เหยื่อคนเอเชีย" เหล่านี้ไม่เดินตามแบบอย่างที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้

"นิทานชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง" ที่ลดทอนการต่อสู้การเหยียดเชื้อชาติ "คนอเมริกัน-เอเชีย" กำลังถูกนำมาขับเคลื่อนอีกครั้ง

"นิทาน" เรื่องนี้ จัดวางตำแหน่ง "คนอเมริกัน-เอเชีย" ให้อยู่ในฐานะ "ผู้ได้รับผลประโยชน์" จากรางวัล "อเมริกันดรีม" (American Dream) ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าคุณขยันและมีความเก่งกาจมากพอ...ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นไหนก็สามารถ "ประสบความสำเร็จ" ได้ในประเทศแห่งนี้

...

พร้อมพรรณาพร่ำบอก "เคล็ดลับความสำเร็จ" ว่า "คนอเมริกัน-เอเชีย" ต้องประพฤติตัวดีๆ มีความสุภาพอ่อนโยน ได้รับการศึกษา ขยันหมั่นเพียร ทำงานหนัก และเคารพกฎหมาย

เสมือน "นิทานคนขาว" ที่พยายามกล่อมให้คนที่มีสีผิวหรือเชื้อชาติต่าง... "เชื่องและเชื่อฟัง"

"นิทาน" เรื่องนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน?

หนึ่งในภาพที่เห็นชัดเจน คือ แม้ "ความรุนแรง" จะทวีมากเท่าใด แต่ "เสียง" ที่เปล่งออกมากลับเบาเกินกว่าที่คาดหวังไว้ หนำซ้ำ! ยังถูกสนับสนุนทางอ้อมโดยภาพแทนของสื่อ เช่น ภาพยนตร์ Crazy Rich Asians ที่บอกเล่าเรื่องราวคนอเมริกันเชื้อสายจีน และ Bling Empire ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่เนื้อหาเกี่ยวกับมหาเศรษฐีคนอเมริกัน-เอเชีย

การหลงมัวเมาใน "นิทาน" สวนทางกับความจริง เมื่อการศึกษาต่างๆ พบว่า "กลุ่มคนอเมริกันเอเชีย" มีการแบ่งแยกเชิงเศรษฐกิจมากที่สุดใน "อเมริกา"

อาทิ การศึกษาโดยสำนักวิจัยพิว เมื่อปี 2561 ที่พบว่า คนอเมริกัน-เอเชียมีช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางรายได้เพิ่มมากขึ้น และในรายงานของนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ปี 2559 พบว่า คนเอเชียย้ายถิ่นมีอัตราความยากจนสูงมาก

...

หากยังไม่หลงลืม... "นิทาน" เรื่องนี้กำลังทำให้ "คนอเมริกัน-เอเชีย" มองข้ามกฎหมายรัฐบัญญัติกีดกันคนจีน (Chinese Exclusion Act) ค.ศ.1882 และการกักกันคนญี่ปุ่น ในช่วงทศวรรษที่ 1940

และ "นิทาน" เรื่องนี้ยังดึงดันที่จะขับกล่อม ทั้งๆ ที่ความจริง มีคนเอเชียย้ายถิ่นในอเมริกากว่า 1 ใน 7 ที่ไม่มีเอกสารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือเรียกได้ว่าเป็น "แรงงานเถื่อน" และก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจถูกเนรเทศ ถึง "นิทาน" จะบอกว่า "คนอเมริกัน-เอเชีย" ที่ทำดีในวันนี้จะได้รับประโยชน์ในการยกระดับสถานะมากกว่าประชากรผิวสีอื่นๆ แต่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่า มีการแบ่งแยก หรือ "เลือกปฏิบัติ" อย่างเป็นระบบ

อีกทั้ง "ความเลวร้าย" ของ "นิทาน" ยังทำให้คนผิวสีต่างๆ ต่อต้านกันเอง โดย "คนอเมริกัน-เอเชีย" ที่มีพริวิเลจมักมองว่า ตัวเองอยู่เหนือกว่าคนผิวสีอื่นๆ ด้วยการทำงานหนัก ประพฤติดี จนทำให้ประสบความสำเร็จ และไม่มีประวัติศาสตร์ในการถูกกดขี่ เกิดเป็นการปกครองแบบชนชั้นในบรรดาประชากรเอเชียด้วยกัน

ซึ่งนั่นบ่งบอกได้ว่า "นิทานชนกลุ่มน้อยตัวอย่าง" นี้ กำลังทำให้เราไขว้เขวจากการต่อสู้ร่วมกันเพื่อทำให้ "ทุกคน" มีความเท่าเทียม.

ข่าวน่าสนใจ:

...