พาผู้อ่านเตรียมตัวรับ 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์แห่งปี 2568 ทั้งไทยและเทศ (ตอน 1) โดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูแห่งวงการวิทยาศาสตร์ และคอลัมนิสต์ขาประจำของไทยรัฐออนไลน์ 

“ส่อง 10 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ปี 2568” เป็นสกู๊ปพิเศษส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่ผู้เขียนได้จัดทำต่อเนื่องกันมาที่ไทยรัฐออนไลน์ เป็นครั้งที่ 6 สำหรับความสำคัญของเรื่องทั้ง 10 ผู้เขียนมิได้จัดอันดับความสำคัญ เพราะทุกเรื่องเป็นเรื่องใหญ่มีความสำคัญทัดเทียมกัน

ในปี พ.ศ. 2568 จะมีเรื่องมีข่าวใหญ่วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมากมายดังเช่นทุกปี และก็จะเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย แต่สำหรับปี พ.ศ. 2568 จะเป็นปีที่มีบุคคลหนึ่งคน ซึ่งมิใช่นักวิทยาศาสตร์หรือทำงานเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่จะมีบทบาทและสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อวงการต่างๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์ด้วย คือ โดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอยกบทบาทและผลกระทบของโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นข่าวแรกของสกู๊ปพิเศษ ส่งท้ายปีเก่า 2567 ต้อนรับปีใหม่ 2568 เพื่อการก้าวเข้าสู่โลกปี พ.ศ. 2568 อย่างมีความคาดหวัง มีความหมายและไม่ประมาท

(1) ผลจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 และจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568
แต่ตั้งแต่หลังการทราบผลการเลือกตั้งไม่กี่วัน ทรัมป์ก็แสดงนโยบายและบอกแก่อเมริกันชนและคนทั้งโลกว่า เขาจะ “ทำอะไร” ในอีกสี่ปีข้างหน้าที่อยู่ในตำแหน่ง ตามนโยบาย “AMERICA FIRST!” (“อเมริกาต้องมาก่อน!”) หรือ “MAKE AMERICA GREAT AGAIN!” (“มาทำให้อเมริกายิ่งใหญ่กันอีก!”) ของเขา

...


อย่างแน่นอน ในฐานะเป็นผู้นำประเทศทรงพลังในแทบทุกด้านของโลก ชาวโลกจึงต้อง “ฟัง” ถึงแม้ทรัมป์จะได้ชื่อเป็นคนที่ “อ่านใจยาก” และ “เปลี่ยนใจได้ง่าย” แต่ในขณะเดียวกัน ก็กล้าทำในสิ่งที่ “คาดไม่ถึง!” แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะในหลายเรื่อง ทรัมป์ก็ประกาศเป็นความตั้งใจและจะเป็นนโยบายของประเทศที่เขาจะเป็นผู้นำ ดังเช่น นโยบายเกี่ยวกับสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งถึงแม้จะมิใช่ประเด็นเรื่องวิทยาศาสตร์โดยตรง แต่จะมีผลอย่างสำคัญต่อสถานภาพความเกี่ยวพันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัสเซีย ยูเครน กลุ่มประเทศสมาชิกนาโต (NATO) และประเทศที่ไม่เกี่ยวกับนาโต แต่มีความผูกพันกับประเทศรัสเซียหรือยูเครน สำหรับเรื่องการร่วมมือกับทางด้านวิทยาศาสตร์ ดังเช่น การร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียทางด้านอวกาศ ที่ยุติลงในระหว่างสงครามรัสเซียกับยูเครน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐฯ

สำหรับเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง ที่กำลังถูกจับตามองเป็นพิเศษ 2 เรื่องใหญ่ คือ ผลจากนโยบายการตัดลดงบประมาณภาครัฐของทรัมป์ และนโยบายเกี่ยวกับโลกร้อน

ทรัมป์มีนโยบายชัดเจนต้องการตัดลดงบประมาณภาครัฐ และอย่างรวดเร็ว หลังทราบผลการเลือกตั้งไม่กี่วัน ทรัมป์ก็ประกาศตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อ Department of Government Efficiency (แผนกประสิทธิภาพของรัฐบาล) นำโดย อีลอน มัสค์ (Elon Musk) และ วิเวก รามาสวามี (Vivek Ramaswamy) โดยมีหน้าที่หลัก คือ หาทางตัดลดงบประมาณภาครัฐที่คิดว่าไม่จำเป็นหรือตัดลดได้ ซึ่งสำหรับทางด้านวิทยาศาสตร์ก็รวมไปถึงงบประมาณภาครัฐในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ

สำหรับเรื่องโลกร้อน ทรัมป์มีความคิดเห็นและนโยบายชัดเจนตั้งแต่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกของเขา และยืนยันในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ว่า เขาไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน เห็นว่าเรื่องโลกร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเรื่องไม่จริง จึงคาดกันว่า เมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการ เขาคงจะถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) หลังจากที่เคยถอนไปครั้งหนึ่งในสมัยแรกของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ 

มีประเด็นน่าสนใจว่า ทรัมป์ กับ อีลอน มัสค์ จะทำงานร่วมกันได้ดีแค่ไหน เพราะสำหรับเรื่องพลังงานแล้ว ทั้งสองมีความคิดต่างกันอย่างมาก

อีลอน มัสค์ เชื่อและทุ่มเทเงินการลงทุนให้กับพลังงานสะอาด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ ดังเช่น โครงการใหญ่ Solar City (นครแสงสุริยะ) และ รถยนต์ไฟฟ้าเทสลา แต่ทรัมป์ต้องการแหล่งพลังงานที่มีอยู่แล้ว และเข้าถึงได้ง่าย คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล

...

แล้วก็มีเรื่องการลงทุนด้านอวกาศ ซึ่งก็เป็นภาระงานของอีลอน มัสค์ด้วย ที่จะต้องหาวิธีตัดลดงบประมาณส่วนที่เป็นภาครัฐ และซึ่งก็จะหมายถึงนาซาด้วย

ทั้งนี้ ก็ไม่แน่ใจกันว่า จะกระทบแผนงานใหญ่ดังเช่น การส่งมนุษย์ไปโคจรรอบดวงจันทร์ 4 คน กับโครงการ อาร์เตมิส 2 (Artemis 2) ในปี พ.ศ. 2569 หรือไม่ เพราะมีการกล่าวถึงเป้าหมายใหญ่กว่าของทรัมป์ ที่อยากให้มีการส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร ด้วยจรวดขนาดยักษ์ของอีลอน มัสค์ ก่อนที่ทรัมป์จะหมดวาระในครั้งที่สอง คือ ก่อนปี พ.ศ. 2573 ซึ่งอาจหมายถึงการยกเลิกอาร์เตมิส 2 ในปี พ.ศ. 2569

มีการกล่าวกันว่า คำตอบจริงๆ ไม่มีใครทราบ แม้แต่ตัวทรัมป์เอง เพราะเขาอาจจะคิดใหม่ได้เสมอ

โดนัลด์ ทรัมป์ และ อีลอน มัสค์
โดนัลด์ ทรัมป์ และ อีลอน มัสค์

(2) นาฬิกาวันสิ้นโลก : หรือจะเป็นสถิติใหม่ ?

นาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) แตะนิ่งอยู่ที่เวลา 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืนมาแล้ว อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาสองปีของ พ.ศ. 2566 และ 2567 สำหรับปี พ.ศ. 2568 ก็กำลังถูกจับตามองว่า นาฬิกาวันสิ้นโลกจะยังคงยืนตำแหน่งอยู่ที่เดิม หรือจะถูกปรับตั้งเวลาใหม่ ?

...

ถ้ายังอยู่ที่เดิม ก็แสดงว่า โลกยังอยู่ในสภาวะร้อนแรงอย่างน่าเป็นห่วงเท่ากับปี พ.ศ. 2567

ถ้าถูกปรับถอยห่างจาก 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ก็แสดงว่า ความรุ่มร้อนของโลกจะลดลงจากปี พ.ศ. 2567

แต่ถ้าถูกปรับให้เข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนมากขึ้น ก็แสดงว่า โลกรุ่มร้อนอย่างน่าเป็นห่วงมากขึ้นอีก ซึ่งก็จะเป็นสถิติใหม่ที่ไม่พึงประสงค์ของนาฬิกาวันสิ้นโลก ตั้งแต่การกำเนิดของนาฬิกาวันสิ้นโลกเมื่อปี พ.ศ. 2490 คือเมื่อ 78 ปีที่แล้ว

เมื่อแรกเริ่ม ปัจจัยสำหรับการตั้งเวลานาฬิกาวันสิ้นโลก มีปัจจัยเดียว คือ ภัยนิวเคลียร์ แต่มาถึงปัจจุบัน มีการเพิ่มอีก 3 ปัจจัย คือ (1) ภาวะโลกร้อน (2) การคุกคามทางชีวภาพ และ (3) เทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน (disruptive technology)

สำหรับแนวโน้ม สถานการณ์ของปี พ.ศ. 2568 โดยภาพรวม นับว่า น่าเป็นห่วงยิ่งนัก แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความไม่แน่นอนที่คาดการณ์กันได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่สองของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นเวลา (ตามวาระ) สี่ปี

ในประเด็นภัยนิวเคลียร์ โลกอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างร้อนระอุอยู่แล้ว จากการขู่ของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน บ่อยๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567 ว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ถ้าจำเป็น ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่ง จะขึ้นอยู่กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศว่า จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ยุติลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งถ้าทำได้จริง ภัยจากนิวเคลียร์ก็จะผ่อนคลายลง

แต่ถ้าเงื่อนไขของโดนัลด์ ทรัมป์ ยากเกินไปสำหรับรัสเซียและยูเครน ก็ขึ้นอยู่กับทรัมป์ ซึ่งคาดการณ์ได้ยาก

...

นาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock)
นาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock)

สำหรับประเด็นเรื่อง ภาวะโลกร้อน อย่างชัดเจน โลกจะได้รับผลกระทบเต็มจากความคิดและนโยบายของทรัมป์ ที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล และปฏิเสธปัญหาภาวะโลกร้อนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล คือ น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ นักวิทยาศาสตร์โลกร้อนและผู้กำลังทำงานในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จึงต้องเตรียมตั้งรับกับการที่ทรัมป์จะถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีส คือ ต้องเหนื่อยกันมากขึ้น แต่คงไม่กระทบต่อการตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลกนัก

สำหรับประเด็นภัยจากการคุกคามทางชีวภาพและภัยจากเทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ เทคโนโลยีสร้างความปั่นป่วน ดังเช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ คาดว่า จะไม่เป็นปัจจัยที่เลวร้ายลงต่อการปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโดนัลด์ ทรัมป์ เพราะ อีลอน มัสค์ ที่ร่วมทีมกับทรัมป์ ก็เป็นคนที่ “รู้” และ “ตระหนัก” ถึงภัยจากเอไอเป็นอย่างดี

การประกาศปรับตั้งเวลาใหม่ของนาฬิกาวันสิ้นโลก สำหรับปี พ.ศ. 2568 ได้ถูกกำหนดแล้ว คือ วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2568

(3) โครงการ “Venus Life Finder” สำรวจหาหลักฐานสิ่งมีชีวิตในบรรยากาศดาวศุกร์

กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 ถ้าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน ยาน “โฟตอน” (Photon) ของโครงการ “Venus Life Finder” จะเดินทางไปถึงดาวศุกร์ แล้วส่งยานสำรวจขนาดเล็กเข้าสู่บรรยากาศของศุกร์ เพื่อค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในบรรยากาศของดาวศุกร์

จุดเริ่มต้นของโครงการ Venus Life Finder คือ รายงานการค้นพบ แก๊สฟอสฟีน ในบรรยากาศของดาวศุกร์เมื่อปี พ.ศ. 2563 ซึ่งทำให้เกิดกระแสการถกเถียงกันว่า มีสิ่งมีชีวิตในบรรยากาศของดาวศุกร์หรือไม่? และทำให้ดาวศุกร์กลับมาเป็นเป้าหมายเพื่อการสำรวจศึกษาโดยองค์การอวกาศของหลายประเทศ

โครงการ “Venus Life Finder” เป็นโครงการอวกาศขนาดเล็กของเอกชน ดำเนินการโดยบริษัท Rocket Lab (ห้องปฏิบัติการจรวด) ในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะนักวิทยาศาสตร์จาก เอ็มไอที (MIT) โดยมีทีมร่วมกันทำงานกับโครงการทั้งหมดไม่เกิน 30 คน และใช้งบประมาณทั้งหมดไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

venus หรือ ดาวศุกร์
venus หรือ ดาวศุกร์

ตามแผนของโครงการ ยานโฟตอน จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากฐานส่งจรวดของบริษัท Rocket Lab ในนิวซีแลนด์ โดยกำหนด (ล่าสุด) ตามแผน คือ เดือนมกราคม พ.ศ. 2568 เดินทางโดยอาศัยแรงส่งจากดวงจันทร์ จนกระทั่งถึงดาวศุกร์เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2568 แล้วยานโฟตอนก็จะปล่อยยานสำรวจขนาดเล็ก มีน้ำหนักเพียง 17 กิโลกรัม เข้าสู่บรรยากาศของดาวศุกร์

ในยานสำรวจมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว คือ autofluorescing nephlometer ซึ่งเป็นเครื่องโฟโตมิเตอร์ ฉายแสงเลเซอร์ใส่บรรยากาศของดาวศุกร์ ขณะกำลังตกลงสู่พื้นผิวดาวศุกร์อยู่ในบรรยากาศของดาวศุกร์ โดยเครื่องโฟโตมิเตอร์นี้ จะบันทึกการกระเจิงของแสงเลเซอร์ จากอนุภาคในบรรยากาศของดาวศุกร์ ซึ่งก็จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับขนาด, รูปร่าง, ส่วนประกอบ และความหนาแน่นของกลุ่มอนุภาค และที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ เมื่อแสงเลเซอร์ฉายใส่อนุภาคหรือสารอินทรีย์ ก็จะเกิดการเรืองแสง

ยานสำรวจมีเครื่องโฟโตมิเตอร์จะมีเวลาเพียง 3 ถึง 5 นาที ทำงานอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ จากระดับความสูง 60 กิโลเมตร ถึง 45 กิโลเมตร แล้วจากนั้นก็จะทำงานไม่ได้ เพราะบรรยากาศที่หนาแน่นมากของดาวศุกร์ และตกใส่ดาวศุกร์ในที่สุด

สำหรับข้อมูลจากการทำงาน 3 ถึง 5 นาทีนั้น จะถูกส่งไปให้ยานโฟตอน เพื่อส่งสัญญาณกลับมายังโลกสำหรับการวิเคราะห์ศึกษาต่อไป

การสำรวจบรรยากาศของดาวศุกร์ครั้งนี้ จะไม่สามารถหาฟอสฟีนได้ เพราะจะต้องเพิ่มขีดการทำงานของระบบ แต่มีความสำคัญที่น่าสนใจ 3 ประการ คือ :-

หนึ่ง : เป็นโครงการแรกของเอกชนสำหรับการสำรวจดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
สอง : เป็นโครงการขนาดเล็ก ใช้งบประมาณและคนทำงานน้อย
สาม : ข้อมูลจากโครงการจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับโครงการสำรวจดาวศุกร์ขนาดใหญ่ ดังเช่นโครงการ Davinci ของนาซา และโครงการ EnVision ของอีซา รวมทั้งโครงการอื่น ๆ ของประเทศ ดังเช่น อินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

(4) เอไอ ปี 2568 : การพัฒนา vs. การใช้งานและผลกระทบ

โลกปี พ.ศ. 2568 จะเป็นอย่างไรสำหรับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ?

2 ประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเอไอตลอดมาตั้งแต่เมื่อเอไอได้รับการพัฒนาถึงขั้นใช้งานได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม คือ (1) การพัฒนา (2) การใช้งานและผลกระทบ

สำหรับเรื่องการพัฒนา ซุนดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอของ Google และ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของ Microsoft มีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า ปี 2568 จะไม่ใช่ปีแห่งการเกิดขึ้นของพัฒนาการใหญ่ของเอไอ แต่แซม อัลต์แมน (Sam Altman) ผู้บริหาร Open AI เห็นว่า “ไม่มีกำแพง” สำหรับการพัฒนาเอไอ

ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่มองว่า ปี 2568 จะไม่ใช่ปีแห่งการแข่งขันหรือการค้นพบความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเอไอ แต่มิได้หมายความว่านักพัฒนาเอไอจะได้หยุดพักหรือไม่ทำงานกัน เพราะงานของนักพัฒนาไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใด ก็ไม่เคยหยุดพักอยู่แล้ว แต่แนวโน้มหรือความเป็นไปได้ของปี 2568 คือ การชะลอตัวลงของการทุ่มเททรัพยากรและความกดดันสำหรับการพัฒนาเอไอ

แล้วประเด็นที่ 2 คือ การใช้งานและผลกระทบล่ะ?

ผู้เชี่ยวชาญปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่ผงกศีรษะตรงกันว่า ใช่เลย!

โลกของเอไอในปี 2568 อาจมองเห็นได้ง่าย ๆ จากสถานการณ์เกี่ยวกับเอไอในรอบสองปีที่ผ่านไป คือ ในปี พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งการส่งเสียงดัง “เตือนภัยจากเอไอ” ของนักพัฒนาเอไอคนสำคัญ ผู้บริหารองค์กร และผู้คนทั่วไป

แต่เมื่อถึงปลายปี พ.ศ. 2567 สถานการณ์ที่ดูเลวร้ายสำหรับเอไอก็ผ่อนคลายลง เมื่อราชบัณฑิตสภาวิทยาศาสตร์สวีเดนมอบรางวัลโนเบลฟิสิกส์แก่สองนักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเอไอ และมอบรางวัลโนเบลเคมีแก่สองนักวิทยาศาสตร์ (จากทั้งหมดสามคนที่ได้รับรางวัลโนเบลเคมีร่วมกัน) ผู้ใช้เอไอในการพยากรณ์โครงสร้างโปรตีน

แนวโน้มสำหรับเอไอในปี 2568 จึงชัดเจนว่า จะมีการใช้งานเอไอกันมากขึ้น และในแทบทุกวงการเพราะปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า “เราต้องอยู่กับเอไออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งก็จะมีผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ทั้งเรื่องผลกระทบต่องานอาชีพและการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมไซเบอร์

โจทย์ใหญ่ที่จะต้องถกเถียงกันมากขึ้น จึงเป็น “เอไออยู่กับเราแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วเรากับเอไอจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสร้างสรรค์ได้อย่างไร?”

(5) ภาวะโลกร้อน : แนวโน้มที่ร้อนขึ้น

ในรอบสองปี 2566 และ 2567 ที่ผ่านไป ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยบรรยากาศโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในปี พ.ศ. 2567 ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม รองลงมาคือในปี พ.ศ. 2566 ที่ 1.45 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม

ตามข้อตกลงปารีส 2015 (พ.ศ. 2558) เป้าหมายคือ ความร่วมมือของนานาชาติในการควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิบรรยากาศที่พื้นผิวโลก มิให้ขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือที่ดีกว่าคือ 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

อุณหภูมิของบรรยากาศโลกเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมคือ ประมาณ 13.7 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิของโลก ปี พ.ศ. 2567 จึงขึ้นสูงแตะระดับต่ำสุดที่คาดหวังจะมิให้เกิน คือ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว

น้ำแข็งละลายจากภาวะโลกร้อน
น้ำแข็งละลายจากภาวะโลกร้อน

สำหรับปี พ.ศ. 2568 ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ก็จะเข้ามาแทนที่เอลนีโญเต็มที่ และอุณหภูมิโลกเฉลี่ยก็จะลดลง แต่กลับคาดกันว่าจะไม่ลดลงมาก คือ จากเป็น 1.29 ถึง 1.4 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ปี 2568 เป็นปีที่อุณหภูมิเฉลี่ยยังสูงเป็นถึงอันดับสาม รองลงมาจากปี 2567 และ 2566 เท่าที่เคยมีการบันทึกกันมา

สำหรับสาเหตุ อธิบายกันว่า น่าจะเป็นผลจากการสะสมของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ และปัจจัยสาเหตุอื่น ๆ ที่กำลังศึกษากันอยู่

แถมในปี พ.ศ. 2568 โลกยังจะต้องเผชิญกับ “Trump effect” หรือ “ผลกระทบจากทรัมป์” โดยคาดกันว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีสอย่างรวดเร็วหลังการเข้ารับ

ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่สอง งานการรณรงค์เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนก็ย่อมต้อง “เหนื่อย” กันมากขึ้น เพราะข้อตกลงปารีสมีทั้งส่วนเป็น “ปฏิบัติการ” คือ action และความช่วยเหลือด้านการเงินจากประเทศอุตสาหกรรมดังเช่น สหรัฐอเมริกา

แต่ก็ยังมีข่าวดีจากประเทศจีน ที่แสดงเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการในระดับโลกว่า ประเทศจีนจะร่วมช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนต่อไปอีกอย่างแข็งขัน หลังจากที่เคยแสดงจุดยืนร่วมกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาที่ โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ และได้นำสหรัฐอเมริกากลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสใหม่ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2564 ต่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ 

ติดตามอีก 5 เรื่องใหญ่วิทยาศาสตร์ ใน (ส่อง 10 เรื่องใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ ปี 2568 (ตอน 2))