การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือ ภาวะโลกร้อน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบกับสิ่งมีชีวิตและผู้คนทุกคนทั่วโลก โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ วัฒนธรรม ชนชั้น ทุกคนต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย และปัญหานี้ได้ทวีความรุนแรงต่อเนื่องมากขึ้นทุกปี

ไทยรัฐออนไลน์ จึงขอถือโอกาสสิ้นปี 2024 พาผู้อ่านไปย้อนดูกันว่าตลอดปีที่ผ่านมา ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกระทบโลกของเราอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหานี้และร่วมมือกันหยุดยั้ง ก่อนที่โลกจะไปถึงจุดที่หวนคืนไม่ได้อีกแล้ว

ปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

ปี 2024 กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา และเป็นปีที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี ค.ศ.1850-1900) เป็นครั้งแรก ทำลายสถิติเดิมของปี 2023 ที่ทำไว้ 1.43 องศาเซลเซียส

ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ 196 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามเพื่อร่วมกันรักษาอุณหภูมิของโลก ไม่ให้เพิ่มสูงถึง 2 องศาเซลเซียสเหนือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือหากเป็นไปได้ จะพยายามที่จะไม่ให้อุณหภูมิสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก การรักษาตัวเลขนี้จึงเป็นไปเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ซาแมนธา เบอร์เกส รองผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป (C3S) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นยังไม่ได้หมายความว่าข้อตกลงปารีสถูกละเมิด แต่หมายความว่า มาตรการการดำเนินการทางสภาพอากาศครั้งใหญ่ มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าที่เคย

...

ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า สัตว์ป่า 69% จะมีจำนวนลดลงอย่างน่าเป็นห่วงในเวลา 40 ปีข้างหน้า และถ้าอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.5-2.5 องศา จะส่งผลให้ 20-30% ของสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ โดยสัตว์ที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบก่อนใคร คือ สัตว์ที่ต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเฉพาะ เช่น สัตว์แถบขั้วโลกและสัตว์ที่ต้องอาศัยในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูง เพราะการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเกิดขึ้นและส่งผลกระทบอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่พวกมันจะปรับตัวได้ทัน

อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในขณะนี้ ยังส่งผลต่อพฤติกรรม พัฒนาการ บทบาททางนิเวศวิทยาของสัตว์หลายชนิด ตัวอย่างเช่น ยุงที่แพร่พันธุ์ได้ดีในอากาศร้อนชื้น และอาศัยอุณหภูมิในการนำทางบินไปยังที่ต่างๆ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันก็แพร่พันธุ์ได้มากขึ้นและไปหาเหยื่อในพื้นที่อื่นได้ด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้อาจเพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ

ก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศตั้งแต่ช่วงปี 1950 โดยจะวัดเป็นจำนวนส่วนต่อล้าน (parts per million: ppm) ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ความเข้มข้นของ CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงสุด เพราะสะสมมาจากฤดูหนาวที่ไม่มีใบไม้คอยดูดซับ โดยมลพิษส่วนใหญ่ในชั้นบรรยากาศมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน

ความเข้มข้น CO2 ที่ถูกวัดครั้งแรกในช่วงปี 1950 อยู่ที่ 313 ppm สูงกว่าศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแพร่หลายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถประมาณปริมาณ CO2 ในบรรยากาศย้อนหลังไปได้หลายล้านปี

และจากการวัดในเดือนพฤษภาคมปี 2024 นี้ พบว่าความเข้มข้นของ CO2 ในบรรยากาศสูงทุบสถิติ โดยวัดได้เกือบ 427 ppm เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ppm เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดของปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในการเพิ่มขึ้นต่อปีที่มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเป็นระดับความเข้มข้นสูงสุดที่เคยมีมาในหลายล้านปี ซึ่งความเข้มข้นของ CO2 ที่มาก ก็จะส่งผลให้โลกกักเก็บความร้อนและมีอุณหภูมิสูงขึ้นด้วย

มหาสมุทรเดือด “ปะการังฟอกขาว” เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรร้อนทำลายสถิติในปี 2023 และสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2024 โดยอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ในปี 2005-2023 มหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนเฉลี่ยประมาณ 3.1 ล้านเทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี ซึ่งมากกว่าการใช้พลังงานของโลกในปี 2023 ถึง 18 เท่า

...

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ่” ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ยังเป็นแรงหนุนให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงมากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อน้ำทะเลร้อนมากขึ้นย่อมกระทบกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตทางทะเล โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” อันเกิดจากการที่น้ำอุณหภูมิที่สูงมากเกินไป จนทำให้ปะการังค่อยๆ มีสีที่จางลงและอยู่ในสภาวะอ่อนแออย่างมาก หากอุณหภูมิน้ำทะเลกลับสู่สภาวะปกติได้เร็ว ปะการังก็จะสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำยังคงสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้ปะการังตายได้

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลกครั้งมโหฬาร ครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ปี 1998 และเป็นครั้งที่กว้างขวางที่สุดที่เคยมีการบันทึกไว้ กระทบ 74 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก

ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า 77% ของพื้นที่ปะการังทั่วโลก ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ได้รับผลกระทบจากความร้อนที่ทำให้เกิดการปะการังฟอกขาว ซึ่งปะการังเหล่านี้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยของ 1 ใน 4 ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล การฟอกสีของพวกมันย่อมส่งผลกระทบกับระบบนิเวศใต้ทะเลเป็นลูกโซ่

...

“ปรากฏการณ์ครั้งนี้ มีแนวโน้มที่จะทำลายสถิติก่อนหน้าในแง่ของผลกระทบ เราไม่เคยพบเจอปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เท่านี้มาก่อน” เดเร็ก แมนเซลโล ผู้ประสานงานโครงการเฝ้าระวังปะการังของ NOAA กล่าว

ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ว่า หากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ปะการังจะหายไปกว่า 70-90% และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกิน 2 องศา ปะการังจะหายไป 99%

“ธารน้ำแข็ง” ละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งทั่วโลก รวมถึงการขยายตัวของน้ำที่ร้อนขึ้น หากเทียบระหว่างปี 1880 และปี 2024 พบว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง 21 ซม. และการเพิ่มขึ้น 10 ซม.เกิดขึ้นแค่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจะกระทบกับประชาชน 410 ล้านคนตามพื้นที่ชายฝั่ง ภายในปี 2100

ในส่วนการสูญเสียธารน้ำแข็ง (Glacier loss) ก็เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2024 พบการสูญเสียธารน้ำแข็งมากเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ ในสวิตเซอร์แลนด์มีการละลายมากที่สุดที่เคยพบตลอด 80 ปีของการสังเกตการณ์

เช่นเดียวกับในเอเชีย ที่มีแนวโน้มจะสูญเสียธารน้ำแข็งมากทุบสถิติ จากหิมะที่ตกน้อยกว่าปกติและฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด โดยในปี 2023–2024 พบว่ามีหิมะตกต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ในพื้นที่ฮินดูคุช-ฮิมาลัย ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับแม่น้ำที่อาศัยน้ำไหลจากหิมะละลายและความมั่นคงของน้ำ

ภายใต้สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง คาดว่าจะมีการสูญเสียธารน้ำแข็ง East Rongbuk บนภูเขาเอเวอเรสต์ไป 2 ใน 3 ภายในปี 2100 ซึ่งธารน้ำแข็งแห่งนี้นอกจากจะเป็นส่วนสำคัญของ “อ่างเก็บน้ำของเอเชีย” แล้ว ยังมีความสำคัญด้านการปีนเขาและวัฒนธรรมอีกด้วย

...

ขณะเดียวกันในปีนี้ สโลวีเนียและเวเนซุเอลา กลายเป็น 2 ประเทศแรกของโลกที่สูญเสียธารน้ำแข็งแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ โดยเวเนซุเอลามีธารน้ำแข็ง 6 แห่ง แต่ได้ละลายหายไปจนเหลือ 1 แห่งในปี 2011 และเมื่อมาถึงปีนี้ ธารน้ำแข็งฮุมโบลดต์ (Mountain Humboldt Glacier) ซึ่งเหลืออยู่เป็นแห่งสุดท้าย ก็ละลายหายจนเหลือพื้นที่น้อยกว่า 0.01 ตารางกิโลเมตร จนไม่สามารถจัดให้เป็นธารน้ำแข็งได้อีก

ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู
ธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีส ประเทศเปรู

ส่วนธารน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีส (Andes) ก็มีขนาดลดลงจนเหลือน้อยที่สุดในรอบมากกว่า 11,700 ปี โดยข้อมูลที่เก็บจากธารน้ำแข็ง 5,500 แห่งในเทือกเขาแอนดีส พบน้ำแข็งละลายไปแล้วกว่า 25% จากยุคลิตเติลไอซ์เอจ (ราว 3,000 ปีก่อน) และธารน้ำแข็งเขตร้อนของเทือกเขาแอนดีสละลายเร็วกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธารน้ำแข็งทั่วโลก

ซึ่งการหายไปของธารน้ำแข็งหมายถึงการหายไปของแหล่งน้ำจืดที่สำคัญด้วย ข้อมูลจากรายงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่าธารน้ำแข็งทั่วโลกได้หายไปแล้วกว่า 600 เมตร และปริมาณน้ำจืดที่ถูกกักเก็บในรูปแบบธารน้ำแข็งได้ละลายหายไปกว่า 11 พันล้านตัน ตั้งแต่ปี 2000 ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำทั่วโลกลดลง 20% ภายในปี 2100

ภัยพิบัติ พายุที่รุนแรง

ในปีนี้เกิดพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 119 ลูกด้วยกัน ในจำนวนนี้ได้รับการตั้งชื่อ 83 ลูก โดยพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดคือ “ไต้ฝุ่นยางิ” ไต้ฝุ่นระดับ 5 ที่พัดถล่มทางตอนใต้ของจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.- 9 ก.ย. คร่าชีวิตผู้คน 844 คน สร้างมูลค่าความเสียหาย 5.78 แสนล้านบาทใน 8 ประเทศ ทำสถิติเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มเวียดนามตอนเหนือ ด้วยความเร็วลมสูงสุด 260 กม./ชม.

น้ำท่วมเชียงราย จากผลพวงพายุไต้ฝุ่นยางิ
น้ำท่วมเชียงราย จากผลพวงพายุไต้ฝุ่นยางิ

ฝากฝั่งโลกตะวันตก ข้อมูลจาก NOAA รายงานว่า ฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก 2024 ระหว่าง 1 มิ.ย. - 30 พ.ย. เกิดพายุที่ได้รับการตั้งชื่อทั้งหมด 18 ลูก ในจำนวนนั้น 11 ลูกกลายเป็นพายุเฮอริเคน (มีความเร็วมากกว่า 74 ไมล์/ชม. หรือราว 119 กม./ชม.ขึ้นไป) และ 5 ลูกเป็นเฮอริเคนขนาดใหญ่ที่มีความรุนแรงระดับ 3-5 (ความเร็ว 178 กม./ชม.ขึ้นไป)

ปีนี้จัดเป็นอันดับ 4 ร่วม ของปีที่เกิดพายุเฮอริเคนแอตแลนติกมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเก็บสถิติในยุค 1800 และถือเป็นปีที่ 9 ติดต่อกันที่เกิดพายุมากกว่าค่าเฉลี่ยของฤดูกาล ซึ่งปกติจะเกิดพายุอยู่ที่ 14 ลูก ถูกจัดเป็นเฮอริเคน 7 ลูก และมีความรุนแรงเป็นเฮอริเคนขนาดใหญ่ 3 ลูก

พายุรุนแรงที่เกิดในปีนี้ เช่น ซูเปอร์เฮอริเคนเบอริล ที่เป็นเฮอริเคนระดับ 5 ที่พัดถล่มประเทศแถบแคริบเบียน คาบสมุทรยูกาตันของเม็กซิโก และชายฝั่งทางใต้ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.- ก.ค. โดยเป็นพายุมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 173 ปีและก่อตัวเร็วที่สุด มีผู้เสียชีวิตกว่า 78 ราย สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2.75 แสนล้านบาท

เฮอริเคนเฮลีน ซึ่งมีความรุนแรงระดับ 4 ได้พัดถล่มอ่าวฟลอริดาของสหรัฐฯ ปลายเดือนกันยายน ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 150 ราย และกลายเป็นเฮอริเคนที่สร้างความสูญเสียมากที่สุดในภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่เฮอริเคนแคทรีนาในปี 2005 

อย่างไรก็ดีในปี 2025 ที่จะถึงนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงติดตาม ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่จะเกิดขึ้นและทำให้พื้นผิวมหาสมุทรเย็นลง ซึ่งนั่นอาจทำให้อุณหภูมิของโลกลดลงได้ในระยะสั้น แต่มันก็ไม่อาจหยุดยั้งแนวโน้มการอุ่นขึ้นในระยะยาวที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

“แม้ว่าปี 2025 อาจเย็นกว่าปี 2024 เล็กน้อย หากเกิดลานีญา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอุณหภูมิจะปลอดภัย หรือ ปกติ" ฟรีเดอริเก้ ออตโต อาจารย์อาวุโสจากอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าว

"เรายังคงจะประสบกับอุณหภูมิสูง ซึ่งจะทำให้เกิดคลื่นความร้อนที่อันตราย, ภัยแล้ง, ไฟป่าภูเขา และพายุไซโคลนเขตร้อน" 

ขอบคุณ : wmogreenpeaceearth.orgcnntheuiaaunepwmonprweforum.org