"สายลับแตงโม" ขุมกำลังลับ บั่นทอนอำนาจ "มิน อ่อง หล่าย" หนามยอกอกรบไม่ชนะ ความลับรั่วไหล "อดีตทหารระดับสูง” ชี้เป็นยุทธวิธีต่อสู้โดยไม่ใช้อาวุธ คาดการณ์เลือกตั้งในพม่าเกิดขึ้นยาก ตอนนี้ได้เพียงซื้อเวลา ทางลงสุดท้ายอาจต้องลี้ภัย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานสถานการณ์สงครามในเมียนมา ระหว่างกองทัพทหารกับกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ต่อต้านการควบคุมของรัฐบาล พบว่า กองทัพได้สูญเสียการครอบครองพื้นที่ส่วนใหญ่ไปแล้วช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยกำลังควบคุมพื้นที่อยู่เพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของประเทศ

ส่วนสำคัญมาจากสายลับทหารที่ถูกเรียกว่า "ทหารแตงโม" ที่ด้านนอกเป็นสีเขียว หมายถึงภายนอกนั้นจงรักภักดีต่อกองทัพ แต่ด้านในเป็นสีแดง หมายถึงการแอบทำงานอย่างลับๆ ให้กลุ่มกบฏที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งมีสีสัญลักษณ์เป็นสีแดง พบว่ามีการปล่อยข้อมูลภายในของกองทัพไปยังกองกำลังป้องกันประชาชน ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มกองกำลังพลเรือน โดยฝ่ายต่อต้านใช้ข้อมูลข่าวกรองซุ่มโจมตีกองทัพ หรือหลีกเลี่ยงการโจมตี นอกจากนี้ยังสนับสนุนเงินทุนในการซื้ออาวุธให้แก่กองกำลังฝ่ายต่อต้าน

...

ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ "มิน อ่อง หล่าย" ผู้นำทหารสูงสุดของเมียนมา ไม่สามารถยึดครองพื้นที่ทั้งหมดของประเทศได้ หลังจากทำการยึดอำนาจมาก่อนหน้านี้ และมีแนวโน้มเป็นการซื้อเวลา หลังจากที่ส่งตัวแทนมาประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ประเทศไทย และมีการกล่าวว่าจะมีการจัดเลือกตั้งอีกไม่นานหลังจากนี้

จับสัญญาณรุกไล่ของกองทัพเมียนมากับกลุ่มผู้ต่อต้าน พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์ขุมกำลังของทหารแตงโมในเมียนมาว่า หากประเมินภาพรวม ด้วยความที่ชาวเมียนมามีความนิยมในการต่อสู้แบบไร้ความรุนแรง ทำให้บรรดาทรัพยากรที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองค่อยๆ ตีตัวออกห่าง เช่น ทิ้งงานที่สั่ง หรือไม่ทำตามที่รัฐบาลทหารสั่งเพื่อถ่วงเวลา

จึงเกิดปรากฏการณ์ที่ตอนนี้ทหารและผู้มีอำนาจทางการเมืองเมียนมาหลายคน หนีมาอยู่ฝั่งไทย หรือบางรายไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหาร ซึ่งกระแสการต่อต้านเงียบแบบนี้มีมาหลายปี ตั้งแต่ก่อนมีการเลือกตั้งที่ "อองซานซูจี" ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น แต่ไม่นานก็ถูกทหารยึดอำนาจ

“คนพม่าเรียนรู้แนวทางการต่อสู้โดยไม่ใช้กำลังอย่างอัตโนมัติ และมีกรณีที่เกิดขึ้นในลักษณะเป็นทหารสายลับ นำข้อมูลจากรัฐบาลทหารไปให้ฝ่ายต่อต้าน เพื่อโจมตีให้สูญเสียกองกำลัง จนไม่สามารถยึดเมืองคืนได้จากฝ่ายต่อต้าน โดยข้อมูลความลับส่วนใหญ่อาจไม่ลึกมาก แต่ทำให้กองกำลังทหารไม่สามารถเอาชนะผู้ต่อต้านได้ เช่น ถ้ากองกำลังต่อต้านทราบว่ากองทัพทหารพม่าจะต้องไปซื้อข้าวที่ไหน ก็มีการไปวางยาเพื่อให้ท้องเสีย จนไม่สามารถออกไปต่อสู้ได้”

น่าสนใจว่าที่ผ่านมากองทัพทหารเมียนมามักหาคนที่มาลงโทษไม่ได้ ขณะเดียวกันถ้ามีการลงโทษแบบเด็ดขาด ยิ่งทำให้กลุ่มทหารเหล่านั้นไม่ให้ความร่วมมือ จึงเห็นว่านายทหารระดับสูงที่มีความรู้หลบหนีเข้ามาไทยจำนวนมาก โดยคนเหล่านี้มีความรู้จบหมอและวิศวกร ทหารแปรพักต์บางรายมีความรู้ด้านวิศวกร ที่ใช้ความรู้เหล่านี้ในการประดิษฐ์โดรนสังหารไปโจมตีทหารพม่า

“ผมเชื่อว่าการที่ มิน อ่อง หล่าย ไม่สามารถยึดอำนาจได้ มาจากความไม่เชื่อมั่นของคนเมียนมา การต่อต้านเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และสิ่งนี้ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านทหารพม่ามีความแข็งแกร่งมากขึ้นกว่าเดิมมาก"

...

กองทัพเมียนมา วัดกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านทำไมถึงแพ้

ถ้าวัดกำลังกลุ่มต่อต้านทหารเมียนมาที่แข็งแกร่งมากขึ้น "พล.ท.พงศกร” มองว่า กองทัพอาระกันมีความแข็งแกร่งในเชิงการรบมากที่สุด เพราะมีการนำเข้าอาวุธมาจากอินเดีย ขณะเดียวกันก็มียุทธวิธีการรบที่กองทัพทหารเมียนมาเอาชนะได้ยาก แต่ถ้ามองในเชิงของอาวุธที่ใช้ในการสู้รบที่ทันสมัย ต้องยกให้กองกำลังว้า

ถ้าประเมินสงครามยืดเยื้อในเมียนมา มาจนถึงตอนนี้ ค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่ "มิน อ่อง หล่าย" จะสามารถรวมประเทศเมียนมาได้เป็นปึกแผ่น มีทางเดียวที่รัฐบาลทหารเมียนมาต้องเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ต่อต้านในการจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐ

...

“ตอนนี้ มิน อ่อง หล่าย ได้แต่เพียงซื้อเวลา แม้มีการอ้างว่ามีการจัดการเลือกตั้ง แต่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เพราะตอนนี้ทุกอย่างมันขาดเหมือนแก้วที่แตกไปแล้ว ต่อให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างที่อ้าง ก็เป็นการเลือกตั้งเฉพาะบางพื้นที่ เช่น ในหนึ่งจังหวัดอาจมีการเลือกตั้งอยู่แค่ 2 ตำบล ซึ่งผู้มีอำนาจอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งโดยชอบธรรมไม่ได้"

ทางออกของ "มิน อ่อง หล่าย" ตอนนี้เหลือเพียงการลี้ภัยเพียงอย่างเดียว ซึ่งประเทศที่เขาสนิทมากคือรัสเซีย แต่มีหลายคนมองว่าอาจมีการลอบสังหาร ความเป็นจริงแล้วเกิดขึ้นได้ยากมาก 

สำหรับการวางท่าทีของไทย ตอนนี้ยังวางตัวในการเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ดังนั้น รัฐบาลไทยควรเจรจากับ "มิน อ่อง หล่าย" ว่าต้องการเจรจากับกองกำลังชาติพันธุ์เป็นรายกรณี โดยจะแจ้งกับรัฐบาลของเมียนมาก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นไทย เช่น กลุ่มกะเหรี่ยงเจรจาเรื่องอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนกลุ่มว้าก็ขอเจรจากับเรื่องการป้องกันเรื่องยาเสพติด