น้ำท่วมภาคใต้ "นครศรี” วิกฤติฝนตกหนัก น้ำทะเลหนุนท่วมเข้าพื้นที่เมือง คาดอีกสัปดาห์มวลน้ำปริมาณฝน ส่งผลกระทบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน โดยเฉพาะ จ.ปัตตานี เสี่ยงท่วมหนักอีกระลอก
น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้พื้นที่เศรษฐกิจหลายแห่งได้รับผลกระทบ เป็นผลจากฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้วันที่ 16 ธ.ค.67 เกิดน้ำป่าทะลักท่วมบ้านเรือนหลายพื้นที่ เช่น อำเภอฉวาง,ช้างกลาง,พิปูน ทำให้มีปริมาณน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนรวดเร็วตั้งแต่เที่ยงคืน จนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ณ วันที่ 16 ธ.ค. 67 มีฝนตกหนักมากกว่า 90 มม. หลายอำเภอในจังหวัด นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง และสุราษฎร์ธานี
ฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เมือง ไม่สามารถระบายนำ้ได้ทัน และมีแนวโน้มเข้าท่วมซ้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานแผนงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้รอบนี้ เป็นผลจากฝนตกหนักต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
...
โดยตอนนี้มวลน้ำท่วมเข้าพื้นที่ จ.ชุมพร และนครศรีธรรมราช หลังจากนี้อีก 1 อาทิตย์ มวลน้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่หาดใหญ่ และปัตตานี
ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ เป็นผลจากภาวะลานีญา ฝนตกหนักได้รับอิทธิพลจากพายุที่เข้ามาทางเวียดนาม มีภาวะลมแรงจากทางภาคเหนือทำให้มวลอากาศเย็นพัดเข้ามาหนักมากขึ้น ทำให้มีฝนตกหนัก โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช ที่ตอนนี้น้ำล้นตลิ่ง เพราะมีปริมาณฝนสะสมมากว่า 2 วัน
“สภาวะพื้นที่ภาคใต้ ทำให้น้ำป่าที่ไหลหลากมาเร็ว ด้วยเส้นทางน้ำมีพื้นที่ภูเขาขวาง ทำให้น้ำไหลหลากรวดเร็วเข้าไปในพื้นที่เมือง ประกอบกับช่วงนี้มีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งปกติใช้เวลา 3 วัน ก่อนน้ำไหลลงสู่ทะเล แต่ในสถานการณ์นี้กลับมีปริมาณฝนตกต่อเนื่อง ทำให้น้ำเริ่มไหล่บ่าเข้าเมือง หลังจากนี้มวลอากาศที่ทำให้ฝนตกหนัก มุ่งหน้าสู่พื้นที่ด้านล่างทางประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นผลดี ทำให้ปริมาณฝนทางภาคใต้ของไทยลดลง"
เฝ้าระวังพื้นที่ จ.ปัตตานี น้ำท่วมซ้ำอีกระลอก
จากการคาดการณ์ปริมาณฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าภายในอาทิตย์หน้า (ประมาณ23 ธ.ค. เป็นต้นไป) จะมีปริมาณน้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่ตอนล่าง "รศ.ดร.สุจริต" มองว่า มีความเป็นไปได้ที่น้ำจะเข้าท่วมพื้นที่หาดใหญ่ แต่อาจท่วมหนักซ้ำในพื้นที่ จ.ปัตตานี และนราธิวาส
เช่นเดียวกับพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมเฉียบพลัน เช่น บริเวณเขื่อนบางลาง หรือ เขื่อนปัตตานี อำเภอบันนังสตา จ.ยะลา รวมถึงพื้นที่เชื่อมต่อกับลุ่มน้ําปัตตานี ให้เตรียมเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศอย่างใกล้ชิด
เหตุภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตลอดปี ประชาชนหลายภาคส่วนมีความต้องการให้รัฐบาลทบทวนระบบระบายน้ำของเมือง เพราะระบบท่อที่เคยวางไว้ในหลายปีก่อน ไม่สามารถรองรับกับปริมาณฝนตกหนักเพิ่มขึ้น ในระยะเวลาสั้นลงกว่าเดิมได้ ดังนั้นต้องมีการขยายระบบท่อระบายน้ำให้เพิ่มขึ้น
20 ปีก่อนเราเคยมีแผนพัฒนาเมือง ซึ่งท่อระบายน้ำที่วางไว้ เหมาะกับสภาพอากาศสมัยก่อน ที่ยังไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน.
...