"ความนิยมลด สภาขัดแย้ง การเมืองวุ่นวาย รัฐบาลออกกฎหมายไม่ได้" เหตุยุนซอกยอลประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำเกาหลีใต้โกลาหล กูรูคาด นี่อาจเป็นการปูทางลงสู่ตำแหน่ง สร้างเรื่องกลบเกลื่อนสิ่งที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ มองผลการตัดสินใจครั้งนี้ สร้างความเปราะบางให้เอเชียตะวันออกและสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น!"ขอประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อปกป้องสาธารณรัฐเกาหลี จากภัยคุกคามของกองกำลังคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ เพื่อกำจัดกลุ่มต่อต้านรัฐที่ไร้ศีลธรรมที่สนับสนุนเกาหลีเหนือ ซึ่งกำลังปล้นชิงเสรีภาพรวมถึงความสุขของประชาชน และเพื่อปกป้องระเบียบรัฐธรรมนูญที่เสรี"ถ้อยแถลงดังกล่าวคือการประกาศใช้กฎอัยการศึกจาก 'ยุนซอกยอล' (윤석열) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2567 เวลาประมาณ 22.20 น. ตามเวลาท้องถิ่น แม้ว่านี่จะเป็นเสียงจากผู้นำสูงสุด แต่คำแถลงนั้นกลับสร้างความตื่นตระหนกและชวนงงไปทั้งประเทศ เพราะถูกประกาศขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยในรอบเกือบ 5 ทศวรรษปี 2522 คือครั้งสุดท้ายที่เกาหลีใต้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเป็นปีที่ 'พักจองฮี' (박정희) จอมเผด็จการทหารในคราบผู้นำสูงสุด ถูกลอบสังหารระหว่างเกิดการก่อรัฐประหาร หลังจากที่เขาปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน หลังจากนั้นในปี 2530 สาธารณรัฐเกาหลีเกิดการปกครองด้วยระบบรัฐสภา กฎอัยการศึกก็ไม่เคยถูกประกาศใช้อีกเลย จนกระทั่งยุนซอกยอล ประธานาธิบดีคนล่าสุด ออกมาประกาศเมื่อคืนนี้ (3 ธ.ค. 2567)"ตอนนี้ชาวโลกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่ามีเหตุอะไรถึงต้องประกาศกฎอัยการศึก มีเพียงการวิเคราะห์กันเพราะเหตุผลก็ยังไม่ชัดเจน" ความคิดเห็นจาก 'ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ' ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้กล่าวขึ้นมาเป็นประโยคแรก ๆ เมื่อทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ สอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นการประกาศกฎอัยการศึกแบบฟ้าผ่าของนายยุน ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา ให้ความเห็นว่า "เรื่องนี้มองได้ 2 ชั้น" คือ "มองตามพื้นฐาน" และ "มองแบบลึก" ซึ่งสองชั้นนี้จะมีความต่างกันอย่างไร มาลองดูเลกเชอร์ที่ อ.นภดล ได้ให้มุมมองไว้กับเรากันดีกว่าความนิยมลด สภาขัดแย้ง โสมขาววุ่นวาย! :เริ่มต้นกันที่ชั้นแรก เมื่อ "มองตามพื้นฐาน" ศ.ดร.นภดล ระบุว่า ความนิยมของยุนซอกยอลลดลงมาก จนทำให้บริหารงานยากลำบาก อีกทั้งเกาหลีใต้มีระบบสภาเดียว และกำลังถูกคุมด้วยเสียงข้างมากจากฝ่ายค้าน จึงทำให้เกิดปัญหาต่อการบริหารหลายด้าน โดยเฉพาะการผลักดันกฎหมายงบประมาณปีต่อไป ความขัดแย้งระหว่าง 2 ฝ่าย จึงเริ่มลามเป็นเรื่องใหญ่นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ 'คิมคอนฮี' (김건희) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งแดนโสมขาว ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของประธานาธิบดียุน เนื่องจากเธอถูกกล่าวหาหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ อ.นภดล เน้นย้ำว่าเป็น 'เรื่องสำคัญ' และ 'ถูกกล่าวหาอย่างหนัก' คือเรื่องที่เธอถูกโยงว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหุ้นตลาดหลักทรัพย์ เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ให้สังคมว่า "เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง""นั่นอาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุผลบางส่วน ที่ทำให้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนนี้ ตกอยู่ในสภาวะที่มีความยุ่งยากและลำบาก" ศ.ดร.นภดล กล่าวเน้นย้ำ เมื่อถอยออกมามอง 'ภาพใหญ่' การเมืองเกาหลีใต้ตกอยู่ในสภาวะที่เกิด 'การแบ่งแยก' และ 'ความขัดแย้ง' ค่อนข้างสูง สืบเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แม้จะทิ้งเวลามาไม่ใช่น้อยแล้ว แต่ผลของมันก็ส่งผลจวบจนปัจจุบัน!ศ.ดร.นภดล ขยายความสิ่งที่ทีมข่าวฯ พูดถึงในย่อหน้าด้านบนว่า แม้ว่านายยุนจะชนะการเลือกตั้ง แต่นั่นก็เป็นการชนะแบบ ‘ฉิวเฉียดมาก’ คะแนนทิ้งห่างกันเล็กน้อย แต่ทุกคนต่างยอมรับผลที่ออกมา เนื่องจากเคารพในระบอบการปกครองของตน แต่การชนะอย่างฉิวเฉียดนี่แหละ! ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกและความขัดแย้งทางการเมืองกฎอัยการศึกจากคนกลุ่มน้อย เรื่องชวนงงของคนทั้งโลก :ระบอบการเลือกตั้งในสาธารณรัฐเกาหลีเป็นการเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่อย่างของเมืองไทยที่เลือกสภาก่อน แล้วจึงส่งบรรดา ส.ส. เป็นตัวแทนเลือกผู้นำสูงสุด ดังนั้น "ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้จึงมักได้อยู่แบบครบเทอม"แต่ด้วยสถานการณ์ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ จึงทำให้ ศ.ดร.นภดล ระบุว่า เป็นเหตุให้การบริหารงานยากลำบาก ซึ่งนี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ยุนซอกยอล 'ตัดสินใจ' ใช้มาตรการแก้ปัญหา โดยการประกาศใช้ 'กฎอัยการศึก' ซึ่งถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว "ดูไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไร""เพราะตอนนี้ไม่ได้มีเหตุอะไรที่เป็นภัยต่อประเทศชาติ เขา (นายยุน) เพียงอ้างว่ามีภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ โดยการกระทำของฝ่ายค้านที่แปรพักตร์เข้าร่วมมือกับโสมแดง ซึ่งเป็นอันตรายต่อรัฐธรรมนูญและการปกครองของประเทศ""แต่ในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้มีเหตุการณ์อย่างว่า หรือไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แล้วเท่าที่ทราบมาการประกาศครั้งนี้เป็นเพียงการตัดสินใจจากคนกลุ่มเล็ก คณะรัฐมนตรีหลายคนยังไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างกระทันหัน เนื่องจากถูกกดดันด้วยสถานการณ์หลายอย่าง"อ.นภดล ยังระบุว่า แม้แต่พันธมิตรใกล้ชิดอย่าง 'สหรัฐอเมริกา' ก็ยังรู้สึกตกใจต่อการกระทำของประธานาธิบดีผู้นี้ เพราะไม่ได้มีการบอกกล่าวกันมาก่อน ตรงนี้ยิ่งเป็นสิ่งย้ำถึงความวุ่นวาย และความกดดันที่นายยุนต้องเจออยู่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง :อีกหนึ่งปัจจัยที่ ศ.ดร.นภดล มองว่า เป็นเหตุให้ยุนซอกยอลตัดสินใจทำเช่นนี้ คือ เขาเป็นคนที่ขาดประสบการณ์ทางการเมือง!โดยปกติแล้วผู้ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ที่ต้องบริหารงานท่ามกลางปัญหาจำนวนมาก หรือคนที่เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้หลายคนที่ผ่านมา พวกเขาต่างทำงานการเมืองกันมาค่อนข้างนาน เช่น การเมืองระดับท้องถิ่น หรือการช่วงชิงตำแหน่ง ส.ส. เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสภาแต่สำหรับประธานาธิบดีคนที่ 20 แห่งแดนโสมขาวผู้นี้ กลับต่างออกไปในทรรศนะของ ศ.ดร.นภดล "เขาเริ่มจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จนขึ้นสู่การเป็นอัยการสูงสุด ท่าทีที่ดุดันขึงขังเตะตาฝ่ายรัฐบาล มองเห็นว่านายยุนมีความโดดเด่น จึงดึงตัวมาลงชิงตำแหน่งผู้นำสูงสุด"จากการตัดสินใจของพรรครัฐบาล ยุนซอกยอลก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ตามที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือ คราวนี้คนที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน ถึงเวลาได้รับตำแหน่งใหญ่ก็อาจรับมือกับสถานการณ์และความวุ่นวายได้ไม่ดีนัก ต่างจากนักการเมืองหลายคนที่คร่ำหวอดมาก่อนมติสภาล้มกฎอัยการศึก :เวลาประมาณ 23.00 น. ของวันเดียวกันนั้น กฎอัยการศึกตามประกาศของประธานาธิบดี มีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ แต่อย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ตอนต้น ว่านี่คือเรื่องชวนงงไปทั่วแดนโสมขาว ดังนั้น ก่อนที่กฎนี้จะมีผล ช่วงเวลาประมาณ 22.40 น. พรรคฝ่ายค้านเรียกร้องให้มี 'การประชุมสภาฉุกเฉิน' เพื่อพิจารณาลงมติ 'เพิกถอนกฎอัยการศึก' ตามกระบวนการประชาธิปไตย!แม้นายยุนจะอาศัยช่วงเวลายามวิกาลประกาศกฎข้อบังคับ แต่นั่นไม่เป็นผลต่อการต่อสู้ของคนในชาติ เมื่อพวกเขาเห็นพ้องต้องกันว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องปกติ" ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมไปถึงประชาชนได้ออกมารวมตัวต่อต้านที่รัฐสภา กลายเป็นความโกลาหลระหว่างประชาชนกับทหารและตำรวจที่มีอาวุธครบมือ อย่างไรก็ตาม โชคดีที่ไม่มีการสูญเสียหรือนองเลือดจากเหตุการณ์นี้หลังจากกฎอัยการศึกมีผลยังไม่ถึง 15 นาที 'วูวอนชิก' (우원식) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกรัฐสภาเดินทางถึงรัฐสภา ในขณะที่ตำรวจเข้าปิดกั้นตัวอาคาร เป็นเหตุให้ผู้แทนประชาชนต้องฝ่าเครื่องกีดขวางเข้าไปยังตัวอาคารเวลาประมาณ 24.00 น. สมาชิกรัฐสภากว่า 190 คน เดินทางมาเข้าร่วมประชุม ในขณะที่ห้องประชุมรัฐสภาถูกปิดกั้นจากด้านใน และหน่วยปฏิบัติการพิเศษก็เดินทางมาถึงอาคารรัฐสภา ราวครึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังและบรรดา ส.ส. ที่พยายามเข้าไปในห้องประชุมแต่แล้วเวลาประมาณ 00.48 น. การประชุมสภาก็เริ่มต้นขึ้น รัฐสภาเสนอญัตติ 'ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก' จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.01 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ด้วยความเห็นชอบของสมาชิกทั้งหมด 190 คน วูวอนชิกก็ประกาศว่า "การประกาศกฎอัยการศึกถือเป็นโมฆะ"โดยอาศัยกฎหมายตามมาตรา 77 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่า "เมื่อรัฐสภาร้องขอให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกเสียงข้างมากที่ลงทะเบียนไว้ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ยกเลิกกฎอัยการศึก" มติที่ประชุมนั้นเป็นผลให้กองกำลังทยอยถอนตัวออกจากรัฐสภา แต่ 'กองทัพ' ยังยืนยันว่ากฎอัยการศึกยังคงมีผลต่อไป จนกว่ายุนซอกยอลจะประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการเวลาล่วงสู่ประมาณ 04.20 น. ประธานาธิบดียุนออกแถลงผ่านโทรทัศน์ ประกาศยอมรับมติของรัฐสภาที่ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และระบุว่าเตรียมเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกต่อไป… และเมื่อรุ่งเช้ามาเยือนแดนโสมขาวอีกครั้ง ประชาชนก็ยิ่งหลั่งไหลออกมาประท้วง และประณามการกระทำของนายยุน!ศ.ดร.นภดล กล่าวถึงส่วนนี้ว่า สมาชิกที่เข้าประชุมใน 190 คน มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จึงเป็นผลให้เกิดมติเสียงข้างมาก แต่แม้ว่ายุนซอกยอลจะประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว แต่กระบวนการยกเลิกยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ จุดนี้จะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองของเกาหลีใต้ประกาศกฎเพื่อกลบเรื่อง? :ข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นชั้นแรกที่ อ.นภดล มองว่า "เป็นเรื่องพื้นฐาน" ซึ่งวิเคราะห์จากสภาพการเมือง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ แต่ชั้นสองที่ชวนมองให้ลึกกว่านั้น ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย อย่างไรก็ตาม ต้องออกตัวก่อนว่า "นี่เป็นเพียงความคิดเห็น" และการวิเคราะห์เท่านั้นศ.ดร.นภดล กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้ติดตามการเมืองเกาหลีใต้ การเมืองระหว่างประเทศ รวมไปถึงประวัติศาสตร์โลก ทำให้พอจับสังเกตได้ว่า คนที่ทำอะไรแบบคาดไม่ถึงเช่นนี้ ย่อมมีเหตุผลลึก ๆ ที่อาจจะกำลังใช้กลบเกลื่อนเรื่องที่ไม่มีใครรู้ และไม่อยากให้ใครรับรู้'ที่ผมกล่าวแบบนั้น เพราะการกระทำแบบนี้แน่นอนอยู่แล้วว่า จะทำให้การดำรงตำแหน่งของยุนซอกยอลสิ้นสุดลง ซึ่งตัวเขาเองก็คงรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว การลงจากตำแหน่งนั้นถ้าไม่ลาออก ก็คงเป็น Replacement อย่างไรก็ไม่มีทางอยู่ต่อไปได้ ซึ่งเขาคงเลือกวิธีนี้เป็นทางจากตำแหน่ง แม้จะรู้ตัวว่าต้องเจ็บปวด แต่อาจจะทำเพื่อปกป้องอะไรบางอย่าง"ที่ปรึกษาศูนย์เกาหลีศึกษา กล่าวต่อไปว่า ซึ่งอะไรบางอย่างนั้นตัวผมเองก็ยังไม่รู้ และหลายคนก็ยังตั้งข้อสงสัย ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอคอยเวลาให้ความจริงปรากฏออกมา แต่ถ้าเขาทำเพื่อกลบเกลื่อนอะไรจริง ๆ เรื่องนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก"ถ้ายุนไม่ยอมออกกระบวนการจะไปต่ออีกยาว ต้องมีการดำเนินการโดยรัฐสภา โหวตใช้เสียงที่มากพอ แล้วไปต่อในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผลให้การเมืองเกาหลีใต้ไร้เสถียรภาพไปอีกสักระยะ แต่ถ้ายุนยอมลาออกกระบวนการจะสั้น สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่"เอเชียตะวันออกเสี่ยงเปราะบางมากขึ้น :ในสภาวะที่การเมืองโสมขาวกำลังส่อแววไร้เสถียรภาพ นั่นไม่ใช่เป็นผลเสียแค่กับเกาหลีใต้ แต่ ศ.ดร.นภดล สะท้อนมุมมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีนักต่อพื้นที่เอเชียตะวันออก และมีความเปราะบางเป็นอย่างมากอ.นภดล กล่าวว่า พันธมิตรที่สำคัญของอเมริกาอย่างญี่ปุ่น เพิ่งมีการเลือกตั้งไปไม่นานนี้ ทางรัฐบาลได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย พึ่งพรรคกลาง ๆ ให้คอยพยุงรัฐบาลไป ซึ่งถือว่าไร้เสถียรภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มีทางรู้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะอยู่หรือไปเมื่อไร"เกาหลีใต้ก็เป็นพันธมิตรที่สำคัญ แต่เมื่อเกิดเรื่องแบบนี้พอมองภาพใหญ่ในแว่นของการเมืองระหว่างประเทศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือว่าพันธมิตรของอเมริกากำลังเปราะบางมาก ส่วนสหรัฐฯ เองก็กำลังจะเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี""ทรัมป์มีนโยบายต่างจากไบเดน เพราะเน้นเรื่องเศรษฐกิจและการกดดันพันธมิตร ขณะนี้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างไม่มั่นคงทั้งคู่ แล้วถ้ามาถูกกดดันเรื่องภาษี เรื่องค่าใช้จ่ายจากทรัมป์อีก จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกให้ยิ่งเปราะบางเข้าไปใหญ่"ศ.ดร.นภดล ชาติประเสริฐ ระบุว่า ความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นได้ มีความเสี่ยงทำให้ประเทศอื่นอาศัยจังหวะชุลมุนนี้ สร้างสถานการณ์เชื่อมโยงไปที่เกาหลีเหนือ เช่น มีประเทศหนึ่งมองว่าคาบสมุทรเกาหลีกำลังเปราะบาง ต้องลงมาวุ่นวายแทรกแซง เป็นต้น หากเป็นเช่นนั้นจริงเอเชียตะวันออกจะยิ่งเปราะบางและปั่นป่วน เรื่องนี้จึงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด