บีบหัวใจคนรักตูบ! หนุ่มอ้างรับเลี้ยงหมาต่อ แต่กลับเอาไปส่งโรงฆ่าทำอาหาร พบข้อมูลชัดฆ่าแล้ว 4 ตัว "วอชด็อก" เชื่อ มีน้องหมาถูกทารุณมากกว่านี้ สืบหาทลายโรงฆ่า คาดไทยยังมีเคสแบบนี้

กลายเป็นดราม่าสะเทือนใจคนรักสัตว์กันอีกครั้ง โดยเฉพาะคนรัก 'เจ้าตูบ' หลังจากเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation - WDT โพสต์เรื่องราวอันน่าสลดบีบหัวใจ ความบางส่วนว่า

"สุดโศกสลด! ขบวนการฆ่ากินหมาเชียงราย หนุ่มอาข่ารับสารภาพสิ้นเอาหมาไปฆ่าหมดแล้ว หลัง WDT ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่จัน ลงพื้นที่ในหมู่บ้าน ติดตามหมาที่หนุ่มอาข่าขอรับไปเลี้ยงแล้วอ้างว่าหมาหลุดหายไปหมด วันนี้ตำรวจเค้นสอบจนรับสารภาพสิ้น เป็นขบวนการขอรับหมาไปส่งโรงฆ่า ซึ่งหมายความว่า ซูชิและน้องหมีหมาที่รับไปล่าสุดเสียชีวิตแล้วอย่างอนาถ พร้อมผู้เสียหายรายที่สามที่ส่งภาพน้องหมาสีดำสองตัว ลัคกี้กับซูโม่ ที่ขอรับไปก่อนหน้าน้องหมีกับซูชิ รวมเป็นที่มีหลักฐาน 4 ชีวิต"

...

ความโหดร้ายทารุณข้างต้น 'สบันงา นนธะระ' หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ (Watchdog Thailand Foundation) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า การฆ่าหมาเพื่อกินเป็นกระทำที่ผิดอย่างชัดเจนตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

กรณีนี้เรากำลังหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อจะดูว่าสามารถเข้าแจ้งความข้อหาไหนได้บ้าง เนื่องจากการกระทำนี้โหดเหี้ยม และเป็นอันตรายต่อสังคมหากคนหลงเชื่อ เพราะพวกเขาใช้วิธีหาหมาจากคนหาบ้านใหม่ให้หมา สบันงา กล่าว

"กรณีนี้เข้าข่ายหลอกลวงเพราะบอกเจ้าของว่าจะนำไปเลี้ยง แต่ความจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น แล้วก็ผิดข้อหาทารุณกรรมสัตว์มาตรา 20 นอกจากนั้น หมาที่เอาไปฆ่าเป็นหมามีเจ้าของทั้งนั้น เจ้าของมีสิทธิ์ที่เรียกค่าเสียหายข้อหาทำให้เสียทรัพย์"

หัวหน้าฝ่ายกฎหมายฯ อธิบายว่า แม้เจ้าของจะมอบน้องหมาให้หนุ่มอาข่ารายนั้นไปแล้ว แต่เหตุที่ยังมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเจ้าของถูกหลอกลวงตั้งแต่แรก "เขาถูกหลอกลวงว่าจะเอาไปเลี้ยง แต่กลับเอาไปฆ่า" ฉะนั้น สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของยังคงมีอยู่

ตามติดชี้จุดโรงฆ่า เชื่อมีหมาถูกทารุณมากกว่านี้! :

หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิวอชด็อก กล่าวกับทีมข่าวฯ ว่า วันนี้ (15 พ.ย. 2567) ตำรวจสืบสวนจะลงพื้นที่เพื่อให้ผู้ก่อเหตุพาไปจุดฆ่าหมาหรือโรงฆ่า หากตรวจพบก็ต้องปิดเพราะเปิดอย่างผิดกฎหมาย เพียงแต่ว่าตอนนี้อยู่ในระหว่างการสอบสวนและรวบรวมข้อมูล

"ขณะนี้เราพยายามเค้นข้อมูลอย่างมาก เพราะแม้ว่าผู้ก่อเหตุจะรับสารภาพ แต่เป็นการสารภาพครึ่ง ๆ กลาง ๆ ขณะนี้เรามีข้อมูลจากเจ้าของหลายรายว่าได้ส่งหมาไปให้เขา เดี๋ยวเราจะต้องเข้าไปแจ้งความอีก ฉะนั้น ตำรวจต้องใช้เวลาสอบสวน เพราะการจะดำเนินคดีก็ต้องให้เขารับสารภาพ แน่นอนว่าคนที่ลงมือจำไม่ได้หรอกว่าเอาหมามาจากใครบ้าง เพียงแต่เราเป็นฝ่ายกล่าวหา จึงต้องรวบรวมข้อมูลหลักฐานให้ชัด และให้รับสารภาพตามหลักฐานและข้อมูลนั้น"

สบันงา ระบุว่า เราพยายามให้ตำรวจสอบสวนว่า เขาทำอย่างนี้มานานเท่าไรแล้ว จำนวนหมาที่หลอกลวงเจ้าของแล้วเอามาฆ่า ให้ประมาณมาว่าทั้งหมดกี่ตัว ต้องสอบสวนให้สารภาพทั้งหมด ซึ่งต้องให้พาไปชี้จุดฆ่าและโรงฆ่าด้วย เพราะข้อมูลที่มูลนิธิฯ ได้มาตอนนี้มันมีโรงฆ่าและคนในย่านก็รับรู้ถึงการมีอยู่

"เราจะเผยผู้กระทำมาทีละรายเท่าที่มีหลักฐาน ขณะนี้เราก็ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้หลักฐานอะไรมาไว้ในมืออีกหรือไม่ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า จะช่วยกันส่งเรื่องราวและข้อมูลมาได้แค่ไหน แต่ถ้ารู้อะไรมาก็อยากให้บอกพวกเรา"

...

เชื่อเมืองไทยยังมีเคสลักษณะนี้ :

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า คาดว่าในประเทศไทยยังมีกรณีลักษณะนี้อยู่อีกหรือไม่?

หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิวอชด็อก ตอบว่า เชื่อว่ายังมีเคสอื่นอยู่ หลัก ๆ จะมีทางภาคเหนือกับภาคอีสาน อย่างภาคเหนือจะไม่พ้นบริเวณเชียงราย อดีตทางมูลนิธิฯ เคยปราบปรามค้าสุนัขข้ามชาติ ปราบปรามร้านค้าเนื้อสุนัขในเชียงรายที่มีจำนวนมาก ขณะนั้นปราบปรามไปหมดแล้ว โดยความช่วยเหลือจาก คสช. (ในขณะนั้น) ตำรวจ และฝ่ายปกครอง คราวนี้ก็เงียบไปหลายปี แต่ในความเงียบนี้เราไม่รู้ว่ามีการลักลอบอีกกี่ราย

สบันงา ระบุว่า หากเกิดกรณีลักษณะนี้ในต่างประเทศ กฎหมายและบทลงโทษจะแรงอยู่แล้ว ซึ่งประเทศอื่นไม่ได้มีแบบนี้ นอกจากประเทศแถบเอเชียที่เรารู้กันอยู่ เช่น เกาหลี จีน เวียดนาม เป็นต้น ประเทศดังตัวอย่างเขามีโรงฆ่าอย่างถูกกฎหมาย เพราะมีคนกินเนื้อสุนัข

"อย่างไรก็ตาม ที่ประเทศเกาหลีเขามีความพยายามรณรงค์ให้ยกเลิก และปิดโรงฆ่าให้หมด ส่วนจีนหรือเวียดนามอาจจะยากหน่อย เพราะที่เวียดนามห้อยหัวสุนัขขายได้ตามตลาดเลย"

ควรเห็นแก่ชีวิตสัตว์ ก่อนผลักภาระให้ใคร :

...

"ตอนนี้สังคมหันไปมองเจ้าของที่เอาหมาให้คนฆ่า ในมุมของเราอยากบอกว่าหากใครเลี้ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร หากจะให้สุนัขแก่คนอื่น เราควรตามไปดูถึงบ้านเพื่อความแน่ใจ เพราะนั่นคือการเปลี่ยนชีวิตของเขาทั้งชีวิต" สบันงา นนธะระ แสดงความคิดเห็นหลังจากเราถามว่า มีอะไรอยากฝากถึงสังคมหรือไม่

"ตัวอย่างกรณีนี้เมื่อมีคนมาขอรับไปเลี้ยง ทางเจ้าของก็สารภาพว่าไม่รู้ชื่อ รู้แค่เบอร์โทร เราจึงเกิดคำถามว่าถ้าไม่รู้ข้อมูลแล้วให้ไปได้อย่างไร เมื่อเคสมาถึงมูลนิธิฯ เราก็ต้องหาข้อมูลอย่างหนัก ต้องทำการสืบสวนข้อมูล กว่าจะพบว่าเป็นคนอาข่าก็ยากพอตัว จนเรื่องถึงตำรวจและต้องตามกันไปลงถึงพื้นที่"

หัวหน้าฝ่ายกฎหมายมูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ วอนสังคมว่า จะผลักภาระไปให้ใคร อยากให้เห็นแก่ชีวิตของสัตว์ด้วย เพราะโลกของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งชีวิต อย่างกรณีนี้คุณเลี้ยงเขาอยู่ดี ๆ พอเปลี่ยนเจ้าของเหมือนส่งเขาไปตาย มาเสียใจทีหลังก็ไม่มีประโยชน์อะไร

พ.ร.บ. ป้องกันทารุณกรรมและการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ :

มาถึงตรงนี้ทีมข่าวฯ อยากชวนผู้อ่านไปส่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องสักเล็กน้อย ซึ่งกฎหมายนั้น คือ พระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เริ่มกันที่คำว่า 'สัตว์' ในความเข้าใจของคุณหรือใครอาจจะมองว่า หมายถึงเพียงน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงทั่วไป แต่หากว่ากันตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้นิยามคำว่า 'สัตว์' ไว้ว่า

...

สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

จากนั้นขอพาไปดูใน หมวด 5 การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ มาตรา 20 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งสืบเนื่องไปถึง มาตรา 21 ที่กล่าวไว้ว่า การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 20

โดยกฎหมายได้ระบุการกระทำที่ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ไว้ทั้งหมด 11 ข้อ แต่เราขอยกข้อที่ (1) มาเป็นตัวอย่างให้เห็น "การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร"

แต่อย่างกรณีที่เป็นข่าว แม้ว่าหนุ่มอาข่าจะสารภาพว่าส่งโรงฆ่า ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่การเป็นอาหาร ไม่น่าใช่ความผิดอะไร แต่ถ้าอ้างข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของคุณสบันงาที่บอกว่า "เขา (เจ้าของ) ถูกหลอกลวงว่าจะเอาไปเลี้ยง แต่กลับเอาไปฆ่า" นั่นอาจจะสื่อได้ว่าการกระทำของชายอาข่ารายนั้น ก็อาจจะมีเจตนาทำผิดกฎหมายตั้งแต่แรก เพราะน้องหมาที่ได้ไปก็ไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมาย รวมไปถึงการรวบรวมข้อมูลและหลักฐานอื่นเพิ่มเติม ต้องติดตามต่อไปว่าสุดท้ายแล้วชายรายนี้ ทำให้เจ้าตูบต้องสังเวยตัวเองไปกี่ชีวิต และทำมานานเท่าไรแล้ว เบื้องหลังเรื่องนี้มีกระบวนการใดหรือไม่ หรือจะเป็นการค้าสัตว์ข้ามชาติอีก หลายเรื่องยังคงอยู่ในความสงสัยและไร้คำตอบ สังคมยังคงต้องติดตาม!

หากมีความคืบหน้าทีมข่าวฯ จะรายงานให้ทราบต่อไป

ขอบคุณภาพจาก มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์