บ้านเมืองสะอาดตา ดอกซากุระสีชมพูบานสะพรั่ง หิมะขาวโพลนปกคลุมยอดภูเขาไฟฟูจิ ย่านการค้ากลางเมืองที่คับคั่งไปด้วยผู้คน สตรีทฟู้ดแสนอร่อย อะนิเมะสุดเท่และคาวาอี้ สิ่งเหล่านี้ต่างทำให้ Japan หรือ ญี่ปุ่น เต็มไปด้วยเสน่ห์ จนกลายเป็นหนึ่งในประเทศหมุดหมาย ครองใจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องไปเยือนให้ได้สักครั้งในชีวิตการที่ญี่ปุ่นเข้าไปอยู่ในใจใครหลายคน อาจเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จจากนโยบายภาครัฐ เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 2549 ญี่ปุ่นได้ตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ และประกาศใช้ในปี 2550 ทำให้การท่องเที่ยวกลายเป็นหนึ่งในพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศ และปี 2551 ได้มีการก่อตั้งสำนักการท่องเที่ยวญี่ปุ่น เพื่อเป็นหน่วยงานธุรการที่รับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวโดยตรง จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางเข้าแดนอาทิตย์อุทัยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 8.36 ล้านคนในปี 2555 สู่ 19.74 ล้านคนในเวลาเพียง 3 ปี และยังตั้งเป้าทะยานสู่ 40 ล้านคนภายในปี 2563 ซึ่งในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเยือนญี่ปุ่นประมาณ 31,882,000 คน ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และใกล้เป้าหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังไม่ทันถึงฝั่งฝัน การระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้ทุกอย่างพังลงเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น 'อัตสึมิ กาโมะ' (蒲生 篤実 : Gamou Atsumi) ผู้บัญชาการสำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้กล่าวถึงเป้าหมายการท่องเที่ยวเดิมว่า "เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง" ซึ่งการแถลงของเขาไม่ได้แสดงถึงการถอดใจยอมแพ้ แต่นั่นคือการประกาศต่อสาธารณชนถึงแผนครั้งใหม่ต่างหาก!ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ญี่ปุ่นหวังสร้าง คือการมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 60 ล้านคน ภายในปี 2573 แม้เป็นตัวเลขที่ดูสูงลิ่ว แต่หน่วยงานรัฐเชื่อมั่นว่า "จะทำได้" พวกเขามองว่าเกาะแห่งนี้มีองค์ประกอบด้านการท่องเที่ยว 4 ประการที่โดดเด่นไม่แพ้นานาประเทศ ได้แก่ ธรรมชาติ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม และอาหาร ความมุ่งมั่นเริ่มเห็นผลอีกครั้งเมื่อ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JNTO เผยข้อมูลว่า ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนญี่ปุ่นประมาณ 25 ล้านคน โดยในเดือนธันวาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวมากถึง 2,734,000 คน คิดเป็น 108.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562ขยับใกล้มาอีกนิด… สถิตินักท่องเที่ยวเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 2,872,200 คน เพิ่มขึ้น 31.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 และเพิ่มขึ้น 26.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2562 นอกจากนี้ ยอดสะสม ณ กันยายนอยู่ที่ประมาณ 26 ล้านคน ซึ่งถือว่าเกินยอดสะสมของปีที่ผ่านมา! Overtourism? :จากตัวเลขสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เห็นว่าความพยายามของภาครัฐนั้นเป็นผล แต่แล้วทุกสิ่งที่เหมือนกำลังไปได้สวย กลับเริ่มเกิดการตั้งคำถามจากคนท้องถิ่นว่า ตอนนี้ญี่ปุ่นเกิด Overtourism หรือ นักท่องเที่ยวมากเกินไป หรือไม่? เพราะการมาเยือนของคนต่างถิ่น เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และขัดกับธรรมชาติของคนแดนอาทิตย์อุทัย ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Social manners (มารยาททางสังคม)เกี่ยวกับเรื่องนี้ 'คุณสืบศิษฏ์ ศานติศาสน์' ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการลงทุนไทย-ญี่ปุ่น ผอ.ฝ่ายพันธมิตรระหว่างประเทศ ธนาคารญี่ปุ่นในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เริ่มมีดราม่า Overtourism แต่ที่จริงแล้วดราม่านี้มีตั้งแต่ก่อนโควิด ในวันที่จำนวนนักท่องเที่ยวถึงจุดพีค แต่ขณะนี้กำลังกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ "การที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทำให้เริ่มมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น พวกเขารู้สึกว่าใช้ชีวิตได้ไม่ปกติดังเดิม การใช้ขนส่งสาธารณะเริ่มไม่พอ หรือเกิดความสกปรก หรือมลภาวะทางเสียงจากจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น ทำให้บางพื้นที่เริ่มเกิดข้อกำหนดต่าง ๆ"พื้นฐานแล้วคนญี่ปุ่นซีเรียสเรื่องมารยาททางสังคม มีระเบียบที่เข้มงวด เหตุการณ์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกรับไม่ได้ ตัวอย่าง อินฟลูเอนเซอร์ทำคอนเทนต์โดยหวังเอนเกจเมนต์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่สมควร เช่น เด็ดดอกไม้ เข้าในพื้นที่ห้ามเข้า ยืนถ่ายรูปหน้าร้านสะดวกซื้อ และอื่น ๆ อะไรที่ไม่เหมาะสมและผิดธรรมเนียมของเขา เขาก็จะเริ่มมองในแง่ที่ไม่ดีเท่าไรคุณสืบศิษฏ์ เล่าต่อว่า เมื่อเป็นแบบนั้นคนท้องถิ่นจึงรู้สึกว่าเกิด Overtourism ทั้งที่จริงอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะเมื่อลองเทียบตัวเลขแล้ว สัดส่วนของคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 25-26 ล้านคน ส่วนประชากรของประเทศมีอยู่ประมาณ 120 ล้านคน อัตราส่วนนักท่องเที่ยวต่อประชากรอยู่ที่ช่วง 0.20-0.25 แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะเห็นว่ามีหลายแห่งที่อัตรานักท่องเที่ยวมากกว่าคนในประเทศ เช่น ฝรั่งเศส อยู่ที่ 1.5 เท่า กรีก 3.5 เท่า ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมักจะเกิน 1 เท่า "แต่บางคนอาจจะมองว่าเราไปพูดถึงยุโรปไม่ได้ เพราะยุโรปอาจจะพูดถึงการเดินทางข้ามประเทศในระหว่างสหภาพยุโรปด้วยกัน""ถ้าอย่างนั้นลองมามองเมืองไทย ปี 2566 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 28.15 ล้านคน ไทยมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน อัตราส่วนประมาณ 0.39 และปีนี้นักท่องเที่ยวที่มาไทยทะลุ 35 ล้านคนเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นประมาณ 0.5 เท่า ซึ่งก็เยอะกว่าญี่ปุ่นพอสมควร"ที่จริงแล้วตัวเลขการท่องเที่ยวยังไม่ถึงเป้าหมายของรัฐเลย แต่อนุมานได้ว่าที่คนญี่ปุ่นรู้สึกว่านักท่องเที่ยวมากเกินไป เป็นเพราะการกระทำของนักท่องเที่ยว และเหตุการณ์หลายอย่างที่ทำให้เห็นว่าขัดต่อระเบียบและวิถีชีวิต คุณสืบศิษฏ์ กล่าวกับทีมข่าวฯ เหตุการณ์ตัวอย่าง :คุณสืบศิษฏ์เล่าให้ฟังว่า มีการแชร์รูปกันใน X (ทวิตเตอร์) โดยรูปนั้นเขียนภาษาอังกฤษว่า "no vacancy" หรือ "ไม่มีที่ว่าง" แต่ในกระดาษใบเดียวกันนั้นมีการเขียนกำกับเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า この日本語が読める方は、ご入店くださいませ。แปลความประมาณว่า "ท่านที่สามารถอ่านภาษาญี่ปุ่นได้ ยินดีต้อนรับเข้าร้าน/เชิญเข้าร้านได้เลย" จากรูปดังกล่าวทำให้มีการพูดถึงในโลกออนไลน์ว่า นี่เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่อย่างไรก็ดี เรายังไม่ทราบเจตนาที่ชัดเจนว่านั่นแสดงออกถึงกระแส Overtourism ที่กำลังกลับมาหรือไม่ หรือเป็นเพียงความกังวลในด้านการสื่อสารของคนท้องถิ่น แต่วันนี้เรามีตัวอย่างเหตุการณ์ที่ส่อแววว่าเป็น Overtourism จนต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาแก้ไข เมื่อช่วงเดือนกันยายน 2566 ทางการท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิ (山梨県) ออกประกาศปิดเส้นทางขึ้นสู่ 'ภูเขาไฟฟูจิ' (富士山) เป็นการชั่วคราวจนถึงสิ้นปี เพื่อควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมซึ่งจุดที่เป็นปัญหามากที่สุดจนต้องถูกสั่งปิด คือ สถานีที่ 5 ของเส้นทางสายฟูจิซูบารุ (富士スバルライン) ที่ตรงจากโตเกียวสู่ฟูจิซัง ซึ่งต้องรับนักท่องเที่ยวราวร้อยละ 90 ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ ระบุว่า การรักษาสภาพแวดล้อมและความสะอาดให้นักท่องเที่ยว เต็มไปด้วยความยากลำบาก มีขยะถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ห้องน้ำสกปรก จากจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามา หรือจะเป็นช่วงสิงหาคมปีเดียวกันนั้นในเมืองคามาคุระ (鎌倉市) บรรดาแฟนคลับจากการ์ตูนชื่อดังอย่าง 'สแลมดังก์' (スラムダンク : Slam Dunk) ต่างพากันไปบริเวณรถไฟหน้าชายหาด เพื่อเก็บภาพฉากสำคัญในการ์ตูนเรื่องนี้ แต่พื้นที่นั้นเป็นสามแยกจึงทำให้การจราจรติดขัด จนกระทั่งฝ่ายปกครองของเมือง จัดให้มีเจ้าหน้าที่เข้าดูแลความเรียบร้อยอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ผู้อ่านอาจเคยเห็นผ่านตามาบ้าง คือ การที่ทางการญี่ปุ่นดำเนินการติดตั้งแผงรั้วตาข่ายสูง 2.5 เมตร ยาว 20 เมตร เพื่อบดบังทัศนียภาพของภูเขาไฟฟูจิ ที่อยู่เบื้องหลังร้าน Lawson ในเมืองฟูจิกาวางูจิโกะ (富士河口湖町) ซึ่งจุดนี้เป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปกัน แต่ความนิยมนั้นนำมาซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป เกิดปัญหาขยะ การปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม และไม่เคารพกฎระเบียบจราจร ส่งผลให้ทางการจังหวัดยามานาชิ (山梨県) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก แม้มีการติดป้ายประกาศ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าดูแล แต่ก็ไม่เคยลดปัญหาดังกล่าวได้เลยเหตุการณ์ข้างต้นเป็นเพียงในไม่กี่ตัวอย่าง ที่น่าจะทำให้ประชาชนญี่ปุ่น ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้คนที่มีความเคร่งครัดและเจ้าระเบียบ เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม จนนำมาซึ่งความรู้สึกว่าประเทศตนเกิดภาวะ Overtourism แนวทางแก้ไข : แต่ต่างคนก็ต่างคิด ประเด็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล คุณสืบศิษฏ์ มองว่า อาจทำให้ชาวต่างชาติมองคนญี่ปุ่นในทางลบได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เกิดการมองว่านี่เป็น Discrimination (การเลือกปฏิบัติ) ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทางญี่ปุ่นต้องหาทางรับมือ"การท่องเที่ยวญี่ปุ่นค่อนข้างกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว โอซาก้า ฮอกไกโด ทั้งที่ญี่ปุ่นมีเมืองสวยเยอะมาก มีเมืองรองที่มีจุดเด่นและมีสถานที่ท่องเที่ยวแต่คนยังไปน้อย หากญี่ปุ่นสามารถโปรโมตเมืองรองให้ดังขึ้นมาได้ การท่องเที่ยวก็น่าจะกระจายตัว และสามารถรองรับนโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็น 2 เท่า ภายในปี 2030" คุณสืบศิษฏ์ กล่าวว่า รัฐบาลอาจจะต้องเตรียมเรื่องการขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพราะหากรัฐมองว่าต้องการเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็น 2 เท่า รถแบบเดิมอาจไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้รบกวนคนท้องถิ่น อาจจะเพิ่ม Public bus ไปยังจุดท่องเที่ยวได้เลย ที่เน้นคนต่างชาติที่มาท่องเที่ยว ส่วนรถของคนญี่ปุ่นก็แยกไปต่างหาก "ท้ายสุด ญี่ปุ่นอาจจะต้องค่อย ๆ ให้ความรู้กับคนต่างชาติที่มาเที่ยวมากขึ้น ในเรื่องมารยาททางสังคม อะไรที่ควรหรือไม่ควรทำ ทยอยให้ความรู้ถึงพฤติกรรมของคนท้องถิ่น เป็นเหมือนการปรับความเข้าใจกัน"ไม่เพียงแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่คุณสืบศิษฏ์มองว่า สยามเมืองยิ้มของเราก็ถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว ในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมีมาตรการรับมือเตรียมไว้ด้วย นอกจากนั้น ไทยเองก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อย มีประชากรผู้สูงอายุทะลุ 20% ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เร็วที่สุดในโลก ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วกลายมาเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เราจึงควรเริ่มศึกษาว่าในอนาคตจะแก้ปัญหาอย่างไร สถานการณ์อื่นในแดนอาทิตย์อุทัย : ส่งท้ายสกู๊ปนี้ เราชวนคุณสืบศิษฏ์คุยถึงสถานการณ์อื่น ที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ ซึ่งตอนนี้ญี่ปุ่นมีความท้าทายทางเศรษฐกิจอยู่หลายด้าน สิ่งแรกคือ การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โดยญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 120 ล้านคน แต่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด เมื่อกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อ Purchasing power หรือ กำลังซื้อของคนในประเทศ ช่วงนี้จึงมักจะเห็นข่าวบรรดาร้านอิซากายะเจ้าดัง หรือ Convenience Store โดยเฉพาะที่อยู่ตามต่างจังหวัดทยอยปิดกิจการค่อนข้างเยอะ นอกจากนั้นปัญหาบ้านร้างในญี่ปุ่นก็เพิ่มมากขึ้น โดยปีนี้ทะลุ 9 ล้านหลัง ในขณะที่ปี 2561 มีแค่ประมาณ 500,000 หลัง"ได้มีโอกาสทำงานกับภาครัฐญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ สิ่งที่ได้รับฟังจากทางภาครัฐคือญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาเรื่องการเก็บภาษี โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่คนหนุ่มสาวหนีเข้าเมืองทำงานจนเหลือแต่ผู้สูงอายุ ส่วนในมุมของภาคประชาชน มีหลายจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ภาครัฐเริ่มได้รับการติดต่อจากประชาชนว่าเขาไม่ค่อยแฮปปี้ ที่มีนักท่องเที่ยวมากเกินไป" คุณสืบศิษฏ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ของหลายอย่างขึ้นราคา 10-30% เป็นผลกระทบจากการที่ค่าเงินเยนถูกลง หลายร้านไม่สามารถไปต่อได้เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น รัฐบาลเห็นปัญหาเช่นนี้จึงพยายามแก้ โดยมีนโยบายหลายข้อแต่มี 2 อย่างที่มีการโปรโมตค่อนข้างหนัก อย่างแรกคือการดึงคนเข้ามาทำงานในประเทศ โดยปีที่แล้วมีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่ปี 2019 อยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 ล้านคน ปี 2011 มีไม่ถึง 1 ล้านคนด้วยซ้ำ "แต่ก่อนถ้าไปญี่ปุ่นจะเห็นชาวต่างชาติน้อย แต่ตอนนี้ตามร้านสะดวกซื้อหรือโรงแรมก็เริ่มเห็นพนักงานต่างชาติมากขึ้น บางพื้นที่อาจไม่เจอคนญี่ปุ่นทำงานเลยด้วยซ้ำ ในธุรกิจอื่น ๆ เช่น การผลิต บริษัทไอที ก็เริ่มดึงคนต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น อีกเรื่องคือการดึงนักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" ............ภาพ : Getty Images