เช็กเสียงคนไทย ที่มีสิทธิเลือกตั้งในอเมริกา ส่องบรรยากาศโค้งสุดท้าย "แฮร์ริส VS ทรัมป์" คะแนนนิยมสูสี คนเอเชียหวังนโยบายเศรษฐกิจ ลดหย่อนภาษีบุคคล-บ้านหลังแรก ชี้นโยบายดับไฟสงครามอิสราเอล มีผลต่อการตัดสินใจในรัฐ Swing state

"ไพโรจน์ ปักษาษิณ" ผู้สื่อข่าวไทยรัฐ ประจำนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่อยู่มากว่า 40 ปี และมีสิทธิเลือกประธานาธิบดี เล่าว่า บรรยากาศเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปีนี้ค่อนข้างสูสี หลังจัดเวทีดีเบตครั้งแรก ของ "ไบเดน" กับ "ทรัมป์” ทำให้เห็นว่า พรรครีพับลิกัน ของ "ทรัมป์" มีคะแนนนำ "ไบเดน” แบบทิ้งห่างมากจากบรรดาโพลต่างๆ ที่ทำขึ้น แต่พอเปลี่ยนผู้ท้าชิงมาเป็น "กมลา แฮร์ริส" คะแนนนิยมจากการสำรวจโพลก็เพิ่มขึ้น ทำให้บางรัฐมีคะแนนนำมากกว่าตอนแรก

...

“การเปลี่ยนผู้ท้าชิงจาก ไบเดน มาเป็น แฮร์ริส ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งในสหรัฐเริ่มเปลี่ยนไป หลายรัฐคะแนนผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคมีความใกล้เคียงกัน แต่บางรัฐคะแนนเสียงพรรคเดโมแครต กลับมาชนะ สิ่งนี้ทำให้ฝ่ายทรัมป์ เริ่มออกมาประกาศว่า ถ้าครั้งนี้แพ้เลือกตั้งคือการถูกโกง ส่งผลให้บรรยากาศเลือกตั้งมีความดุเดือด คาดว่ามีผู้ไปลงคะแนนเสียงมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อน”

ส่วนกองเชียร์ทั้ง 2 พรรคใหญ่ คือ รีพับลิกัน และ เดโมแครต มีความชัดเจนอย่างมาก อย่างในรัฐนิวยอร์ก ที่ผมอยู่ เป็นฐานเสียงของ พรรคเดโมแครต

“การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา มีทั้งแบบเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ และเลือกตั้งล่วงหน้า บางครั้งมีการเลือกตั้งใหญ่ ที่ผู้ใช้สิทธิสามารถเดินเข้าไปยังหน่วยเลือกตั้งที่ไหนก็ได้ สิ่งนี้กระตุ้นให้คนเข้ามาใช้สิทธิมากขึ้น โดยการเลือกตั้งล่วงหน้าจะไม่พร้อมกัน ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2020 มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด ซึ่งตอนนั้นมีการระบาดของโควิด ทำให้ตอนนั้นมีคนพยายามมาใช้สิทธิล่วงหน้า เพราะไม่อยากไปในวันเลือกตั้ง ที่มีคนไปเยอะ”

คนเอเชียที่มีสิทธิเลือกตั้งในอเมริกา ใครได้คะแนนนิยม

"ไพโรจน์" เล่าต่อว่า บรรยากาศก่อนการเลือกตั้งของคนไทยในสหรัฐอเมริกา ที่มีสิทธิเลือกประธานาธิบดี มีประมาณ 5 - 6 แสนคน มีคนไทยในนิวยอร์ก ประมาณ 7 – 8 หมื่นคน ส่วนแอลเอ มีคนไทยอาศัยอยู่มากสุด การเลือกตั้งเมื่อปี 2020 คนเอเชียที่แปลงสัญชาติมาเป็นอเมริกัน ออกไปใช้สิทธิมากถึง 5 % ของการเลือกตั้งทั้งหมด แต่มีคนไทยที่มีสิทธิเพียง 0.02 % ถือว่าน้อยมาก แต่คนไทยที่มีสิทธิต่างตื่นตัวมากขึ้นในการเลือกตั้ง

คนไทยในอเมริกา มองว่านโยบายสำคัญที่สุดคือ เศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าพรรคใดได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็มีผลต่อคนทำงาน โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง เช่นเดียวกับนโยบายลดหย่อนภาษีในการซื้อบ้านหลังแรกและการลดภาษีส่วนบุคคล

“ในฐานะเป็นคนไทย อยู่ในสหรัฐอเมริกามานาน ผมเริ่มสนใจการเมือง เมื่อมีกรณี Black Lives Matter หรือชายผิวสีที่ถูกตำรวจทำร้าย ทำให้เกิดการต่อต้าน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เพราะเรื่องคนผิวสี ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล ย่อมมีประเด็นตามมาเสมอ ทั้งสองพรรคการเมืองก็มองกลุ่มคนผิวสีเป็นฐานเสียงสำคัญ ซึ่งช่วงสุดท้ายของการหาเสียง ต่างลงพื้นที่หาเสียงอย่างหนักในรัฐSwing state ทั้ง 7 รัฐ ที่มีคะแนนสูสีกัน"

...

เหตุการณ์ตัวแปรสำคัญในการหาเสียงตอนนี้คือ สงครามในอิสราเอล โดยคนที่ยังเลือกไม่ได้ว่าจะลงคะแนนเสียงให้พรรคไหน อาจต้องตัดสินใจหลังจากการฟังนโยบายช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งไม่แน่ว่าพรรคที่งัดไม้เด็ดออกมาตอนนี้ อาจมีคะแนนนำ จนคว้าชัยในศึกเลือกตั้งได้

ตอนนี้บรรยากาศการหาเสียง บรรดากองเชียร์ของแต่ละพรรค มีการปักป้ายและช่วยหาเสียง แต่ไม่มีการทะเลาะหรือทำร้ายกัน ตัวอย่างเช่น นิวยอร์ก ที่ผมอาศัยอยู่ ส่วนใหญ่สนับสนุน เดโมแครต ที่มีเพียง 1 บ้าน ปักป้ายเชียร์ทรัมป์ อยู่หน้าบ้านเพียงหลังเดียว ขณะอีกบ้านหลายสิบหลังสนับสนุน "แฮร์ริส" แต่ลูกของบ้านนี้ สามารถไปเล่นกับลูกบ้านอื่นได้ ด้านพ่อแม่เขายังคุยกันได้ ถือเป็นสิ่งดี ที่ทุกคนเข้าใจความแตกต่าง

“น่าสนใจว่า ป้ายหาเสียงของแต่ละบ้านที่สนับสนุน มีวัฒนธรรมในการซื้อป้ายของพรรคที่เชียร์ แล้วมาปักในพื้นที่บ้าน งบประมาณนี้ พรรคการเมืองไม่ได้สนับสนุน แต่เป็นเงินส่วนตัวของแต่ละบ้าน ในการนำมาใช้เอง ตามร้านสะดวกมีป้ายหาเสียงพวกนี้ขาย ทำให้บรรยากาศการหาเสียงค่อนข้างคึกคัก พอเลือกตั้งเสร็จแพ้ หรือชนะก็จบกัน แตกต่างกับรัฐทางใต้ ที่แสดงออกทางการเมืองรุนแรงมากขึ้น”

...

ผู้ลี้ภัย ปัญหาที่คนเอเชียในอเมริกาต่างจับตา

"ไพโรจน์" วิเคราะห์ว่า บรรยากาศการหาเสียงภาพรวมของทั้ง 2 พรรค ภาพใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างกันในเนื้อหาเชิงรายละเอียด เช่น นโยบายต่างประเทศ ทรัมป์ ประกาศออกมาชัดเจนว่า ถ้าได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จะหยุดสงครามยูเครนกับรัสเซีย แต่สงครามกับอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทรัมป์กลับสนับสนุนให้เกิดการสู้รบต่อ ขณะฝ่าย "แฮร์ริส" มีนโยบายการจัดการสงครามในเชิงมนุษยธรรม

ด้านเศรษฐกิจ ฝั่งทรัมป์ ต้องการกระตุ้นการเติบโตให้อยู่ในอเมริกามากที่สุด สิ่งแรกที่ทำคือ กีดกันและตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีนที่เข้ามาในอเมริกา และต้องการให้เศรษฐกิจพื้นฐานในประเทศเติบโต โดยการที่ให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ตรงข้ามกับ "แฮร์ริส" เน้นการเพิ่มค่าแรง ลดภาษีส่วนบุคคล แต่กระตุ้นการจ้างงานน้อย ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการกีดกันสินค้าจากจีนอย่างไร

ส่วนประเด็นผู้ลี้ภัย ถือเป็นจุดอ่อนของ เดโมแครต เพราะผู้ลี้ภัยต่างๆ ที่เข้ามาตามชายแดนจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องทุ่มงบประมาณในการจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ ขณะที่คนอเมริกันระดับล่าง ต้องการการช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ ขณะที่นโยบายของ "ไบเดน” ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้จำกัดการเข้ามาของผู้อพยพ ซึ่งประเด็นนี้ปัญหาหนักในเยอรมนี และอาจลุกลามมาในอเมริกาได้

...

ที่ผ่านมา "แฮร์ริส" เคยรับงานในการแก้ปัญหาผู้อพยพในยุค "ไบเดน” โดยตรง แต่ยังไม่มีผลงานให้เห็นเด่นชัด นี่เป็นจุดอ่อนที่ทรัมป์ ใช้เป็นนโยบายในการโจมตี และชี้ให้เห็นว่า ผู้ลี้ภัยประเภทไหนสามารถอยู่ต่อได้ และประเภทไหนที่ต้องส่งกลับ ยุคที่ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เคยส่งผู้อพยพกลับ โดยแยกพ่อ-แม่ของเด็กเพื่อส่งกลับ ซึ่งฝั่งพรรคเดโมแครต มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีมนุษยธรรมและถูกโจมตีอยู่ตลอด.