วิเคราะห์นโยบาย 2 ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ "โดนัลด์ ทรัมป์" และ "กมลา แฮร์ริส" เตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจสะเทือนถึงไทย!ทั่วโลกจับตา! ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เสมือนวันสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ สำหรับตัวแทนจาก 2 พรรคใหญ่ที่ลงฟาดฟันประชันวาทะกันในสนามเลือกตั้งครั้งที่ 60 นี้ ได้แก่ 'โดนัลด์ ทรัมป์' (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ตัวแทนจากพรรค 'รีพับลิกัน' (Republican) และ 'กมลา แฮร์ริส' (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 49 ตัวแทนจากพรรค 'เดโมแครต' (Democratic)โดยทั้ง 2 ผู้ลงสมัครต่างมีนโยบายของตนเอง ซึ่งแนวทางเหล่านั้นจะส่งผลต่อนานาประเทศในฐานะที่สหรัฐฯ คือหนึ่งในมหาอำนาจของโลก รวมไปถึงประเทศไทยเช่นกัน ที่จะได้รับผลจากการเลือกตั้งที่กำลังจะออกมาไม่มากก็น้อย หนึ่งในนโยบายที่หลายประเทศให้ความสนใจว่าจะส่งผลกระทบเช่นไร คือนโยบายด้านการค้าและเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจึงได้ติดต่อสัมภาษณ์ 'รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสอบถามถึงความคิดเห็นผลกระทบจากนโยบายที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทยแต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาลองแวะดูผลสำรวจทางออนไลน์จาก 'ไทยรัฐโพล' ในหัวข้อความคิดเห็นของคนไทยต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 6 กันยายน 2567 ถึง 28 ตุลาคม 2567 จากกลุ่มตัวอย่าง 5,752 คน กันสักเล็กน้อยดีกว่าจากคำถามเรื่อง นโยบายด้านใดของสหรัฐฯ ที่คิดว่ากระทบไทยมากที่สุด พบว่า 71.01% มองว่าเป็นด้านเศรษฐกิจการค้า รองลงมาคือกลาโหม-ความมั่นคง 12.62% ด้านสิทธิมนุษยชน 12.41% และผู้อพยพ 3.97% อีกทั้งจากผลสำรวจยังทำให้เห็นว่า กลุ่มตัวอย่าง 62.85% มองว่า การเลือกตั้งนี้สำคัญมาก เพราะมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ด้านการค้า :ก่อนเริ่มแสดงทรรศนะถึงนโยบายเศรษฐกิจของ 2 ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ ได้เลกเชอร์ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่าง 'ไทย-สหรัฐอเมริกา' ให้ทีมข่าวฯ เข้าใจโดยคร่าวว่า ตอนนี้การค้าระหว่างประเทศถือว่าดีขึ้น มีหลายสินค้าที่ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากแผ่นดินมังกร เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้นส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของไทยกับจีนมีความคล้ายคลึงกัน เพราะอยู่ในส่วนของสินค้าขั้นสุดท้ายในการผลิต หรือสินค้าสำเร็จรูปหลายตัวด้วยกัน ฉะนั้น เมื่อสหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าจากจีนสูงขึ้น จึงทำให้ไทยได้รับผลประโยชน์จากส่วนนั้น"กระทั่งขยายมาสู่สงครามเทคโนโลยี ไทยก็ได้อานิสงส์จากตรงนั้นเช่นกัน ทำให้ความสามารถในการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภท Semiconductor ของไทยไปยังสหรัฐฯ ทำได้ดีขึ้น" อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวกับเราหากจะให้วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจ 2 พรรคใหญ่แห่งสหรัฐฯ อย่าง เดโมแครต และ รีพับลิกัน รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า ต่างมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีต่อไทย แต่ถ้าถามถึงความคิดเห็นโดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์มองว่าหาก แฮร์ริส ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี น่าจะเป็นผลดีต่อเมืองไทยมากกว่า โดยได้อธิบายเหตุผลประกอบไว้ ดังนี้ นโยบายการค้าของทรัมป์ :เริ่มต้นกันที่ 'นโยบายการค้า' รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประกาศชัดเจนว่า หากได้รับตำแหน่งจะใช้นโยบายภาษีที่เข้มข้น โดยจะเก็บภาษีจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 60% จากเดิมที่ปัจจุบันเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 20% เท่ากับว่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 40% สำหรับประเทศอื่นจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 3% จะเพิ่มขึ้นเป็น 10-20%อ.จุฑาทิพย์ ชวนโฟกัสและมองถึงนโยบายของอดีตประธานาธิบดีว่า นั่นอาจจะเป็นผลดีต่อไทยก็ได้ เพราะการเก็บภาษีระหว่างจีนกับประเทศอื่นห่างกันถึง 40% จึงทำให้ไทยมีโอกาสที่จะส่งออกสินค้าไปที่สหรัฐฯ มากขึ้น เนื่องจาก Supply Chain ไทยกับจีนคล้ายกันอ่านถึงตรงนี้ก็ดูเหมือนดีใช่ไหมล่ะครับ? แต่จุดนี้เองที่ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่ามีความกลัวเนื่องจากความคล้ายคลึงนั้น อาจทำให้ทรัมป์มองว่าไทยเป็นฐานการผลิตของจีนไปด้วย เนื่องจากมีโอกาสที่จีนจะย้ายฐานผลิตเข้าสู่ภูมิภาคมากขึ้น และทรัมป์คงจะมองต่อไปว่า เรามีการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอย่างไรบ้าง "นโยบายอัตราการแลกเปลี่ยน เรื่องนี้ทรัมป์จับตาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว ผลประโยชน์ตรงนี้จึงไม่แน่ใจว่าเราจะได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้ทางไบเดนก็มีการจับตาสินค้าจากไทยหลายอย่างว่าเป็นฐานการผลิตของจีนหรือไม่ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ที่มี 3 บริษัทของเราถูกเก็บภาษีตัวนี้แล้วแต่ยังถูกเก็บน้อยกว่าคนอื่น"ฉะนั้น ในดีก็อาจมีร้าย นโยบายที่ทรัมป์หวังเก็บจากจีน อาจส่งผลกระทบต่อไทยได้เช่นกัน อาจทำให้เราเสียประโยชน์ การค้าชะลอตัว แถมยังอาจต้องแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดอื่นอีก เช่น อาเซียน หรือแอฟริกาใต้ที่ไทยกำลังคิดจะไปรศ.ดร.จุฑาทิพย์ อธิบายต่อไปว่า นโยบายการเก็บภาษีที่รุนแรงนี้ อาจมีผลกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนจากจีนเข้าไทยอีกรอบหนึ่ง ตรงนี้เหมือนจะดีแต่เป็นเรื่องที่ต้องระวังว่า ถ้าเข้ามาจะเพิ่มมูลค่าให้ไทยได้มากน้อยขนาดไหน และต้องมีแนวทางไม่ให้สหรัฐฯ จับตาเราจนเก็บภาษีเพิ่ม นโยบายการค้าของแฮร์ริส :หากพูดถึงนโยบายการค้า รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า "คิดว่ามีนโยบายตัวหนึ่งที่แฮร์ริสอาจจะดีกว่าทรัมป์" ตั้งแต่ช่วงพฤษภาคม 2565 ไทยกับสหรัฐฯ พยายามสร้างกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) โดยกรอบตรงนี้แม้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาษี แต่พยายามมุ่งความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและดิจิทัลเป็นหลักสมมติว่าแฮร์ริสได้ขึ้นสู่ตำแหน่ง และสมมติว่า BRICS+ มีความชัดเจนและเดินได้เร็วมากขึ้น อย่างในตอนนี้ก็มี 'ปฏิญญาคาซาน' (Kazan Declaration) ไปแล้ว จะส่งผลให้ IPEF ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน และไทยก็อาจจะได้ประโยชน์เพิ่มจากความร่วมมือตรงนี้ ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาสู่กรอบการค้าเสรีก็ได้ และเราอาจจะได้ประโยชน์ทางด้านภาษีก็ได้แต่ถ้าทรัมป์ขึ้นมา กรอบความร่วมมือตรงนี้อาจจะไม่ชัดเจน เพราะว่าทรัมป์ไม่เอา TPP (ความตกลงหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก) ฉะนั้น การจะมารื้อกรอบใหม่ อาจจะมีความยากกว่าแฮร์ริส นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ :ส่วนของนโยบายที่พูดถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รศ.ดร.จุฑาทิพย์ มองว่า นโยบายของทั้งคู่มีความต่างกันประมาณหนึ่ง โดยที่ 'ทรัมป์' พยายาม 'ลดภาษีนิติบุคคล' ซึ่งทุกคนมองว่าน่าจะเป็นผลบวกกับสหรัฐฯ เพราะจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนได้ดี แต่นโยบายนี้มีข้อแม้ว่า คุณจะได้ลดภาษีก็ต่อเมื่อจ้างงานคนอเมริกันเท่านั้น ซึ่งค่าแรงของคนอเมริกันค่อนข้างแพง ฉะนั้น ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอาจจะไม่ช่วยให้ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้อย่างที่ทุกคนคาดไว้นอกจากนั้น ทรัมป์มีความพยายามจะอพยพคนที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายออกไป แต่ต้องยอมรับว่าคนที่เข้ามาในลักษณะดังกล่าว มีหลายส่วนที่เป็นแรงงานสำคัญของสหรัฐฯ หากทรัมป์จะทำแบบนั้นก็ต้องมีต้นทุนในการนำคนออก ฉะนั้น ประโยชน์ที่จะได้จากการลดภาษีนิติบุคคล เพื่อหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงมีไม่มากเท่าไรอีกหนึ่งนโยบายที่ทรัมป์หวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ นำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มมาใช้ประโยชน์ในประเทศ แต่การทำเช่นนั้นทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภาษีที่สูงจะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเช่นกัน และแม้ว่าทรัมป์บอกว่าพยายามจะควบคุมเงินเฟ้อ โดยลดราคาพลังงานและไฟฟ้า อนุญาตให้มีการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หรืออุปโภคบริโภคโดยรวม ยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจากนโยบายภาษี ผลที่ตามมาก็คือดอกเบี้ยขาลงที่คาดหวังจากทรัมป์อาจจะไม่ได้ชัดเจนมาถึงส่วนของ 'แฮร์ริส' อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า นโยบายเธอตรงข้ามกับทรัมป์ เพราะเธอจะ 'เก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น' ตรงนี้อาจทำให้การลงทุนชะลอตัว แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่แฮร์ริสมี คือ การบอกว่าจะนำภาษีไปใช้อย่างเป็นประโยชน์ และมีนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือในส่วนของราคาโภคภัณฑ์บางตัว เช่น ยา เธอบอกว่าจะดีลกับผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อลดราคา จุดนี้ถ้าแฮร์ริสทำได้ดีก็จะทำให้เห็นเรื่องของดอกเบี้ยขาลงชัดเจนกว่า นโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ :เรื่องของนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะมีบทบาทเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงสงครามโลก (World War) ซึ่ง รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า ทรัมป์หาเสียงไว้อย่างชัดเจนว่าเขาจะไม่ทำให้เกิด World War แต่ทรัมป์มองว่าตัวแฮร์ริสจะนำไปสู่การเกิด World War III "เรามองลักษณะนี้ว่าทั้งคู่มีจุดยืนที่คล้ายกัน คือเอนเอียงไปทางอิสราเอลมากกว่า ฉะนั้น ผลของภูมิรัฐศาสตร์พื้นที่ตะวันออกกลางไม่น่าจะต่างกัน"หลายคนให้ความเห็นถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนว่า หากทรัมป์ได้รับตำแหน่ง โอกาสที่จะเข้าไปเจรจากับรัสเซียและนำไปสู่การยุติสงครามน่าจะง่ายกว่าการ แต่สิ่งที่อาจจะมาเบรกแนวคิดนี้ก็คือ BRICS+ ที่ค่อนข้างมาแรงและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งด้วยกลุ่มนี้มีความพยายามที่จะสร้างการเงินด้วยตัวเอง และพยายามจะขายสินค้าโภคภัณฑ์ด้วยกันเอง ซึ่งทรัมป์คงไม่อยากให้เกิดขึ้น ฉะนั้น การที่จะเข้าข้างรัสเซียทั้งหมดก็อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เนื่องจากการเดินหน้ากลุ่ม BRICS+ รัสเซียก็ไม่ได้จะใช้เงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลัก มันจึงจะเป็นลักษณะที่ว่าทรัมป์ไม่ได้ช่วยยูเครน แต่ทรัมป์ก็อาจจะไม่เดินหน้าสนับสนุนรัสเซียมากนัก ฉะนั้น สงครามอาจจะยังยืดเยื้อต่อไป นโยบายสิ่งแวดล้อมของแฮร์ริส :รศ.ดร.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า นโยบายส่วนหนึ่งที่คิดว่าเราอาจจะต้องกังวลของ 'แฮร์ริส' มากกว่าทรัมป์คือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม อย่างที่รู้กันว่าทรัมป์ยังสนับสนุนการใช้ฟอสซิล สนับสนุนให้มีการขุดเจาะที่ต้องฉีดทรายหรือสารเคมีกำลังสูงเข้าไปชั้นใต้ดินเพื่อดึงน้ำมันออกมา ซึ่งยังทำกันมากในรัฐเท็กซัส (Texas), เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) และ โอไฮโอ (Ohio)การสนับสนุนของทรัมป์ตรงข้ามกับแฮร์ริสแทบจะสิ้นเชิง เพราะเธอไม่สนับสนุนการกระทำเช่นนั้น และคาดการณ์ว่าเธอน่าจะเดินหน้า CBAM (กลไกการปรับพรมแดนคาร์บอน) อย่างชัดเจน จริงจัง และเข้มข้น ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องเดินหน้าที่จะปรับตัวการผลิตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภาพ : AFP