เปิดเบื้องหลังค่านำส่งคนเจ็บไปโรงพยาบาล แหล่งเงินกู้ภัยบางราย ที่นำสู่ศึกแย่งเคสบาดเจ็บ เผยที่มาเงินจะมีการบวกแฝงไว้กับค่ารักษาที่แพงขึ้น สถานพยาบาลเอกชนบางแห่ง ให้ค่านำส่งตั้งแต่ 1,500 – 3,000 บาท พร้อมจูงใจด้วยรางวัลพิเศษ
“กู้ภัยเปิดศึกแย่งคนเจ็บ” พาดหัวที่หลายคนตั้งคำถามถึงอาชีพกู้ภัย และรายได้จากการส่งเคสไปยังสถานพยาบาลบางแห่ง “ทีมข่าวแสบเฉพาะกิจ” ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของอาสากู้ภัย เพื่อตรวจสอบและพิสูจน์ว่า การนำส่งคนเจ็บ มีการจ่ายค่าเคสหรือไม่ และความจริงค่านำส่ง คนเจ็บ เป็นอย่างไร
เราติดตาม การทำงานของ “วรัญญู ประกอบทรัพย์” อาสาสมัครกู้ภัย ที่ทำงานมานานกว่า 16 ปี ปฏิบัติภารกิจวิ่งนำส่งคนเจ็บจากอุบัติเหตุ และผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ ยอมรับว่า เคยรับค่าเคส จากการนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาล
“สำหรับค่านำส่งผู้บาดเจ็บ ถ้าพูดตามตรง มันมาถึงตอนนี้ด้วยหลายอย่าง แต่ถามว่าค่าเคสแต่ละเคส ไม่ได้ค่าเคสทุกราย ต้องมีอุบัติเหตุ เขาใช้ พ.ร.บ. แล้วก็เป็นโรงพยาบาลเอกชนบางโรงพยาบาล เท่านั้น ถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐไม่มีอยู่แล้ว ในกรณีผู้ป่วยก็ไม่ได้ ซึ่งราคาเคสที่ได้ แล้วแต่โรงพยาบาล ก็เริ่มจาก 500 - 1,000 บาท ซึ่งเอาเงินตรงนั้นมา ไว้เติมน้ำมัน เพื่อไปวิ่งรับผู้ป่วยคนอื่น”
...
จากการลงพื้นที่ของทีมข่าว ติดตามอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่าส่วนใหญ่ เคสที่รับที่ช่วยเหลือจะเป็นผู้ป่วย ถูกนำส่งโรงพยาบาลรัฐฯ ตามสิทธิ์ ส่วนเคสอุบัติเหตุ ที่ใช้สิทธิ์ พ.ร.บ. มีน้อย การแข่งขันไม่สูง แต่มีอาสาบางคน บางกลุ่ม เลือกวิ่งส่งคนเฉพาะเคสอุบัติเหตุ และเลือกนำส่งเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ที่คนในวงการอาสาเรียกว่า “อาศัย”
เปิดรายได้นำส่งผู้บาดเจ็บ
ด้านกู้ภัยอีกรายหนึ่ง เล่าถึงค่าเคสกู้ภัยว่า กรณีกู้ภัยตีกัน สังคมมองว่า คุณต้องมีผลประโยชน์แน่นอน เพราะมันมีค่าตอบแทนจากโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องเข้าใจบริบทที่ต้องการผู้ป่วยเข้ามาในโรงพยาบาล คลินิกกู้ภัยที่นำส่งก็ได้ผลตอบแทนจากโรงพยาบาลที่ให้เงินค่านำส่ง กลายเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน
“ถ้าคิดตัวเลข ตกเคสละ 3,000 บาท 10 เคสก็ 30,000 บาท ทำงานเดือนหนึ่งยังไม่ถึง 30,000 เลย ถ้าวันหนึ่งคุณมีคนเจ็บ 10 เคส ผมว่าตัวเลขมันสูง เรทราคาที่รู้มา เคสหนึ่งประมาณ 2,500 - 3,000 บาท รักษาตัวแล้วกลับบ้าน ไม่ได้นอนโรงพยาบาล ต้องมีแน่ๆ 1,500 บาท”
จากข้อมูลที่ได้ ค่านำส่งคนเจ็บจากอุบัติเหตุที่มี พ.ร.บ. หรือประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับในบางพื้นที่ เริ่มต้นที่หลักร้อยไปจนถึง 1,500 บาท ในเคสที่บาดเจ็บแต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล แต่หากเป็นเคสที่ต้องนอนโรงพยาบาล ค่าค่านำส่งอาจขยับขึ้นไปที่ 2,500 - 3,000 ต่อเคสในยอดสูงสุดที่ 3,000 บาทต่อเคส คิดเป็นอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินประกันของ พ.ร.บ.
กู้ภัยรายหนึ่งเล่าถึงการแข่งกันระหว่างโรงพยาบาลเอกชนหลายโรงพยาบาลว่า มีการแข่งขันกัน ยิ่งกู้ภัยส่งเยอะ ยิ่งให้เยอะ มีโบนัสตอบแทนอีก 5 เคส 10 เคสฟรี 1 เคส มีได้ทอง มีจิปาถะจูงใจ เพื่อให้อาสาถูกใจและนำไปส่งที่โรงพยาบาล
...
เงินค่าค่านำส่งมาจาก พ.ร.บ. เวลารถชน อาสาไปที่เกิดเหตุอาจจะถามคำถามแรกว่า รถมี พ.ร.บ. หรือเปล่า รถมีจ่ายเบื้องต้น 30,000 บาท เงินค่ารักษาเบื้องต้นอยู่ที่ 30,000 บาท แทนที่จะเหลือเงินไว้ล้างแผลบ้าง อะไรบ้าง กลับกลายเป็นว่าโรงพยาบาลเหล่านี้ต้องไปจ่ายตอบแทนให้กับอาสา หากต้องเสียเงินตรงนี้อยู่แล้ว รักษาก็ได้ไม่เต็มที่ เงินก็หมด
โรงพยาบาลจะนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปบวกแฝงกับค่ารักษาพยาบาลเพื่อเบิกกับบริษัทประกัน ผลเสียก็คือวงเงินค่ารักษาจะแพงขึ้น คนเจ็บเหลือเงินรักษาตัวน้อยลง
ด้านหนึ่ง เงินนี้ทำให้ผู้บาดเจ็บสามารถได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการช่วยเหลือคน แต่อีกด้านคือยังมีช่องโหว่ที่ทำให้อาสาสมัครกู้ภัยบางคนและโรงพยาบาลหลายแห่งหาประโยชน์ #ข่าวแสบเฉพาะกิจ รายการวาไรตี้ข่าวสุดแสบ จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.