รัฐผุดแนวคิดตั้งกองทุน เก็บค่าธรรมเนียมรถติด 40-50 บาท เป้าหมายแรกเล็งพื้นที่ใจกลางเมือง หวังหารายได้ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน คุมค่าโดยสาร 20 บาททุกสาย
กองทุนดังกล่าว คือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อระดมทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าจากการบริหารของเอกชน โดยแนวคิดนี้มาจากที่รัฐบาลมีนโยบายปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ภายใน ก.ย. 2568 ซึ่งการซื้อคืนนี้ก็เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกลง เป็นธรรม และเข้าถึงง่าย เบื้องต้นคาดว่ากองทุนจะมีระยะเวลา 30 ปี และมีขนาดประมาณ 2 แสนล้านบาท
โดยเม็ดเงินจะมาจาก 2 แหล่งหลัก คือ
1. การระดมทุน ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือเงินปันผล
2. รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด
เล็งใจกลางเมือง เริ่มต้น 40 บาท/คัน :
'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้คลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะชัดเจนและแล้วเสร็จกลางปี 2568 จากการศึกษาของสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร หรือ สนข. พบว่า พื้นที่การจราจรติดขัดอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะใช้เป็นเป้าหมายแรก ๆ ในการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น สุขุมวิท สีลม เอกมัย ทองหล่อ และรัชดา
...
แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเบื้องต้น ระยะ 5 ปีแรกจะเริ่มเก็บที่ 40-50 บาท ส่วนช่วง 5 ปีถัดไปจะทยอยเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม มีการคาดการณ์ว่า จะสามารถเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในพื้นที่ที่กำหนด ได้มากถึงวันละประมาณ 700,000 คัน
ลองคิดเล่น ๆ ว่า หากเก็บ 50 บาทต่อคัน วันหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 35 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินประมาณ 12,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐจะนำรายได้จากตรงนี้ เข้ามาสนับสนุนกองทุนฯ ซื้อคืนสัมปทาน
รถไฟฟ้า 20 บาท ที่เคยทำมาแล้ว :
ที่ผ่านมา รัฐบาลในสมัย เศรษฐา ทวีสิน เคยดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายมาแล้ว ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่หวังลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน มีผลครั้งแรกเมื่อ 16 ต.ค. 2566 โดยเริ่มต้นจากรถไฟฟ้า 2 สาย คือ รถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้ม และรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง
จากนโยบาย Quick Win ดังกล่าวของรัฐบาล ทำให้มีประชาชนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ตัวอย่าง เช่น รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่ที่ 30,952 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 41.90% และเมื่อ 9 ก.พ. 2567 สามารถทำสถิติผู้ใช้บริการสูงสุด (New High) อยู่ที่ 39,567 คน
แน่นอนว่าที่คนใช้บริการมากขึ้นก็เพราะว่าค่าโดยสารถูกลง จากเดิมหากคิดภาระค่าเดินทางในวันทำงาน ซึ่งมีค่าโดยสารระหว่าง 16-42 บาท/เที่ยว เท่ากับว่าจะมีค่าใช้จ่ายตลอดปีประมาณ 7,712–20,244 บาท แต่เมื่อค่าโดยสารลดเหลือ 20 บาท/เที่ยว จะลดภาระค่าเดินทางสูงสุดเหลือเพียง 9,640 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 48% ของภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางตลอดปีตามค่าโดยสารเดิม
ส่องราคารถไฟฟ้าปัจจุบัน :
เรามาลองส่องราคารถไฟฟ้าบางสายกันดีกว่า ว่าปัจจุบันค่าโดยสารสูงสุดและต่ำสุดอยู่ที่เท่าไร ซึ่งราคาที่กำลังจะอ้างถึง เป็นอัตราค่าโดยสารสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่นับส่วนของผู้สูงอายุ นักเรียน หรือนักศึกษา และเป็นอัตราค่าโดยสาร ที่ยังไม่รวมการเปลี่ยนสาย
สายสีเขียวอ่อน (สายสุขุมวิท) ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 62 บาท
สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุด 45 บาท
สายสีชมพู หรือ น้องนมเย็น ค่าโดยสารสูงสุดอยู่ที่ 45 บาท
สายสีเหลือง หรือ น้องเก๊กฮวย ค่าโดยสารสูงสุดก็อยู่ที่ 45 บาท
...
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูว่ากลางปี 2568 แนวทางเก็บค่าธรรมเนียมรถติดจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะสามารถทำให้พวกเรามีรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายใช้ได้หรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ที่ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าผู้ใช้บริการยังต้องแบกรับค่าเดินทางที่สูง ในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนและไม่แน่นอน