ดราม่าทอง 99.99% ของถูกไม่มีจริง ราคาสูงนำเข้าจากต่างประเทศ “สถาบันอัญมณี” ชี้ผลตรวจทองร้านดังออนไลน์ มีปี่เซียะชิ้นเดียวเปอร์เซ็นต์ทองใกล้เกณฑ์ที่บอกไว้ เปิดต้นเหตุทำไมทอง 99.99% ดูยาก ซื้อออนไลน์โอกาสพลาดสูง
ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นประเด็นดราม่าที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการผู้ขายและซื้อทอง เมื่อมีผู้ซื้อทองรายหนึ่งลงคลิปในโซเชียล กรณีการซื้อทองจากร้านทองออนไลน์ที่มีการไลฟ์สด ซึ่งนำของแถมที่เป็นดอกกุหลาบสีทองไปขายต่อ ร้านทองทั่วไปกลับไม่รับซื้อ จนต้องนำทองจากร้านดังกล่าวไปตรวจสอบที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตอนนี้เจ้าหน้าที่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ในขั้นตรวจสอบว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ แต่มีลูกค้าจำนวนมากนำทองไปคืนที่ร้าน แม้ได้ราคาต่ำกว่าที่ซื้อมา
ดราม่าทอง 99.99% ที่เป็นทองแท้บริสุทธิ์ นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในต่างประเทศนิยมทอง 99.99% หรือทอง 24K ในการสะสม แต่เนื้อทองมีความนิ่ม ไม่เหมาะกับการนำมาทำเครื่องประดับ เพราะมีโอกาสยุบ เมื่อนำพลอยมาฝัง อาจเสียรูปทรง หรือตัวพลอยที่ประดับบนเนื้อทองมีโอกาสหลุดร่วงได้สูง
...
ปกติไทยใช้ทอง 96.5% ที่จำหน่ายเป็นแบบทองแท่ง ทองรูปพรรณ ถ้าเป็นทองมีความกลวงด้านใน ใช้ทองอยู่ที่ 93.5 – 96.5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็นทองที่ทำจิวเวลรี่ จะเป็นทอง 18K ซึ่งมีทอง 75% เพราะต้องการความแข็งแรงเพื่อยึดติดพลอย
“ปัจจุบันผู้ผลิตมีการพัฒนาให้ทองที่มีเปอร์เซ็นต์สูงมาเป็นเครื่องประดับ เลยนำสารบางอย่างที่ผสมเข้าไปในทอง 99.99% ในเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำมาก โดยจีนพัฒนาสูตรในการนำมาทำเป็นต่างหู แหวน สร้อย ระยะหลังพัฒนาจนสามารถฝังพลอยและเพชรได้ โดยทองประเภทนี้เป็นทองนำเข้า มีราคาสูง”
ไขปมตรวจทองจากร้านดังในโลกออนไลน์
กรณีร้านทองที่เป็นประเด็นในโลกออนไลน์ มีการส่งทองที่ขายมาตรวจที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ โดยผลที่ออกมาพบว่าทองบางส่วนเป็นทองแท้
นายสุเมธ ขยายความถึงผลตรวจทองว่า ทองบางส่วนมีเปอร์เซ็นต์ทอง 99% แต่ก็มีส่วนประกอบบางอย่างเช่น สร้อยข้อมือมีลูกปัดที่เป็นตัวเชื่อมเป็นทอง 75%
ส่วนทองประเภทอื่นที่ส่งเข้ามาตรวจ บางอย่างไม่ตรงกับที่ระบุไว้ เช่น สร้อยมีเปอร์เซ็นต์ทองต่ำกว่าที่ปั๊มไว้บนหัวจรวดเล็กน้อย ด้านทองที่เป็นลูกปัดที่มีการเคลมว่าเป็นสินค้าชิ้นเดียวกับที่มีเปอร์เซ็นต์ทอง 99.99% แต่พอตรวจแล้วอยู่ในเกณฑ์ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่เฉพาะตัวปี่เซียะมีเปอร์เซ็นต์ทองตามเกณฑ์มาตรฐาน 99.99 ในการซื้อขาย
...
กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการตลาดระหว่างคนขายกับคนซื้อ ซึ่งการซื้อขายทองมีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กรณีที่คนขายให้ข้อมูลผู้บริโภคไม่ครบ ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ เข้าใจผิด
สำหรับผู้บริโภคในการดูทอง 99.99% ที่นำเข้าจากต่างประเทศจะดูยาก เพราะทองถ้าผลิตในไทย มีการตีตราผู้ผลิต มีเปอร์เซ็นต์ทองบอก ประกอบกับร้านทองไทยที่ไม่รับซื้อ เนื่องจากร้านทองขนาดเล็กไม่มีเครื่องวัดเปอร์เซ็นต์ และน้ำหนักทองเบามาก ซึ่งต่างจากทองทั่วไป และยิ่งไปซื้อทองในออนไลน์ คนซื้อก็ไม่ได้จับทองทำให้ไม่รู้น้ำหนักที่แท้จริงของตัวงาน เลยทำให้คนซื้อต้องจ่ายเงินสูงกว่าความเป็นจริงของสินค้า
การซื้อทอง คนซื้อต้องสอบถามให้ชัดเจนว่า น้ำหนักทองเท่าไหร่ และต้องให้คนขายออกหลักฐานว่า ทองที่ซื้อไปมีลักษณะอย่างไร น้ำหนักกี่บาท เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เอกสารนี้ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ หรือซื้อร้านที่มีหลักแหล่ง อยู่ในสมาคมผู้ค้าทองคำ
ตอนนี้หน่วยงานมีโครงการร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในการทำให้ผู้ซื้อทองให้มีความมั่นใจ โดยจะมีโครงการสุ่มตรวจร้านทองในทุก 6 เดือน ร้านที่ตรวจแล้วได้มาตรฐานอยู่ในเกณฑ์ มีป้ายรับรองให้ เพราะทองเป็นสินค้าที่มีจำนวนมาก การไปตรวจทุกชิ้นทั่วประเทศไทยเป็นเรื่องยาก แต่การทำโครงการนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น.
...