เตือนมวลน้ำเหนือสูง "เชียงใหม่ ลำปาง สุโขทัย" เตรียมรับมือน้ำท่วม คาดวิกฤติสุด 26 – 28 ก.ย.นี้ "สทนช.” กางแผนผันน้ำ ห่วงพื้นที่ท่วมซ้ำ เช่น สุโขทัย ผนังกั้นน้ำหลายแห่งเสียหายหนัก ยอมรับภาคเหนือปีนี้บอบช้ำ แต่ต้องลุ้นฝนตกหนักอีกระลอกต้นเดือน ต.ค.นี้
วันนี้ (25 ก.ย. 67) เมืองเชียงใหม่ เข้าสู่ภาวะน้ำท่วมตั้งแต่เช้ามืด โดยระดับน้ำแม่น้ำปิงที่สถานีตรวจวัดน้ำเชิงสะพานนวรัฐถึงจุดสูงสุดที่ 4 เมตร 45 เซนติเมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริม 2 ฝั่ง ทำให้ถนนช้างคลาน ย่านเศรษฐกิจสำคัญถูกน้ำท่วมขังตั้งแต่บริเวณหน้าโรงแรมแชงกรีล่า ยาวไปถึงสะพานป่าแดดฝั่งตะวันตก
ส่วนบริเวณชุมชนป่าพร้าวนอกและป่าพร้าวใน ตำบลป่าแดด เป็นจุดลุ่มต่ำริมแม่น้ำปิง ถูกน้ำท่วมหนักเช่นเดียวกัน ประชาชนพากันขนย้ายข้าวของหนีน้ำ ขณะที่หน่วยกู้ภัยเข้าพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว
เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 12 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีเวลาเตรียมพร้อมรับมือขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำ
...
เชียงใหม่-ลำปาง-สุโขทัย เตรียมรับมือมวลน้ำ
จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ต่ำบริเวณแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน "ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ" ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้ข้อมูลล่าสุดว่า น้ำที่ท่วมเข้าตัวเมืองเชียงใหม่เพิ่มขึ้นจากแนวป้องกันริมตลิ่ง โดยสูงกว่าแนวกั้นตลิ่งประมาณ 80 เซนติเมตร จึงต้องวางแนวทางป้องกัน โดยน้ำขึ้นสูงสุดวันที่ 26 – 27 ก.ย.นี้ เพราะมีน้ำจากพื้นที่ตอนบนของ อ.แม่แตง เข้ามาเสริมวันนี้ (25 ก.ย. 67) ทำให้มีระดับน้ำสูงขึ้น ตอนนี้ได้แจ้งเตือนทางจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานเกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อรับมือ
แม่น้ำวัง สถานการณ์ระดับน้ำขณะนี้เริ่มมีน้ำล้นตลิ่ง ทำให้ต้องเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง ส่งผลต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และมีผลต่อเขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง ในพื้นที่ตอนล่างเริ่มมีน้ำท่วมสูง ทำให้ต้องมีการชะลอมวลน้ำ เพื่อให้มวลน้ำหลากที่กำลังแรงอยู่ในพื้นที่ตอนล่างได้ผ่านไปก่อน แต่มวลน้ำส่วนนี้จะส่งผลกระทบต่อตัวเมืองลำปาง ซึ่งวันนี้ (25 ก.ย. 67) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 1 เมตร แต่พื้นที่ลุ่มต่ำของตัวเมืองลำปางเริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 25 – 26 ก.ย. 67 มวลน้ำส่วนนี้จะเคลื่อนตัวไปที่ อ.เถิน จ.ลำปาง ประมาณวันที่ 27 ก.ย. 67 ต่อจากนั้นไปยัง อ.สามเงา จ.ตาก ทำให้น้ำล้นตลิ่งประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร
แม่น้ำยม คาดว่ามวลน้ำหลากจะมาอีกระลอกที่ตัว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ต้องผลักดันน้ำออกไปยังฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ ไม่ให้เคลื่อนผ่านตัวเมืองสุโขทัย ที่ตอนนี้ผนังกั้นน้ำหลายจุดเสียหายหนัก โดยมวลน้ำสูงสุดจะเคลื่อตัวเข้ามา จ.สุโขทัย ประมาณวันที่ 28 ก.ย. 67
...
น้ำท่วมเหนือ ซ้ำเติมพื้นที่ "ปิง วัง ยม น่าน"
หากประเมินสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคเหนือ ที่มีแนวโน้มสูงมาตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 67 และท่วมหนักไปแล้วระลอกแรก ซึ่งระดับน้ำในรอบใหม่ "ฐนโรจน์" วิเคราะห์ว่า ถ้าประเมินจากแม่น้ำสายหลักคือ "ปิง วัง ยม น่าน" ขณะนี้น่าเป็นห่วงทั้งหมด เนื่องจากมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกหนัก มาจากสภาวะโลกร้อน
“ตอนนี้อุณหภูมิน้ำอุ่นมากองรวมอยู่ที่ไทย ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก หรือทั้งมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดสภาวะเมฆระเหยเป็นไอน้ำมากกว่าปกติ พัดเข้ามาสู่ไทย เมื่อเมฆเคลื่อนตัวเข้ามายังจุดที่เหมาะสม จะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณกว้าง ทำให้เกิดฝนตกหนักและน้ำหลากตามมาหลายพื้นที่”
เมื่อเข้าเดือน ต.ค. ร่องมรสุมที่ทำให้เกิดฝน จะเคลื่อนตัวมายังพื้นที่ตอนล่าง ทำให้ต้องจับตาว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะได้รับผลกระทบจากมวลน้ำไหลเข้ามาจำนวนมาก โดยตอนนี้มีน้ำประมาณ 50% ของความจุเขื่อน ซึ่งในอีก 7 วัน (2 ต.ค. 67) จะมีน้ำเต็มความจุเขื่อน 80%
...
คาดว่า ถ้ามีร่องมรสุมพัดผ่านลงมา ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำสะแกกรัง จะเกิดน้ำหลากลงมาที่เขื่อนเจ้าพระยา ทำให้น้ำที่หลากมาทางตอนเหนือ ผสมรวมกับปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งตอนนี้กำลังปรับแผนการระบายน้ำให้สูงขึ้น ซึ่งพื้นที่ภาคกลางต้องจับตาในช่วงต้นเดือน ต.ค. 67 ว่าปริมาณน้ำจะส่งผลกระทบหรือไม่
“ฝากเตือนประชาชนพื้นที่ภาคเหนือ ช่วงวันที่ 30 ก.ย. - 1 ต.ค. 67 ฝนจะกลับมาตกหนักอีกระลอก โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และสุโขทัย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีโอกาสเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำได้อีกระลอก”